20 เม.ย. 2022 เวลา 00:20 • สัตว์เลี้ยง
8 สัญญาณที่บอกว่ากระต่ายกำลังป่วย
ในปัจจุบันมีผู้นิยมเลี้ยงกระต่ายเป็นจำนวนมาก เนื่องจากอุปนิสัยของกระต่ายที่มีความน่ารัก ไม่ส่งเสียงดังรบกวน ใช้พื้นที่เลี้ยงจำกัดได้และการเลี้ยงไม่ยุ่งยาก การสังเกตปัญหาสุขภาพจึงเป็นเรื่องสำคัญที่เจ้าของทำได้ เพื่อช่วยให้สามารถเห็นอาการป่วยของกระต่ายได้อย่างทันท่วงที ข้อสังเกตในเรื่องต่อไปนี้จะช่วยให้เจ้าของรู้ได้ว่ากระต่ายกำลังไม่สบาย
8 สัญญาณที่บอกว่ากระต่ายกำลังป่วย
1. การไม่กินอาหารและน้ำ
สังเกตได้จากเมื่อให้อาหารแก่กระต่ายตามปกติ ไม่ว่าจะเป็นอาหารเม็ดหรือหญ้าก็ตาม ในกรณีที่ป่วยกระต่ายจะไม่สนใจอาหาร หรือพยายามกินแต่เคี้ยวไม่ได้ หรือเคี้ยวช้าลง โดยที่ไม่ได้มีการเปลี่ยนชนิดหรือยี่ห้ออาหารที่ให้ ซึ่งอาจหมายถึงกระต่ายกำลังไม่สบายอยู่ เช่น เจ็บแผลในช่องปากจากการมีฟันยาวผิดรูปทิ่มเนื้อเยื่อหรือลิ้น กรณีนี้มักพบการเคี้ยวปากผิดปกติ/เสียงกัดฟันร่วม
ในบางรายจะพบอาการคางเปียกหรือมีน้ำลายไหลออกจากมุมปาก ทั้งนี้ความผิดปกติที่นอกเหนือจากในช่องปากอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้กระต่ายไม่กินอาหารได้ เช่น กำลังอยู่ในภาวะเครียด เปลี่ยนที่อยู่อาศัย มีการเดินทาง มีอาการปวดจากการบาดเจ็บ หรือปวดภายหลังจากได้รับการผ่าตัด ปวดช่องท้องจากภาวะท้องอืด ถ้าปวดไม่ถึงขีดสุดจริง ๆ กระต่ายจะไม่ส่งเสียงร้องออกมา ซึ่งแตกต่างจากสุนัขและแมว
2. พฤติกรรมที่แสดงออกผิดไปจากเดิม
เมื่อกระต่ายไม่สบายมักพบพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เช่น กรณีที่มีอาการปวดไม่ว่าจะมาจากระบบใดในร่างกาย จะพบว่ากระต่ายมักหลบซ่อนตัวตามมุมห้องหรือใต้โต๊ะไม่ออกมาวิ่งเล่น หรือพบว่ากระต่ายนอนขดตัวคล้ายแม่ไก่กกไข่ ไม่นอนเหยียดตัว ไม่นอนตะแคง อาจพบตาหรี่ลง ตาลอย หรือใบหูลู่ไปทางด้านหลัง
3. อุจจาระผิดปกติจากปกติ
ขนาด รูปร่าง สีและจำนวนอุจจาระเป็นสิ่งที่เจ้าของสังเกตเห็นได้ง่าย และเป็นสิ่งบ่งชี้ปัญหาสุขภาพได้เป็นอย่างดี โดยทั่วไปกระต่ายโตเต็มที่จะผลิตอุจจาระประมาณ 100 เม็ดขึ้นไปต่อวัน อุจจาระจะแบ่งเป็นสองรูปแบบ ได้แก่
อุจจาระแบบที่หนึ่ง
คืออุจจาระกลางคืนเป็นอุจจาระรูปร่างคล้ายพวงองุ่นมีผิวเคลือบ อุจจาระชนิดนี้กระต่ายจะกินกลับเข้าไปเพื่อย่อยใหม่ ซึ่งเป็นพฤติกรรมตามปกติของกระต่าย หากพบว่าอุจจาระพวงองุ่นหล่นในกรงที่เลี้ยงแสดงว่ากระต่ายกินกลับเข้าไปไม่ได้ เนื่องจากกระต่ายอ้วนหรือปวดหลังทำให้ก้มลงบริเวณทวารหนักไม่ได้ หรือเลี้ยงกระต่ายในกรงที่พื้นเป็นซี่ลวด ทำให้อุจจาระหล่นลงผ่านซี่กรงลงมา
อุจจาระแบบที่สอง
คืออุจจาระกลางวันเป็นอุจจาระที่มีรูปร่างเม็ดกลมคล้ายลูกปัด ขนาดเท่า ๆ กัน มักเป็นสีดำปนน้ำตาลขึ้นกับคุณภาพอาหารที่ให้ หากเจ้าของพบว่ากระต่ายที่เลี้ยงมีอุจจาระลดลง หรือมีขนาดเล็กลง รูปร่างผิดปกติ ถ่ายเป็นมูก หรือเป็นน้ำ แสดงว่าการย่อยอาหารกำลังผิดปกติ และกระต่ายกำลังป่วยอยู่ หากพบว่ากระต่ายไม่อุจจาระเลยใน 1-2 วัน หรือหากพบอาการถ่ายเหลวคล้ายโคลน อาจหมายถึงภาวะติดเชื้อในทางเดินอาหาร หรือทางเดินอาหารหยุดทำงาน ซึ่งถือว่ากระต่ายกำลังอยู่ในภาวะวิกฤตที่ต้องรีบพากระต่ายไปพบสัตวแพทย์
