10 เม.ย. 2022 เวลา 01:12 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
นักวิจัยค้นพบสิ่งที่อาจเป็นภาษาของเห็ดรา
(เรียบเรียงโดย สัมโมทิก สวิชญาน)
เห็ดราที่เราเห็นโผล่อยู่บนพื้นดินตามป่าเขา ส่วนใหญ่ไม่ได้อยู่เดี่ยวๆ แต่เป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างเส้นสายใยรา (hypha) ใต้ดินที่เรียกว่า “กลุ่มใยรา” (mycelium) ซึ่งครอบคลุมพื้นที่กว้างขวาง เท่าที่นักวิทยาศาสตร์เคยเจอคือ กว้างมากกว่า 90 ไร่เลยทีเดียว (เช่น Armillaria gallica ในป่ามิชิแกน)
งานวิจัยที่ผ่านๆ มาพบว่า เห็ดราส่งสัญญาณไฟฟ้าไปมาระหว่างกันผ่านใยราด้วย คล้ายๆ กับโครงข่ายประสาทของมนุษย์ แต่ล่าสุด นักวิทยาศาสตร์จาก University of the West of England นำสัญญาณเห็ดมาวิเคราะห์รูปแบบทางคณิตศาสตร์ แล้วพบว่า มีลักษณะคล้ายกับการพูดของมนุษย์ โดยเหมือนจะมีคำศัพท์ที่ใช้บ่อยๆ อยู่ 15–20 คำ แต่คาดว่าน่าจะมีคำศัพท์สูงถึง 50 คำ
ที่มา : https://www.ommercato.com/trad/fungi-appear-to-talk-in-a-language-similar-to-humans_165299
นักวิทยาศาสตร์ดังกล่าวคือ ศ. แอนดรูว อดามัตสกี (Andrew Adamatzky) นักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ชาวอังกฤษ โดยในงานวิจัยนี้ท่านศึกษาเห็ดราสี่อย่างคือ เห็ดเข็มทอง (Flammulina velutipes) เห็ดแครง (Schizophyllum commune) ถั่งเช่าสีทอง (Cordyceps militaris) และ “เห็ดผี” (Omphalotus nidiformis) โดยการแปะขั้วไฟฟ้าขนาดเล็กไปบนพื้นที่ที่เห็ดราโตอยู่ และบนโครงสร้างสืบพันธุ์ (sporocarp)
"เห็ดผี" (Omphalotus nidiformis) ที่มา : Wikipedia
จากคำให้สัมภาษณ์กับสื่อชั้นนำของอังกฤษอย่าง The Guardian อาจารย์ท่านเชื่อว่า ไม่ว่าสัญญาณไฟฟ้าที่เกิดขึ้นจะเป็นสัญญาณของอะไร สัญญาณดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นอย่างสุ่มๆ แน่นอน
สัญญาณไฟฟ้าที่อาจารย์วัดได้ ถูกนำมาวิเคราะห์ด้วยกระบวนการของศาสตร์ที่เรียกว่า complex systems (ซึ่งกำลังมาแรงในตอนนี้) โดยมองว่าเป็น finite-state machine ที่เปลี่ยนสถานะไปเรื่อยๆ และวิเคราะห์กราฟ (แบบใน graph theory) ของการเปลี่ยนผ่านสถานะ และพิจารณาความซับซ้อนในเชิงปริมาณด้วยการคำนวณ Shannon entropy (แบบใน information theory) เป็นต้น
ที่มา : https://www.pcgamer.com/academics-are-making-intelligent-buildings-with-the-help-of-fungi/
ผลที่ได้พบว่า มีลักษณะทางการเชื่อมคำศัพท์ให้เป็นประโยคที่ซับซ้อนคล้ายภาษาคน โดยถ้าเปรียบเทียบระหว่างเห็ดราต่างๆ ที่ศึกษา แชมป์คือเห็ดแครง ที่แสดงออกซึ่งความซับซ้อนของสัญญาณไฟฟ้ามากที่สุด
อย่างไรก็ดี การที่สัญญาณไฟฟ้าดังกล่าวมีรูปแบบบางอย่างที่คล้ายกับภาษามนุษย์ ก็อาจจะไม่ได้หมายความว่าเป็นการสื่อสารด้วยภาษาก็ได้ แต่อย่างน้อยที่สุด ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่น่าสนใจยิ่ง ให้นักวิทยาศาสตร์ศึกษากันต่อไป
โฆษณา