10 เม.ย. 2022 เวลา 13:07 • กีฬา
คล็อปป์ vs เป๊ป นี่คือสองกุนซือที่ทั้งเป็นแรงบันดาลใจ และคู่แข่งของกันและกัน ตั้งแต่ที่เยอรมัน มาจนถึงที่อังกฤษ สู้กันหมัดต่อหมัด แท็กติกต่อแท็กติก นี่คือเรื่องราวในคลาสสิคของยกแรก ที่ทั้งคู่ปะทะกัน
1
การต่อสู้ของเจอร์เก้น คล็อปป์ กับ เป๊ป กวาร์ดิโอล่า ถูกยกย่องว่าเป็นสิ่งที่สวยงามในวงการฟุตบอล
นั่นเพราะทั้งคู่ ต่างเคารพในความสามารถซึ่งกันและกัน ต่างพูดถึงอีกฝ่ายด้วยการให้เกียรติเสมอ นี่คือสองกุนซือที่เผชิญหน้ากันด้วยเรื่องแท็กติก ไม่ใช่เรื่องดราม่านอกสนาม
2
ในสมัยอยู่บาร์เซโลน่า กวาร์ดิโอล่า มีศัตรูเบอร์หนึ่งคือโชเซ่ มูรินโญ่ แต่นั่นเป็นเรื่องนอกสนามซะเยอะ เป๊ปโดนมูรินโญ่ไซโค เล่นเกมจิตวิทยา จนมีเรื่องมีราวตลอดเวลา แต่ในการดวลกับคล็อปป์ มันไม่ใช่แบบนั้น มันเป็นการสู้กันด้วยฟุตบอลจริงๆ
1
เป๊ปยอมรับว่า คล็อปป์คือศัตรูเบอร์ 1 เป็นหนามยอกอก ถ้าไม่มีคล็อปป์สักคน หนทางการได้แชมป์ของแมนฯ ซิตี้ จะง่ายดายกว่านี้มากนัก
3
เช่นเดียวกับคล็อปป์ เขาก็ชื่นชมเป๊ปจากใจ และกล่าวตรงๆ ว่า นี่คือผู้จัดการทีมที่เก่งที่สุดในโลก
3
เหตุการณ์หนึ่งที่น่าสนใจของสองคนนี้ คือพรีเมียร์ลีกไม่ใช่สถานที่แรก ที่ทั้งคู่ปะทะกัน แต่เป็นบุนเดสลีกา
และรู้หรือไม่ ว่าเป๊ปเป็นคู่แข่งคนแรก ที่สามารถเอาชนะคล็อปป์ในเชิงแท็กติกได้อย่างเด็ดขาดด้วย
แบ็กกราวน์ของเรื่องนี้ ต้องอธิบายว่า ฟุตบอลเยอรมันในอดีตโดยเฉพาะยุค 90 จะไม่เล่นเกมเพรสซิ่ง แต่ผู้เล่นจะเน้นการยืนประกบตัว รอให้คู่แข่งบุกขึ้นมา พอคู่แข่งยิงออก หรือครอสบอลแล้วโดนโหม่งสกัด ก็ค่อยพลิกเป็นฝ่ายโจมตีบ้าง
1
ตัวอย่างที่ชัดเจนคือในยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก ฤดูกาล 1997-98 มีทีมจากเยอรมัน 3 ทีมที่ผ่านเข้ารอบ 8 ทีมสุดท้าย (บาเยิร์น, ดอร์ทมุนด์, เลเวอร์คูเซ่น) ซึ่งทั้ง 3 ทีม ไม่มีใครเล่นเกมเพรสซิ่งเลย มีแต่ใช้ระบบสวีปเปอร์ ยืนแมนมาร์กกิ้ง ทั้งหมด
เทรนด์ของบอลเยอรมัน ณ เวลานั้น เป็นแบบนั้น จะมีโค้ชแค่ไม่กี่คนเท่านั้น ที่มองว่าระบบเพรสซิ่งวิ่งไล่บดคู่แข่งเป็นแผนที่ดี
หนึ่งในโค้ชที่ชอบการเพรสซิ่งมากที่สุดในยุคนั้น คือ โวล์ฟกัง แฟรงค์ ผู้จัดการทีมไมนซ์ โดยเขาซึมซับเทคนิคการเพรสซิ่งจาก อาร์ริโก้ ซาคคี่ กุนซือในตำนานชาวอิตาเลียน แล้วเอามาสอนนักเตะในทีมให้ลองทำตาม
1
คนที่ได้ซึมซับแนวคิดของซาคคี่ ผ่านทางโวล์ฟกัง แฟรงค์อีกที ก็คือเจอร์เก้น คล็อปป์ ที่ ณ เวลานั้น เป็นผู้เล่นของไมนซ์นั่นเอง
คล็อปป์เล่าว่า "ในสมัยที่ผมเป็นนักเตะ โวล์ฟกังเปิดวีดีโอทของเอซี มิลาน ให้เราดูจนเบื่อเป็น 500 รอบ นอกจากนั้น เราต้องศึกษาการวางตำแหน่งของซาคคี่ในเกมรับ โค้ชจะบอกว่าให้พวกเราดูแนวทางการวิ่งของเปาโล มัลดินี่, ฟรังโก้ บาเรซี่ และ เดมิทริโอ อัลแบร์ตินี่ ว่าแต่ละคนวิ่งเข้าหาบอลแบบไหน"
1
แนวทางการเพรสซิ่ง ไล่แย่งบอลของโวล์ฟกัง แฟรงค์ ทำให้ทีมเล็กๆ อย่างไมนซ์ เล่นบอลได้แตกต่าง และสร้างเซอร์ไพรส์ในสนามได้บ่อยๆ จากนั้นเมื่อถึงปี 2000 พอแฟรงค์แยกทางกับไมนซ์ สโมสรจึงได้ทาบทามเจอร์เก้น คล็อปป์ที่เป็นนักเตะอยู่ ให้ลองทำงานเป็นผู้จัดการทีมคนใหม่ของสโมสรดู และคล็อปป์ตอบตกลง
3
สิ่งที่คล็อปป์นำมาใช้กับไมนซ์ คือยึดการเล่นเพรสซิ่งเต็มรูปแบบตามสิ่งที่โวล์ฟกัง แฟรงค์สอนมา และไมนซ์ ก็สามารถเลื่อนชั้นไปเล่นในบุนเดสลีกาได้สำเร็จ แม้จะมีศักยภาพผู้เล่นที่เป็นรองทีมอื่นลิบลับก็ตาม
3
คล็อปป์เล่าว่า "ตอนนั้นผมเคยคิดนะว่า ในเกมฟุตบอลถ้าหากคู่แข่งเก่งกว่า ยังไงคุณก็ต้องแพ้อยู่แล้ว แต่พอได้ศึกษาจริงๆ ผมเข้าใจว่า ทุกอย่างมันเกิดขึ้นได้หมด คุณสามารถชนะทีมที่เก่งกว่าได้ ถ้าวางแท็กติกอย่างถูกต้อง"
1
คล็อปป์อยู่ไมนซ์ 7 ปี มีผลงานที่จับต้องได้ชัดเจน นอกจากนั้นยังสร้างชื่อเสียง ด้วยการทำงานเป็นนักวิเคราะห์เกม ที่สถานีโทรทัศน์อีก ทำให้ทีมใหญ่เริ่มจับตามอง และในปี 2008 คล็อปป์ก็ได้ข้อเสนอจาก โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์
1
ดอร์ทมุนด์ คือทีมใหญ่ของเยอรมัน แต่ตอนนั้นอยู่ในช่วงขาลง ผู้จัดการทีมคนก่อนโทมัส โดล ทำทีมจบอันดับ 13 ในตาราง (จาก 18 ทีม) จนโดนไล่ออก คือดูหนทางแล้ว ไม่น่าจะฟื้นคืนชีพได้ในระยะเวลาอันใกล้ แต่คล็อปป์มองว่า Passion ของสโมสร รวมถึงการที่ผู้บริหารระดับสูงไม่จู้จี้จุกจิกจนเกินไป ดูจะเหมาะกับแนวทางของเขาพอดี
