19 เม.ย. 2022 เวลา 00:21 • หุ้น & เศรษฐกิจ
บัฟเฟตต์บอกว่าอยากรวยจากหุ้นให้อยู่เฉยๆ
=== แต่ทุกวันนี้เราซื้อหุ้นแล้วอยู่เฉยๆ ได้เหรอ ===
ในยุคที่เล่นหุ้นยากขึ้นกว่าเมื่อก่อนเยอะแยะ
ในหนังสือ วิถีเต๋า วิถีบัฟเฟตต์ จะมีอยู่บทหนึ่งที่พูดได้อ้างอิงถึงคำพูดของบัฟเฟตต์ที่่ว่า "วอลสตรีททำเงินจากการเคลื่อนไหว แต่คุณจะทำเงินได้ด้วยการไม่เคลื่อนไหว"
ถ้าตีเป็นความหมายง่ายๆ ก็คือ ถ้าอยากได้เงินจากตลาดหุ้น หัดอยู่เฉยให้เป็น แล้วกำไรจะมาเอง ส่วนวอลสตรีท (หรือตลาดหุ้น) จะทำเงินได้จากการเคลื่อนไหว นั่นแปลว่าเคลื่อนไหวบ่อย ซื้อขายบ่อย ตลาดหุ้นเองจะยิ่งได้เงินมากขึ้น ตลาดหุ้นในที่นี้ก็ไล่ได้มาร์เก็ตติ้ง โบรกเกอร์ หรืออาจไปจนถึงคนที่ขายหุ้นตัวนี้ให้กับเราก็ได้
แน่นอนว่าคำพูดนี้คือสิ่งที่เป็นความจริงอยู่บ้าง อย่างน้อยก็สำหรับบัฟเฟตต์ เพราะทุกคนรู้ดีว่าบัฟเฟตต์นั้นให้ความสำคัญกับการเลือกธุรกิจที่ดี ซื้อในราคาที่เหมาะสม และถือมันให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ ดังนั้นคำพูดที่ว่า "ทำเงินด้วยการไม่เคลื่อนไหว" จึงถูกพิสูจน์แล้วด้วยการที่เขาเป็นหนึ่งในคนที่รวยที่สุดในโลก
แต่คำถามคือ ทุกวันนี้เราจะยังใช้แนวคิดนี้ได้อยู่ไหม ในยุคที่ถือหุ้นอยู่ดีๆ พรุ่งนี้ราคาก็ฟลอร์ได้ หรือถือหุ้นอยู่ดีๆ พรุ่งนี้ก็มีบริษัทคู่แข่งมาทุ่มตลาดได้
เรามาดูประโยคที่บัฟเฟตต์พูดกันอีกครั้งครับ ที่เขาบอกว่า "แต่คุณจะทำเงินได้ด้วยการไม่เคลื่อนไหว" นั่นสิ มันคือการอยู่เฉยๆ แต่ต้องอยู่เฉยนานแค่ไหนกันล่ะ?
สำหรับสาย VI การอยู่เฉยในที่นี้อาจจะเป็นสิบปีก็ได้ เหมือนที่บัฟเฟตต์ทำกับการซื้อหุ้นอย่าง American Express หรือ Coca-Cola
แต่ในขณะเดียวกัน ก็มีบ่อยครั้งที่บัฟเฟตต์ถือหุ้นแปปเดียวแล้วขาย บางบริษัทเขาเคยประเมินว่า fair value ของกิจการอยู่ที่ 100 เหรียญต่อหุ้น และเมื่อเข้าซื้อได้ที่ราคา 50 เหรียญ ผ่านไปสักหนึ่งปีราคาก็ขึ้นไปถึงจุดที่คาดการณ์ไว้ หากเขาไม่เห็นความได้เปรียบอื่นใดของกิจการอีก เขาก็ขาย
"อ้าว ไหนว่าเป็น VI ไหนว่าทำเงินจากการไม่เคลื่อนไหว" นั่นก็ถูก ที่ผ่านมาบัฟเฟตต์ก็ "ไม่เคลื่อนไหว" ตลอดระยะเวลาที่ถือหุ้นตัวนั้นอยู่ แต่พอมีเหตุปัจจัยใหม่ๆ ที่เขาเห็นว่ากิจการนั้นไม่สามารถไปต่อได้ มันก็ไม่มีเหตุผลอะไรที่จะต้องถือหุ้นที่ไม่เข้าเกณฑ์ของตัวเองต่อไป
หรือถ้ามองอีกมุมหนึ่ง คำพูดที่ว่า "วอลสตรีททำเงินจากการเคลื่อนไหว แต่คุณจะทำเงินได้ด้วยการไม่เคลื่อนไหว" อาจสามารถประยุกต์ใช้ได้แม้แต่กับคนที่เป็นเทรดเดอร์ระยะสั้นด้วย
สมมติมีเทรดเดอร์คนหนึ่งซื้อขายเป็นประจำทุกสัปดาห์ ถ้าดูดีๆ แล้วแม้แต่เทรดเดอร์ที่ซื้อขายบ่อยๆ ก็ยังมีจังหวะที่ต้อง "ไม่เคลื่อนไหว" เช่นกัน เช่น ตอนที่เขากำลังรอให้หุ้นเกิดสัญญาณซื้อที่มีความน่าเชื่อถือ, ตอนที่กำลังรอให้หุ้นวิ่งไปตามแผนที่ว่าไว้, ตอนนี้รอไม่รีบร้อนขายหุ้นหากยังไม่ลงมาถึงจุดที่กำหนด, หรือการไม่เคลื่อนไหวเมื่อไม่มีอะไรให้ซื้อเลย
หากพินิจพิเคราะห์ให้ถ้วนถี่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นนักลงทุนที่ถือหุ้นนับสิบปี ไปจนถึงเทรดเดอร์ที่ซื้อขายหุ้นในหลักไม่กี่นาที ล้วนต้องมีจังหวะที่อยู่เฉยๆ กันทั้งนั้น
มันอาจฟังดูแปลก แต่ลองคิดอีกมุมว่า ถ้านักลงทุนคนหนึ่งที่หมายมั่นจะเป็น VI ผู้ถือยาวสิบปี ปรากฎว่าถือหุ้นไปสิบนาที ราคาร่วงไป 10% อุ่ย ทำใจไม่ได้ แผนแตก เขาคนนี้ไม่ว่าจะเป็น VI แท้หรือไม่ก็ตาม สุดท้ายเขาก็คือคนที่ไม่สามารถอยู่เฉยๆ ตามแผนได้
หรือถ้าเทรดเดอร์คนหนึ่งที่หมายมั่นจะซื้อขายหุ้นให้จบในวัน แต่พอราคาร่วงไปเลยจุดตัดขาดทุนมากๆ กลับไม่กล้าขาย แล้วไปเปิดงบการเงินดูเพื่อให้กำลังใจตัวเอง แล้วเปลี่ยนวิธีแบบทันควันว่าจะถือต่ออีกสักเดือนเพราะมันคือกิจการที่ดี เขาคนนี้ไม่ว่าจะเป็นเทรดเดอร์พันธุ์แท้หรือไม่ก็ตาม กลับเลือกอยู่เฉยๆ มากเกินไปจนไม่ยอมทำตามแผนที่กำหนด
ไม่แน่ว่า "ทำเงินจากการไม่เคลื่อนไหว" อาจหมายถึงการอยู่เฉยให้เป็นในจังหวะที่ควรอยู่เฉย แต่ในขณะเดียวกัน ก็ต้องเคลื่อนไหวในจังหวะที่เหมาะสม ไม่ใช่ไม่ทำตามแผนแล้วเอาการอยู่เฉยๆ มาเป็นข้ออ้าง
การอยู่เฉยให้เป็นคือสิ่งสำคัญไม่ว่าจะเป็น VI หรือเทรดเดอร์ก็ตาม
จากหนังสือ วิถีเต๋า วิถีบัฟเฟตต์
#สั่งซื้อหนังสือ "วิถีเต๋า วิถีบัฟเฟตต์" รวมหลักคิดอมตะของสุดยอดนักลงทุนเอกของโลก ได้ที่
ราคาปกติ 198 บาท พิเศษเพียง 169 บาท
#ค่าส่งเพียง18บาทเท่านั้น
ร้านหนังสือของนักลงทุน
โฆษณา