Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Lawyer Guy
•
ติดตาม
13 เม.ย. 2022 เวลา 21:56 • การศึกษา
การเรียนนิติศาสตร์ กับสิ่งที่นักเรียน/นักศึกษาต้องเจอ
.
มีหลายเหตุผลที่คนตัดสินใจเลือกเรียนนิติศาสตร์ ตั้งแต่อยากมาทำอาชีพในฝัน อยากหาเงินได้เยอะ อยากได้ความรู้ หรือไปจนถึงไม่รู้จะเรียนอะไรเพราะคณิตศาสตร์ก็ไม่ชอบ ภาษาก็ไม่ใช่ทาง งั้นลองนิติก็ได้
.
จึงไม่แปลกที่คณะนิติศาสตร์จะเป็นทางเลือกของเด็กสายศิลป์ เพราะวิชาที่ใช้เรียนมักจะเกี่ยวข้องกับสายสังคมและภาษาไทย แต่เชื่อหรือไม่ครับว่าเกือบครึ่งนึงของเด็กนิติศาสตร์เท่าที่ผมสำรวจมาจากสายวิทย์-คณิต! ฉะนั้น ในปัจจุบัน คณะนิติศาสตร์จึงเป็นตัวเลือกสำหรับนักเรียนทุกแผนการเรียน
สิ่งต่อมาที่คนที่อยากมาเรียนจะมีคำถามคือ
-เรียนอะไรบ้าง
-ต้องสอบอะไรบ้าง
-อ่านเยอะจริงไหม
-ต้องท่องจำประมวลกฎหมายทั้งเล่มเลยใช่ไหม
-อาชีพที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายมีแค่ผู้พิพากษา อัยการ หรือทนายความจริงหรอ
- สอบตั๋วทนาย สอบเนติบัณฑิตคืออะไร
- จบปริญญาตรีแล้วต้องทำอะไรต่อ
วันนี้ผมจะมาเล่าให้ฟังจากมุมมองของนักกฎหมายคนนึงครับ :)
สิ่งที่นักเรียนจะต้องเข้ามาเรียนในวิชากฎหมาย พูดถึงแค่วิชาหลัก ๆ ในภาพรวม 4 ปีของปริญญาตรี ผมคงแบ่งออกได้เป็น 4 กลุ่มวิชาใหญ่ ๆ ซึ่งเมื่อแตกสี่กลุ่มนี้ออกมาได้อีกนับไม่ถ้วน เลยขอสโคปให้เห็นภาพนะครับ ได้แก่
1. กลุ่มกฎหมายมหาชน
2. กลุ่มกฎหมายอาญา - แพ่งและพาณิชย์ (เรียกว่ากฎหมายสารบัญญัติ)
3. กลุ่มกฎหมายวิธีพิจารณาความ (กฎหมายวิธีสบัญญัติ)
4. กลุ่มกฎหมายเฉพาะด้าน - เฉพาะสาขา
.
ขอแตกประเด็นออกมาทีละกลุ่มดังนี้
1. กลุ่มกฎหมายมหาชน
ศาสตราจารย์ ดร.หยุด แสงอุทัย ได้อธิบายไว้ว่า กฎหมายมหาชน ได้แก่ กฎหมายที่กำหนดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐหรือหน่วยงานของรัฐกับราษฎร ในฐานะที่เป็นฝ่ายปกครองราษฎร กล่าวคือ ในฐานะที่รัฐมีฐานะเหนือราษฎร
.
วิชาที่เกี่ยวข้องก็อย่างเช่น กฎหมายมหาชนเบื้องต้น กฎหมายปกครอง รัฐธรรมนูญ
.