2
คล็อปป์จึงตอบตกลงไปอยู่กับดอร์ทมุนด์ โดยในฤดูกาลแรก 2008-09 คล็อปป์ยังหาแนวทางที่ชัดเจนของทีมไม่เจอ เขายังไม่แน่ใจว่า 11 ตัวจริงควรจะเป็นใคร และแผนการเล่นกับดอร์ทมุนด์ต้องเป็นแบบไหน
2
ปีแรกของคล็อปป์ เขาใช้ 4 แผนสลับไปมา (4-4-2 ไดอามอนด์, 4-4-2 แบบกลางรับ 2 ตัว, 4-3-1-2 และ 4-3-2-1) คือกำลังคิดค้นอยู่ว่าระบบไหน แผนอะไร จะเหมาะกับทีมที่สุด สรุปคือดอร์ทมุนด์จบอันดับ 6 ของตาราง ทรงบอลของทีมดีขึ้นจากปีก่อน แต่ยังไม่ดีที่สุด
คำถามคือทำไมคล็อปป์ไม่เอาการเล่นเพรสซิ่งเต็มรูปแบบ อย่างที่เคยใช้กับไมนซ์ จับมาใส่ดอร์ทมุนด์ด้วย? คำตอบคือเมื่อก่อนในฟุตบอลเยอรมัน จะมีความเชื่อว่า ทีมที่จะเล่นเพรสซิ่ง คือทีมเล็กๆ ที่ผู้เล่นมีทักษะไม่เยอะนัก ดังนั้นต้องใช้การวิ่งสู้ฟัดตลอดเกมเพื่อทดแทนเทคนิคที่ขาดไป การวิ่งเต็มที่ ก็เพื่อกดดันแย่งบอลจากคู่แข่งที่เก่งกว่ามาให้ได้
1
แต่สำหรับทีมใหญ่ที่มีซูเปอร์สตาร์อยู่ เอาจริงๆ มันยาก ที่คุณจะไปขอให้ดาวเด่นของทีมวิ่งไล่บอลอย่างบ้าคลั่ง นักเตะชื่อดัง มักจะไม่ชอบการวิ่งตลอดทั้งเกม แต่ชอบการเก็บแรงไว้เพื่อโชว์เทคนิคในยามที่เหมาะสมมากกว่า
4
ดังนั้นเมื่อคล็อปป์ย้ายจากทีมเล็กอย่างไมนซ์ มาคุมทีมใหญ่อย่างดอร์ทมุนด์ ในปีแรกเขาเองก็ไม่แน่ใจว่าควรจะนำเอาการเพรสซิ่งมาใช้ด้วยดีหรือไม่ แผนการเล่นก็เลยยังกั๊กๆ อยู่
แต่จุดเปลี่ยนสำคัญของคล็อปป์ เกิดขึ้นในช่วงซัมเมอร์ 2009 ณ เวลานั้น บาร์เซโลน่าเพิ่งคว้าแชมป์ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีกได้สำเร็จ ในปีแรกของโค้ชคนใหม่ ที่ชื่อ เป๊ป กวาร์ดิโอล่า
1
สิ่งที่เป๊ปคิดค้นขึ้นมา คือสไตล์การเล่นแบบติกี้ตาก้า ต่อบอลสั้น และเน้นการครองบอลเต็มรูปแบบ พวกเขาจะครองบอลนานมากๆ แล้วพอเสียบอลปั๊บ ก็รีบเพรสซิ่งเร็วเพื่อเอาบอลคืนมาให้ได้ แล้วก็เริ่มเคาะกันต่อ สร้างเปอร์เซ็นต์ครองบอลให้เยอะที่สุด
1
เมื่อคล็อปป์เห็นกวาร์ดิโอล่าจึงได้เข้าใจว่า ทีมใหญ่ๆ และนักเตะซูเปอร์สตาร์ระดับโลก ก็สามารถเล่นเพรสซิ่งได้เหมือนกัน คล็อปป์กล่าวว่า "เวลาเมสซี่เสียบอล เขาจะพุ่งตรงไปเอาคืนทันที ในวินาทีที่กองหลังคู่แข่งกำลังจะเล่นบอล เมสซี่จะทำทุกอย่างเพื่อเอาบอลคืนให้ได้ ไม่ใช่แค่เมสซี่ แต่นักเตะบาร์ซ่าจะเพรสซิ่งอย่างเต็มที่ ราวกับไม่มีวันพรุ่งนี้อีกแล้ว นี่คือสิ่งที่ยอดเยี่ยมที่สุดเท่าที่ผมเคยเห็นมาในฟุตบอล"
1
ณ จุดนั้น คล็อปป์เองก็ได้เรียนรู้จากเป๊ป ว่าทีมที่นักเตะเก่งสุดๆ เทคนิคเลิศเลอ อย่างเมสซี่ อิเนียสต้า ชาบี อองรี และ เอโต้ เมื่อได้รับคำสั่งจากโค้ชให้เพรสซิ่ง ทุกคนสามารถวิ่งไล่บี้บอลได้อย่างไม่มีปัญหา
1
การเพรสซิ่งไม่ได้ถูกสงวนไว้ให้ทีมเล็กเท่านั้น แต่ทีมใหญ่ ก็สามารถใช้ได้ ถ้าหากนักเตะอย่างเมสซี่ยังเพรสซิ่งเพื่อทีมได้ แล้วทำไมนักเตะดอร์ทมุนด์จะวิ่งเพื่อทีมบ้างไม่ได้
2
อย่างไรก็ตาม คล็อปป์ไม่ได้ดูดเอาการเพรสซิ่งของเป๊ปมาใช้ทั้งหมด เขาเอามันมาประยุกต์ให้เข้ากับทีมตัวเอง
การเพรสซิ่งของเป๊ปคือแย่งบอลกลับมาให้เร็วที่สุด เพื่อครองบอลต่อ บาร์ซ่าต้องการคุมเกมไว้ได้ให้นานที่สุด บางเกมพวกเขาครองบอลทะลุ 80% ไม่ยอมปล่อยให้คู่แข่งครองบอล ในมุมของเป๊ป ยิ่งครองบอลเยอะ ยิ่งปลอดภัย ถ้าบอลอยู่ในเท้า คู่แข่งก็ไม่มีวันยิงได้
1
แต่การเพรสซิ่งของคล็อปป์นั้นไม่เหมือนกัน มันคือการแย่งบอลมา แล้วบุกกลับทันทีเพื่อเอาประตูให้ได้ คล็อปป์ไม่ต้องการเปอร์เซ็นต์การครองบอลเยอะ แต่ต้องการสร้างโอกาสยิงประตู ในจังหวะที่คู่แข่งกำลังจัดระเบียบเกมรับไม่ถูกต้อง
3
ในฤดูกาล 2009-10 คล็อปป์จึงตัดสินใจใช้เกมเพรสซิ่งเต็มรูปแบบกับดอร์ทมุนด์ นักเตะในทีมต้องรับรู้เลยว่า คุณต้องวิ่งเยอะที่สุด เพื่อแย่งบอลมาให้ได้ โดยไม่ให้คู่ต่อสู้พักหายใจ
นักเตะในทีมก็เลือกใช้กลุ่มผู้เล่นที่มีความสดใหม่ อย่างแผงแบ็กโฟร์ 4 คน ไม่มีใครอายุเกิน 21 ปีสักคน (มาร์แซล ชเมลเซอร์ 21 ปี, มัทส์ ฮุมเมิลส์ 20 ปี, เนเว่น ซูโบติช 20 ปี, เควิน โกรสครอยซ์ 20 ปี) ทุกคนรู้ว่าภายใต้การเล่นของคล็อปป์ คุณต้องวิ่ง วิ่ง แล้วก็วิ่ง
การเพรสซิ่ง และ เคาน์เตอร์ แอทแท็กอันร้ายกาจของดอร์ทมุนด์ ทำให้ทีมแข็งแกร่งขึ้นเรื่อยๆ ปีที่ 2 ของคล็อปป์ (2009-10) ทีมจบอันดับ 5 และจากนั้นปีที่ 3 (2010-11) กับ ปีที่ 4 (2011-12) ดอร์ทมุนด์คว้าแชมป์บุนเดสลีกาได้อย่างยิ่งใหญ่ และเป็นการคว้าแชมป์ที่เอาต์คลาสบาเยิร์น เพราะเอาชนะเหย้า-เยือน ได้สองปีซ้อน
1
คู่แข่งไม่รู้จะรับมือกับกลยุทธ์การเพรสซิ่งอย่างไร เพราะในเยอรมันยุคนั้น ไม่มีทีมไหน วิ่งอย่างบ้าดีเดือดแบบดอร์ทมุนด์ โดยกรณีศึกษาที่น่าสนใจเกิดขึ้นในเกมบุนเดสลีกา เดือนกุมภาพันธ์ 2011 เกมที่ดอร์ทมุนด์บุกไปตบบาเยิร์น 3-1 โดยลูกขึ้นนำ 1-0 มาจากจังหวะที่บาเยิร์นกำลังเซ็ตเกม โฮลเกอร์ บาดสตูเบอร์ จ่ายให้บาสเตียน ชไวน์สไตเกอร์ ทันใดนั้น 2 นักเตะดอร์ทมุนด์ คือ โกรสครอยซ์ กับ เลวานดอฟสกี้ มารุมเพรสซิ่งแย่งบอลไปจากเท้าชไวน์สไตเกอร์ดื้อๆ แล้วสวนกลับทันที ก่อนที่สุดท้ายโกรสครอยซ์ จะแอสซิสต์ให้ลูคัส บาร์ริออสยิงเข้าไป
6
เกมนี้ เป็นหนึ่งในนัดที่ชไวน์สไตเกอร์เล่นได้แย่ที่สุด ในการค้าแข้งกับบาเยิร์น คือลองคิดดูว่า กองกลางอันดับหนึ่งของลีกอย่างชไวน์สไตเกอร์ ยังรับมือกับการไล่บี้อันทรงพลังของคล็อปป์ไม่อยู่ แล้วกองกลางของทีมอื่นจะต้านทานไหวได้อย่างไร
2
สิ่งที่คล็อปป์สั่งลูกทีม คือวิ่งให้เยอะที่สุด ใช้พลังให้มากที่สุด แล้วจะได้เปรียบคู่ต่อสู้เอง คือต้องเข้าใจก่อนว่า ฟุตบอลเยอรมันในอดีต ไม่ได้เล่นเร็วอย่างปัจจุบันนี้ แต่ละทีมเล่นกันแบบระมัดระวัง ค่อยๆ เข้าทำ ดังนั้นสไตล์บุกตะลุยอันบ้าคลั่งของคล็อปป์ เป็นอะไรที่แปลกใหม่มาก และมันช่วยให้ดอร์ทมุนด์ครองความยิ่งใหญ่ในลีกได้ 2 ปีติดๆ กัน
2
อย่างไรก็ตาม ทีมแรกที่เอาชนะดอร์ทมุนด์ของคล็อปป์ได้สำเร็จ คือบาเยิร์น มิวนิคในฤดูกาล 2012-13 ปีสุดท้ายของจุ๊ปป์ ไฮย์เกส โดยวิธีการก็ไม่ยาก ถ้าหากหาวิธีแก้ลำไม่ได้ ก็เลียนแบบเสียเลย บาเยิร์นในซีซั่นนั่น เปลี่ยนแนวทางการเล่นมาเพรสซิ่งเต็มรูปแบบด้วย แน่นอน หากเล่นด้วยวิธีเดียวกัน ทีมที่มีคุณภาพเหนือกว่าย่อมเป็นฝ่ายชนะ
หากเราดูยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก นัดชิงที่ดอร์ทมุนด์ กับบาเยิร์น เจอกันที่เวมบลีย์ นี่คือเกมนัดชิงที่ดุเดือดที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ เพราะสองทีมเพรสซิ่งรัวใส่กัน วิ่งพล่านแบบไม่มียั้ง ซึ่งก็ไม่แปลก เพราะทั้งคู่ใช้แผนเดียวกันนั่นเอง
1
