14 เม.ย. 2022 เวลา 08:58 • ศิลปะ & ออกแบบ
Title : #ไกรสรราชสีห์ | Krisorn Raja Singha
Size : 32 x 24 cm.
Technique : Water colour & Acrylic on paper
Created : 1 October 2006 [2549]
คำอธิบายภาพ :
ในบรรดาสัตว์หิมพานต์หลากหลายชนิด จะมีอยู่เพียง 2 ชนิดที่ผมชอบวาดมากเป็นพิเศษ คือ หงส์ กับสิงห์ ภาพนี้เป็นสิงห์กายสีขาว มีขื่อว่า “ไกรสรราชสีห์” ผมวาดรัศมีสีแดงวงใหญ่รูปใบโพธิ์ ล้อมรอบส่วนศีรษะอยู่ โดยสีแดงสดจะช่วยขับเน้นส่วนศีรษะและลำตัวท่อนบน ให้มีความสวยงามเด่นชัดยิ่งขึ้น พญาราชสีห์กำลังอยู่ในท่านั่ง โดย 2 ขาหลังแนบไปกับพื้น 2 ขาหน้ายกขึ้นสลับกันเสมออก เป็นท่าที่ไม่ค่อยเจอในจิตรกรรมไทยแบบประเพณีสักเท่าไหร่ เพราะผมประยุกต์เอง
ก่อนวาดรูปนี้ ในหัวผมนึงถึงท่านั่งของสุนัขชนิดหนึ่ง ถ้าจำไม่ผิดน่าจะเป็นพันธุ์ Doberman ที่มีขนสั้นสีดำเรียบมันวาว หูตั้งชูขึ้นเป็นรูปสามเหลี่ยม ลำตัวผอมเพรียวในท่านั่ง ผมเคยเห็นทำเป็นตุ๊กตาประดับ อยู่ในหนังสือตกแต่งบ้าน ... แหมะ! ไกรสรราชสีห์ ซึ่งเป็นเจ้าแห่งสัตว์ป่าทั้งปวง แต่..มีแรงบันดาลใจมาจากท่านั่งของสุนัข (ฮา) จะว่าไปสัตว์เหล่านี้ฝรั่งเรียกว่า Mythical animal หมายถึง สัตว์ในตำนาน ในนิยายปรัมปราโบราณ หรืออยู่ในจินตนการ ไม่ได้มีตัวตนอยู่จริงในโลก physical ทำให้ช่างเขียนสามารถจินตนาการออกมาได้หลากหลายรูปแบบอย่างอิสระ
#เกร็ดน่ารู้ :
ในพระเวสสันดรชาดก กล่าวถึงราชสีห์ว่ามีทั้งหมด 4 ตระกูลคือ
1. ไกรสรราชสีห์ (หรือ ไกรสรสีหะ) ผิวกายสีขาวเหมือนหอยสังข์ ปากและเท้าเป็นสีแดงดั่งน้ำครั่ง* ไกรสรราชสีห์ เป็นเจ้าแห่งสัตว์ทั้งปวง มีพละกำลังแรงกล้า คำรามดังไปไกลถึง 3 โยชน์* เป็นสัตว์นักล่า กินเนื้อสัตว์เป็นอาหาร
2. #กาฬสีหะ ผิวกายสีดำสนิท กินพืชเป็นอาหาร (กาฬ อ่านว่า กา-ละ แปลว่า ดำ) กายมีขนาดใหญ่เท่าโคหนุ่ม
3. #บัณฑุราชสีห์ ผิวกายสีเหมือนใบไม้เหลือง (บางตำราว่ามีลายพาดกลอนแบบเสือโคร่ง) เป็นสัตว์นักล่าขนาดใหญ่ราวโคหนุ่ม กินเนื้อเป็นอาหาร
4. #ติณสีหะ มีผิวกายสีแดง (บางตำราว่าสีเขียว) กินพืชเป็นอาหาร ลักษณะเด่นของติณสีหะ (ติณ อ่านว่า ติน-นะ แปลว่า หญ้า) คือมีเท้าเป็นกีบคล้ายควายหรือม้า
Photo credit: https://thematter.co/social/himmapan-beast-and-where-to-find-them/12444
เชิงอรรถ :
#ครั่ง หรือ Lac คือแมลงจำพวกเพลี้ยชนิดหนึ่ง ชอบเกาะอาศัยตามกิ่งไม้บางชนิด เช่น ต้นก้ามปู ต้นสะแกนา ครั่งจะดูดกินน้ำเลี้ยงบริเวณเยื่อเปลือกไม้เป็นอาหาร และจะขับยางเหนียวออกมาห่อหุ้มตัวเอง ทำเป็นรังเคลือบตามกิ่งไม้ สำหรับป้องกันภัยจากศัตรู ยางเหนียวที่ครั่งขับออกมานี้ เมื่อสัมผัสกับอากาศจะจับตัวเป็นก้อนแข็งเรียกว่า #ครั่งดิบ (sticklac) มีสีแดงอมม่วง ซึ่งมนุษย์ได้นำมาใช้ประโยชน์มานานกว่า 4,000 ปี ทั้งเป็นยาสมุนไพรรักษาโรค แปรรูปเป็นน้ำยาเคลือบผิวย้อมไม้หรือ เชลแล็ก (shellac) ใช้ทำสีย้อมผ้า ทำหมึกสำหรับพิมพ์ตราประทับ เคลือบผิวอาหารและผลไม้ ทำเครื่องสำอาง แผ่นเสียงสมัยโบราณ และผลิตภัณฑ์ต่างๆ อีกมากมาย
#โยชน์ ชื่อหน่วยวัดความยาวของไทยสมัยโบราณ มีระยะเท่ากับ 400 เส้น (พระราชบัญญัติมาตราชั่ง ตวง วัด พ.ศ. 2466 กำหนดให้ 1 เส้นเท่ากับ 40 เมตร) ระยะทาง 1 โยชน์จึงเท่ากับ 16,000 เมตร หรือ 16 กิโลเมตร
จิด.ตระ.ธานี
#Jitdrathanee

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา