13 เม.ย. 2022 เวลา 08:00 • สุขภาพ
ว่าด้วยการสูงวัยและฉลาดขึ้น
Vivian Clayton นักจิตวิทยา - ประสาทวิทยา ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคชรา วิจัยพบว่า ลักษณะของคนฉลาด หรือภูมิปัญญานั้นประกอบไปด้วย การรู้คิด (Cognition) การไตร่ตรอง (Reflection) และความเห็นอกเห็นใจ (Compassion)
ว่าด้วยการสูงวัยและฉลาดขึ้น
การวิจัยในหัวข้อศาสตร์ว่าด้วยกระบวนการคิด พบว่า คนสูงวัยมีข้อมูลสะสมอยู่ในหัวสมองของพวกเขามากกว่าคนหนุ่มสาว เวลาที่สมองของคนสูงวัยจะดึงข้อมูลมาใช้ย่อมใช้เวลานานกว่าคนหนุ่มสาว
แต่คนสูงวัยมีความความสามารถในการแยกแยะความแตกต่างเพียงเล็กน้อยของสิ่งต่างๆ ได้เหนือกว่าคนหนุ่มสาว
วิธีที่สมองของคนเราเรียนรู้คือ ยิ่งคนที่มีข้อมูลอยู่ในสมองเขามากเท่าไหร่ เมื่อเขาได้ข้อมูลใหม่เขาจะสามารถเชื่อมโยงกับแบบแผน (Pattern) ที่เขาคุ้นเคยได้มากขึ้นเท่านั้น
ดังนั้น คนสูงวัยที่มีข้อมูลในสมอง สามารถจำได้และตระหนักถึงแบบแผนของสิ่งต่างๆ ได้มาก นี่เป็นพื้นฐานที่จะช่วยให้พวกเขามีการตัดสินใจและพฤติกรรมที่ฉลาด
ดอกเตอร์เคลย์ตัน กล่าวว่า การจะเป็นคนฉลาดได้ คนเราต้องใช้เวลาในการที่จะเข้าใจการหยั่งรู้ (Insight) และมิติต่างๆ จากกระบวนการรู้คิดของเขา (มิติการไตร่ตรอง) คนๆ นั้นจึงจะสามารถใช้การหยั่งรู้ของเขาไปเข้าใจและช่วยเหลือคนอื่น (มิติด้านความเห็นอกเห็นใจ)
2
Monika Ardelt อาจารย์สาขาสังคมวิทยา กล่าวว่า การวิจัยชี้ให้เห็นว่าคนสูงวัยที่พอใจในชีวิต จะมาจากปัจจัยเช่น การมีสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดี การมีความสัมพันธ์ในทางบวกกับคนอื่นๆ และการมีจิตใจช่วยเหลือคนอื่น
1
คนสูงวัยอาจมีข้อด้อยด้านสุขภาพ บทบาททางสังคมลดลง แต่การมีภูมิปัญญา (Wisdom) เป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้คนสูงวัย สามารถที่จะค้นหาความหมาย ความพอใจ และการยอมรับในช่วงสูงวัยได้
1
เธอออกแบบการวิจัยเพื่อวัดภูมิปัญญาคนสูงวัยใน 3 ด้าน คือ การรู้คิด (Cognition) การไตร่ตรอง (Reflection) และความเห็นอกเห็นใจ (Compassion) และพบว่า คนที่ได้คะแนนว่าภูมิปัญญาสูงจะมีทักษะในการเผชิญกับปัญหาต่างๆ (Coping Skills) ที่ดีกว่า เช่น พวกเขาจะตอบว่า พวกเขาพร้อมจะจัดการกับความยากลำบากอย่างเอาการเอางาน (Active) มากกว่าแบบเฉื่อยเนือย (Passive)
1
Isabela S.Bick นักบำบัดทางจิต ผู้อายุ 81 ปี ยังทำงานบางเวลาให้คำปรึกษาคนไข้ที่บ้านของเธอ เธอมีคนไข้สูงวัยที่ไม่พอใจกับรูปร่างหน้าตาที่เปลี่ยนไปจากช่วงวัยก่อนหน้านี้, เรื่องความสามารถทางเพศ, ความสามารถทางร่างกายและความจำที่ลดลง
เธอกล่าวว่าอุปสรรคที่ขัดขวางเรื่องภูมิปัญญาคือคนที่คิดทำนองว่า “ฉันทนตัวเองตอนนี้ไม่ได้ เพราะฉันไม่เหมือนคนที่ฉันเคยเป็นอีกต่อไป”
1
เธอมองว่าการยอมรับเรื่องความจริงเรื่องสภาพการสูงวัยเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับการที่คนๆ หนึ่ง จะเจริญงอกงามต่อไปได้ ไม่ใช่การยอมรับอย่างสิ้นหวัง แต่เป็นการยอมรับความจริงอย่างเต็มใจ
1
ศาสตราจารย์ Ardelt กล่าวว่า “คนฉลาดจะสามารถยอมรับความจริงอย่างที่มันเป็นอยู่ ด้วยความสุขุมได้” เธอพบว่าในหมู่คนสูงวัยที่อยู่บ้านพักคนชราหรือเจ็บป่วยเรื้อรัง คนที่ได้คะแนนแสดงภูมิปัญญาสูง มีความรู้สึกเรื่องสุขภาวะมากกว่าคนที่มีภูมิปัญญาต่ำ
4
ศาสตราจารย์ Staudinger อาจารย์ด้านจิตวิทยากล่าวว่า เมื่อคุณอายุมากขึ้น เป็นการฉลาดกว่าที่จะมองชีวิตในทางบวก เพราะนี่คือยุทธศาสตร์ในการจัดการกับชีวิตที่ดีกว่า
4
คนฉลาดควรจะยอมรับความผิดพลาดและการสูญเสีย และยังคงพยายามที่จะปรับปรุงตัวเองต่อไป คนฉลาดจะยอมรับด้านลบทั้งจากภายในหรือภายนอกตัวเขา และพยายามที่จะเรียนรู้จากสิ่งเหล่านี้
1
ภูมิปัญญายังรวมถึงความเมตตากรุณาต่อคนอื่น เรื่องนี้เป็นประโยชน์ในทางจิตใจต่อเราโดยตรง ภูมิปัญญาเกี่ยวข้องกับ “การลดการยึดติดเอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง” คนฉลาดจะพยายามเข้าใจสถานการณ์ต่างๆ จากหลายมุมมอง ไม่ใช่จากมุมมองของเขาเท่านั้น และดังนั้นเขาจะเป็นคนอดกลั้นได้มากกว่า
1
Laura L.Cartensen ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาเรื่องการมีอายุยืน มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด กล่าวว่า “มีหลักฐานว่าคนที่มีปัญหาโรคประสาท (Neuroticism) สูง มักจะไม่ใช่คนฉลาดอย่างแท้จริง พวกเขามองสิ่งต่างๆ โดยใช้ตัวเองเป็นศูนย์กลางและมักมองด้านลบ ดังนั้นพวกเขาจึงไม่ได้เรียนรู้เรื่องการพัฒนาอารมณ์จากประสบการณ์ แม้ว่าพวกเขาจะมีสติปัญญาที่เฉลียวฉลาดในเรื่องอื่นๆ มากก็ตาม”
ศาสตราจารย์ Cartensen วิจัยเรื่องการควบคุมทางอารมณ์ และกล่าวว่านี่คือส่วนที่สำคัญของภูมิปัญญา เธอกล่าวว่า “ถ้าคุณฉลาด คุณไม่เพียงแต่รู้จักควบคุมสถานการณ์ด้านอารมณ์ของคุณได้ดีเท่านั้น คุณยังเอาใจใส่สถานการณ์ด้านอารมณ์ของคนอื่นๆ ด้วย คุณไม่ได้เน้นเฉพาะเรื่องที่คุณต้องการและคิดว่าคุณควรได้รับมัน แต่คุณยังคิดว่าคุณจะสามารถทำประโยชน์อะไรให้คนอื่นด้วย”
Danie Goleman นักจิตวิทยาผู้เขียนหนังสือเรื่อง “ความฉลาดทางอารมณ์” และหนังสือขายดีเล่มอื่นๆ กล่าวว่า “ด้านหนึ่งของภูมิปัญญา คือการรู้จักมองเรื่องต่างๆ ในมุมมองที่กว้างขวางมาก ไม่ใช่มีศูนย์กลางในการมองเฉพาะแค่ตัวเราเอง หรือแม้แต่กลุ่มของเราองค์กรของเรา”
7
เขาสนับสนุนแนวคิดของ Erik Erikson นักจิตวิทยารุ่นอาวุโสในเรื่องว่าคนสูงวัยนั้นควรมี Generativity - ความรู้สึกเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อคนอื่น โดยไม่หวังสิ่งใดตอบแทน “คนที่ฉลาดที่สุด ให้ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่โดยไม่ต้องมานั่งคิดถึงว่าตัวเขาเองกำลังมีช่วงเวลาของชีวิตที่จำกัด”
1
Joan Ericson “คนเราจะต้องเข้าร่วมกับกระบวนการปรับตัว จะด้วยยุทธวิธีหรือภูมิปัญญาอะไรก็ตามแต่ที่เราสามารถหามาใช้ได้ เราจะต้องยอมรับข้อจำกัดด้านสมรรถภาพของเราอย่างใจเย็นและมีอารมณ์ขัน”
2
ดอกเตอร์เคลย์ตัน กล่าวว่า ไม่ว่าธรรมชาติของข้อจำกัดของคนเราจะเป็นอะไรก็ตาม การรู้จักใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย คือสัญญาณหนึ่งของภูมิปัญญา เช่น การบริจาคข้าวของที่เกินความจำเป็นที่จะต้องใช้ให้คนอื่นขณะที่คุณยังมีชีวิต แทนที่จะคิดแต่เรื่องการสะสมและหวงข้าวของเอง
การใช้ชีวิตแบบเรียบง่าย มีข้าวของน้อยลง เป็นคนละเรื่องกับการยอมแพ้ คนสูงวัยควรมีเป้าหมายในการใช้ชีวิตบางอย่างที่สอดคล้องกับความสามารถขณะนั้นของเขา หากคนสูงวัยขาดความรู้สึกท้าทาย เขาอาจจะหมกมุ่นคิดถึงแต่เรื่องตัวเองและหยุดนิ่งอยู่กับที่
1
การเรียนรู้ต่อเป็นวิธีที่สำคัญในการพัฒนาภูมิปัญญาในช่วงสูงวัย อย่างแรกคือช่วยให้ไม่ต้องอยู่คนเดียวมากไป สำหรับคนสูงวัย การเรียนรู้ทักษะสมัยใหม่อาจเป็นประโยชน์น้อยกว่าการเรียนวิชาทางมนุษยศาสตร์ เช่น จิตวิทยา ปรัชญา ศิลปวรรณกรรม ฯลฯ ที่จะช่วยให้ผู้เรียนเข้าใจเรื่องชีวิตและตัวเขาเองได้มากขึ้น
2
“ความพอใจหรือไม่พอใจต่อการกระทำของคนอื่น เป็นเรื่องที่ตัวเธอเองเป็นคนเลือกที่จะตีความ ไม่ใช่ตัวการกระทำนั้นโดยตรง”.
อีปิคตีตัส,คู่มือการใช้ชีวิตเพื่อความสุขทีแท้จริง สำนักพิมพ์มูลนิธิเพื่อนหนังสือ ม.ค.2565
บทความโดย: รศ.วิทยากร เชียงกูล | คอลัมน์ #ปฏิรูปประเทศไทย
*หมายเหตุ บทความนี้เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 7 ก.พ. 2565
2
โฆษณา