บาเยิร์นได้ 3 แชมป์ ในซีซั่น 2012-13 แต่คล็อปป์ไม่ยอมรับ เพราะเขารู้สึกเหมือนโดนลอกเลียนแผน คล็อปป์ให้สัมภาษณ์ว่า "ที่บาเยิร์นทำกับเรา มันราวกับที่อุตสาหกรรมจีนทำกับเยอรมนีไม่มีผิด" โดยคล็อปป์อ้างถึงเหตุการณ์การปิดโรงงานของแคว้นรูห์ ที่โดนทุนจีนเข้ามาทุบ
1
"สิ่งที่พวกเขาทำ คือเห็นคนอื่นทำอะไรก็ก็อปปี้ตาม ใช้แนวทางเดียวกันทุกอย่างเพียงแต่มีเงินมากกว่า"
ความจริงแล้ว คล็อปป์เตรียมแผนการเล่นที่จะแก้ทางบาเยิร์นเอาไว้ ถ้าหากไฮย์เกสคุมต่อด้วยการใช้แผนเดิมๆ เขามั่นใจว่าจะพลิกกลับมาเป็นแชมป์คืนได้แน่ แต่ปัญหาคือ บาเยิร์นเปลี่ยนโค้ช จากไฮย์เกส เป็นเป๊ป กวาร์ดิโอล่าแทน
2
กวาร์ดิโอล่า เป็นโค้ชที่เก่งกาจเรื่องการเพรสซิ่งอยู่แล้ว ที่บาร์เซโลน่า เขาก็เล่นแบบนั้นอยู่ตลอด ดังนั้นเมื่อมาคุมบาเยิร์นแล้วเจอทีมที่เล่นบีบเร็วอย่างดอร์ทมุนด์ เขามีหลายวิธีมากที่จะแก้เกม เป๊ปไม่กลัววิธีการเล่นของคล็อปป์เลย
เป๊ปนั้นรู้ดีว่า การเพรสซิ่งจะใช้พลังงานอย่างมหาศาลมาก จะสังเกตได้จากดอร์ทมุนด์ของคล็อปป์ ที่เริ่มต้นได้ดี แต่มักจะมาเสียประตูในช่วง 15 นาทีสุดท้ายอยู่ตลอด เพราะนักเตะไล่บอลจนพลังหมดแล้ว
ดังนั้นเป๊ป จึงวางกฎว่า แนวรุกของบาเยิร์นถ้าเสียบอล ให้ไล่บี้คู่แข่งแค่ "4 วินาที" เท่านั้น ถ้าหาก 4 วินาทีแล้วแย่งคืนไม่ได้ ให้ถอยกลับมาตำแหน่งของตัวเอง ไม่ต้องเสียพลังโดยใช่เหตุ ซึ่งนักเตะทุกคนล้วนทำตามกฎนี้อย่างเคร่งครัว ตัวอย่างเช่นโทมัส มุลเลอร์ ที่เป๊ปออกปากชมว่า "ถ้ามุลเลอร์ไล่เพรสซิ่งคู่แข่งอยู่ห่างจากตำแหน่งตัวเอง 40 เมตร พอครบเวลาปั๊บ เขาจะวิ่งฟูลสปีดกลับมายืนตำแหน่งเดิมของตัวเองทันที และเขาทำแบบนั้นซ้ำๆ 100 ครั้ง อย่างไม่มีปัญหาเลย"
3
นี่คือวิธีที่มีประสิทธิภาพ นักเตะไม่เสียพลังงานโดยใช่เหตุ ยิ่งในช่วงท้ายๆ ของซีซั่น เวลาดอร์ทมุนด์กับบาเยิร์น ต้องลงแข่งหลายๆ ถ้วย ในช่วงเวลาถี่ๆ เรื่องพลังงานที่เหลืออยู่ จะส่งผลชัดเจนมาก
วิธีที่ 2 ที่เป๊ป คิดค้นขึ้นมาเอาชนะเกมเพรสซิ่งของคล็อปป์ คือการดร็อปมิดฟิลด์ตัวรับไปยืนเซ็นเตอร์แบ็กระหว่างเกม
ที่บาเยิร์น มิวนิค เป๊ปจะให้ชาบี อลอนโซ่ หรือ ฟิลิปป์ ลาห์ม เล่นเป็นกองกลางตัวรับ จากนั้นระหว่างเซ็ตเกมบุก ก็ให้กลางรับถอยมายืนระนาบเดียวกับคู่เซ็นเตอร์แบ็ก จนทำให้บาเยิร์นเหมือนมี 3 เซ็นเตอร์แบ็กไปโดยปริยาย
1
เวลาคู่แข่งเพรสซิ่งเข้ามาบีบใส่เซ็นเตอร์แบ็ก จากเดิมจะมีอ็อปชั่นเอาตัวรอดไม่กี่ทาง แต่พอมีกองกลางตัวรับถอยมายืนต่ำคอยช่วยต่อบอล ก็ทำให้มีตัวผู้เล่นมากขึ้น สามารถหนีรอดจากเกมเพรสซิ่งในสไตล์ของดอร์ทมุนด์ได้สบายๆ หลายๆ ครั้งดอร์ทมุนด์ไล่บี้ไปก็เหมือนวิ่งฟรี เหนื่อยฟรี
2
วิธีที่ 3 ที่เป๊ปก็ชอบใช้ คือการให้มิดฟิลด์ตัวรับที่เท้าชั่งทองอย่างชาบี อลอนโซ่ วางบอลยาวให้ปีกซ้าย-ขวา อย่างฟรองค์ ริเบรี่ และ อาร์เยน ร็อบเบน นอกจากจะหนีการเพรสซิ่งได้แล้ว บอลยังไปถึงแดนหน้าให้บุกต่อได้เลยด้วย
วิธีที่ 4 ที่เป๊ปใช้ ในเกมที่บาเยิร์นบุกถล่มดอร์ทมุนด์ 3-0 ที่เวสต์ฟาเล่น สตาดิโอน ในฤดูกาล 2013-14 คือจับเอากองกลางตัวรับ ชาบี มาร์ติเนซ ที่ตัวสูงใหญ่ ไปเล่นเป็น "หน้าต่ำ" อยู่ข้างหลังมาริโอ มันด์ซูคิช คือถ้าโดนบีบ โดนเพรสซิ่ง แล้วคิดอะไรไม่ออก สาดขึ้นไปกลางสนาม มาร์ติเนซ กับ มันด์ซูคิช ก็สามารถแย่งโหม่งได้สบายมาก เพราะกองกลางดอร์ทมุนด์พวกอิลคาย กุนโดกัน หรือ นูริ ซาฮิน ต่างก็ตัวเล็กกันทั้งนั้น
จะเห็นได้ว่า เป๊ปนั้นเปิดโลกให้คล็อปป์ได้เห็นว่า การเพรสซิ่งที่เขามั่นใจว่าสามารถเอาชนะคู่แข่งได้ แต่จริงๆ ในเชิงแท็กติก มันสามารถแก้ทางได้หลายรูปแบบมากๆ ที่สำคัญเป๊ป ไม่ต้องก็อปแผนของคล็อปป์ด้วย เขาครีเอตสิ่งใหม่ๆ ได้ตลอดเวลาด้วยมันสมองของตัวเอง
2
การแก้ทางแผนได้ ทำให้ดอร์ทมุนด์ต้านทานไม่อยู่ บาเยิร์นของเป๊ป คว้าแชมป์บุนเดสลีกาในซีซั่น 2013-14 ตามด้วย 2014-15 เขาฉีกช่องว่างของบาเยิร์น กับทีมอื่นในลีกให้ห่างไกลออกไปเรื่อยๆ จนไม่มีใครตามทัน
ในขณะที่บาเยิร์นเริ่มเกรียงไกร แต่คล็อปป์ที่คุมดอร์ทมุนด์มาถึงปีที่ 7 แล้ว ก็เริ่มหมดพลัง หมดไอเดีย เขาไม่สามารถพาทีมไปได้ไกลกว่านี้แล้ว จึงขอลาออก หลังสิ้นสุดฤดูกาล 2014-15 โดย ณ เวลานั้น ยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะย้ายไปไหน แต่แสดงสปิริตเอาตัวเองออกมา เพื่อให้ดอร์ทมุนด์ได้มูฟออนต่อไปดีกว่า
อย่างไรก็ตาม การเจอกันครั้งสุดท้ายของคล็อปป์ กับเป๊ป ในเยอรมัน เกิดขึ้นในรอบรองชนะเลิศของเดเอฟเบ โพคาล คล็อปป์ฝากผลงานสุดท้ายด้วยการเอาชนะเป๊ปได้สำเร็จถึงอัลลิอันซ์ อารีน่า เขี่ยบาเยิร์นตกรอบ ถือว่าไว้ลาย และแสดงให้เห็นว่า แม้เป๊ปจะเก่งแค่ไหน เขาก็หาวิธีชนะได้เหมือนกัน
1
ช่วงเวลา 2 ปีที่ทั้งคู่ปะทะกันที่เยอรมัน ถือเป็นเรื่องราวคลาสสิค เพราะเราจะเห็นได้ว่า เป๊ปก็มีส่วนในการทำให้คล็อปป์พัฒนาแนวคิดเพรสซิ่งเอามาใช้กับดอร์ทมุนด์จนได้แชมป์ลีก 2 สมัย แต่ก็เป็นเป๊ปอีกเช่นกัน ที่แสดงความสามารถในการเอาชนะแผนเพรสซิ่งที่คล็อปป์มั่นใจลงได้อย่างราบคาบ
3
แน่นอน ความสุดยอดของสองกุนซือ การดวลกันแค่ 2 ปี มันยังไม่พอหรอก นั่นทำให้พวกเขาต้องโคจรมาสู้กันอีกครั้ง ในประเทศอังกฤษ คราวนี้เป๊ปไปอยู่แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ส่วนคล็อปป์ไปอยู่กับลิเวอร์พูล
ในยุคของเป๊ป แมนฯ ซิตี้ ที่เก่งอยู่แล้วกลายเป็นยอดทีมแห่งยุค ส่วนคล็อปป์ก็พาลิเวอร์พูลที่แตกสลายในมือของแบรนแดน ร็อดเจอร์ส กลับมาเป็นทีมแถวหน้าของประเทศอีกครั้ง
1
ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา 2 ทีมนี้ เปิดหน้าแลกหมัดกันตลอด ทีมเรือใบได้แชมป์พรีเมียร์ลีก 3 สมัยก็จริง แต่ลิเวอร์พูลไปได้แชมป์ยุโรป กับแชมป์สโมสรโลก ที่แมนฯ ซิตี้ ไม่เคยทำได้ คือต่างฝ่าย ต่างประสบความสำเร็จ แย่งชิงความยิ่งใหญ่กันทุกซีซั่น
แต่สิ่งที่น่าสนใจที่สุด คือการแย่งชิงความยิ่งใหญ่เหล่านั้น ทั้ง 2 ฝ่าย ให้เกียรติกันเสมอมา ตั้งแต่ที่เยอรมัน มาจนถึงที่อังกฤษ ต่างเป็นคู่แข่งในสนามอย่างแท้จริง
6
คล็อปป์ศรัทธาเป๊ปเสมอ เขาเคยให้สัมภาษณ์หลายครั้งว่า "เป๊ปคือโค้ชที่เก่งที่สุดในโลก" เช่นเดียวกับเป๊ป ที่ยอมรับในตัวคล็อปป์ เขากล่าวว่า "เจอร์เก้นทำให้โลกฟุตบอลกลายเป็นสถานที่ที่น่าอยู่ขึ้น เขาคือคู่แข่งที่ยิ่งใหญ่ของผม"
4
ดังนั้น ไม่ว่าผลการแข่งขันเกมคืนนี้จะเป็นอย่างไร นี่จะเป็นการต่อสู้กันที่สุดยอดของทั้ง 2 โค้ชอย่างแน่นอน เราจะได้เห็นการต่อสู้กันเชิงแท็กติกทั้งหมดที่ทั้งคู่มี
1
และรับประกันได้ว่า นี่จะต้องเป็นเกมแห่งฤดูกาลที่อยู่ในความทรงจำของแฟนบอลไปอีกนาน อย่างไม่ต้องสงสัยเลย
2
#MATCHOFTHESEASON
โฆษณา