15 เม.ย. 2022 เวลา 07:41 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
เมื่อไม่กี่ชั่วโมงที่ผ่านมาได้มีข่าวการประท้วงให้หยุดการใช้พลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิลในประเทศอังกฤษ​ รวมถึงการติดแฮชแทก #LetTheEarthBreath​ ในโลกโซเชียลเน็ตเวิร์ค​อย่างล้นหลาม จนเกิดจุดสนใจเป็นอย่างมาก
คำถามคือ #เชื้อเพลิงฟอสซิลคืออะไร? เชื้อเพลิงฟอสซิล คือ อินทรีย์สารใต้พื้นโลกที่เกิดจากการทับถมกันของซากพืชและซากสัตว์ใต้ทะเลลึกเมื่อหลายพันล้านปีก่อน พร้อมกับได้รับความร้อนจากใต้พื้นพิภพ ทำให้ซากพืชและซากสัตว์ที่ทับถมกันหนาแน่นใต้ชั้นหินตะกอนเกิดการย่อยสลายกลายเป็นแหล่งสะสมของสารประกอบไฮโดรคาร์บอน (Hydrocarbon) ขนาดใหญ่ ที่มนุษย์นำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงและแหล่งกำเนิดพลังงานต่าง ๆ
โดยเชื้อเพลิงฟอสซิลนั้นถูกนำไปใช้มากมายทั้งการนำไปเป็นพลังงานเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าในรูปของถ่านหิน หรือการถูกนำไปผ่านกระบวนการกลั่นและแยกส่วนจนกลายเป็นผลิตภัณฑ์​ปิโตรเลียม​ และอื่น ๆ อีกมากมาย
ซึ่งจากที่กล่าวมานั้นฟังดูเหมือนจะมีประโยชน์​อย่างมหาศาล​ แต่แท้จริงแล้วก็สร้างโทษอย่างมหันต์​เช่นกัน เพราะเมื่อเชื้อเพลิงฟอสซิลถูกเผาไหม้ผ่านกิจกรรมต่างๆ ผลผลิตสุดท้ายที่ปล่อยออกมาคือ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse gases) ซึ่งคงค้างอยู่ในชั้นบรรยากาศโลก ก๊าซเหล่านี้มีความสามารถในการดักจับและกักเก็บความร้อนได้ดี ส่งผลให้เกิด “ภาวะโลกร้อน” (Global warming) และ “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” (Climate change) ที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อระบบนิเวศของโลกในขณะนี้
โดยเฉพาะการเผาไหม้ถ่านหินและน้ำมันปิโตรเลียม ซึ่งเป็นตัวการสำคัญที่ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศโลกมากกว่าร้อยละ 75 ตั้งแต่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมเป็นต้นมา แม้ว่าการเปลี่ยนมาใช้ก๊าซธรรมชาติสามารถช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ แต่ในกระบวนการสำรวจ ขุดเจาะ และขนส่งเชื้อเพลิงฟอสซิล ยังคงสร้างผลกระทบโดยตรงต่อสิ่งแวดล้อมของโลก
(เรียบเรียงโดย พีร​ณัฐ​ วัฒน​เสน​)
โฆษณา