11 เม.ย. 2022 เวลา 10:36 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี

ตัวอย่างโครงสร้างเรือแบบบ้านๆ ที่ควรหลีกเลี่ยง : ตะแกรงหมากรุก

นาวาสถาปนิกที่มีประสบการณ์อย่างผู้เขียน มองปราดเดียวก็รู้แล้วว่าโครงสร้างเรือลำไหน ออกแบบมาดีถูกต้องตามหลักปฏิบัติสากล หรือออกแบบไม่ดีสะท้อนถึงความไม่รู้วิชางานเรือสักนิด แต่ด้วยจรรยาบรรณของคนที่ทำงานในอุตสาหกรรมร่วมกัน เราก็ไม่ควรวิจารณ์งานของคนอื่นอย่างชี้เฉพาะเกินไปนักในที่สาธารณะ ต่อให้งานมันจะดูห่วยแตกจริงๆ เว้นแต่มันจะผิดพลาด ส่งผลกระทบใหญ่หลวงต่อสังคม
ตัวอย่างงานออกแบบโครงสร้างเรือที่ไม่ค่อยได้เรื่อง มีอยู่มากมายหลายแบบ บางอย่างก็พิลึกเกินจินตนาการของผู้เขียน เนื่องจากคนที่ทำอาชีพออกแบบสร้างเรือในวงการ มันก็มีพื้นเพมาจากหลายสำนัก บ้างโตมาจากช่างในโรงงานอู่เรือ บ้างเป็นวิศวกรโยธา วิศวกรเครื่องกล ไม่เคยได้ร่ำเรียนนาวาสถาปัตยกรรมมาโดยตรง หรือไม่ก็เรียนมาแบบหลับๆ ตื่นๆ ก็มี แต่ตอนนี้ผู้เขียนอยากจะขอยกตัวอย่างไม่ค่อยดีอย่างแรก ที่พบเห็นได้โดยทั่วไปก่อน นั่นคือ โครงสร้างตะแกรงที่ดูเหมือนตารางหมากรุก ที่ใช้ทำเป็นผนัง พื้น (ดาดฟ้า) หรือ หลังคาในเรือโลหะ
ตัวอย่างโครงสร้างฝากั้นในเรือที่ต่อโดยอู่เรือขนาดเล็ก พบเห็นทั่วไปในไทย
ภาพแสดงโครงสร้างฝากั้นของเรือในทางปฏิบัติแบบสากล
หากเปรียบเทียบระหว่าง 2 ภาพข้างบน คนทั่วไปก็น่าจะมองออกว่าแบบล่างที่ใช้ชิ้นส่วนน้อยกว่า น่าจะประหยัดน้ำหนักวัสดุ และต้นทุนในการประกอบชิ้นส่วนได้ดีกว่า ทั้งนี้ ผู้เขียนเคยลองศึกษาเปรียบเทียบเล่นๆ ด้วยการคำนวณวิเคราะห์โครงสร้างตัวอย่างทั้ง 2 แบบ พบว่าแบบบ้านๆ มีน้ำหนักโครงสร้างมากกว่าราว 15% ที่ความแข็งแรงโดยรวมพอๆ กัน
Finite Element Analysis สำหรับ Stiffened Panel จำนวน 2 ตัวอย่าง
น้ำหนักที่ลดลงไปได้นี้ ส่งผลต่อการประหยัดพลังงานของเรือโดยตรง โดยเฉพาะกับเรือขนาดเล็กประเภทเรือโดยสาร เรือเพื่อการสันทนาการ เรือตรวจการณ์ เรือกู้ภัย เป็นต้น โดยสัดส่วนน้ำหนักที่ลดลงไปได้ แทบจะให้สัดส่วนเดียวกันในการประหยัดพลังงานเลยทีเดียว

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา