11 เม.ย. 2022 เวลา 12:33 • ประวัติศาสตร์
Druidess นักบวชสตรีแห่งวัฒนธรรมเคลติก บทบาทที่ถูกลืมหลายศตวรรษ
ดรูอิด (Druid) คือผู้นำทางศาสนาของชาวอินโด-ยูโรเปี้ยนในวัฒนธรรมยุคโลหะที่กระจายตัวในยุโรปตะวันตก คำว่า Druid มีรากมาจากคำภาษาเคลติกที่ใช้เรียกต้นโอ๊คอย่าง “derw” ซึ่งถือกันว่าเป็นต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ของชาวเคลท์ วัฒนธรรมของเคลท์จัดอยู่ในช่วงยุคกึ่งก่อนประวัติศาสตร์ (Protohistory) มีรูปแบบชุมชนในลักษณะชนเผ่า (Tribes) ที่มีรูปแบบทางวัฒนธรรมและเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกัน โครงสร้างทางด้านสังคมไม่ซับซ้อน แบ่งเป็น 3 กลุ่มหลักๆ คือนักรบ ดรูอิด และประชาชนทั่วไป
ในฐานะที่มีบทบาทสำคัญด้านศาสนา ดรูอิดยังได้รับการนับถือในฐานะผู้ประสาทวิทยาการแก่คนในชุมชน โดยมีฐานะเป็น “คุรุ” ผู้รอบรู้ทั้งประวัติศาสตร์ ปรัชญา โหราศาสตร์ ดาราศาสตร์ การเล่นแร่แปรธาตุและการรักษา สถานะทางสังคมของนักบวชเหล่านี้จึงมีอำนาจมากด้านตุลาการตามไปด้วย ทั้งยังเป็นกลุ่มที่คานอำนาจของชนชั้นนักรบของชนเผ่า
ในเกาะบริเตนดรูอิดยังมีอำนาจมากถึงขนาดสามารถปลดประมุขของเผ่าหรือกษัตริย์ลงจากบัลลังก์ได้อีกด้วย ร่องรอยของดรูอิดที่หลงเหลือให้นักโบราณคดีและนักประวัติศาสตร์ได้ทำการศึกษากันนั้นมาจากเอกสารของชาวต่างชาติที่บันทึกถึงวัฒนธรรมของชาวกอล (Gauls) หรือชื่อของชาวเคลท์ในภาษาของโรมัน ร่วมกับการศึกษาแหล่งโบราณคดีประเภทหลุมฝังศพที่พบว่ามีการก่อสร้างเนินสุสานยุคเหล็กในสหราชอาณาจักรและในกอลตะวันตกบนแผ่นดินของประเทศฝรั่งเศสปัจจุบัน โดยสุสานบางแห่งมีการฝังเครื่องอุทิศที่ไม่เหมือนอาวุธหรือข้าวของเครื่องใช้ประจำวัน โบราณวัตถุชิ้นดังกล่าวคือช้อนไม้ซึ่งมีความตื้นไม่เหมาะกับการใส่เครื่องดื่มสำหรับบริโภค มีลวดลายที่สอดคล้องกับความเชื่อทำให้นักโบราณคดีสันนิษฐานว่าโบราณวัตถุชิ้นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับงานด้านพิธีกรรมความเชื่อมากกว่า
อย่างไรก็ตามจากการศึกษาสุสานเหล่านี้ก็ยังมีข้อถกเถียงค่อนข้างเยอะ เพราะนอกเหนือไปจากโบราณวัตถุชิ้นดังกล่าวแล้ว เครื่องอุทิศอื่นๆ ก็ยังเป็นแบบแผนคล้ายคลึงกับสุสานชนชั้นสูงทั่วไป การตีความว่าช้อนดังกล่าวเกี่ยวข้องกับพิธีกรรมที่อาจเปรียบเทียบกับพิธีกรรมในการเจิมด้วยของเหลวยังเป็นเรื่องน่ากังขา และประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับเพศสภาพที่ตามมาก็ทำเอาชวนขมวดคิ้วคิดตามกันอย่างลำบาก เพราะจากโครงกระดูกที่พบในสุสานรูปแบบนี้มักเป็นเพศชาย มีเพียงในฝรั่งเศสเพียงแห่งเดียวเท่านั้นที่พบว่าเป็น “เพศหญิง”
แต่ความเป็นไปได้เกี่ยวกับความเสมอภาคกันในบทบาทความเชื่อของชาวเคลท์สามารถวัดได้จากสุสานเพียงแห่งเดียวหรือ? คำตอบคือยังน้อยเกินไปที่จะพูดสรุปกันได้อย่างไร้ข้อกังขา เราอาจต้องลองพิจารณาจากโครงสร้างทางสังคมอื่นๆ ร่วมด้วย จำเป็นที่สุดคือการต้องลบเจตคติของชาวโรมันหรือนักประวัติศาสตร์บางยุคสมัยที่เขียนและสร้างภาพอดีตด้วยมุมมองที่อยู่ในสังคมชายเป็นใหญ่ลงไปเสียก่อน จึงจะพบว่าในลักษณะชุมชนของชาวยุคเหล็กกลุ่มดังกล่าวไม่ได้กีดกันเพศสภาพของสตรีออกไปจากบทบาททางการเมืองและการศาสนา เราจึงพบสุสานชนชั้นสูงในกอลที่มีเครื่องอุทิศอย่างนักรบแต่เป็นสุสานของสตรี
เช่นกรณีของสุสานโบราณที่เมือง Vix ประเทศฝรั่งเศสซึ่งมีการฝังรถม้าสี่ล้อ อาวุธ และภาชนะโลหะขนาดสูงถึง 1.63 ม. จากหลักฐานที่พบจำให้เราพออนุมานถึงสถานะทางสังคมที่เป็นการเทิดทูนของชนเผ่านั้นๆ ที่มีต่อเจ้าของสุสานได้อย่างชัดเจน และหากผู้นำชุมชนซึ่งมักอยู่ในกลุ่มนักรบยังเป็นสตรีได้...เหตุใดดรูอิดจึงจะไม่มีเพศหญิงเข้ามาเกี่ยวข้องได้เล่า?
จากภาพแสดงที่สะท้อนผ่านประติมากรรม งานศิลปะ และงานวรรณกรรมส่วนมากทำให้เกิดภาพจำถึงเพศสภาพของดรูอิดว่ามีเพียงผู้ชายเท่านั้นที่เป็นดรูอิดได้ แต่ในเอกสารของชาวโรมันบางฉบับที่บันทึกถึงโกลก็ยังมีการกล่าวถึง ดรูอิดสตรี (Druidesses) อยู่บ้าง เอกสารทางประวัติศาสตร์ชิ้นแรกที่บันทึกถึงดรูอิดสตรีคือบันทึกของ Alexander Severus จักรพรรดิโรมันที่ครองราชย์ช่วงคริสต์ศักราช 222 – 235 ในส่วนที่เล่าถึงการรบกับชนเผ่าเยอรมานิกที่รุกรานเข้ามาในพื้นที่โกลปีค.ศ. 235 ระบุว่า “เมื่อเขาไปทำสงคราม นักพยากรณ์ดรูอิดสตรีครวญเป็นภาษาแกลิค (Latin : mulier Druias eunti exclamavit Gallico sermone) ว่า "จงไปเถิด แต่อย่าคาดหวังชัยชนะและจงอย่าเชื่อใจทหารกล้าของตน”
ความคล้ายคลึงกันด้านบริบทที่ผู้นำโรมันรับคำทำนายหรือหารือกับดรูอิดหญิงนี้ยังปรากฏในงานสมัยต่อมาที่เขียนโดยนักประวัติศาสตร์ชื่อว่า Flavius Vopiscus ผู้มีชีวิตราวคริสต์ศตวรรษที่ 4 บรรยายถึงช่วงเวลาเยาว์วัยของจักรพรรดิ Diocletian (ครองราชย์ค.ศ. 284 – 305) ไว้ว่าเมื่อตอน Diocletian ยังเด็กและพำนักอยู่ในดินแดนของเผ่า Tungri ในโกล ได้มีการพบปะกับสตรีผู้เคยเป็นดรูอิด (Druiade) และนางได้ทำนายว่าเขาจะได้เป็นจักรพรรดิ”
เนื่องจากงานของ Flavius Vopiscus เขียนขึ้นในช่วงที่ความเชื่อกับบทบาทของพวกดรูอิดถูกลดทอนความนิยมและเริ่มถูกครอบงำด้วยศาสนาของโรมัน การดำรงอยู่ของนักพยากรณ์เหล่านี้จึงอาจเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่สืบทอดกันทางสายเลือดจึงยังพอหลงเหลืออยู่บ้าง
ปัญหาเรื่องการแต่งกายและภาพสะท้อนของดรูอิดซึ่งแทบไม่ปรากฏว่ามีผู้หญิง นำเสนอเพียงภาพของนักบวชเครายาวในชุดคลุมเกิดขึ้นมาจากภาพวาดในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 17 โดยปรากฏบนหน้าหนังสือ Britania Antiqua Illustrata ของ Aylett Sames เขียนขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1676 ด้วยการอาศัยคำบอกเล่าของนักประวัติศาสตร์หรือนักปรัชญาโรมันยุคคริสต์ศตวรรษแรก อันเป็นระยะที่ศาสนาคริสต์กำลังเข้ามามีอิทธิพลในวัฒนธรรมโรมัน ทำให้เกิดการนำภาพของนักบวชหรือนักพรตผู้แสวงบุญมาซ้อนทับกับภาพของดรูอิด ก่อนที่ภาพดรูอิดใน Britania Antiqua Illustrata จะถูกนำไปอ้างอิงสร้างเป็นภาพวาดของดรูอิดในงานร่วมสมัยและมีการสืบทอดต่อกันมาถึงภายหลัง
กว่าที่จะมีภาพวาดแรกของดรูอิดสตรีเกิดขึ้นก็ต้องรอจนถึงช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 – 20 ซึ่งการศึกษาด้านโบราณคดีและประวัติศาสตร์ค่อนข้างเป็นที่เฟื่องฟูจนมีองค์ความรู้เกี่ยวกับอดีตในหลายมิติมากขึ้น อย่างไรก็ตามสถานะการมีอยู่ของดรูอิดสตรีก็ยังเป็นที่ถกเถียงและยังไม่ปรากฏหลักฐานที่ชัดแจ้งมากเพียงพอจะระบุถึงที่มาและบทบาทในสังคมได้เท่าที่ควร ต่อไปอนาคตเราอาจจะพบหลักฐานอื่นๆ ที่จะมาช่วยฉายภาพจุดนี้ให้เด่นชัดขึ้นก็ได้ ใครหนอจะรู้
References :
-Anczyk, Adam. (2015). Druids and Druidesses: Gender Issues in Druidry. Pantheon : religionistický časopis. 10. 21-33.
- Cunliffe, B. (1999). The ancient Celts. London: Penguin.
- Fitzpatrick, A. (2007-11-08). Druids: Towards an Archaeolog. In Communities and Connections: Essays in Honour of Barry Cunliffe. : Oxford University Press. Retrieved 4 Mar. 2022, from https://oxford.universitypressscholarship.com/.../isbn....
- Macculloch, J. (2020). The Religion of the Ancient Celts. Global Grey.
- Reade, W. (2018). The veil of Isis ; or, Mysteries of the druids. GlobalGrey.
โฆษณา