สนใจผลิตภัฑฑ์เสริมสร้างสมดุลในระบบทางเดินอาหาร ที่มาพร้อมกับจุลินทรีย์มีประโยชน์นานาชนิด เพื่อสัตว์พิเศษที่คุณรัก กดเลย >>>
4. ปัสสาวะผิดปกติ
เจ้าของกระต่ายควรสังเกตลักษณะปัสสาวะของกระต่าย เช่นเดียวกับอุจจาระ สีของปัสสาวะมีได้หลายสีขึ้นกับปริมาณน้ำและชนิดอาหารที่กระต่ายกิน ปัสสาวะที่ดีควรเป็นสีใส แต่อาจพบสีขุ่นขาว เหลืองเข้มได้หากกระต่ายกินน้ำน้อย กรณีที่พบปัสสาวะสีแดงอาจเกิดจากมีเลือดปนมากับปัสสาวะ ซึ่งเกิดจากโรคระบบทางเดินปัสสาวะ กระเพาะปัสสาวะอักเสบ นิ่ว หรือโรคระบบสืบพันธุ์ ได้แก่ มะเร็งหรือเนื้องอกมดลูก เป็นต้น แต่ปัสสาวะสีแดงอาจไม่ได้เป็นเลือดปนเสมอ แต่สีแดงมาจากการขับเม็ดสีที่มีในอาหาร เช่น prophyrin pigment ที่มีในแครอท บร็อคโคลี่ กะหล่ำ เป็นต้น ออกมากับปัสสาวะ หรือในขณะนั้นมีการให้ยาปฏิชีวนะบางชนิดแก่กระต่ายอยู่
5. ขนร่วงและปัญหาผิวหนัง
ในช่วงอากาศเปลี่ยนแปลง กระต่ายจะผลัดขนซึ่งจะพบขนร่วงได้ แต่อาจจะไม่พบลักษณะผิดปกติใด ๆ บนผิวหนังที่ไม่มีขน เพราะขนใหม่จะขึ้นทดแทน แต่หากพบว่ามีขนร่วงเป็นวง ผิวหนังมีสะเก็ด มีสีแดง กระต่ายมีอาการแทะหรือเกาตลอด อาจเกิดปัญหาโรคผิวหนังจากการติดเชื้อแบคทีเรีย รา หรือปรสิตภายนอกจำพวกไรขนและเหาก็เป็นได้
6. หัวเอียง หน้าส่ายและตากระตุก
เมื่อพบอาการหัวเอียง หน้าส่ายและตากระตุก เหล่านี้ถือเป็นความผิดปกติที่เกิดจากปัญหาทางระบบประสาทที่ควรพามาพบสัตวแพทย์โดยด่วน เพื่อทำการวินิจฉัยและให้การรักษาก่อนที่อาการจะลุกลาม
7. ตาแฉะ คราบน้ำตาไหลเป็นทาง
กรณีนี้ไม่ได้เกิดจากการที่กระต่ายร้องไห้ แต่เกิดจากปัญหาโรคท่อน้ำตาอุดตันเนื่องจากการอักเสบของท่อน้ำตา หรือจากการถูกรากฟันกดเบียดท่อน้ำตา เมื่อพบปัญหานี้ควรพาพบสัตวแพทย์เพื่อตรวจร่างกายและรักษาต่อไป
8. ฟันไม่สบกัน
เจ้าของจะสามารถสังเกตพบฟันไม่สบกันได้ที่ฟันตัดคู่หน้า โดยอาจยื่นผิดรูปทำให้กัดอาหารไม่ขาด อย่างไรก็ตามกระต่ายมีฟันบดด้านในที่ไม่สามารถมองเห็นได้เมื่อเปิดปาก เพราะกระต่ายมีช่องปากแคบ หากฟันในไม่สบกันจะทำให้เกิดมุมฟันแหลมทิ่มช่องปากให้เป็นแผล ทำให้กระต่ายกินได้ลดลง เคี้ยว/กัดฟัน หรือน้ำลายไหลออกจากช่องปาก สัตวแพทย์ที่ชำนาญจะใช้อุปกรณ์ในการส่องตรวจฟันให้กับกระต่าย ดังนั้นเจ้าของควรพามาตรวจช่องปากเป็นระยะ
หมอหวังว่าข้อสังเกตดังกล่าวนี้ จะเป็นข้อมูลเบื้องต้นที่เป็นประโยชน์แก่เจ้าของ เพื่อลองสำรวจกระต่ายที่เลี้ยงดูว่ามีสุขภาพเป็นอย่างไร หากมีข้อสงสัยถึงความผิดปกติของกระต่ายที่เลี้ยง อย่ารั้งรอที่จะปรึกษาสัตวแพทย์ เพราะกระต่ายเป็นสัตว์ที่มีความอดทนต่ออาการป่วยสูง และเมื่อพบอาการรุนแรงกระต่ายจึงจะแสดงอาการป่วยให้เห็นอย่างเด่นชัดและอาจสายเกินไปที่จะรักษาได้ทัน
😽 Deemmi เว็บไซต์ค้นหาสถานบริการสัตว์เลี้ยง
และปรึกษาหมอออนไลน์ แหล่งรวมบริการมากมายเพียงแห่งเดียวในประเทศไทย
#Deemmi #petservices #pethealthcare
#ค้นหาโรงพยาบาลสัตว์ #ค้นหาบริการสัตว์เลี้ยง
โฆษณา