14 เม.ย. 2022 เวลา 20:59 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
บุคคลเบื้องหลังการสำรวจอวกาศ The Hidden Figures ของ NASA
ภาพบุคคลจริงและนักแสดงในเรื่อง
จินตนาการและความกระหายใคร่รู้ เป็นคุณสมบัติสำคัญที่ทำให้มนุษย์พัฒนาก้าวไกลไปกว่าสิ่งมีชีวิตทุกชนิดบนโลกนี้ ในยุคที่ยังไม่มีใครเคยเดินทางไปนอกโลก มนุษย์เฝ้ามองการเปลี่ยนแปลงบนท้องฟ้าและจินตนาการไปต่าง ๆ นา ๆ ถึงดวงดาวอันไกลโพ้น
แต่เชื่อหรือไม่ว่า จุดเริ่มต้นในการสำรวจอวกาศไม่ได้มาจากเรื่องราวโรแมนติกใด ๆ ทั้งสิ้น ตรงกันข้าม จุดเริ่มต้นของการสำรวจอวกาศกลับเริ่มมาจากสงคราม
หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 โลกก็เข้าสู่ยุคของสงครามเย็น หรือ Cold War ระหว่าง 2 ขั้วมหาอำนาจคือสหรัฐอเมริกาและโซเวียต ความพยายามในการเสาะหาข้อมูลเพื่อล้วงความลับของแต่ละฝ่ายและพัฒนาอาวุธพิสัยไกลแบบจรวดมิสไซล์ (ballistic missiles) แบบที่จะยิงข้ามทวีปได้ นำมาสู่การพัฒนาการส่งดาวเทียมออกไปโคจรรอบโลก (อันนี้เอาไว้หาข้อมูล) จนกระทั่งในปีค.ศ.1957 โซเวียตสามารถส่งยาน Sputnik ขึ้นไปโคจรรอบโลกได้สำเร็จเป็นครั้งแรก แถมในเวลาไม่นานในปีเดียวกันยังส่งยาน Sputnik2 พาเจ้าสุนัข (ผู้โชคร้าย) ชื่อเจ้าไลก้า (Laika) ขึ้นไปกับยานแบบ one-way trip โคจรรอบโลกเพื่อพิสูจน์ว่าสิ่งมีชีวิตสามารถอยู่รอดในอวกาศได้ (แต่เจ้าไลก้าก็ต้องอุทิศชีวิตของมันให้กับความก้าวหน้าของมนุษย์ในภารกิจนี้)
มาถึงตรงนี้อเมริกาก็ต้องนั่งไม่ติดแล้ว เพราะโซเวียตทำท่าจะนำหน้าไปแบบไม่รอแล้วนะ ผลักดันให้มีการก่อตั้งองค์กรนาซ่า (NASA: the National Aeronautic and Space Administration) เป็นครั้งแรกในปี 1958 จากเดิมที่มีแต่หน่วยงานที่ทำหน้าที่คิดค้นวิจัยเกี่ยวกับการบินของอเมริกาชื่อว่า NACA: the National Advisory Committee for Aeronautics)
เรียกได้ว่าในช่วงปี 1960s นั้นเป็นยุคการเริ่มต้นของการแข่งขันสำรวจอวกาศอย่างจริงจัง
จะขอพักเรื่องการสำรวจอวกาศไว้ก่อน เพื่อจะชวนมาดูหนังเรื่องหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ในช่วงนี้ของอเมริกาชื่อเรื่อง Hidden Figures เป็นเรื่องราวของผู้หญิงอาฟริกันอเมริกัน 3 คนที่ทำงานที่ NASA ในช่วงที่อเมริกาต้องพยายามไล่ตามให้ทันโซเวียตโดยมีภารกิจสำคัญคือการส่งนักบินอวกาศชาวอเมริกัน (John Glenn) ขึ้นไปกับยานอวกาศ Mercury เพื่อโคจรรอบโลกเป็นคนแรก ในภารกิจที่ชื่อว่า Friendship 7 ในห้วงเวลานั้นแม้ว่าประเทศอเมริกาจะเลิกระบบทาสมานานนับร้อยปีแล้วแต่การแบ่งแยกกีดกัน (segregation, discrimination) ยังมีอยู่และมีความเข้มข้นโดยเฉพาะรัฐทางตอนใต้อย่างรัฐเวอร์จิเนีย ซึ่งนอกจากเป็นที่ตั้งของ NASA แล้วยังเป็นจุดเริ่มต้นของระบบค้าทาสของอเมริกาด้วย
ผู้หญิง 3 คนคือ Katherine Johnson (ในเรื่องยังใช้นามสกุลสามีคนแรกคือ Katherine Goble) Dorothy Vaughan และ Mary W Jackson เป็นนักคณิตศาสตร์ที่ทำงานในหน่วยงานที่ชื่อว่า West Area Computing Section ของ NASA หน่วยงานนี้จะมีเฉพาะนักคณิตศาสตร์ผู้หญิงผิวดำ ซึ่งเป็นความพยายามของรัฐบาลกลางในการลดการกีดกันและแบ่งแยกสีผิว (แต่ก็ยังแยกส่วนเป็น all-black unit อยู่ดี)
ในยุคนั้นเป็นช่วงต้นของการพัฒนาคอมพิวเตอร์ การคำนวนต่าง ๆ ยังต้องใช้คนทำ มีอุปกรณ์ช่วยแค่เครื่องคิดเลขเท่านั้น ดังนั้นคำว่า “computer” ในยุคนั้นหมายถึงคนที่ทำหน้าที่คำนวน หาใช่เครื่องคอมพิวเตอร์แบบที่เราเข้าใจกันในปัจจุบันไม่ เราซึ่งเกิดมาในยุคที่คอมพิวเตอร์แทบจะเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต อดทึ่งในความสามารถและความอุตสาหะของมนุษย์ไม่ได้จริง ๆ ว่าเราสามารถส่งยานอวกาศไปนอกโลกได้สำเร็จด้วยการคำนวนด้วยเครื่องคิดเลขเท่านั้นเอง (ในหนังเราจะเห็นฉากที่นักคณิตศาสตร์ใช้กระดานดำขนาดใหญ่สำหรับการเขียนสูตรคำนวน)
Katherine เป็นอัจฉริยะทางด้านคณิตศาสตร์มาตั้งแต่เด็ก เธอจบการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยเมื่ออายุแค่ 18 ปี และเป็นผู้หญิงเพียงหนึ่งเดียวในสามของนักศึกษาอาฟริกันอเมริกันที่ถูกคัดเลือกให้เข้าเรียนใน West Virginia Graduate School ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยสำหรับคนผิวขาวเท่านั้น (สมัยนั้นคนผิวดำต้องเรียนในโรงเรียนและมหาวิทยาลัยที่รับแต่คนผิวดำ) ช่วงแรกที่มาทำงานที่ NACA (ก่อนจะเป็น NASA) เธอก็ได้รับมอบหมายให้ทำงานคำนวนเพื่อวิเคราะห์ข้อมูลการบิน ต่อมาได้รับเลือกให้เข้าไปทำงานกับทีม Space Task Force เพื่อดำเนินภารกิจส่งมนุษย์ไปดวงจันทร์
Katherine ทำงานท่ามกลางบรรยากาศที่ชายผิวขาวเป็นใหญ่ ดังนั้นการที่เธอสามารถพิสูจน์ตัวเองจนเป็นที่ยอมรับในฐานะนักคณิตศาสตร์ที่เท่าเทียมกับผู้ชายทั้งที่เธอเป็นนิโกรจึงเป็นเรื่องน่าทึ่งมาก ความสามารถด้านการคำนวนพิกัดการร่อนลงของยานอวกาศบนโลกอย่างแม่นยำทำให้ John Glenn นักบินอวกาศของมิชชั่นนั้นต้องขอให้เธอเป็นคนตรวจสอบความถูกต้องของการคำนวนสมการที่เครื่อง IBM (ซึ่งนำมาใช้งานคำนวนแทนมนุษย์เป็นครั้งแรก) ได้แสดงผลออกมา “If she says they are good, then I’m ready to go” -->มีฉากนี้ในภาพยนตร์ด้วย
Katherine ทำงานกับ NASA ยาวนานถึง 33 ปี แต่กว่าที่ผลงานของเธอจะเป็นที่ยอมรับต่อสาธารณะว่าเป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จของ Apollo 11 ที่สามารถนำมนุษย์ไปเหยียบดวงจันทร์เป็นครั้งแรกได้ ก็จนกระทั่งปี 2015 ตอนที่อายุได้ 97 ปีที่เธอได้รับรางวัล Presidential Medal of Freedom จากประธานาธิบดีบารัค โอบามา
ในปี 2017 NASA ได้เปลี่ยนชื่อตึกที่มีหน่วยงานที่เธอเคยทำงานอยู่เป็น Katherian G. Johnson Computational Research Facility เพื่อเป็นการให้เกียรติแก่เธอ ก่อนที่เธอจะเสียชีวิตในอีก 2 ปีต่อมาเมื่ออายุ 101 ปี
“Katherine G. Johnson refused to be limited by society’s expectations of her gender and race while expanding the boundaries of humanity’s reach.”
ผู้หญิงคนที่สองคือ Dorothy Vaughan เป็นนักคณิตศาสตร์ทำงานในฐานะ Supervisor ในหน่วยงานเดียวกับ Katherine คือ West Area Computing Section ซึ่งในขณะนั้นมีนักคณิตศาสตร์หญิงผิวดำทำงานอยู่ถึง 30 กว่าคน Dorothy เป็นผู้หญิงผิวดำคนแรกได้รับการแต่งตั้งเป็น Supervisor โดย NACA และยังเป็นผู้เชี่ยวชาญโปรแกรม FORTRAN อีกด้วย เธออุทิศตนให้กับการเรียกร้องสิทธิของลูกจ้างในหน่วยงานของเธอโดยไม่แยกสีผิว แม้จะตรงกันข้ามกับการที่เธอได้ถูกเลือกปฏิบัติมาตลอดก็ตาม มีฉากหนึ่งในภาพยนตร์ที่เธอพาลูกชายเข้าไปค้นหนังสือในห้องสมุดแล้วถูกบรรณารักษ์บอกให้ไปใช้ในส่วนของคนดำแทน เมื่อเธอไม่ยอมยังถูกพนักงานรักษาความปลอดภัยมาเอาตัวออกจากห้องสมุดไป เวลาขึ้นรถเมล์ก็ต้องไปนั่งในที่นั่งตอนหลังของรถที่แบ่งแยกไว้สำหรับ “colored only” เป็นการจำลองสถานการณ์ของคนผิวสีในสหรัฐในช่วงเวลานั้นได้เป็นอย่างดี
คนสุดท้ายคือ Mary W Jackson ที่สำเร็จการศึกษาในสาขาคณิตศาสตร์และฟิสิกส์ นอกเหนือจากการทำงานใน West Area Computing Section แล้ว Mary ได้มีโอกาสทำงานในตำแหน่ง computer (คือคนที่ทำหน้าที่ช่วยคำนวน) เพื่อช่วย Kazimierz  Czarnecki ที่เป็นวิศวกรที่ออกแบบอุโมงค์ที่จะใช้ทดสอบความคงทนต่อแรงอัดที่เหนือกว่าเสียง (Supersonic Pressure Tunnel) ในการขึ้นลงของยานอวกาศจะมีช่วงที่ต้องเคลื่อนที่ด้วยความเร็วกว่า 2 เท่าของความเร็วเสียง ดังนั้นยานจะต้องทนต่อแรงอัดที่เกิดขึ้นที่ความเร็วขนาดนั้นให้ได้
Czarnecki เห็นความสามารถของ Mary จึงแนะนำให้สมัครเข้าเรียนเพิ่มเติมเพื่อจะได้ทำงานในฐานะวิศวกรได้ แต่หลักสูตรที่จะเรียนนั้นกลับมีสอนเฉพาะในโรงเรียนที่รับแต่คนผิวขาว ทำให้ Mary ต้องต่อสู้เพื่อให้ได้ใบอนุญาตพิเศษจาก the City of Hampton เพื่อที่จะได้เข้าเรียนในชั้นเรียนที่มีแต่ผู้ชายผิวขาว ในที่สุด Mary ก็เรียนจนสำเร็จและได้รับการแต่งตั้งให้ทำงานในฐานะวิศวกรหญิงผิวดำคนแรกของ NASA
หนังเรื่อง Hidden Figures ทำให้เราได้รับรู้ว่าท่ามกลางความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ของการสำรวจอวกาศของสหรัฐอเมริกา กลุ่มนักคณิตศาสตร์หญิงผิวดำที่ทำงานคำนวน (computers) ที่ West Area Computing Section เป็นส่วนหนึ่งที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จนั้นด้วย และผู้หญิงเหล่านี้ต้องทำงานท่ามกลางอคติและข้อจำกัด หนังอาจจะไม่ได้เจาะลึกประเด็นเรื่องการเหยียดผิว ความไม่เท่าเทียมทางเพศมากนัก แต่ก็ทำให้คนดูตระหนักว่าในยุคสมัยหนึ่งเรื่องเหล่านี้คือเรื่องปกติที่ยอมรับได้สำหรับคนบางกลุ่ม แม้ว่าสิ่งเหล่านี้จะเจือจางลงมากในยุคปัจจุบัน แต่ก็ไม่ได้หายไปซะทีเดียว เราก็คงต้องต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมกันต่อไป
เนื่องจากหนังสร้างแบบ based on true story จึงมีบางเรื่องบางเหตุการณ์ที่อาจจะไม่ตรงกับความจริง 100% แต่เขียนขึ้นมาเพื่อสื่อบางประเด็น เช่น
- ตัวละครที่แสดงโดย Kevin Costner ไม่มีจริง
- เหตุการณ์ในหนังเกิดขึ้นในปี 1961-1962 ซึ่ง NASA ได้ยกเลิกไม่มีการแยกห้องน้ำ ห้องกินข้าวของคนขาวกับคนดำไปตั้งแต่ปี 1958 แล้ว ดังนั้นการที่ Katherine ต้องเดินไปเข้าห้องน้ำสำหรับคนดำ และฉากที่ Kevin Costner เอาฆ้อนไปทุบป้ายห้องน้ำจึงเป็นฉากสมมติล้วน ๆ (แต่ยังมีหน่วยงานที่เป็น all-black แบบ West Area Computing Section อยู่)
- Katherine Johnson ไม่เคยถูกเชิญให้เข้าไปในห้องควบคุมการปล่อยยานแบบในหนัง
จะจบเรื่องการรีวิวหนังในตอนนี้ ตอนต่อไปจะขอเล่าเรื่องการสำรวจอวกาศต่อ สำหรับคนสนใจเรื่องยานอวกาศโปรดติดตาม
โฆษณา