12 เม.ย. 2022 เวลา 03:16 • หุ้น & เศรษฐกิจ
📉 ภาวะเงินเฟ้อที่เราได้ยินกันบ่อยในช่วงนี้ มันคืออะไร?
ถ้าใครยังไม่รู้จักเงินเฟ้อ บอกเลยครับว่าตอนนี้ “ไม่รู้จักไม่ได้แล้ว”
เพราะเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวมากและปัจจุบันอัตราเงินเฟ้อของประเทศไทยอยู่ที่ 5.73% เรียกได้ว่าเป็นอัตราเงินเฟ้อสูงสุดในรอบ 13 ปีทีเดียว
การเงินแบบชาวบ้าน จะพาทุกคนมารู้จักกับเงินเฟ้อ ในฉบับเข้าใจง่ายตอบตรง 3 คำถามแบบเคลียร์ๆ
🍝 ลองย้อนไปเมื่อ 20 ปีที่แล้วอาหารตามสั่งตกจานละแค่ 20 บาทใช่มั้ยครับ แต่ทุกวันนี้ทำไมต้องซื้อในราคา 70 บาท นั่นเพราะมูลค่าของเงินบาทที่กำลังลดลง สวนทางกับราคาสินค้าและบริการนั่นเองครับ
แต่การเพิ่มของราคาสินค้าเหล่านี้มันจะไม่น่ากลัวเลยถ้าอัตราเงินเฟ้อเติบโตไปพร้อมๆ กับรายได้ของเราที่มากขึ้นทุกปี แต่ในความเป็นจริงแล้ว ราคาสินค้าเพิ่มขึ้น ในขณะที่รายได้ หรือเงินเดือนขั้นต่ำของพวกเราไม่ได้มากเพิ่มขึ้นตาม นี่คือความน่ากลัวของเงินเฟ้อครับ
📉 อัตราเงินเฟ้อปีปัจจุบันอยู่ที่ 5.73% แปลว่าถ้าเงินเดือนเราขึ้นไม่ถึง 5.73% หรือทำธุรกิจแล้วเติบโตไม่ถึง 5.73% เท่ากับว่าเงินของเราที่มีอยู่จะมีมูลค่าน้อยลง และต้องซื้อสินค้าและบริการในราคาที่แพงกว่าเดิมนั่นเอง
💸 ผลกระทบจากเงินเฟ้อหากรัฐบาลไม่สามารถควบคุมเงินเฟ้อได้ ปัญหาที่จะตามมาสำหรับประชาชน นั่นคือการซื้อสินค้าและบริการเดิมๆ ในราคาที่แพงมากขึ้น
😰 แต่หากจะยกตัวอย่างประเทศที่เงินเฟ้อเข้าขั้นวิกฤติก็ต้องเป็นประเทศเวเนซุเอลาเลยครับ ที่มีปัญหาเงินเฟ้อสูงขึ้นต่อปี 50 - 100% มายาวนานร่วม 20 - 30 ปี แต่ธนาคารกลางของประเทศกลับแก้ไขด้วยการผลิตเงินเพิ่ม จึงทำให้ค่าเงินอ่อนลงเรื่อยๆ ซ้ำเติมปัญหาเข้าไปอีก
จนตัวเลขล่าสุดเวเนซุเอลาเงินเฟ้อขึ้นมาถึง 2,355% ผู้คนต้องหอบธนบัตรเป็นตะกร้าๆ เพื่อไปจ่ายตลาด เพราะมูลค่าเงินที่ลดลงมาก และสุดท้ายก็ต้องยกเลิกการใช้ค่าเงินของตัวเอง และไปใช้เงินตราต่างประเทศในการซื้อขายแทน
แม้จะเปลี่ยนเงินตราแล้ว แต่ปัญหาความอดอยากจากสภาพเศรฐกิจที่ถูกทำลายไปแล้วก็ไม่สามารถแก้ไขได้ง่ายๆ ผู้คนในประเทศต้องเผชิญกับความอดอยาก แร้งแค้น ขาดแคลนอาหาร ยารักษาโรค และปัญหาอื่นๆ ตามมาอีกมากมายเลยครับ
เงินเฟ้อเกิดขึ้นจาก 3 สาเหตุหลักๆ ครับ นั่นคือ
📈 ความต้องการบริโภคที่สูงขึ้นกว่ากำลังการผลิต
เมื่อมีความต้องการบริโภคสูงขึ้น ในขณะที่การผลิตยังมีจำนวนเท่าเดิม ทำให้ผู้ผลิตหรือผู้จำหน่าย ต้องขายสินค้าในมูลค่าที่สูงขึ้นตามกฎ demand - supply
เช่น มีช่วงหนึ่งที่ราคาเนื้อหมูแพงขึ้น เพราะโรคระบาดในหมู ทำให้ในตลาดมีปริมาณเนื้อหมูน้อยลง ในขณะที่ความต้องการบริโภคยังเท่าเดิม ราคาเนื้อหมูที่สูงขึ้นจึงเกิดจากผู้จำหน่ายจำเป็นจะต้องแข่งขันกันมากขึ้นเพื่อหาทรัพยากรมาขาย ส่งผลเป็นห่วงโซ่ต่อๆ กันมาจนถึงผู้บริโภคนั่นเอง
📈 ค่าใช้จ่ายในการผลิตที่มากขึ้น
ทุกๆ การผลิตมีต้นทุน ซึ่งต้นทุนเหล่านี้อาจไม่คงที่ กรณีที่เห็นได้ชัดคือ เมื่อกำลังการผลิตน้ำมันลดลง จนทำให้ราคาน้ำมันสูงขึ้น จะส่งผลกระทบให้กระบวกการผลิตสินค้าและบริการต่างๆ มีค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย เห็นได้จากเวลาราคาน้ำมันขึ้นเมื่อไหร่ สินค้าอุปโภค บริโภคจะขึ้นตามทันที เพราะน้ำมันเป็นพลังงานเชื้อเพลิงหลักในทุกขั้นตอนการผลิต
📈การปรับตัวจากการคาดการณ์/คาดหวัง
ความคาดหวัง คาดการณ์ จากสถานการณ์ภายในประเทศ เช่น มีการออกนโยบายทำให้อัตราเงินเฟ้อขึ้น เพื่อแก้ปัญหาเงินฝืดเคือง เงินเฟ้อจึงไม่ได้มีแค่มุมที่แย่ครับ มุมดีๆ ก็มีเพราะสามารถนำไปช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ แต่รัฐบาลก็ต้องมีการควบคุมเงินเฟ้อที่ดีด้วยเช่นกัน
ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับภาวะเงินเฟ้อ คลิกเลย
โฆษณา