Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
นิพัทธ์พร เพ็งแก้ว
•
ติดตาม
11 เม.ย. 2022 เวลา 07:21 • ปรัชญา
ต้นฉบับลายมือแปล วิถีแห่งเต๋า-พจนา จันทรสันติ
นักเขียนยุคนี้ เขียนงานกันด้วยคอมพิวเตอร์ไปซะแทบทั้งหมดแล้ว ดิฉันก็ด้วย มีเพียงสมุดโน้ตเท่านั้น ที่บันทึกไว้ด้วยลายมือจริงของตัวเอง
.
แต่นักเขียน นักแปลยุคเก่า เขาเขียนงานแปลงาน ด้วยลายมือจริง ซึ่งลายมือก็มีการเปลี่ยนแปลงไปตามช่วงอายุ
.
เท่าที่จำได้ พี่ชายที่รักยิ่งคนหนึ่งของดิฉัน นักแปลที่ชื่อ “สุริยฉัตร ชัยมงคล” หรือ “พี่ตั้ม” ผู้จากไปนมนาน ๒๐ กว่าปีได้แล้ว เขาคนนี้แปลงานพิมพ์รัวๆด้วยเครื่องพิมพ์ดีด ไม่ใช่เขียนแปลด้วยปากกา ดิฉันจำภาพพี่ตั้มจิบเหล้าไป ใช้พิมพ์ดีดแปลงานไปได้แจ่มชัด ตอนที่เห็นนั้นดิฉันยังเรียนอยู่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ราวปีพ.ศ.๒๕๒๙-๒๕๓๐ ประมาณนี้ล่ะกระมัง
ปกวิถีแห่งเต๋า ผลงานแปลพี่พจนา จันทรสันติ ฉบับพิมพ์ครั้งที่๒ ปกนี้ดิฉันอ่านมาแต่เด็ก แต่เล่มที่อ่านถูกปลวกกินไปเมื่อราว ๑๐ ปีก่อน จนไปได้ปกเดียวกันนี้มาจากร้านหนังสือดีปีมะโว้ เมืองเพชรบุรี
.
แต่ในย่ามประจำตัวดิฉัน ตั้งแต่มัธยมปลายมาแล้ว มีหนังสือแปลเล่มหนึ่งติดย่าม อ่านแล้วอ่านอีก จนกระดาษเปื่อย นั้นคือ “วิถีแห่งเต๋า” ผลงานแปลของพี่พจนา จันทรสันติ เป็นฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๒ พ.ศ.๒๕๒๑
.
วิถีแห่งเต๋าเล่มนี้ มีอยู่ที่บ้าน พ่ออ่านแล้ววางไว้ ดิฉันหยิบมาอ่านตั้งแต่เรียนมัธยมต้น อ่านซ้ำเรื่อยมา ตลอดหลายปี จนจบมหาวิทยาลัย ชอบมากๆ ที่หนังสือจัดรูปเล่มสวย ภาพเขียนพู่กันจีนในเล่ม อ่านแล้ว “ตรึงตา” เด็กผู้หญิงวัย ๑๒-๑๓ ขวบอย่างยิ่ง สวยเหลือจะกล่าว ทำเอาหลงใหลภาพเขียนพู่กันจีนยาวนานมาถึงบัดนี้
.
ตอนเรียนม.ปลายที่เตรียมอุดม เพื่อนรักดิฉันชอบอ่านหนังสือกันทั้งนั้น ตัวกลั่นๆที่คุยกันสนุกมากเรื่องหนังสือก็คือ คุณกอบกาญจน์ ตระกูลวารี ผู้บริหารสหทัยมูลนิธิในขณะนี้, นายหัวต๋อม-คุณฐิตินาถ อุดมทรัพย์ โรงพิมพ์วิเศษพริ้นติ้งภูเก็ต, และน้องดำ-คุณโอบเดือน คชรินทร์ ที่มีหนังสือดีๆ ใหม่ๆ มาแนะนำให้ดิฉันอ่านอีกเยอะ
.
