Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
โจวเล่าจีน
•
ติดตาม
9 เม.ย. 2022 เวลา 16:23 • ประวัติศาสตร์
อักษรเจี่ยกู่เหวินคืออะไร? คนจีนสมัยโบราณเคยเห็นหรือไม่?วันนี้พี่โจวพาไปหาคำตอบ
ในโลกของเราใบนี้ อักษรคูนิฟอร์ม (Cuneiform 楔形文字) อักษรไฮโลกริฟ (Hieroglyph 圣书字) อักษรมายา (Mayan script玛雅文字)และอักษรจีน (Chinese character 汉字)ถูกจัดให้เป็นสี่อักษรที่เก่าแก่ที่สุดของโลก แต่ทว่าอักษรที่ถูกพัฒนามาจวบจนถึงปัจจุบัน เกรงว่าก็คงจะเหลือแต่เพียงอักษรจีนเท่านั้น
汉字就像一幅中国画,也是一段中国历史 ตัวอักษรจีนก็เหมือนภาพวาดภาพจีนภาพหนึ่ง ที่สามารถบอกเล่าเรื่องราวในอดีตได้
zhou peng
โดยปกติแล้วเราจะแบ่งประเภทของตัวอักษรออกเป็นทั้งหมดสองชนิด 1. อักษรที่แสดงเสียง ภาษาจีนจะเรียกว่า 表音文字 2. อักษรที่แสดงความหมาย ภาษาจีนจะเรียกว่า 意音文字(表意文字)
ว่ากันง่ายๆ 表音文字 มักจะอยู่ในภาษาสะกด เช่นภาษาอังกฤษ ภาษาเกาหลี หรือแม้กระทั่งภาษาไทย อักษรที่ใช้ในภาษาเหล่านี้จะเป็นอักษรที่อ่านออกเสียงได้ และสามารถนำมาสะกดรวมกัน โดนส่วนใหญ่จะประกอบด้วยพยัญชนะ(声母) สระ(韵母) และวรรณยุกต์(声调)
เอ๊ะ! เดี๋ยวก่อน แต่เวลาที่พวกเราเริ่มเรียนภาษาจีนเราก็เริ่มเรียนจากพินอินที่มีเจ้าพยัญชนะ สระ ประกอบอยู่ด้วย แล้วทำไมอักษรจีนถึงไม่จัดอยู่ในประเภทแสดงเสียงล่ะ? ก่อนอื่นเราต้องทำการแยกเจ้าตัวภาษา(语言)และตัวอักษร(文字)ออกจากกันให้ได้เสียก่อน ตอนนี้พี่โจวกำลังอธิบายเรื่องของตัวอักษร แต่ไม่ได้อธิบายถึงระบบเสียงในภาษา หากใครยังไม่หายสงสัย ให้นึกถึงภาพเวลาเราเริ่มเรียนภาษาเกาหลี ที่จะต้องเริ่มจากการจำตัวอักษรพยัญชนะ สระ แล้วนำมาประกอบกันกลายเป็นตัวอักษรเกาหลี หรือแม้กระทั่งภาษาไทยของเรา เวลาเราเขียนตัว ก ข เราสามารถอ่านออกเสียงตัวอักษรเหล่านี้ได้เลย แต่เจ้าตัวอักษรจีนนี่สิ ต้องเอาแต่ละขีดมาเขียนประกอบกัน แถมยังต้องจำพินอินเสียงอ่านของเจ้าตัวอักษรนั้นๆอีกด้วย (ไว้วันหลังพี่โจวจะมาอธิบายเรื่องนี้แบบลงลึกอีกครั้ง)
ส่วน 表意文字 ก็คืออักษรภาพหรืออักษรที่ได้กล่าวไปข้างต้นทั้งสี่อักษรนั้นเอง ยกตัวอย่างจากภาพที่สองเป็นอักษรมายา ซึ่งเมื่อเรามองไปแล้วไม่รู้ว่าอ่านว่าอะไร แต่สามารถเดาความหมายได้ น่าเสียดายที่ปัจจุบันเหลือเพียงอักษรจีนที่พัฒนาตามกาลเวลาและรอดมาได้
(ภาพบนคืออักษรแสดงเสียง ภาพล่างคืออักษรแสดงความหมาย)
ข้างต้นพี่โจวได้เกริ่นของประเภทตัวอักษรคร่าวๆให้ผู้อ่านแต่ละท่านได้เข้าใจ คราวนี้เรามาเข้าสู่เนื้อความกันดีกว่า หลายคนมักจะมีคำถามและสงสัยไม่น้อยว่าแท้จริงแล้วเจ้าตัวอักษรจีนมันมีที่มาที่ไปอย่างไรกันแน่ แล้วคนโบราณเค้าเริ่มใช้ตัวอักษรตอนไหน ชอบเขียนเนื้อหาอะไร และทำไมถึงมีอักษรจีนปรากฏขึ้นมา
ถ้าจะตอบคำถามเหล่านี้พี่โจวก็จะพาทุกคนย้อนกลับไปเมื่อสมัยโบราณ (原始时代) หรือก่อนคริสต์ศักราช 1400-1300 (ห่างจากปัจจุบันราวสามพันกว่าปี) ณ ช่วงเวลานี้ถือเป็นช่วงที่ตัวอักษรจีนได้พัฒนามาถึงขั้นสุกงอมแล้ว ปัจจุบันเราเรียกตัวอักษรจีนที่อยู่ในช่วงนี้ว่า 甲骨文 เจี่ยกู่เหวินหรืออักษรกระดองเต่า ส่วนก่อนหน้านั้นอ้างอิงจากคัมภีร์อี้จิง 《易经》说:“上古结绳而治 แต่โบราณกาลใช้วิธีมัดปมเชือก” จากข้อความดังกล่าว ก่อนหน้าที่จะมีตัวอักษรกระดองเต่า ผู้คนใช้การมัดปมเชือกมาจดจำเรื่องราวแทนตัวอักษร “事大大结其绳,事小小结其绳 เรื่องใหญ่มัดปมหนา เรื่องเล็กมัดปมเล็ก” เนื่องจากกาลเวลาผ่านไป งานราชงานหลวงก็เพิ่มมากขึ้น ทำให้วิธีการมัดปมเชือกไม่สามารถใช้ได้อีกต่อไป ผู้คนจนหันมาแกะสลักเพื่อใช้สัญลักษณ์ในการส่งสารต่างๆ จนทำให้เกิดเจ้าตัวอักษรเจี่ยกู่เหวินขึ้นมา
ภาพจาก https://www.sohu.com/a/445760815_740082
จากการขุดพบของนักโบราณคดี สันนิษฐานได้ว่าอักษรกระดองเต่าถูกใช้มากระทั่งราชวงศ์ชาง 商朝(公元前1600-1046年)โดยลักษณะการเขียน จะทำการแกะสลักลงบนกระดูกสัตว์หรือกระดองเต่า หรือภายหลังได้มีการนำมาแกะสลักลงบนเครื่องทองสัมฤทธิ์ 青铜器 ไม่ว่าจะเป็นระฆัง钟、กระถางบูชา鼎、หอก戈、ดาบ剑 จนเกิดเป็นอักษรจินเหวิน 金文 ตามมา ส่วนมากเนื้อหาที่แกะสลักลงไปก็จะมี ชื่อของแคว้น ชื่อของข้าราชการระดับสูง ชื่อของบรรพบุรุษ
แต่การมีอักษรกระดองเต่าก็ไม่ได้หมายความว่าอักษรประเภทนี้ถูกใช้ต่อมาเรื่อยๆหรือผู้คนในยุคสมัยถัดมาจะรู้จัก เพราะเมื่อเริ่มเข้าสู่ราชวงศ์โจว 周朝 ก็ได้มีอักษรแบบใหม่พัฒนาขึ้นมาจากอักษรรูปแบบเดิม หรือแม้กระทั่งตัวของสวีเชิน 许慎เองที่เป็นผู้เรียบเรียงพจนานุกรมตัวอักษรเล่มแรกในสมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันออก(东汉 25-220年) ตัวพจนานุกรมมีชื่อว่า《说文解字》ได้ใช้ตัวอักษรรูปแบบที่เรียกว่าอักษรจ้วน 篆书 มาเก็บบันทึกตัวอักษรจีน แต่มีหลายตัวอักษรเมื่อเทียบกับตัวอักษรกระดองเต่าแล้ว ความหมายกลับไม่เหมือนกัน
พจนานุกรมโชวเหวินเจี่ยจื่อที่ถูกจัดพิมพ์ขึ้นอีกครั้งในสมัยราชวงศ์เป่ยซ่ง (许慎·东汉《说文解字》)
อาทิ ตัวอักษร 为(為)ซึ่งในอักษรกระดองเต่า มีความหมายว่า ทำงาน แรงงาน(劳作) เพราะส่วนประกอบจากตัวอักษรจะเหมือนรูปมือกำลังจูงช้าง แต่ในพจนานุกรมของสวีเชินกลับมีความหมายว่า ลิงเพศเมีย(母猴) สรุปได้ว่าตัวสวีเชินเองก็อาจจะไม่เคยเห็นหน้าตาของตัวอักษรกระดองเต่าเช่นกัน คำถามคือ ในเวลาต่อมาใครเป็นผู้ค้นพบเจ้าอักษรตัวนี้กันแน่?
王懿榮(1845-1900年)
สมัยปลายราชวงศ์ชิง清朝 (1636-1912年) มีขุนนางท่านหนึ่งนามว่าหวังอี้หลง 王懿荣 ได้แวะซื้อยาจากร้านขายยาจีนแห่งหนึ่ง เมื่อกลับถึงที่บ้านก็จัดเตรียมขั้นตอนการปรุงยาเพื่อที่จะดื่มกิน โดยยาชนิดนี้ผู้คนมักจะเรียกว่าหลงกู่ 龙骨(แปลตรงตัวคือกระดูกมังกร) ยาชนิดนี้ต้องนำมาบดให้เป็นผงละเอียดหลังจากนั้นจึงจะใช้ดื่มได้ หลังจากใช้ไปได้ระยะนึง ตนนั้นก็ได้เริ่มสังเกตเห็นว่าบนแผ่นยามีการแกะสลักตัวอักษรที่ไม่คุ้นหน้าคนตาเอาเสียเลย จึงได้ทำการวิจัยที่มาที่ไปของตัวอักษรแปลกประหลาดนี้ว่ามันคืออะไรกันแน่
จนกระทั่งหวังอี้หลงสืบหาต้นต่อแหล่งผลิตยาหลงกู่ตัวนี้ พบว่าสถานที่ผลิตยาอยู่ที่ มณฑลเหอหนาน เมืองอันหยาง(河南安阳小屯)ทุกคนต่างรู้ดีว่าที่นั้นคือเมืองหลวงเก่าของราชวงศ์ชาง 商朝(หรือเรียกว่า殷商)จึงได้ข้อสรุปว่าตัวอักษรที่อยู่บนยาก็คือตัวอักษรจีนที่ถูกใช้ในช่วงเวลาสามถึงสี่พันปีก่อน หลังจากนั้นก็ได้มีการขุดเพื่อค้นหาอักษรกระดองเต่าเหล่านี้ และได้เป็นที่ประจักษ์ให้พวกเราได้เห็นจวบจนถึงปัจจุบัน
มณฑลเหอหนาน เมืองอันหยาง
นับตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา อักษรเจี่ยกู่ก็ได้กลับมาเผชิญโลกอีกครั้ง ถ้าหากนับรวมกับอักษรคูนิฟอร์ม อักษรไฮโลกริฟ อักษรมายา อักษรกระดองเต่าก็คงจัดเป็นอักษรที่เก่าแก่อีกอักษรนึงที่น่าสนใจและควรค่าแก่การศึกษา
“往古者,可知兴替 ผู้ศึกษาประวัติศาสตร์ ย่อมรู้การเสื่อมสลายและเจริญรุ่งเรืองของบ้านเมือง” พวกเราศึกษาอักษรโบราณเหล่านี้ บางทีตัวอักษรเหล่านั้นก็อาจจะเป็นตัวสะท้อนถึงวิถีชีวิต ความคิดของผู้คนสมัยโบราณ และได้เรียนรู้ถึงอารยธรรมอันเก่าแก่ของประเทศนั้นๆอีกด้วย
ส่วนบทความหน้าจะเป็นเรื่องอะไร ฝากกดติดตามและให้กำลังใจกันด้วยนะครับ
ประวัติศาสตร์
หนังสือ
ภาษาจีน
3 บันทึก
4
4
3
4
4
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย