10 เม.ย. 2022 เวลา 12:15 • ไลฟ์สไตล์
วัย 30 กับจุด Checkpoint ในชีวิต?
เมื่อเราต่างต้องข้ามผ่าน
การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญอีกครั้ง
1
ว่ากันว่า เมื่อชีวิตก้าวเข้าสู่ “วัยเลขสาม” ก็นับว่าเรากำลังก้าวเข้าสู่ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของชีวิตอีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่เราผ่านทางแยกต่างๆ ที่สำคัญของชีวิตมามากมาย ไม่ว่าจะเป็นวัยรุ่นจากโรงเรียนมัธยมที่กำลังก้าวเข้าสู่รั้วมหาลัยที่เต็มไปด้วยความตื่นเต้น หรือจะเป็นวัยยี่สิบตอนต้นที่เราต้องก้าวออกจากรั้วมหาลัยมาเผชิญโลกแห่งการทำงานเป็นครั้งแรกในฐานะ “First Jobber”
แต่ถึงแม้เราจะรู้สึกว่าวัยเด็กและวัยรุ่นคือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญที่สุดสำหรับชีวิต แต่ทำไมผู้คนยังคงกังวลว่า เมื่ออายุพวกเขาก้าวเข้าสู่เลขสามเมื่อไหร่ก็ตาม ชีวิตของพวกเขา “จะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป”
มาดูกันว่าปัจจัยอะไรบ้างที่ทำให้หลายต่อหลายคน พูดเป็นเสียงเดียวว่า ช่วงอายุ 30 นี่แหละ คือจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของชีวิต!
#ร่างกายที่เริ่มโรยราลง
อย่างที่เราพอรู้กันบ้างแล้วว่ากระดูกของเราจะเจริญเติบโตเต็มที่เมื่อถึงช่วงวัยประมาณ 20 ปี ซึ่งนี่เป็นเหตุผลที่หลายๆ หยุดสูงในช่วงเวลานี้ แต่จริงๆ แล้ว ถึงแม้ว่ากระดูกของเราจะเติบโตเต็มที่จนถึง 20 แต่มวลกระดูกของเรายังคงเติบโตถึงตอนที่เราอยู่ในวัย 30 ปี ซึ่งเท่ากับว่าในระยะเวลา 10 ปี ระหว่างตอนที่เราอายุ 20 - 30 จะเป็นช่วงที่เราอยู่ในจุดที่ “แกร่ง” ที่สุดในชีวิต พอหลังจากนั้นไป กระดูกของเราก็เริ่มที่จะโรยราลงไปนั่นเอง
นอกจากเรื่องของกระดูกแล้ว หลังวัยเลขสามแล้ว ยีนของเราจะเริ่มหยุดนิ่ง การผลิตฮอร์โมนบางชนิดและการทำงานของระบบเผาผลาญก็ถูกลดลงด้วย จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมเราถึงรู้วสึกเดี๋ยวนี้กินแล้วก็น้ำหนักขึ้นเอาขึ้นเอา แถมยังเจ็บป่วยได้ง่ายกว่าเดิมอีก ดังนั้น เมื่อหลายๆ อย่างเกิดขึ้นพร้อมกัน ไม่ว่าจะเป็นรอยเหี่ยวย่นบนใบหน้าที่ค่อยๆ เกิดขึ้น สุขภาพที่เริ่มเปลี่ยนไป แถมยังมีโรคภัยแวะเวียนเข้ามา จึงไม่แปลกที่ใครหลายคนจะมองว่าช่วงวัย 30 ปี เป็นอีกหนึ่งจุดเปลี่ยนของชีวิตที่สำคัญ
#บุคลิกภาพที่จะอยู่กับเราตลอดไป
จากรายงานการวิจัยของมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ระบุไว้ว่า บุคลิกภาพของเราจะคงที่ตอนมีอายุได้ 30 ปี หรืออาจพูดได้ว่านิสัยของเราจะคงที่ ไม่เปลี่ยนไปมาแล้วหลังจากผ่านช่วงวัยนี้ไป เนื่องจากยีน (ที่กล่าวถึงในหัวข้อร่างกาย) ได้มีการหยุดนิ่งจากการเจริญเติบโตเต็มที่
โดยจะมี 5 ปัจจัยด้วยกันที่ส่งผลต่อบุคลิกภาพของเรา นั่นก็คือ (1) ความเปิดรับต่อประสบการณ์ (Openness to Experience) (2) ความพิถีพิถัน (Conscientiousness) (3)ความสนใจต่อสิ่งภายนอก (Extraversion) (4) ความยินยอมเห็นใจ (Agreeableness) และ (5) ความไม่เสถียรทางอารมณ์ (Neuroticism)
โดยในช่วงวัย 30 ปี ทั้ง 5 ปัจจัยนี้จะอยู่ในสภาวะคงที่ ส่งผลให้เรามีเสถียรภาพทางอารมณ์ที่ชัดเจนและเปลี่ยนแปลงได้ยาก โดยวิลเลียม เจมส์ นักปรัชญาและนักจิตวิทยาชาวอเมริกันยังกล่าวอีกว่า “ในหมู่พวกเราส่วนใหญ่ เมื่ออายุได้ 30 ปี คาแรกเตอร์ของเราจะถูกฉาบด้วยปูนปลาสเตอร์ และมันจะไม่เปลี่ยนแปลงไปมากกว่านั้น”
นอกจากเรื่องของบุคลิกแล้ว นี่ยังรวมไปถึงเรื่องของรสนิยมที่คงที่มากขึ้น มีการค้นพบว่า ผู้ฟังเพลงผ่านบริการสตรีมมิง ในช่วงอายุ 30 ปี ขี้นไป โดยในอังกฤษ มีถึง 60% ที่ฟังเพลงแนวเดิมที่พวกเขาชอบ แถมยังค้นพบอีกว่ากว่า 20% ของคนวัยนี้ ไม่สนใจฟังเพลงแนวใหม่ นอกเหนือจากแนวที่เขาฟังอยู่ก่อนแล้ว
จากข้อมูลด้านบน หากอิงจากทางทฤษฎีแล้ว มีแนวโน้มว่าหลังจากอายุ 30 ปี เราจะติดกับบุคลิกภาพนั้นตลอดไป แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าสิ่งนี้จะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ แน่นอนว่าทำได้ เพียงแต่ว่าอาจจะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็วเท่ากับตอนวัยเด็กหรือวัยรุ่นนั่นเอง
#ความกดดันที่ทำให้เราต้องกลายเป็นคนที่พร้อม
ในวัย 30 ก็เป็นช่วงที่เราผ่านการทำงานมาได้สักพักแล้ว เริ่มมีการงานที่มั่นคง บางคนฐานะทางการเงินก็เริ่มอยู่ตัว เหมาะสมกับการลงหลักปักฐาน ซึ่งจากงานวิจัยจากสหรัฐฯ ก็ระบุว่า ในช่วงอายุ 28 - 32 นี่แหละ เป็นช่วงที่เหมาะสมที่สุดในการแต่งงาน
ในช่วงวัยนี้ เราหลายๆ คนก็เริ่มที่จะมีวุฒิภาวะมากพอในการตัดสินใจด้วยตนเอง ผ่านประสบการณ์ ไม่ว่าจะการทำงานและการใช้ชีวิตมาพอสมควร มีความรับผิดชอบ มีทักษะการบริหารเงิน นี่จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้อัตราการหย่าร้างของคนวัยนี้มีน้อยที่สุด หากเทียบกับคู่ที่แต่งงานในช่วงอายุอื่น
เมื่อหันกลับมามองในส่วนของการทำงาน เชื่อเลยว่ามีคนจำนวนไม่น้อยที่มีความเครียดและความกังวลในช่วงเวลานี้ เพราะบรรทัดฐานของสังคมมักมองว่า หากคุณยังไม่มีหน้าที่การงานที่มั่นคงในวัยนี้ หรือยังหาคู่ครองไม่ได้ ถือว่าเป็นคนล้มเหลว ทำให้เรามักจะเกิดความเครียดเมื่อเห็นคนนู้นคนนี้ในวัยเดียวกันได้เลื่อนตำแหน่ง เปิดธุรกิจของตัวเอง ซื้อบ้านซื้อรถ และได้แต่งงาน ไปเจอญาติหรือคนรู้จัก ทุกคนก็มักจะถามว่างานเป็นอย่างไรบ้าง ทำให้คนในช่วงวัยนี้ กลับมากดดันตัวเองว่าจะต้องเป็นคนที่ “ประสบความสำเร็จ” เมื่อก้าวเข้าสู่วัย 30 ทำให้หลายคนจึงคิดว่าเมื่อก้าวเข้าสู่วัยเลขสามนี่แหละ จึงเป็นจุดเปลี่ยนอีกครั้งของชีวิตที่ต้องมีชีวิตที่มั่นคงได้แล้ว
จากทั้ง 3 ข้อนี้ สามารถสรุปได้ว่า ในช่วงอายุ 30 ปีของมนุษย์เรา มีการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างหลายอย่างทั้งเชิงกายภาพ จิตใจ และทางสังคม ทำให้วัยนี้เหมือนเป็นจุด Checkpoint อีกอันหนึ่ง ที่หลายคนมองว่าเป็นก้าวสำคัญของการเติบโตขึ้นเป็น “วัยผู้ใหญ่” แบบเต็มตัว
ถึงแม้ว่าเราบางคนจะก้าวผ่านวัย 30 มาแล้ว มันก็อาจจะถึงเวลาที่เราต้องหันกลับมาดูแลสุขภาพกายและสุขภาพใจของเราให้ดีขึ้น และอย่างที่เขาบอกว่าเรามีแนวโน้มที่จะติดกับบุคลิกภาพนั้นไปตลอด เราก็อาจจะลองค่อยปรับ Mindset ของเราให้ดีขึ้น รับแต่พลังบวก และถึงแม้ว่าสังคมจะกดดันเราขนาดไหน แต่ขอให้รู้ว่า เพราะเราแต่ละคนนั้นแตกต่างกันออกไป ทำให้ช่วงเวลาที่เรานั้นผลิบานก็แตกต่างกันไปเช่นกัน
อ้างอิงข้อมูลจาก:
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
#inspiration
โฆษณา