11 เม.ย. 2022 เวลา 12:19 • หุ้น & เศรษฐกิจ
“ต้นทุนทางการแพทย์” คือ เหตุผลที่จีนยังใช้นโยบาย Zero Covid
หลายคนเริ่มตั้งคำถามว่า การใช้นโยบายคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 อย่างเข้มข้นของจีนต่อไปเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องหรือไม่? ในขณะที่หลายประเทศในโลกตอนนี้ เริ่มปรับมุมมองต่อโรคระบาดนี้ ให้กลายเป็น “โรคประจำถิ่น” ไปแล้ว
สถานการณ์ตอนนี้ก็สร้างความกังวลใจให้กับนักวิเคราะห์หลายคน เนื่องจากเมืองที่ถูกล็อคดาวน์ส่วนใหญ่เป็นเมืองที่มีความสำคัญกับประเทศจีนอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเซี่ยงไฮ้ ที่เป็นเมืองเศรษฐกิจสำคัญอันดับต้นของจีน และยังเป็นเมืองที่มีประชากรอาศัยอยู่มากที่สุดในจีน ด้วยจำนวนมากกว่า 20 ล้านคน
2
แต่การตัดสินใจเพื่อล็อคดาวน์เมืองอย่างเข้มข้นนี้ ก็มีเหตุผลรองรับอยู่เบื้องหลังซึ่งผ่านการไตร่ตรองจากรัฐบาลจีนแล้ว
4
ซึ่งถ้าจะสรุปเหตุผลเป็นคำเดียว คำว่า “ต้นทุนทางชีวิตและการแพทย์” ก็คือ คำที่แทนเหตุผลที่ทางการจีนยังเลือกคุมเข้มโควิดต่อไปนั่นเองครับ
แต่ในบทความนี้ เราจะพาทุกท่านไปเจาะในรายละเอียดกันว่า ต้นทุนทางการแพทย์ที่เรากล่าวถึงข้างต้น หมายถึงอะไรกันแน่อย่างแท้จริง
📌 เหตุผลเบื้องหลังการคุมเข้มโควิดของจีน
1
เหตุผลเบื้องหลังการใช้นโยบายคุมเข้มโควิดของจีนในตอนนี้ อาจจะแบ่งออกเป็นอย่างน้อย 3 ประการ ดังต่อไปนี้
 
ประการที่หนึ่ง สัดส่วนผู้สูงวัยที่เข้ารับการฉีดวัคซีนในจริง ยังไม่มากเท่ากับผู้สูงวัยในหลายประเทศ
ซึ่งเราทราบกันดีว่า กลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสเจ็บป่วยรุนแรงจากโรคโควิด-19 ได้มากที่สุดก็คือ กลุ่มผู้สูงวัยเหล่านี้ ซึ่งถ้ามีการแพร่ระบาดออกไปในวงกว้าง ก็มีโอกาสที่จะเห็นยอดผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตสูงขึ้นอย่างรวดเร็วได้
ประกอบกับที่ได้เห็นตัวอย่างจากกรณีปัญหาที่เกิดขึ้นในฮ่องกง ที่มีอัตราการฉีดวัคซีนและควบคุมโรคในช่วงก่อนหน้าคล้ายกัน ก็ยิ่งทำให้จีนตัดสินใจเลือกทาง “เลือกการคุมเข้ม”
ประการที่สอง คือ การใช้จ่ายด้านสุขภาพและสาธารณสุขของประเทศจีนยังไม่สูงมากเมื่อเทียบกับหลายประเทศ ประกอบกับทรัพยากรด้านบุคลากรทางการแพทย์และโรงพยาบาลของจีนก็ยังมีน้อยกว่าในหลายประเทศ เช่น สหรัฐฯ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้
1
ซึ่งเราก็เห็นกันมาก่อนหน้านี้แล้วว่า ขนาดประเทศที่ลงทุนด้านสุขภาพอย่างสูง เมื่อเจอกับการระบาดระลอกใหญ่ ก็เผชิญกับความยากลำบากทางสาธารณสุขเช่นกัน และก็ผ่านมันมาได้อย่างเจ็บปวด ซึ่งก็อาจจะเป็นสถานการณ์ที่จีนไม่อยากเสี่ยงจะเจอ
ประการที่สาม คือ เมืองที่ถูกล็อคดาวน์ตอนนี้มีศักยภาพทางด้านการแพทย์สูงกว่าเมืองรอบหน้า
หากเราพิจารณาจำนวนผู้ป่วยรายวันของจีนในตอนนี้ เราจะเห็นว่า ผู้ป่วยส่วนใหญ่อยู่ในเมืองเซี่ยงไฮ้ ที่เป็นเมืองเศรษฐกิจสำคัญของประเทศ
6
ซึ่งตอนนี้เคสที่กำลังเจอกันอยู่ก็เกิดขึ้นในเมืองเซี่ยงไฮ้มากกว่าครึ่ง
ซึ่งในแง่หนึ่ง หลายคนอาจจะบอกว่า การล็อคดาวน์เมืองเซี่ยงไฮ้ ที่มีประชากรมากกว่า 20 ล้านคน จะยิ่งทำให้เศรษฐกิจติดขัด
แต่ถ้ามองอีกแง่หนึ่ง ก็เพราะเมืองเซี่ยงไฮ้เป็นเมืองใหญ่ จึงมีศักยภาพทางการแพทย์สูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ ทางการจีนก็อาจจะคิดว่า จะใช้เซี่ยงไฮ้เป็นฐานของโรงหมอ เพื่อจัดการโควิดสายพันธุ์โอมิครอนก็ได้
2
📌 ผลกระทบที่อาจจะตามมา
ผลกระทบแรก คือ เป้าหมายการเจริญเติบโตเศรษฐกิจของจีนที่ 5.5% อาจจะไม่เป็นไปตามเป้า ยิ่งถ้าการคุมเข้มใช้ไม่ได้ผล โอมิครอนหลุดรอดไปได้
ผลกระทบต่อมา คือ ต้นทุนการขนส่งสินค้า โดยเฉพาะทางเรือ ที่บริเวณภาคตะวันออกของจีน ภูมิภาคที่มีการล็อคดาวน์ขณะนี้ มีท่าเรือขนาดใหญ่ของโลกตั้งอยู่เป็นจำนวนมาก การที่ต้องคุมเข้มตรวจสอบจะทำให้ค่าเช่าตู้คอนเทนเนอร์สูงขึ้นได้ เหมือนที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว
ผลกระทบที่จะตามมาได้อีก คือ ปัญหาต่อห่วงโซ่อุปทานโลก เพราะจีนเป็นประเทศที่ตั้งโรงงานสำคัญของโลก และยังเป็นผู้เล่นคนสำคัญในตลาดการค้าโลก
1
การขาดจีนไปก็จะส่งผลต่อทั้งฝั่งอุปสงค์และอุปทานในการค้าโลกอย่างไม่ต้องสงสัย
1
อย่างไรก็ดี ถ้าทางการจีนสามารถจัดการคุมโควิดได้อยู่หมัดอีกครั้ง ภายในระยะเวลาที่ไม่นานนัก ก็อาจจะไม่ได้มีผลกระทบต่อเนื่องมาถึงเศรษฐกิจโลกมากนักก็ได้
แตกต่างกับการที่ปล่อยให้เกิดการแพร่ระบาดออกไป ที่อาจจะทำให้จีนเข้าสู่ช่วงถดถอยทางเศรษฐกิจ เหมือนเกือบทุกประเทศเคยเผชิญกันก่อน ในตอนที่ประชาชนยังมีความเกรงกลัวต่อโรคโควิดกันอยู่
ซึ่งในตอนนี้ ประเทศที่เคยเจอการแพร่ระบาดมาอย่างยาวนาน ก็ปรับมุมมองและคิดว่าโควิดน่ากลัวน้อยลงได้แล้ว แต่สถานการณ์ของคนจีนที่อยู่โดยไม่ต้องระแวงมาตลอด ถ้าเกิดการแพร่ระบาดจริง ก็อาจจะเกิดสถานการณ์เหมือนกับที่พวกเราเคยเจอตอนระลอกสองและสามก็ได้ ที่ทุกคนแอบกันอยู่ในบ้านก่อน และความเชื่อมั่นต่างๆ ก็ลดลงอย่างฮวบฮาบ
1
นี่ถือเป็นความท้าทายอีกครั้งของนโยบายคุมเข้มแบบจีนว่า จะมีประสิทธิภาพมากแค่ไหน? ซึ่งก็จะเป็นหนึ่งในบททดสอบสำคัญที่จะตัดสินสภาวะการเติบโตของจีนในช่วงต่อจากนี้...
ผู้เขียน : ณัฐนันท์ รำเพย Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
▶️ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
Reference :
โฆษณา