ตามหลักแล้ว กฎหมายอาญา/แพ่ง กฎหมายวิธีพิจารณาความ ก็จัดว่าอยู่ในหมวดนี้นะครับ เพราะเป็นลักษณะที่รัฐอยู่เหนือกว่าและใช้กำกับดูแลเอกชน แต่ผมจำแนกแยกประเภทออกมาเพื่อให้ง่ายต่อการอธิบายได้มากขึ้น
2. กลุ่มกฎหมายอาญา
กลุ่มนี้จะเริ่มเรียนตั้งแต่หลักกฎหมายอาญาขั้นพื้นฐาน ตั้งแต่แนวคิดทฤษฎีของกฎหมายอาญา ไปจนถึงการอธิบายโครงสร้างความรับผิดทางอาญา เช่น การกระทำของบุคคลหนึ่งจะต้องรับผิดทางกฎหมายหรือไม่ มีเหตุลดโทษ หรือเหตุที่ไม่ต้องรับโทษหรือไม่ ไปจนถึงการเจาะลึกฐานความผิดต่าง ๆ ที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา เช่น ความผิดต่อชีวิตร่างกาย ความผิดต่อทรัพย์สิน ความผิดต่อเจ้าพนักงาน โดยแต่ละมหาลัยอาจจะเรียนกฎหมายอาญามากน้อยต่างกันบ้าง บางมหาลัยเรียนแค่ 3 วิชา บางมหาลัยก็เรียน 4 วิชา
3. กลุ่มกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
กลุ่มนี้มีวิชาที่แตกย่อยออกมาอีกเยอะมาก เพราะประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ย่อว่า ป.พ.พ.) มีถึง 1,755 มาตรา
เริ่มเรียนตั้งแต่สิทธิและหน้าที่ของบุคคลจะเกิดมีขึ้นเมื่อใด ไปจนถึงความตายของบุคคลจะมีผลอย่างไรบ้าง ยกตัวอย่างวิชาสายแพ่งที่น่าสนใจ ได้แก่ กฎหมายทรัพย์และที่ดิน กฎหมายองค์กรธุรกิจ กฎหมายเอกเทศสัญญา (สัญญาต่าง ๆ ที่มีอยู่รอบตัวเรา) กฎหมายครอบครัวและมรดก กฎหมายว่าด้วยหนี้ กฎหมายว่าด้วยละเมิด ฯลฯ
4. กลุ่มกฎหมายวิธีพิจารณาความ
เป็นกฎหมายที่บัญญัติไว้สำหรับการเอากลุ่มกฎหมายอาญาและแพ่ง (จริง ๆ มีกฎหมายอื่นอีกเยอะมาก) มาใช้ในการฟ้องร้อง ยื่นคำร้องต่อศาล ซึ่งกฎหมายกลุ่มนี้จะบัญญัติตั้งแต่การฟ้องคดีต่อศาลว่ามีขั้นตอนและวิธีการอย่างไรบ้าง ไปจนถึงการอุทธรณ์และฎีกาคำพิพากษา และการบังคับคดีตามผลของคำพิพากษา ซึ่งพูดง่าย ๆ ก็คือการควบคุมกระบวนการในศาลตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำนั่นเอง เพื่อให้ศาลและคู่ความใช้ในการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีไปในรูปแบบที่เป็นธรรมต่อตัวคู่ความ และยังรวมถึงบุคคลภายนอกคดีให้ได้รับความยุติธรรม
4. กลุ่มกฎหมายเฉพาะด้าน
กลุ่มนี้มักจะเริ่มเรียนในชั้นปีสูง (ปี 3 เป็นต้นไป) บางมหาลัยก็มีให้เลือกได้ว่านิสิตนักศึกษาอยากลงตัวไหนก็ได้ บางมหาละยก็จะกำหนดให้เลยว่าวิชาไหนต้องเรียนทุกคน และส่วนมากมหาลัยมักจะมีแผนการเลือกกลุ่มวิชาให้ด้วย เช่น
- แผน A กฎหมายสำหรับวิชาชีพนักกฎหมาย จะสอนวิชาขั้นสูงขึ้น เฉพาะทางขึ้น เช่น กฎหมายเด็กและเยาวชน กฎหมายภาษีอากร กฎหมายอาญาขั้นสูง กฎหมายวิ.อาญา/วิ.แพ่ง ขั้นสูง กฎหมายทนายความ เป็นต้น
- แผน B กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา เจาะกลุ่มนักศึกษาที่สนใจกฎหมายสำหรับเอกชน เช่น วิชาทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ กฎหมายธุรกิจ
- แผน C กฎหมายเฉพาะด้านอื่น ๆ เช่น กฎหมายการเกษตร (ป่าไม้, ประมง) กฎหมายสิ่งแวดล้อม กฎหมายคดีผู้บริโภค เป็นต้น
บันทึก
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย