15 เม.ย. 2022 เวลา 15:57 • การศึกษา
“ฮ่องกง” หนึ่งในเมืองที่เป็นศูนย์กลางทางการเงินที่สำคัญ ตลาดการเงินและอุตสาหกรรมทางการเงินในฮ่องกงมีการเจริญเติบโตและมีมูลค่าอย่างมาก มีธุรกิจทางการเงินที่หลากหลาย อีกทั้งระบบเศรษฐกิจของฮ่องกงมีการเติบโตอย่างรวดเร็วและมีความโดดเด่นในระบบทุนนิยมเสรีทำให้การค้าและการลงทุนมีความสำคัญ ได้รับการยอมรับจากนักลงทุนและผู้ประกอบธุรกิจจำนวนมาก
ที่มารูปภาพ : https://www.skyscanner.co.th/news/inspiration/hongkong-travel-guide
โดยจุดเริ่มต้นของการพัฒนาเศรษฐกิจของฮ่องกงมาจาก จีนพ่ายแพ้ในสงครามฝิ่น ทำให้ฮ่องกงอยู่ภายใต้การปกครองของ สหราชอาณาจักรตั้งแต่ปี ค.ศ. 1841 ถึง 1997 สหราชอาณาจักรเป็นผู้วางรากฐานทางการเมือง เศรษฐกิจ การคมนาคม ระบบกฎหมาย และมีบทบาทในการพัฒนาฮ่องกงให้กลายเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก โดยบริหารฮ่องกงตามหลัก Free Market ตามแนวคิดของ Adam Smith เช่น การค้าระหว่างประเทศเสรี ไม่มีการเก็บภาษีศุลกากรสินค้าเข้าและสินค้าออก เก็บภาษีในประเทศในอัตราที่ต่ำ ฐานะการคลังภาครัฐเกินดุล โดยเน้นบทบาทภาครัฐในการจัดสร้างระบบโครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานที่ดี ไม่แทรกแซงการทำงานของระบบเศรษฐกิจ ยกเว้นในเรื่องการค้าผูกขาดและที่อยู่อาศัย รวมถึงหลักการด้านกฎหมายพื้นฐาน และการปลอดคอร์รัปชั่น ฯลฯ (เศรษฐศาสตร์บัณฑิต, 2562)
ทำให้ฮ่องกงสามารถพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งท่าเรือ สนามบินและระบบขนส่ง มีการลงทุนในด้านอุตสาหกรรมที่เน้นแรงงานทำให้เจริญเติบโตมากขึ้น ทำให้เศรษฐกิจของฮ่องกงเติบโตอย่างรวดเร็วระหว่างปี 1961 ถึง 1997 ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของฮ่องกงเพิ่มขึ้น 180 เท่า GDP per capita เพิ่มขึ้น 87 เท่า
ที่มา : https://data.worldbank.org/indicator/ NY.GDP.MKTP.CD?locations=HK
ในปี 1997 สัดส่วน GDP ภาคบริการมีสัดส่วนเพิ่มขึ้น เกิดจากการที่ฮ่องกงพัฒนาทักษะด้านการบริการ ในด้านการเงิน การขนส่ง การประกันภัย การค้าระหว่างประเทศและการเป็นที่ปรึกษาทางการเงิน เพื่อให้เป็นศูนย์กลางทางการค้าขายแลกเปลี่ยนแทนภาคอุตสาหกรรมที่ย้ายฐานการผลิตไป (ลงทุนแมน, 2562)
ระบบเศรษฐกิจฮ่องกงในปัจจุบัน
ในปี 1997 สหราชอาณาจักรต้องคืนเกาะฮ่องกงให้กับจีน เป็นจุดเริ่มต้นของหลักการ “หนึ่งประเทศ สองระบบ” โดยจีนมีนโยบายให้ฮ่องกงมีระบบการค้าเสรีต่อไปอีก 50 ปี ถึงปี ค.ศ. 2047 ให้อำนาจในการบริหารเองและอำนาจในการตัดสินใจกำหนดนโยบายทางเศรษฐกิจ การเงินและการค้า รวมทั้งสามารถกำหนดสถานะเป็นเมืองท่าเสรี (บุญทิวา บุญจร, 2541)
ปัจจัยที่สนับสนุนความสำเร็จให้ฮ่องกงการเป็นศูนย์กลางทางการเงิน
การจัดอันดับดัชนีศูนย์กลางทางการเงินโลก (Global Financial Centres Index) เป็นผลการรายงานของ Z/Yen Group บริษัทที่ปรึกษาเชิงพาณิชย์ ณ กรุงลอนดอน ร่วมกับสถาบันการพัฒนาประเทศจีน (China Development Institute) ซึ่งประเมินข้อมูลจากองค์กรชั้นนำระดับโลก เช่น องค์การสหประชาชาติ ธนาคารโลก (World Bank) และหน่วยงานวิเคราะห์ด้านเศรษฐกิจ (Economist Intelligence Unit) รวมทั้งสถาบันการเงินทั่วโลกกว่า 65,507 แห่ง และจากการประเมินของผู้เชี่ยวชาญด้านการเงิน
โดยประเมินคะแนนการเป็นศูนย์กลางทางการเงินจาก 5 ปัจจัยหลัก ประกอบด้วย สภาพแวดล้อมทางธุรกิจ การพัฒนาภาคการเงิน ปัจจัยด้านโครงสร้างพื้นฐาน ทุนมนุษย์ และชื่อเสียงของเมืองหรือประเทศ ซึ่งทางธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย ได้วิเคราะห์ว่ามีปัจจัยที่สนับสนุนฮ่องกง ได้แก่ (ขวัญใจ เตชเสนสกุล, 2563)
1.สภาพแวดล้อมทางธุรกิจเอื้อต่อการประกอบธุรกิจการเงิน
ฮ่องกงมีสภาพแวดล้อมที่ดีมากต่อการดำเนินธุรกิจ มีขั้นตอนในการจัดตั้งธุรกิจสะดวกและรวดเร็ว มีกฎหมายที่เอื้อต่อการลงทุนของธุรกิจต่างชาติ และมีระบบภาษีที่ไม่ซับซ้อน มีนโยบายภาษีที่เอื้อต่อการประกอบธุรกิจ อีกทั้งยังมีนโยบายการทำธุรกรรมการเงินระหว่างประเทศที่ค่อนข้างเสรี ข้อมูลและเงินทุนมีการไหลเวียนอย่างเสรี
2. ความพร้อมบุคลากรในภาคการเงิน
ศูนย์กลางทางการเงินเป็นแหล่งรวมสถาบันการเงินประเภทต่าง ๆ จากทั่วโลกมาไว้ที่เดียวกัน เช่น ธนาคารพาณิชย์ บริษัทเงินทุน บริษัทหลักทรัพย์ ฯลฯ ดังนั้น จึงมีความต้องการบุคลากรจำนวนมากที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง เช่น ด้านการเงิน การบัญชี เศรษฐศาสตร์ เทคโนโลยี เป็นต้น ทั้งควรใช้ภาษาอังกฤษได้อย่างคล่องแคล่ว เนื่องจากต้องทำงานร่วมกับบุคลากรหลากหลายเชื้อชาติ ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลักในการสื่อสาร ซึ่งฮ่องกงผ่านการปกครองจากอังกฤษได้สร้างรากฐานด้านระบบการศึกษาที่ดีและการใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลัก
3. ความเชื่อมั่นและการยอมรับในการเป็นศูนย์กลางทางการเงิน
จากการวางระบบเศรษฐกิจและระบบกฎหมายที่เป็นแบบแผนสากลจากการปกครองของอังกฤษ รวมถึงหลังจากคืนให้แก่จีน จีนยังคงระบบเศรษฐกิจและระบบกฎหมายไว้ ด้วยนโยบายการปกครองแบบหนึ่งประเทศ สองระบบ ทำให้ฮ่องกงได้รับการยอมรับทั้งจากสถาบันการเงินที่จะเข้ามาลงทุนและจากผู้ใช้บริการทางการเงินประเภทต่าง ๆ
4. ความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานที่รองรับการดำเนินงานของภาคการเงิน
ฮ่องกงมีความพร้อมด้านนี้มากจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศมาอย่างต่อเนื่อง ภาคการเงินถือเป็นธุรกิจที่จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีสารสนเทศขั้นสูง เนื่องจากมีการรับส่งข้อมูลจำนวนมาก ซึ่งต้องดำเนินการได้อย่างสมบูรณ์และรวดเร็ว ทั้งยังต้องมีมาตรฐานความปลอดภัยในการรับส่งข้อมูลในระดับสูงสุด (ขวัญใจ เตชเสนสกุล, 2563)
ความสำเร็จของฮ่องกงในการเป็นศูนย์กลางทางเงินโลก
ฮ่องกงเป็นหนึ่งในศูนย์กลางทางการเงินที่สำคัญของโลกด้วยสินทรัพย์ของสถาบันการเงินต่อ GDP สูงที่สุดในโลกถึงราว 250% เป็นประตูเชื่อมระหว่างระหว่างตลาดสาธารณรัฐประชาชนจีนกับตลาดโลก ภายใต้ยุทธศาสตร์วงจรคู่ขนาน (Dual Circulation) ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 14 ของสาธารณรัฐประชาชนจีน และเป็นศูนย์กลางการดำเนินธุรกรรมเงินหยวนระหว่างประเทศ (Global Offshore Renminbi Business Hub) ที่ใหญ่ที่สุดในโลก (ขวัญใจ เตชเสนสกุล, 2563)
จากการจัดอันดับดัชนีศูนย์กลางทางการเงินโลก (Global Financial Centres Index – GFCI) ครั้งที่ 30 ในเดือนกันยายน 2021 ซึ่งฮ่องกงได้อันดับที่ 3 ศูนย์กลางทางการเงินโลก รองจากนครนิวยอร์ก กรุงลอนดอน ตามลำดับ จากการสำรวจ 119 เมืองทั่วโลก
ที่มา : Z/Yen Group GFCI-30
ตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง
ตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงมีสภาพคล่องมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ตลาดมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 7 ของ โดยพิจารณาจากมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดมีมูลค่าตลาด 5.43 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ณ เดือนธันวาคม 2021 มูลค่าตลาดคิดเป็น 1,477.2% ของ GDP ในเดือนธันวาคม 2021
เงินดอลลาร์ฮ่องกงเป็นสกุลเงินที่มีการซื้อขายมากเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก มูลค่าการซื้อขายในฮ่องกงเพิ่มขึ้นสองเท่าในระหว่างเดือนเมษายน 2016 ถึงเมษายน 2019 ทำให้ในปี 2019 เป็นสกุลเงินที่มีการซื้อขายมากที่สุดเป็นอันดับ 9 ของโลกจากเดิมอันดับที่ 13
อุตสาหกรรมบริการทางการเงิน
อุตสาหกรรมบริการทางการเงินเป็น 1 ในอุตสาหกรรมทางเศรษฐกิจที่สำคัญ โดยคิดเป็น 23.3% ของ GDP ฮ่องกงในปี 2020 อุตสาหกรรมบริการทางการเงินของฮ่องกงมีหลายภาคส่วน เช่น ธนาคาร ธุรกิจจัดการกองทุน บริษัทหลักทรัพย์ ธุรกิจประกันภัย เป็นต้น
ฮ่องกงประสบความสำเร็จอย่างมากในการเป็นศูนย์กลางทางการเงิน จากเมืองที่ไม่มีทรัพยากรธรรมชาติ ผ่านการปกครองของอังกฤษ พัฒนาเศรษฐกิจจนกลายเป็นหนึ่งในสี่เสือแห่งเอเชีย ปัจจุบันเป็นแหล่งของการค้า การเงิน การลงทุน การบริการ และการดำเนินธุรกิจ แต่ยังมีความท้าทายในหลายด้าน เช่น การเมือง การแพร่ระบาดของโควิด-19 รวมถึงในอนาคตปี 2047 ที่ต้องอยู่ภายใต้การปกครองของจีนแบบเต็มรูปแบบ จะมีทิศทางทางเศรษฐกิจรวมถึงการเป็นศูนย์กลางทางการเงินจะมีการพัฒนาหรือเปลี่ยนแปลงอย่างไร
โฆษณา