9 เม.ย. 2022 เวลา 15:47 • สุขภาพ
เคยไหมสะดุ้งตื่นเพราะคิดว่าตัวเองกำลังจะตกตึก?
อาการนอนกระตุก (Hypnic Jerk) เป็นการเคลื่อนไหวของร่างกายระหว่างนอนหลับที่เกิดขึ้นโดยไม่ตั้งใจและไม่รู้ตัว บางรายอาจมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น รู้สึกคล้ายตกจากที่สูง หัวใจเต้นรัว หรือหายใจถี่ มักจะพบช่วงก่อนจะผล็อยหลับและเป็นเหตุให้สะดุ้งตื่นขึ้นได้
อาการกระตุกขณะนอนหลับเป็นอาการที่พบได้
ทั่วไป ส่วนใหญ่ไม่เป็นอันตรายร้ายแรงและไม่ส่งผลต่อสุขภาพ สามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ อย่างการออกกำลังกาย อาหาร โรคประจำตัว และยาบางชนิด โดยในบทความนี้ได้รวบรวมสาเหตุของอาการนอนกระตุกและวิธีป้องกันเบื้องต้นมาให้ได้อ่านกัน
#ไขข้อสงสัยทำไมนอนกระตุก??
อาการนอนกระตุกส่วนใหญ่มักไม่พบสาเหตุ
ที่แน่ชัด แต่ปัจจัยเสี่ยงบางอย่างอาจกระตุ้นให้เกิดอาการได้ เช่น
1.ความเครียดและวิตกกังวล
อารมณ์ทางลบ ไม่ว่าจะเป็นความเครียด ความรู้สึกวิตกกังวล หรือความเศร้า อาจส่งผลต่อการทำงานของสมองจนกระตุ้นให้สมองและร่างกายตื่นตัวเพื่อรับมือกับสิ่งที่กำลังกังวล จึงทำให้ร่างกายเกิดการกระตุกแบบฉับพลัน
2.การออกกำลังกาย
การออกกำลังกายจะส่งผลให้กล้ามเนื้อและสมองทำงานเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะการออกกำลังกายในช่วงค่ำหรือใกล้เวลานอนหลับ ซึ่งทั้งกล้ามเนื้อและสมองอาจทำงานต่อเนื่องหลังหยุดออกกำลังกายไปหลายชั่วโมง จึงอาจทำให้เกิดการกระตุกของร่างกายระหว่างนอนหลับได้
3.คาเฟอีน
อย่างที่ทราบกันดีว่าคาเฟอีนเป็นสารที่ทำให้ร่างกายและสมองเกิดการตื่นตัว ซึ่งในบางครั้งการรับประทานเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนสูงหรือการรับประทานใกล้เวลานอนจะทำให้คาเฟอีนยังคงหลงเหลืออยู่ในร่างกาย จึงอาจไปกระตุ้นการทำงานของระบบประสาทระหว่างนอนหลับและเกิดอาการนอนกระตุกตามมา
4.บุหรี่
ในบุหรี่นั้นมีสารอย่างนิโคตินที่ทำหน้าที่เป็นสารกระตุ้น โดยนิโคตินจะออกฤทธิ์การเพิ่มการทำงานของสมองจึงทำให้เกิดร่างกายเกิดอาการกระตุกขึ้นมา
5.ยาคลายเครียดบางชนิด
จากการศึกษาชิ้นหนึ่งพบว่ายาเอสซิตาโลแพรม (Escitalopram) ที่เป็นยารักษาภาวะวิตกกังวลและภาวะซึมเศร้าอาจมีส่วนทำให้เกิดการกระตุกของร่างกายขณะนอนหลับ เนื่องจากเป็นยาที่ส่งผลต่อการทำงานของสารเคมีในสมอง
นอกจากนี้ โรคประจำตัวที่เกี่ยวข้องกับระบบประสาทและกล้ามเนื้อก็สามารถทำให้เกิดอาการนอนกระตุกได้เหมือนกัน เช่น กลุ่มอาการขาอยู่ไม่สุข (Restless Legs Syndrome) ภาวะขากระตุกขณะนอนหลับ (Periodic Limb Movement Disorder) โรคสมองเสื่อม โรคอัลไซเมอร์ โรคลมชัก เนื้องอกในสมอง และการได้รับบาดเจ็บบริเวณศีรษะ เป็นต้น ในบางกรณีอาการกระตุกขณะนอนหลับก็อาจมีสาเหตุมาจากกรรมพันธุ์ หรืออาจเกิดขึ้นเองโดยไม่ทราบสาเหตุ
#วิธีรับมืออาการนอนกระตุก
แม้ว่านอนกระตุกจะไม่ใช่อาการที่ร้ายแรง
แต่สามารถปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์บางอย่าง
เพื่อป้องกันอาการนอนกระตุกหรือลดความถี่
ให้เกิดน้อยลงได้ เช่น
- เปลี่ยนเวลาในการออกกำลังกายไม่ให้ใกล้เวลานอนมากเกินไป
- ลดปริมาณคาเฟอีนและงดคาเฟอีนในช่วงบ่ายไปจนถึงก่อนนอน
- งดสูบบุหรี่และสารกระตุ้นอื่น ๆ อย่างเครื่องดื่มชูกำลัง
- งดเล่นเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ อย่างสมาร์ทโฟน แท็บเล็ท และคอมพิวเตอร์ก่อนเข้านอนอย่างน้อย 30 นาที
- ทำกิจกรรมผ่อนคลายเบา ๆ ก่อนนอน เช่น นั่งสมาธิ อ่านหนังสือเพื่อลดความเครียดและความกังวล
- หากคาดว่าอาการดังกล่าวมีสาเหตุมาจากยาที่ใช้ ควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับยาที่ใช้อยู่
อย่างไรก็ตาม หากทำตามวิธีข้างต้น แล้วอาการไม่ลดลงหรือรุนแรงจนกระทบต่อชีวิตประจำวัน ควรปรึกษาแพทย์ โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัว
สาระความรู้มาจาก
โฆษณา