น้องดำโอบเดือนนี้แหละ ที่เอาหนังสือ “ขลุ่ยไม้ไผ่” ของพี่พจนา มาให้ดิฉันดูตั้งแต่อยู่ รร.เตรียมฯ เป็นฉบับพิมพ์ครั้งแรกๆ โอ้...หนังสืออะไร สวยขาดใจ เขียนได้เสนะไพเราะขาดใจมากถึงเพียงนี้
หน้าปกงานแปล วิถีแห่งเต๋า ของพี่พจนา มีลายมือพี่พจน์เขียนชื่อหนังสือสือไว้ว่า เต๋า เตอ จิง
.
แล้วโอบเดือน ต๋อม กอบ ยังชวนดิฉันไปดูหนังสือใหม่ๆ ที่ร้านดวงกมล สยามสแควร์ อยู่บ่อยๆ โลกหนังสือของดิฉันจึงเปิดกว้างขึ้น ไกลไปจากวรรณคดี พงศาวดาร จดหมายเหตุฝรั่ง วิทยาสาร ชาวกรุง ชัยพกษ์การ์ตูน สกุลไทย สตรีสาร ที่มีอยู่เต็มบ้าน ไปอย่างกว้างไกล เพราะเพื่อนรักจากเตรียมอุดมนี้เอง
.
เมื่อเข้ามาเรียนธรรมศาสตร์ ในปีธรรมศาสตร์มีอายุได้ ๕๐ ปี พ.ศ.๒๕๒๗ นอกจากบรรดาสายลับหัวกะเซิงเหมือนคนบ้า เจ้าหน้าที่สันติบาล ตำรวจลับ ที่มานั่งอยู่ตามมุมต่างๆของมหาวิทยาลัยแล้ว ยังมีชายหนุ่มผมยาว หนวดเคราครึ้ม มานั่งประจำอยู่ตรงลานโพธิ์ ทุกวัน เขามีนักศึกษาชายหญิงรุมล้อมนั่งคุยด้วยอยู่บ้าง บางทีเขาก็นั่งสูบกล้องยาสูบอยู่คนเดียว บ่ายๆมาแล้ว ดิฉันเห็นอยู่แทบทุกวัน
.
มีเพื่อนรุ่นพี่บอกว่า ชายหนุ่มผมยาวคนนั้น คือพี่พจนา จันทรสันติ คนแปลวิถีแห่งเต๋า คนเขียนหนังสือขลุ่ยไม้ไผ่ และชัยชนะ เล่มที่ดิฉันชอบมาก
.
หนังสือชัยชนะ ของพี่พจนานี้ คนมาแนะนำให้ดิฉันอ่านคือรุ่นพี่นักกิจกรรม ชมรมสลัมหรือไงนี่ พี่เขาเรียนคณะรัฐศาสตร์ ชอบอ่านหนังสือมาก ชื่อพี่วิชชุ เวชชาชีวะ
.
ดิฉันแอบมองพี่พจนาอยู่บ่อยๆ ไม่กี่เดือนต่อมาก็ได้ไปรู้จักและนั่งคุยกับพี่พจนาตรงลานโพธิ์ แต่รู้จักด้วยเหตุใด จำไม่ได้แล้ว
เต๋า เตอ จิง ลายมือพี่พจน์
.
เมื่อดิฉันเข้ามาทำงานในโลกหนังสือ ก็ยิ่งได้ติดต่อกับพี่พจนาบ่อยครั้งขึ้น หลายปีภายหลัง คลับคล้ายคลับคลาว่าดิฉันอยู่ที่ห้องทำงานโครงการจัดพิมพ์คบไฟ ชั้นบนของตึกบริษัทเคล็ดไทย ตรงข้ามวัดราชบพิธ พี่พจนาแวะมาหา นั่งคุยกัน แล้วเปิดประเป๋า หยิบซองสีน้ำตาลออกมา บอกว่า เราให้เอียด อันนี้เป็นต้นฉบับงานแปล วิถีแห่งเต๋า ที่เราเขียนลายมือ ทำไว้ครั้งแรก ตั้งแต่เรียนธรรมศาสตร์ เอียดเก็บไว้นะ
.
ดิฉันรับมา เปิดซองดู พลิกดูทีละหน้า ยาวนานมากจริงๆ ตั้งแต่ดิฉันอายุ ๑๒-๑๓ ขวบ ที่เริ่มอ่านงานแปลวิถีแห่งเต๋าของพี่พจนา และอ่านเรื่อยมาอยู่หลายปี จนบัดนี้ บ่อยครั้งก็ยังพลิกอ่านอยู่เสมอ แต่เล่มที่อยู่หัวนอน อ่านมาแล้วเป็นพันครั้ง อ่านแล้วเบาใจ ก็คืองานแปล “ขุนเขายะเยือก” ของพี่พจนา ที่แปลไว้ ๓๐ กว่าปีได้แล้ว
.
ต้นฉบับลายมือแปล วิถีแห่งเต๋า ของพี่พจนา เดินทางระหกระเหินไปกับการย้ายหอพัก ย้ายบ้านในกรุงเทพของดิฉัน หลายต่อหลายครั้ง จนนับจำนวนครั้งไม่ได้ แต่ในที่สุดก็มาซุกอยู่ในตู้หนังสือ ที่บ้านเพชรบุรี
ปกในหนังสือวิถีแห่งเต๋า ที่สำนักพิมพ์เคล็ดไทยพิมพ์ครั้งที่ ๒
.
๓-๔ ปีก่อน ดิฉันเคยหยิบต้นฉบับลายมือแปลวิถีแห่งเต๋า ของพี่พจนา ให้พี่และเพื่อนรักของดิฉันที่มาเที่ยวเพชรบุรีได้ดูด้วยกัน จำได้ว่าวันนั้นดิฉันพบกับพี่นก-ศรวณีย์ สุขุมวาท , พี่อุ๋ม-วดีลดา วนวิทย์ กับสามี คือนายชิ้ง-พิเชษฐ์ วนวิทย์
.
ก่อนไปเที่ยววัดไทย เราดูต้นฉบับลายมือแปลคัมภีร์ศาสนาหลักของจีนหน่อยดีกว่า น่าชมมาก
.
วันนี้ดิฉันเลยนำต้นฉบับลายมือแปลของพี่พจนาในวัยต้นของชีวิต มาให้ได้ชมกัน และยังมีลายมือของพี่พจน์ ที่เขียนในไดอารี่ เล่มที่มามอบให้ดิฉันเมื่อปีพ.ศ.๒๕๓๐ ตอนนั้นพี่พจน์คงมีอายุราว ๓๐ กว่าปี ลายมือเขียนด้วยปากกาหมึกซึมเส้นใหญ่ เปลี่ยนไปมากแล้ว
.
อ่านงานเขียน งานแปลของนักเขียนนักแปลมามาก ลองดูลายมือจริงของพวกเขากันบ้างนะ
ลายมือแปลบทที่ ๑ เต๋า เตอ จิง ที่พี่พจนาแปลไว้
ข้อความบทที่ ๑ ในหนังสือ วิถีแห่งเต๋า
ลายมือแปลบทที่ ๒ เต๋า เตอ จิง ที่พี่พจนาแปลไว้
ข้อความบทที่ ๒ ในหนังสือ วิถีแห่งเต๋า
ลายมือแปลบทที่ ๓ เต๋า เตอ จิง ที่พี่พจนาแปลไว้
ข้อความบทที่ ๓ ในหนังสือ วิถีแห่งเต๋า
ลายมือแปลบทสุดท้ายในต้นฉบับ เต๋า เตอ จิง ที่พี่พจนาแปลไว้
หน้าแรกของไดอารี่ที่พี่พจนามอบให้ดิฉัน
บันทึกหน้าแรกที่พี่พจนาเขียนไว้ให้
เราเขียนเพื่อที่จะได้พบหนทางและพบตนเอง...เจตนารมย์ของนักเขียน ผู้มีความมุ่งมั่นทางจิตวิญญาณ
1 บันทึก
3
1
3
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย