Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
วณิพก ยกมาเล่า
•
ติดตาม
10 เม.ย. 2022 เวลา 01:06 • ประวัติศาสตร์
จูล่งแห่งเสียงสาน ความจริงในหน้าประวัติศาสตร์์
เตียวหยุน จูล่ง หนึ่งในยอดขุนพลของจ๊กก๊ก ผูัที่ได้รับการยกย่องในด้านฝีมือการสู้รบ ความเด็ดเดี่ยวกล้าหาญ ยึดมั่นคุณธรรม ได้รับการชื่นชอบจากผู้อ่านวรรณกรรมสามก๊กมาโดยตลอด วันนี้เราจะมาทำความรู้จักกับจูล่งในหน้าประวัติศาสตร์ จากพงศาวดารจีนในจดหมายเหตุสามก๊กกันครับ จุดมุ่งหมายที่สำคัญวันนี้ไม่ได้มุ่งไปที่ความแตกต่างระหว่างวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ หากแต่จะมาเผยภาพความในใจที่จูล่งยึดมั่นมาโดยตลอดในคุณธรรมของลัทธิหยูหรือขงจื๊อ และเผยให้ท่านผู้ฟังได้เห็นภาพชัดเจนขึ้นเกี่ยวกับสถานะของจูล่ง และต่อยอดสู่คำตอบที่ว่า เหตุใด จูล่งจึงไม่ใช่หนึ่งในห้าทหารเสือในทางประวัติศาสตร์
เช่นเคยครับ การศึกษาหลักฐานทางประวัติศาสตร์ไม่ได้มีไว้เพื่อนำความจริงจากบันทึกไปทำลายบรรยากาศในวงสนธนาวรรณกรรม เพราะนอกจากจะทำให้วงแตกแล้ว เกรงว่าจะเป็นการด้อยค่าวรรณกรรมที่สวยงาม เป็นคนละเรื่องเดียวกัน ควรถกเถียงแยกกันให้ชัดเจนจะดีกว่า
1.ชาติกำเนิดทหารม้าสกุล "จ้าว"
บทบรรยายลักษณะภายนอกของจูล่งในวรรณกรรมสามก๊กก็เป็นลักษณะเดียวกับที่บันทึกในจดหมายเหตุสามก๊กเช่นกัน โดยบรรยายไว้ว่า เตียวหยุน ชื่อรอง จูล่ง ปีเกิดไม่แน่ชัด เป็นชาวเมืองเจินติ้ง เมืองเสียงสาน มณฑลเหอเป่ย สูงแปดเซี๊ยะ (หรือถ้าเทียบเป็นเซนติเมตรก็ประมาณ 185-195 เซนติเมตร) หน้าขาว กล้าหาญชาญชัย สัตย์ซื่อภักดี สุขุมรอบคอบ วิทยายุทธเป็นเลิศ ขี่ม้าขาว แต่งกายสีขาวใส่เกราะเงิน
ซึ่งนั่นถือว่าเป็นบุคคลิกที่ช่วยขับความโดดเด่นของจูล่งเพราะจะหานักรบที่ใส่ชุดสีขาวเช่นนั้น คงหายากนัก เพราะผู้ที่อาจหาญใส่สีขาวท่ามกลางสนามรบคงต้องมีความกล้าหาญอยู่พอสมควร ส่วนหนึ่งอาจจะเกิดถิ่นกำเนิดของจูล่งในถิ่นภูเขาสูงฉางซาน ถือกำเนิดในวันที่เมฆสีขาวปกคลุมทั่วท้องฟ้า และบิดาชื่อว่า หยุน แปลว่า เมฆ อาจจะมีผลต่อเครื่องแต่งกายของจูล่งอยู่พอสมควร และคำถามที่ว่า เหตุใดจูล่งไมได้เป็นหนึ่งในพี่น้องร่วมสาบานกับเล่าปี่ กวนอู และเตียวหุย แม้ว่าคำสาบานดังกล่าวจะไม่ได้มีจริงใน
ประวัติศาสตร์ ก็พอจะเดาใจหลอก้วนจงคนแต่งนิยายออกว่า ที่จริงแล้วตามประวัติศาสตร์ต้นตระกูลสายเลือดทหารม้าสกุล "จ้าว" ของจูล่งนั้นสูงส่งกว่าเตียวหุย และกวนอู ราวฟ้ากับเหว และด้วยอายุของจูล่งก็มากกว่าเล่าปี่ราว 2- 4 ปี หากหลอก้วนจงจับมาสาบานด้วยอีกคน จูล่งคงแย่งบทพระเอกไปเป็นแน่ ในนิยาย เล่าปี่จึงเพิ่งจะมาเรียกจูล่งว่าเป็นน้องก่อนจะสิ้นใจนี่เอง ด้วยสาเหตุใด ลองดูกันต่อครับ...
2.เข้าสู่สนามรบด้วยปณิธาณอันแน่วแน่
ตามจดหมายเหตุสามก๊ก จูล่งแห่งเสียงสานได้ตัดสินใจนำคนหนุ่มฝีมือดีหลายร้อยคนเข้าสมัครทำราชการกับกองซุนจ้าน กองซุนจ้านจึงถามว่า "ในสภาวะเช่นนี้ใคร ๆ ก็สมัครเข้าด้วยอ้วนเสี้ยวที่มีภาษีดีกว่า เหตุใดท่านจึงมาอยู่กับข้าเล่า" คำตอบของจูล่งได้แสดงถึงปณิธาณอันแน่วแน่และเป็นแนวทางการดำเนินชีวิตของเขาเสมอมา ว่า "แผ่นดินเกิดกลียุค ยากที่จะแยกดีชั่ว หรือแม้แต่จะหานายที่ดีได้ เราชาวเสียงสานตัดสินใจเลือกนายท่านที่เปี่ยมด้วยเมตตาและคุณธรรม" ความข้อนี้อาจจะแตกต่างจากในนิยายเพียงเล็กน้อยที่ว่าจูล่งได้เคยขอเข้าร่วมกองทัพของอ้วนเสี้ยวมาก่อน ทำให้เกิดรอยด่างพร้อยว่าจูล่งละทิ้งนายเก่า
3.บุพเพอาละวาด พบเล่าปี่ บุญหรือกรรม
หลังจากที่กองซุนจ้านรับจูล่งเข้าสังกัดในตำแหน่งนายกองทหารม้าได้ไม่นาน การมาถึงของสามพี่น้อง เล่าปี่ กวนอู เตียวหุย ที่เข้ามาร่วมกับกองทัพกองซุนจ้านเพื่อนเก่า จูล่งก็ได้พบกับเล่าปี่และได้ให้ความเคารพเล่าปี่อย่างสูง ส่วนทางเล่าปี่ก็ชื่นชอบในฝีมือ ความกล้าหาญสัตย์ซื่อของจูล่งเช่นกัน จากนั้นจูล่งก็ได้มีโอกาสคุมกองทหารม้าช่วยเล่าปี่รบกับอ้วนเสี้ยว ในฐานะนายกองทหารม้าเสมอกัน และโอกาสไกลหูไกลตาเช่นนี้ เล่าปี่คนสัตย์ซื่อก็ได้แอบจีบจูล่ง โดยใช้นิสัยเดิมที่มีบันทึกไว้ทั้งในประวัติศาสตร์และนิยายตรงกัน คือการกินนอนคลุกคลีนอนเตียงเดียวกันกับคนที่ถูกใจ ชักชวนให้มาอยู่ด้วย
แม้จูล่งจะมีความชื่นชอบเล่าปี่อยู่ แต่ก็ตอบปฏิเสธไปว่า "ตัวข้าได้ให้คำสัตย์กับกองซุนจ้านไว้แล้ว ยังมิอาจติดตามนายท่านไปได้" แสดงให้เห็นถึงการรักษาคำพูด และคุณธรรมข้อที่ว่า "กตัญญู" จนเล่าปี่หน้าชาไปแบบผู้ดีๆ หรือบางทีจูล่งอาจจะแหยง ๆ เวลาต้องนอนกับผู้ชายก็เป็นไปได้ หลังจากนั้นจูล่งก็เริ่มจะรู้จักกองซุนจ้านมากขึ้น เมื่อเห็นว่ากองซุนจ้านไม่ใช่นายที่มีปณิธาณเพื่อแผ่นดินขนาดนั้น กองซุนจ้านเอาแต่รักตัวกลัวตายรักษาเมืองและบุตรภรรยาอย่างไม่คิดจะออกรบ
จนกระทั่งจูล่งได้ทราบข่าวการเสียชีวิตของพี่ชาย จึงของลาไปไว้ทุกข์ ความในบันทึกตอนนี้ช่างคล้าย ๆ กับวรรณกรรมตอนที่เล่าปี่ตามส่งชีซีเมื่อครั้งถูกโจโฉลวงมาที่ฮูโต๋ เล่าปี่อาลัยนัก เกรงว่าจะไม่ได้พบหน้าจูล่ง จึงขับม้าออกมาส่งถึงนอกเมือง บริวิท เทเลอร์ ได้บรรยายตอนร่ำลาทั้งน้ำตาของชายทั้งสองไว้อย่างน่าประทับใจ และระหว่างที่จูล่งกำลังไว้ทุกข์ให้กับพี่ชาย ก็เป็นช่วงเวลาที่กองซุนจ้านตัดสินใจปลิดชีพตนเอง ทำให้จูล่งต้องปักหลักอยู่ทางตอนเหนือของแม่น้ำฮวงโห ในฐานะของทหารไร้สังกัดไปพักหนึ่ง ซึ่งจุดนี้ก็อาจเป็นช่องว่างให้หลอก้วนจงนำไปสอดแทรกในนิยายว่าจูล่งตัดสินใจบุกเดี่ยวชิงตำแหน่งหัวหน้าโจรรอคอยนายผู้มีสติปัญญามาใช้งาน
2
4.เข้าร่วมกองทัพเล่าปี่
ความตามวรรณกรรมบรรยายว่า จูล่งเป็นหัวหน้าโจรและได้เอาชนะจิวฉองลูกน้องกวนอูระหว่างทางที่สามพี่น้องกำลังเดินทางมาพบกัน หลังจากที่เล่าปี่หาทางออกจากอ้วนเสี้ยวได้สำเร็จ แต่ความตามบันทึกจดหมายเหตุสามก๊ก จูล่งได้พบกับเล่าปี่อีกครั้งที่เมืองเย่ ขณะที่เล่าปี่เข้าทำงานให้อ้วนเสี้ยว การเข้ามาของจูล่งคือช่วงเวลาที่เล่าปี่ตกต่ำไม่มีแม้ฐานที่มั่นที่ซุกหัวนอน แม้ในขณะนั้นจูล่งจะเริ่มมีชื่อเสียงในแผ่นดินบ้างแล้วสามารถเข้าหานายที่โหญ่โตกว่านี้ แต่ด้วยความที่เห็นว่าเล่าปี่มีลักษณะที่ใกล้เคียงกับผู้นำในอุดมคติที่ใฝ่หา จึงตัดสินใจอย่างแน่วแน่ที่จะติดตามผู้นำพเนจรนับแต่นั้นมา
2
การเข้าร่วมกับเล่าปี่ในขณะที่ไม่มีอะไรเลย มีเพียงปณิธานอันแน่วแน่ แสดงถึง "ศรัทธา" อันแรงกล้าในตัวผู้นำ แม้การกลับมาคราวนี้จะไม่ได้เป็นหัวหน้ากองทหารม้าเสมอกัน แต่เป็นตำแหน่งองครักษ์พิทักษ์เล่าปี่ และอีกหน้าที่หนึ่งคือการแอบกบฎต่ออ้วนเสี้ยว คือให้จูล่งแอบสะสมกองกำลังทหารม้าหลายร้อยนายไว้ใช้ส่วนตัวเล่าปี่และรอเวลาตีจาก หน้าที่องครักษ์ซึ่งต่อไปต้องพิทักษ์ครอบครัวเล่าปี่นี้เป็นการทำแทนกวนอูซึ่งล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงในการดูแลครอบครัวเล่าปี่
1
แต่ถูกแต่งในนิยายว่ารักษาครอบครัวเล่าปี่อย่างสุดชีวิต ทั้งยอมจำนนต่อโจโฉอย่างมีเงื่อนไข ฝ่าห้าด่านสังหารหกขุนพลเพื่อมาพบเล่าปี่รักษาพี่สะใภ้ที่ไม่มีจริงในหน้าประวัติศาสตร์ ซึ่งกวนอูเองก็รับหน้าที่นี้มาจากเตียวหุยที่เมาจนเสียเมืองให้ลิโป้ ทิ้งพี่สะใภ้ไว้เบื้องหลังเช่นกัน จึงไม่ต้องแปลกใจเลยว่า หน้าที่องครักษ์ที่ไม่เคยผิดพลาดจึงอยู่ในมือจูล่ง จนวันสุดท้ายของชีวิต
3
5.ฝ่าทัพรับอาเต๊า
ในวรรณกรรมสามก๊ก บทนี้เป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้วณิพกเริ่มศึกษาและอ่านนิยายสามก๊กจากบทเรียนตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการในสมัยนั้น ความห้าวหาญภักดี ฝีมือการรบและความอดทน สู้เสี่ยงชีวิตค้นหาครอบครัวของผู้เป็นนายจากตีสามถึงบ่ายสามโมงของอีกวัน เป็นที่ประทับใจของผู้อ่าน แม้ในหน้าประวัติศาสตร์จะไม่ได้บันทึกรายละเอียดไว้เช่นนั้นอย่างชัดเจน แต่ก็มีเค้าโครงใหญ่ ๆ ที่เว้นที่ว่างสำหรับหลอก้วนจงนักแต่งนิยายอยู่ไม่ใช่น้อย
4
จดหมายเหตุสามก๊กบันทึกไว้ว่า ในปี ค.ศ.208 ปีเจี้ยนอันที่ 13 โจโฉเคลื่อนทัพตีเกงจิ๋ว เล่าปี่หนีลงใต้โดยมีราษฎรติดตามเล่าปี่นับแสนคน ขณะที่เล่าปี่มีทหารติดตัวแค่เพียงทหารม้าไม่กี่สิบคนภายหลังที่โดนโจมตีอย่างหนัก ณ ทุ่งเตียงหยาง ครอบครัวเล่าปี่ต้องพลัดพรากและถูกทิ้งไว้เบื้องหลัง จูล่งซึ่งมีหน้าที่ดูแลครอบครัวของผู้เป็นนาย ตัดสินใจควบม้าตะลุยขึ้นเหนือ ฝ่าเข้าไปในพื้นที่ที่เรียกว่า Behide The Enemy Line บรรดาทหารเล่าปี่เห็นเช่นนั้นก็นำความเข้าไปบอกเล่าปี่ว่าจูล่งเข้าสามิภักดิ์ต่อโจโฉเสียแล้ว เล่าปี่ได้ฟังเช่นนั้นก็หยิบง้าวมาฟาดใส่ผู้มารายงานแล้วว่า "จูล่งไม่มีวันทอดทิ้งข้า "
2
จากนั้นไม่นาน การมาของนางกำฮูหยินและอาเต๊าเล่าเสี้ยนในอ้อมอกของจูล่งจึงคลายความแคลงใจของบรรดาทหารทั้งหลาย เล่าปี่น้ำตาแตก แต่งตั้งให้เป็นนายพลแห่งความเที่ยงตรง "หยาเหมินเจียงจวิน" ในกองทัพที่ไม่อาจจะเรียกได้ว่าเป็นกองทัพในขณะนั้น วีรกรรมของจูล่งในทางประวัติศาสตร์ที่ว่าน่ายกย่องแล้ว ความสามารถในการประพันธ์เรื่องราวของหลอก้วนจงก็น่ายกย่องไม่แพ้กัน วีรกรรมครั้งนี้อาจจะไม่สามารถยกย่องเพียงจูล่งเพียงคนเดียว เพราะหากเป็นการฝ่าทัพคนอื่นที่ไม่ใช่คนใจนักเลงอย่างโจโฉ ที่สั่งห้ามยิงเกาทัณฑ์ใส่ทหารคนเดียวที่อุ้มเด็กฝ่าทหารเข้ามา จูล่งคงไม่รอดกลับไปได้ นี่ก็เป็นอีกหนึ่งบันทึกที่เขียนถึงนิสัยของโจโฉอย่างน่ายกย่อง
2
นอกจากนี้การกระโดดขึ้นเรือกังตั๋งเพื่อชิงตัวอาเต๊ากลับมาจากซุนฮูหยินก็นับเป็นวีรกรรมที่เล่าปี่และเล่าเสี้ยนไม่อาจจะลืมได้ทั้งชีวิต
6.ความสามารถในการนำทัพที่ยังไม่เป็นที่ประจักษ์
ในการบุกเสฉวนของเล่าปี่ เจี้ยนอานปีที่ 19 ค.ศ.214 ขงเบ้ง เตียวหุย จูล่ง นำทัพลงสมทบเล่าปี่ โดยยกแยกกันมา เตียวหุยได้แสดงความสามารถในการนำทัพ รู้จักผ่อนหนักผ่อนเบา จับเงียมหงันแม่ทัพเฒ่าได้ และเกลี้ยกล่อมให้นำทัพเข้าเสฉวนได้อย่างสะดวกโยธิน ทำให้ทัพจูล่งเข้าวินหลังจากเตียวหุยผู้หยาบช้า จูล่งจึงได้แสดงให้เห็นเพียงฝีมือทางการรบเท่านั้น
1
แต่ฝีมือการนำทัพยังไม่เป็นที่ประจักษ์ต่อผู้บังคับบัญชาเท่าใด ตำแหน่งหัวหน้าองครักษ์จึงยังอยู่กับจูล่งอย่างเหนียวแน่นไม่อาจเปลี่ยนเป็นผู้นำทัพทำงานใหญ่ได้ในขณะนั้น นี่จึงทำให้พอจะเห็นภาพว่า จูล่งผู้มีฝีมือสูงส่งไฉนเล่ายังไม่เคยได้ทำงานใหญ่ มีเพียงครั้งเดียวเท่านั้นที่ได้รับหน้าที่ให้ครองเมืองกุ้ยหยาง เพราะตอนนั้นหลังศึกผาแดง จูล่งตีกุ้ยหยางได้เล่าปี่ต้องการคุมอำนาจในแถบเกงจิ๋วและยังขาดบุคลากร แต่ก็เป็นเพียงรักษาการชั่วคราวเท่านั้น นอกนั้นการคุมทัพก็เป็นการคุมทัพที่คอยช่วยเหลือแม่ทัพรายอื่น ๆ
1
7.ความกล้าหาญที่ทำได้ยากยิ่ง
ความกล้าหาญที่ยากยิ่งที่ผู้เป็นข้าพึงจะกระทำได้ คือการตักเตือนนายที่กำลังลำพองใจ เล่าปี่เข้าเสฉวนด้วยกริยาที่นอบน้อม แต่ฉลองการพิชิตอย่างเอกเกริก แจกทรัพย์สินเงินทองที่ปล้นมาจากเล่าเจี้ยงแก่พวกพ้องเหมือนคนไม่เคยมีสมบัติ ไม่ได้เป็นเหมือนในนิยายที่ว่าเล่าปี่อารีแก่ชาวเมือง จูล่งผู้อยู่ข้างกายนึกอดสูใจ จึงทัดทานเบา ๆ ข้างหูไว้ว่า "ไม่ควรจะดีใจออกหน้าเช่นนั้น จงเมตตาแก่ชาวเมืองที่ยากไร้ ทำนุบำรุงบ้านเมืองจึงจะถูก"
2
ไม่มีคำตอบใด ๆ จากเล่าปี่กลับไปยังหัวหน้าองครักษ์รักษาความปลอดภัยคนนี้ แต่ในนิยายเล่าเป็นตุเป็นตะว่า "เล่าปี่ก็เห็นชอบด้วย" คำกล่าวเตือนอันสัตย์ซื่อแต่หยาบคายนี้ไม่ได้เข้าแค่หูเล่าปี่ แต่อีกฝั่งที่ยืนอยู่ย่อมได้ยิน คือ ขงเบ้ง ซึ่งต้องมีความยินดีเป็นที่สุดที่นายทำตามยุทธศาสตร์ที่ตนวางไว้ในขั้นที่สองสำเร็จ และก็มีบันทึกเกี่ยวกับคำพูดของขงเบ้งถึงความเห็นอกเห็นใจเล่าปี่เจ้านายพเนจรว่า "ลำบากมาทั้งชีวิต เพิ่งจะมีที่พำนักก็ครานี้" นี่ไม่ใช่แค่ความกล้าหาญ แต่นี่ยังเป็นอีกคุณธรรมหนึ่งที่เรียกว่า "เมตตา"
1
8.อุบายเมืองร้างที่เกิดขึ้นจริง
ค.ศ.219 ในศึกฮันต๋ง หวดเจ้งกุนซือเล่าปี่ใช้อุบายหลอกล่อให้แฮหัวเอี๋ยนมาเข้าทางปืนฮองตง ขุนพลเฒ่าสังหารแฮหัวเอี๋ยนผู้ญาติโจโฉได้สำเร็จ เตียบคับพาทหารที่เหลือตีฝ่าออกมาตั้งทัพรอโจโฉลงมาช่วย โจโฉทราบข่าวนำทัพกลับมาแก้แค้น กองสอดแนมวุยก๊กกลับไปรายงานโจโฉว่าผู้ที่ยืนรอรับทัพอยู่คือจูล่งแห่งเสียงสาน จูล่งต้องเข้าช่วยทัพที่ถูกล้อมแล้วพาหนีกลับมาค่าย ฝ่ายโจโฉไล่ติดตามมาอย่างกระชั้นชิด จูล่งเห็นว่าศรัตรูมีมากกว่าหลายเท่าจึงสั่งให้ลดธงเปิดประตูค่ายรอ ทำใจดีสู้เสือ
1
ทหารวุยก๊กเห็นความผิดปกติก็เกิดความระแวงว่าจะถูกซุ่มโจมตี ทั้งยังเห็นฝีมือจูล่งเมื่อครั้งฝ่าทัพรับอาเต๊ามาก่อน จึงยังรีรอกันอยู่ เมื่อเห็นทัพไม่เป็นขบวน จูล่งก็สั่งให้ยิงเกาฑัณฑ์ใส่บรรดาทหารวุยก๊กทันที จนทัพวุยก๊กต้องถอยกลับไปอย่างไม่เป็นท่า โจโฉจึงถอยทัพกลับไปในเดือน 5 ปีเดียวกัน นี่เป็นสิ่งที่ไม่ว่าจะเป็นขุนนาง หรือนายทหารพึงจะมี "สติปัญญา" เสร็จศึก เล่าปี่เดินทางมายกย่องให้เป็น "หู่เว่ยเจียงจวิน" นายพลพยัคฑ์เดชแห่งจ๊กก๊ก แถมโจโฉก็ได้ซาบซึ้งถึงฝีมือจูล่งถึงขั้นออกปากเตือนทหารตนว่า "หากพบจูล่ง ให้พึงระวัง"
1
9.น้ำเชี่ยวเอาเรือไปขวาง
โจผีตั้งตนเป็นฮ่องเต้ ฮันต๋งอ๋องเล่าปี่อยู่ไม่ได้ เหล่าขุนนางผู้ภักดีและปราถนาความก้าวหน้า ยุให้เล่าปี่ขึ้นเป็นฮ่องเต้เพื่อสืบทอดราชวงศ์ฮั่น นำโดยขงเบ้ง ศักราชจางอู่ปีที่ 1 เดือน 4 ปีฉลู ค.ศ.221 เล่าปี่อดทนต่อคำอ้อนวอนไม่ไหว สถาปันนาตนขึ้นเป็นฮ่องเต้ทั้ง ๆ ที่พระเจ้าเหี้ยนเต้ยังมีชีวิตอยู่ มีบันทึกการทัดทานการตั้งตนครั้งนี้ถึงสองคน คนแรกคือจูล่งผู้ไม่เคยเข็ดจากการเตือนครั้งแรก ที่ทำให้ชีวิตราชการตนเองเจริญอยู่กับที่อย่างสงบ
และยังมีอีกคนหนึ่งที่ไม่มีชื่อเสียงโด่งดังปรากฎในนิยาย คือซือหม่าเฟ่ยซือ นายทหารม้าชั้นยศกลาง ๆ คำทัดทานถูกบันทึกว่า "ท่านหนีราชการมาถึงที่นี่ก็เพราะปณิธาณจะกอบกู้ราชวงศ์ฮั่นให้พ้นจากเงื้อมมือของสกุลโจ แต่ท่านกลับตั้งตัวเป็นฮ่องเต้เสียเอง เช่นนี้ท่านจะไม่ได้ชื่อว่าเป็นคนสับปรับกลับกลอกหรือ" และนั่นก็เป็นวันสุดท้ายในชีวิตราชการของเฟ่ยซือ หลังจากสิ้นประโยคก็ถูกปลดจากราชการทันที การกล้าที่จะยืนขึ้นคัดค้านการตั้งตัวเป็นฮ่องเต้เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่จูล่งยึดมั่นมาโดยตลอด "ความชอบธรรม"
1
10.ไม่เข็ดหลาบ
หลังจากการสถาปนาตนของเล่าปี่ได้ไม่นาน เตียวหุยก็เข้ามาพร้อมน้ำตา ทวงความยุติธรรมให้กับกวนอูผู้ตาย ยุให้เล่าปี่กรีฑาทัพไปง่อก๊ก เล่าปี่ไม่รอช้า สั่งจัดทัพออกแก้แค้นให้กวนอูทันที ในครั้งนี้จูล่งเกิดคันปากขึ้นมาอีก ทัดทานอย่างแข็งขันว่า "ท่านจัดทัพก็ถูกต้องแล้ว แต่ขึ้นเหนือกำจัดโจผี จึงจะควร" แม้ว่าครั้งนี้จูล่งจะเห็นตรงกันกับขงเบ้ง แต่ก็มิอาจจะทัดทานเล่าปี่เจ้าแผ่นดินไว้ได้ นั่นจึงเป็นคำเตือนสุดท้ายของจูล่งถึงเล่าปี่นายเหนือหัวที่ติดตามมานาน
แต่ในสายตาของเล่าปี่ จูล่งก็เป็นเพียงนายทหารรับใช้ในตำแหน่งองครักษ์ ในศึกครั้งนี้จูล่งได้รับหน้าที่นายกองเสบียงอยู่แนวหลังที่เจียงโจวหรือนครฉงชิ่ง จึงไม่ได้อยู่ข้างกายเล่าปี่เช่นเคย แต่ด้วยความเป็นห่วงนายก็คอยติดตามข่าวศึกอยู่มิได้ขาด จนเมื่อทราบว่านายเพลี่ยงพล้ำก็ทิ้งหน้าที่นายกองเสบียงเข้าอารักษ์ขาเล่าปี่มาที่เมืองเป๊กเต้ สุดท้ายเล่าปี่ก็พ่ายศึกที่ไม่ควรพ่าย ก่อศึกที่ไม่ควรก่อ นอนตรอมใจตาย ไม่กล้ากลับมาสู้หน้าชาวเมือง และก็เป็นวินาทีก่อนตายนี่เองที่เล่าปี่เพิ่งจะเห็นความสำคัญของจูล่ง เมื่อคนที่เขาไว้ใจที่สุดก่อนจะจากไปเหลือเพียงจูล่งเท่านั้น
ในห้องสนทนาที่เล่าปี่ฝากฝังขงเบ้งว่า "หากเล่าเสี้ยนไม่เอาไหน ให้ขึ้นปกครองแทนเล่าเสี้ยนได้เลย" เป็นคำพูดที่หลักแหลมมากสำหรับเล่าปี่ในการปรามขงเบ้ง ผู้บอกว่าตนเองเป็นคนมัธยัทถ์ แต่จากสภาพการ มีการจัดตั้งเทียบเนียบนายกที่หรูหรา มีเมืองส่วนตัวคล้าย ๆ ตั๋งโต๋ะ แน่นอนว่า ตราบใดที่จูล่งยังอยู่ คนที่จะทำร้ายเล่าเสี้ยนได้ ก็ต้องข้ามศพจูล่งไปก่อน สังเกตุดูสักนิด เล่าปี่เองนอนป่วยเกือบทั้งปี ขงเบ้งที่รักก็มิได้มาเยี่ยมเยือนสักครั้งเดียว จะอยู่เฝ้าสมบัติหรือรักษาด่านทางก็ไม่ทราบได้ และตามประวัติศาสตร์เล่าเสี้ยนไม่ได้ถูกเรียกมาสั่งเสียที่เป๊กเต้ แต่เล่าปี่เรียกเพียงขงเบ้งมา มองเผิน ๆ อาจจะคิดว่าเล่าปี่รักขงเบ้งมากกว่าลูก แต่ลองมองลึกเข้าไปอีก คิดกันเองเลยครับ...
11.หักหน้าจูกัดเหลียง
ค.ศ.228 ขงเบ้งเสียเกเต๋งจากการเลือกใช้ม้าเจ๊ก จำต้องถอยทัพหนีเตียวคับอย่างเสียท่า หลอก้วนจงแต่งว่าถอยหนีสุมาอี้ ทั้ง ๆ ที่ตามจดหมายเหตุ สุมาอี้ไม่ได้มาศึกนี้ หลังเสร็จศึกขงเบ้งขอลดยศตนเองสามขั้น แต่ตำแหน่งต่าง ๆ มากมายยังคงครองอยู่ดังเดิม เพราะหากไม่ทำเช่นนั้น การเมืองในจ๊กก๊กที่แตกออกเป็นหลายเสียงในขณะนั้นก็สั่นคลอนขงเบ้งอยู่ไม่น้อย จึงมีการแฝงการประกาศชัยชนะที่อยู่ท่ามกลางความพ่ายแพ้อยู่เล็กน้อยพอเป็นข้ออ้าง เมื่อนายทัพวัยชราอย่างจูล่งคอยรั้งท้ายพาทหารกลับมาได้อย่างปลอดภัย
1
ขงเบ้งต้องการจะประกาศชัยชนะเล็กน้อยนี้โดยการประทานรางวัลให้แก่จูล่ง จูล่งกลับปฏิเสธกลับไปว่า "ช่างน่าอับอายที่แพ้ศึกแล้วยังมาให้รางวัลกันอีก ควรเก็บของเหล่านี้ไว้ให้แก่ทหารที่ลำบากและครอบครัวเสียดีกว่า" นี่ไม่ใช่เพียงคำปฎิเสธธรรมดา เมื่อมาใคร่ครวญดูให้ดี ขงเบ้งต้องการจะประกาศความสำเร็จเล็กน้อยภายใต้ความล้มเหลวอันใหญ่หลวง แต่ไม่เพียงแต่ถูกปฏิเสธ มันคือการสั่งสอนที่เจ็บแสบคันอย่างทันควัน ความข้อนี้คล้ายกับในนิยาย โดยหลอก้วนจงได้ใส่คำพูดแก้เขินช่วยขงเบ้งว่า "แต่วันนั้นไปขงเบ้งก็มีความคารวะจูล่งเป็นอันมาก" แต่ก็มีบันทึกว่านอกจากขงเบ้งจะลดยศตนเองก็แอบลดยศจูล่งด้วยเช่นกัน ไม่รู้ว่าเกี่ยวกับการไม่ยอมอ่อนข้อให้หรือไม่ ซึ่งต่อมาแม้ขงเบ้งได้ยศตนเองคืน ยศจูล่งกลับคาอยู่ที่เดิม
1
มาถึงตรงนี้จึงน่าจะพอเห็นภาพแล้วว่าทำไมยศสูงสุดของจูล่งจึงยังเป็นรองของกวนอู เตียวหุย ฮองตง และม้าเฉียว บันทึกประวัติศาสตร์ว่า จูล่งไม่มีบรรดาศักดิ์เจ้าพระยาในสมัยของเล่าปี่ เพิ่งจะมารับตำแหน่ง "ย่งซาง ถิงโหว" เจ้าพระยาชั้นต้นในสมัยของเล่าเสี้ยนเพราะเคยทำคุณไว้กับเล่าเสี้ยนเป็นอันมาก ภายหลังที่จูล่งสิ้นไปแล้วเล่าเสี้ยนก็ได้สั่งให้ขงเบ้งพิจารณาเลื่อนขั้นให้จูล่ง แต่ขงเบ้งก็ไม่ทำ โดยแย้งว่า จูล่งยังไม่มีผลงานเพียงพอที่จะเป็นเจ้าพระยา จนในที่สุดได้เลื่อนขั้นในสมัยของเกียงอุยในตำแหน่ง "ซุ่นผิงโหว พระยาวิสามัญนิยม "
1
12.รางวัลที่สมควรได้รับ
แม้หลายความเห็นจะมองว่าจูล่งอาภัพ วาสนาน้อย น่าสงสาร แต่อย่างน้อย ใน ค.ศ.229 จูล่งก็ได้รับสิทธิในการจากโลกนี้ไปอย่างสงบในวัยประมาณ 72 ปี ต่างจากผองเพื่อนที่ร่วมก่อตั้งเสฉวนมาด้วยกัน เขาจากโลกนี้ไปอย่างชายชาติทหาร แม้ไม่ได้ตายในสนามรบอย่างที่นักรบทั่วไปปราถนา แต่ทุกย่างก้าวในชีวิตมันก็เป็นเกียรติสูงสุดเพียงพอแล้วในฐานะของชายที่ชื่อจูล่ง "จูล่งก็ยังเป็นจูล่ง" ทั้งในวรรณกรรมและหน้าประวัติศาสตร์ การรับใช้เล่าปี่จนถึงเล่าเสี้ยนผู้ลูกโดยมิได้มักใหญ่ใฝ่สูง ตอกย้ำคุุณธรรมข้อที่ว่า "ความภักดี"
1
บางคนอาจจะวิเคราะห์สามก๊กไปถึงหมากตัวสำคัญหรือเหตุการณ์ต่าง ๆ มากมาย แต่หากมองหมากตัวเล็ก ๆ อย่างเช่นจูล่ง หากเล่าปี่วางไว้ในตำแหน่งที่เหมาะสม อย่างเช่นเกงจิ๋ว ม้าขาวตัวเดียวตัวนี้ อาจจะเปลี่ยนกระดานสามก๊กให้มีจุดจบอีกรูปแบบหนึ่งก็เป็นได้
เฉินโซ่ว ผู้บันทึกพงศาวดารสามก๊กได้ยกย่องจูล่งไว้ว่า "สำหรับจูล่งและฮองตงเป็นยอดขุนพลที่เปี่ยมไปด้วยความกล้าหาญและภักดีประดุจเขี้ยวเล็บและฟันของสัตว์ร้ายของผู้เป็นนาย ทั้งสองจึงอาจเปรียบเทียบได้กับขุนพลยุคโบราณอย่างกวนหยิน และแฮหัวหยินได้ มิใช่หรือ" ซึ่งกวนหยินและแฮหัวหยินนี้ วณิพกคิดว่าคือสองทหารเอกของพระเจ้าฮั่นเกาจู่ปฐมกษัตริย์ราชวงศ์ฮั่น ส่วนคำตอบที่ว่า เหตุใดจูล่งจึงไม่ได้รับการแต่งตั้งให้มียศเทียบสี่ทหารเสือ แต่ 6 คุณธรรมในใจที่จูล่งยึดมั่นเสมอมา ก็เพียงพอที่จะทำให้จูล่งเป็นหนึ่งในใจของอีกหลาย ๆ คนแล้วมิใช่หรือ ท่านผู้ฟังก็ใคร่ครวญดูกันเองเถิด
1
ที่มา : -หนังสือสามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน)
-คุ้ยความจริงสามก๊ก เล่ม 2 โดย เล่าชวนหัว
-เรื่องจริงหรือแต่งเสริมในจดหมายเหตุสามก๊กฉบับเฉินโซ่ว โดย ยศไกร ส.ตันสกุล
-เทิดศักดิ์ศรีจูล่ง โดย เล่าชวนหัว
1
youtube.com
จูล่ง แห่งเสียงสาน ในหน้าประวัติศาสตร์
จูล่ง แห่งเสียงสาน ในหน้าประวัติศาสตร์#สามก๊ก#จดหมายเหตุสามก๊ก#จูล่ง เกร็ดความรู้สามก๊ก ว่าด้วยจูล่ง ตามความในจดหมายเหตุสามก๊ก ไขคำตอบเรื่องตำแหน่ง 5 ทหาร...
เยี่ยมชม
3 บันทึก
5
1
3
5
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย