Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
ลือชัย พิศจำรูญ
•
ติดตาม
10 เม.ย. 2022 เวลา 07:34 • ประวัติศาสตร์
ประวัติศาสตร์
มารู้จักตัวจริง “หมอชิต” หมอที่คนไทยพูดถึงเยอะที่สุด เป็นใคร?
หมอชิต หรือนายชิต นภาศัพท์
ที่มา ศิลปวัฒนธรรม ฉบับกุมภาพันธ์ 2542
ผู้เขียน เอนก นาวิกมูล
เผยแพร่ วันเสาร์ที่ 9 เมษายน พ.ศ.2565
มีชื่ออยู่ชื่อหนึ่งที่คนไทยคุ้นเคยเสียจนเกือบจะเรียกได้ว่ารู้จักทั่วทั้งประเทศคือชื่อ “หมอชิต”
นอกจาก “หมอชิต” จะเป็นชื่อคนและชื่อยานัตถุ์แล้ว ยังเป็นชื่อสถานที่อีกด้วย เช่น เพลงลูกทุ่งของสายัณห์ สัญญา เพลงหนึ่งชื่อ “อกหักที่หมอชิต” อย่างนี้ไม่ต้องอธิบาย เป็นที่เข้าใจกันว่าหมายถึงอกหักที่สถานีขนส่งสายเหนือ-สายอีสาน หรือแม้สถานีขนส่งนั้นย้ายไปตั้งในที่แห่งใหม่ใกล้ๆ กันแล้วก็ยังเรียกที่แห่งใหม่ว่า “หมอชิต 2” อีก ข้อนี้ขอให้สังเกตว่ามีคนสามัญเพียงไม่กี่คนที่มีชื่อติดหูคนมาก เช่น หมอชิต
อย่างไรก็ตาม ปัญหามีอยู่ว่า
หมอชิตตัวจริงหน้าตาอย่างไร ใช้นามสกุลอะไร มีประวัติอย่างไร
หมอชิตทํายานัตถ์ุขายเมื่อไร ขวดยานัตถุ์หมอชิตมีกี่รุ่น โฆษณายานัตถ์ุของหมอชิตเคยเห็นทําสวยๆ และลงตามหนังสือต่างๆ เสมอ มีใครรวบรวมไว้บ้าง ?
ตลาดหมอชิตเกิดขึ้นเมื่อไร ใครเคยถ่ายรูปไว้บ้างหรือไม่ และตลาดกลายเป็นสถานีขนส่งเมื่อใด
หมอชิตสร้างอะไรไว้บ้าง
หมอชิตตัวจริงหน้าตาอย่างไร ใช้นามสกุลอะไร มีประวัติอย่างไร
แรกสุดผู้เขียนทราบเลาๆ ว่าหมอชิตใช้นามสกุล นภาศัพท์ ซอยนภาศัพท์ที่ถนนสุขุมวิทต้องเกี่ยวข้องกับหมอชิตไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง
พ.ศ. 2540 ผู้เขียนเขียนจดหมายไปถามทางบริษัทเพื่อนำมาประมวลในหนังสือ “หมายเหตุประเทศสยาม” ได้รับประวัติหมอชิตจากคุณศศินา (นภาศัพท์) ประจวบเหมาะ พร้อมรูปถ่าย 1 รูป ประวัตินั้นยาวเพียง 5 หน้า ถ่ายเอกสารมาจากหนังสืองานฌาปนกิจศพ ไม่ระบุชื่อคนเขียน สรุปว่า
หมอชิต หรือ นายชิต เป็นลูกคนที่ 3 ของนายเจ็ง นางเลี่ยม นภาศัพท์ เกิดที่ตำบลบางพระ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2438 ถึงแก่กรรมที่บ้านถนนเพชรบุรี กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2496 อายุ 58 ปี
เมื่อเยาว์วัย เรียนภาษาไทยที่คลองสวน จังหวัดฉะเชิงเทรา ออกจากการเป็นทหารเกณฑ์แล้วมาอยู่กับป้าที่กรุงเทพฯ เป็นเสมียนห้างเต๊กเฮงหยูของตระกูลโอสถานุเคราะห์
พ.ศ. 2462 บวชที่วัดเทพศิรินทราวาส 1 พรรษา สึกแล้วย้ายไปเป็นเสมียนห้างเพ็ญภาค แล้วสมรสกับนางวอน เนติโพธิ์ มีบุตรธิดา 3 คนคือ
นางสอางค์ จารุศร
นายสนั่น นภาศัพท์
นายยงยุทธ นภาศัพท์
หมอชิตทํายานัตถ์ุขายเมื่อไร
ภาพโฆษณายานัตถ์ุหมอชิต จากหนังสือคณะช่าง พ.ศ. 2481
ทีแรกหนังสือไม่บอกว่าเริ่มทํายาขายเมื่อไร บอกแต่ว่าแต่งงานแล้วก็แยกตัวออกมาตั้งร้านค้าส่วนตัวที่หน้าวัดมหรรณพาราม ใช้เครื่องหมายการค้าตรามังกร แล้วย้ายไปอยู่ที่เสาชิงช้า กับปากคลองตลาดตามลําดับ เป็นที่รู้จักกันว่า ร้านขายยาตรามังกร ได้คิดปรุงยานัตถุ์โดยอาศัยตําราโบราณของบรรพบุรุษ เรียกว่า ยานัตถุ์หมอชิต
“คราวนี้นายชิต นภาศัพท์ ได้นามใหม่ว่า หมอชิต ร้านขายยาตรามังกรก็เปลี่ยนเป็นห้างขายยาตรามังกร”
จากนั้นก็ไปตั้งโรงงานที่บ้านถนนเพชรบุรี กับตั้ง “บริษัทยานัตถุ์หมอชิต” ขึ้น เครื่องหมายการค้าก็เก็บเอาตราบนกล่องไม้ขีดมาเป็นเครื่องหมาย
ถึงตรงนี้หนังสืองานศพว่า “รวมเวลาที่หมอชิตทําการค้ายานัตถุ์มา 29 ปี”
ถ้าเอา 29 ลบออกจากปี 2496 ที่ถึงแก่กรรม ก็เท่ากับเริ่มทํายานัตถุ์เมื่อ พ.ศ. 2467 ปลายสมัยรัชกาลที่ 6 ถ้านับจาก พ.ศ. 2542 ก็เท่ากับ 25 ปีมาแล้ว นับว่ายานัตถุ์หมอชิตมีอายุยาวนานมากทีเดียว
ขวดและโฆษณายานัตถุ์ของหมอชิตมีกี่แบบกี่ชิ้น ยังชําระไม่ได้
ตลาดหมอชิตเกิดขึ้นเมื่อไร ใครเคยถ่ายรูปไว้บ้างหรือไม่ และตลาดกลายเป็นสถานีขนส่งเมื่อใด
หนังสือไม่กล่าวถึงตลาดนัดหมอชิตและสถานีขนส่งหมอชิตไว้เลย เท่าที่เคยถามคนเก่าเช่น นายชุบ ยุวนะวณิชย์ อายุ 80 กว่าปี ท่านว่าตลาดนัดหมอชิตซึ่งอยู่ริมคลองบางซื่อนั้นเดิมเป็นตลาดนัดเล็กๆ ที่ชาวสวนเอาผลไม้มาขาย เริ่มติดตลาดแต่ปีใดไม่แน่ กลายเป็นสถานีขนส่งหมอชิตหรือสถานีขนส่งสายเหนือสายอีสานเมื่อปีใดก็ไม่ทราบ
ค้นหนังสือ “62 ปี บริษัท ขนส่ง จํากัด” ฉบับพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2535 มาดู ก็บอกแต่ว่า บ.ข.ส. ก่อตั้งเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2473 เริ่มด้วยการบินและการเดินรถก่อน หาได้กล่าวถึงประวัติที่ตั้งไม่ รูปถ่ายความเปลี่ยนแปลงตลอดจนรายละเอียดอื่นใด ผู้เขียนก็ยังไม่กล้ารบกวนคุณศศินาและตระกูล จึงตอบเรื่องนี้ได้สั้นเหลือเกิน
หมอชิตทําอะไรบ้าง
หนังสือว่าหมอชิตสร้างห้องเย็นราคานับล้านที่สมุทรปราการ หมอชิตเคยเป็นกรรมการราชตฤณมัยสมาคม และเป็นกรรมการสมาคมพ่อค้าไทย พ.ศ. 2486 กับ พ.ศ. 2487 หมอชิตช่วยสร้างหอพักนักเรียนจุฬาฯ ชื่อ “หอพักนภาศัพท์” หมอชิตสร้างเครื่องทําไฟให้วัดยืมไปใช้
“เมื่อทางราชการพระราชทานตั้งยศพ่อค้าไทย หมอชิตมีเกียรติได้รับการแต่งตั้งเป็นชั้นเอก”
ปัญหาที่ยังไม่ได้ชําระ
ประวัติและผลงานหมอชิตนอกเหนือจากนี้มีพบเพิ่มเติมอีกบ้างเพียงเล็กน้อย เช่นที่ประยุทธ สิทธิพันธ์ เขียนถึงในหนังสือ คนหมายเลข 1 พิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2507 (ผู้เขียนบังเอิญเพิ่งซื้อได้ที่พัทลุงเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2541) แต่ข้อมูลบางอย่างของประยุทธขัดแย้งกับหนังสืองานศพ
เช่นบอกว่าเกิดที่บางละมุง ชลบุรี แล้วมาขออาศัยอยู่กับป้าที่ฉะเชิงเทรา ได้เรียนวิชาผสมยาจากป้า หรือแม้วิธีทํายานัตถ์ุก็ได้จากป้า กระทั่งอายุครบเกณฑ์ทหารจึงไปเป็นทหาร พอถูกปลดเป็นทหารกองหนุนแล้วก็มาอยู่กับป้าอีก แล้วจึงบวช แล้วเข้ามาทํางานในเมืองหลวง อนึ่ง คนที่ช่วยให้หมอชิตประสบความรุ่งโรจน์ เป็นอย่างมากคือน้องชายที่ชื่อช้อย นภาศัพท์ ประยุทธว่านายช้อยเป็นกําลังให้พี่มาตั้งแต่ยังกัดก้อนเกลือกิน
หนังสืองานศพหมอชิต
ผู้เขียนได้หนังสืองานศพหมอชิตเล่มจริงมาโดยบังเอิญเมื่อ เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2541 ในหนังสืองานศพมีรูปหมอชิตเพียง 2 รูป เป็นรูปตอนบวช 1 รูป รูปสวมเสื้อนอกเมื่อมีอายุมาก 1 รูป
หนังสืองานศพหมอชิตชื่อ “เทศน์มหาชาติ” พิมพ์แจกในงานศพเมื่อวันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2497 วัดเทพศิรินทราวาส หนาเกือบ 500 หน้า มีภาพจิตรกรรมไทยประกอบกัณฑ์ต่างๆ ทั้ง 13 กัณฑ์ พิมพ์ด้วยหมึกสีม่วงแก่
เรื่องของหมอชิตยังต้องชําระต่อไปอีกมากมาย
บันทึก
1
3
1
3
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย