10 เม.ย. 2022 เวลา 09:53 • อาหาร
Future Food
อาหารมีวิวัฒนาการมาทุกยุค อีก 30 ปีต่อจากนี้ไม่ว่ารูปแบบของอาหารจะเปลี่ยนไปแบบไหน ที่แน่ๆ มันจะเปลี่ยนไปพร้อมๆ กับสภาพอากาศของโลกที่กำลังเปลี่ยนไปแบบไม่มีวันกลับมาเหมือนเดิม ในอนาคตเราอาจไม่มีร้านเนื้อย่าง ร้านหมูกระทะให้เห็นกันตามมุมถนน เพราะเราแทบไม่มีพื้นที่เหลือพอสำหรับเลี้ยงสัตว์ และโลกอาจแบกรับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไม่ไหวอีกต่อไป
พื้นที่เกษตรกรรมของโลก 75 เปอร์เซ็นต์ถูกใช้ไปกับการเลี้ยงสัตว์และปลูกอาหารสัตว์ อุตสาหกรรมนี้ยังทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกมากถึง 18 เปอร์เซ็นต์ ขณะเดียวกัน ภายในปี 2050 โลกจะมีประชากรเพิ่มขึ้นอีกสองพันล้านคน ซึ่งอาจทำให้โลกรองรับการผลิตไม่ไหวอีกแล้ว เพราะนอกจากเราจะไม่มีพื้นที่ป่าเพียงพอให้ถางไปทำฟาร์ม ก๊าซเรือนกระจกจากอุตสาหกรรมเลี้ยงสัตว์ยังยิ่งทำให้โลกร้อนแบบกู่ไม่กลับอีกด้วย
กลุ่มนักวิทยาศาสตร์ EAT-Lancet ที่เชี่ยวชาญด้านโภชนาการ การเพาะปลูก และการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศโลก คาดว่าทางออกสำหรับความต้องการที่ไม่สิ้นสุดนี้คือ ในอนาคตมนุษย์เราจะต้องกินผัก ผลไม้ และพืชตระกูลถั่วเพิ่มเป็นสองเท่า และลดการบริโภคเนื้อแดงและน้ำตาลที่ไม่จำเป็นต่อร่างกายลงราว 50 เปอร์เซ็นต์ นอกจากจะเป็นการเพิ่มตัวเลือกอาหารใหม่ๆ แล้ว วิธีนี้ยังเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยแก้ไขปัญหาการขาดแคลนอาหารในอนาคตอีกด้วย
ในต่างประเทศ มุมมองด้าน Future Food ก็จะแตกต่างกันออกไป
1.โปรตีนทดแทนทางเลือก (alternative protein) เช่น โปรตีนจากพืช โปรตีนจากแมลง เพาะจากเซลล์สัตว์ หรือเพาะจุลินทรีย์ให้เป็นโปรตีน
2.อาหารสังเคราะห์ (synthetic food) โดยใช้เทคโนโลยีชีวภาพ นำจุลินทรีย์มาพัฒนาสายพันธุ์ พัฒนาสภาวะ เพื่อให้ผลิตอะไรบางอย่าง เช่น ใช้จุลินทรีย์ผลิตสาร CBD (cannabidiol) โดยไม่ต้องปลูกกัญชาจริงๆ หรือถึงขั้นทำให้จุลินทรีย์ผลิตกาแฟหรือไวน์
3.อาหารส่งเสริมสุขภาพเฉพาะด้าน (functional food) ยกตัวอย่างใกล้ตัว คือเครื่องดื่มผสมคอลลาเจน วิตามิน และในอนาคตจะมีสารเสริมอื่นๆ เพิ่มเข้ามาเพื่อตอบสนองความต้องการด้านสุขภาพมากขึ้น
4.อาหารที่ใช้กระบวนการหมัก (probiotic fermented food) เช่น คอมบูชะ กิมจิ มีจุลินทรีย์ที่ดีต่อร่างกาย ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ระบบย่อยอาหาร
5.ด้าน CBD มีสตาร์ทอัพหลายรายใช้ CBD จากกัญชาผสมในหมากฝรั่ง เพื่อเคี้ยวลดความเครียดได้ ทำเป็นเครื่องดื่มช่วยผ่อนคลาย
6.อาหารตอบโจทย์โภชนาการเฉพาะบุคคล (personalized nutrition) เมื่อทุกคนรู้ข้อมูลสุขภาพ ก็จะสามารถออกแบบการกินได้จากการเชื่อมโยงข้อมูล เกิดเป็นการวางแผนมื้ออาหาร เชื่อมโยงกับรายการจัดซื้อของอุปกรณ์อัจฉริยะหรือแอปพลิเคชันช่วยจัดการต่างๆ หรือในอนาคตอาจเป็นการพิมพ์อาหารสามมิติที่มีคุณค่าทางอาหารเฉพาะบุคคล
เครดิตภาพ #becommon
โฆษณา