15 เม.ย. 2022 เวลา 16:15 • ไลฟ์สไตล์
ความสุขในการทำงาน
-----------------------------------------------
เรามักจะเคยได้ยินประโยคในลักษณะที่ว่า “ทำไมวันหยุดสุดสัปดาห์ช่างผ่านไปเร็วเหลือเกิน”
ซึ่งจากประโยคนี้เชื่อว่าคนทำงานหลายต่อหลายคนคุ้นชินและรู้สึก และมันก็ย่อมไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจแต่อย่างใดที่คนจำนวนไม่น้อยจะบ่นอุบว่ารู้สึกไม่สนุกหรือเบื่อกับงานที่ตนเองทำและรับผิดชอบ
ในโลกของการทำงาน บางคนอาจมีความสุขกับการทำงานแล้วได้เงินเดือนก้อนโตมาใช้ตอนสิ้นเดือน หรือรายรับระดับที่ชวนให้ตาลุกวาวเมื่อทำโปรเจคสักเรื่องหนึ่งสำเร็จ
บางคนอาจมีความสุขกับการทำงานแล้วได้พบเจอกับประสบการณ์ใหม่ๆ ที่ชวนให้เกิดการเรียนรู้และความตื่นเต้นระหว่างทาง
ขณะที่บางคนก็อาจจะมีความสุขไปกับการทำงานที่ได้ช่วยเหลือให้สังคมเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้นในสักแง่มุม
อย่างไรก็ตามไม่ว่าความสุขในการทำงานของแต่ละคนจะเป็นรูปแบบไหน ปัจจัยสำคัญอย่างแรกคือค้นหาให้เจอว่าตัวตนของเราเองเป็นแบบไหน
มีหลายต่อหลายคนที่ผมรู้จักเคยพูดในทำนองที่ว่า “เอาจริงๆ นะ ตั้งแต่เป็นเด็กมาจนถึงวัยทำงาน ยังไม่รู้เลยจริงๆ ว่าตัวเองอยากเป็นอะไร หรือทำงานแนวไหน”
เอาเข้าจริงประโยคนี้เป็นอะไรที่พอได้ยินแล้วก็ชวนให้ตกใจอยู่ไม่น้อย
การที่ไม่รู้ว่าตัวเองชอบอะไรหรืออยากทำสิ่งไหน แล้วต้องเข้าสู่โลกแห่งการทำงานจริงในสังคม มันเปรียบเสมือนกับการปล่อยใครสักคนลงไปบนสนามแข่งกีฬา โดยที่ไม่รู้ว่าเส้นชัยของความสำเร็จอยู่ตรงไหนและมีรูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร
และมันอาจสะท้อนให้เห็นว่าชีวิตในวัยเด็กของคนจำนวนไม่น้อยถูกบังคับให้ต้องพบเจอกับโลกของการแข่งขัน ไม่ว่าจะเป็นในเชิงการเรียนหรือการใช้ชีวิตในมิติต่างๆ
หลายต่อหลายคนถูกผลักเข้าสู่โลกแห่งความเป็นจริง โดยที่ยังไม่เคยสัมผัสว่าโลกที่สวยงามตามความคิดและจินตนาการของตัวเองเป็นอย่างไร
ในมุมมองส่วนตัวผมคิดว่าความสุขของมนุษย์คนหนึ่งก็คือ “การได้คิดในสิ่งที่อยากจะเห็น และการได้ทำในสิ่งที่คิดอยากจะเป็น”
ซึ่งก่อนที่จะลงมือทำเรื่องใดเรื่องหนึ่งในชีวิต สิ่งที่ควรคิดและตกผลึกในหัวแต่แรกคงหนีไม่พ้นเรื่องของเป้าหมายปลายทางที่อยากจะไปให้ถึง
เรื่องของการทำงานก็เช่นกัน เมื่อใดก็ตามที่เรารู้ว่าเป้าหมายในใจเป็นอย่างไร สุดท้ายแล้ววิธีการที่จะไปสู่จุดนั้นจะเกิดขึ้นเองโดยอัตโนมัติ ยิ่งไปกว่านั้นระหว่างทางเดินไปสู่สิ่งที่มุ่งหวัง เรื่องต่างๆ ที่เป็นรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ก็จะชวนให้เรายิ้มและมีพลังงานบวกอยู่เสมอ
ปัจจัยที่สอง ความสุขในการทำงานมักเกิดขึ้นได้เมื่อเรามีความสัมพันธ์ที่ดีกับคนที่เกี่ยวข้องในการทำงาน
ความสัมพันธ์ที่ดีไม่ได้หมายถึงการที่ต้องยิ้มและพูดจาหวานๆ ใส่กันตลอดเวลา
แต่ในบริบทนี้จะหมายถึงการมีรูปแบบความสัมพันธ์ที่แสดงออกถึงความจริงใจระหว่างกัน ไม่ต้องคอยระแวดระวังว่าใครจะสร้างปัญหาให้แก่ใคร
ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัญหาในการทำงานที่ยากมากๆ หลีกหนีไม่พ้นเรื่องของ “คน”
โดยสาเหตุหนึ่งที่ทำให้การทำงานหลายๆ เรื่องเกิดความยากลำบาก ก็มาจากการที่ใครสักคนหนึ่งเลือกเงียบในสิ่งที่ควรพูด และเลือกพูดในสิ่งที่ไม่ควรพูดออกไป
เรามักกลัวที่จะพูดบางประเด็นออกไปเพียงเพราะกลัวว่าอีกฝ่ายจะรู้สึกไม่ดีเมื่อได้ยิน แต่หากมองในมุมกลับกันการเลือกที่จะเงียบ แล้วปล่อยให้ปัญหาบานปลาย สุดท้ายแล้วอาจพบเจอกับภาวะที่งานก็ไม่เดิน ความสัมพันธ์กับคนก็เสีย
จนสุดท้ายแทนที่จะได้มีความสบายใจในการทำงาน กลับต้องมาพบกับความทุกข์ในการทำงานแทน
อย่างไรก็ตามในอีกมุมหนึ่ง ก่อนที่จะพูดคำหรือประโยคอะไรออกไปให้อีกฝ่ายได้รับรู้ พยายามคิดและพิจารณาอย่างละเอียดถี่ถ้วนที่สุด เพื่อที่จะให้สารที่สื่อออกไปมีความเหมาะสมทั้งในเชิงของบริบทและกิริยามากที่สุด
นอกจากนี้อีกเรื่องหนึ่งที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการทำงานให้มีความสุขได้ คงหลีกหนีไม่พ้นเรื่องของการหาใครสักคนที่เราไว้ใจได้ (ในบริบทของการทำงาน) เพื่อมาช่วยรับฟัง ให้กำลังใจ รวมทั้งให้คำแนะนำเล็กๆ น้อยๆ จนทำให้ปัญหาที่ดูใหญ่เล็กลงได้
ปัจจัยสุดท้าย ความสุขในการทำงานเกิดจากการที่เรารู้จักผ่อนหนักผ่อนเบา และบริหารเวลาชีวิตให้ดีที่สุด
คำว่า “Work-life Balance” คงเป็นคำแรกๆ ที่ผุดขึ้นมาในหัวของหลายคนทันทีเมื่อได้เห็นประเด็นดังกล่าว
ทว่ามีพนักงานจำนวนไม่น้อยที่มักจะเข้าใจว่า Work-life Balance คือการที่ทำงานตั้งแต่ 8 โมงถึง 5 โมงเย็น แล้วจบ จากนั้นที่เหลือคือเวลาชีวิต
แต่จริงๆ แล้วความหมายที่ผมต้องการจะสื่อคือการปรับสมดุลของการทำงานให้ไปในเงิน “Work-life Integration” มากยิ่งขึ้น
เพราะการคิดชิ้นงานหรือผลงานสักอย่างหนึ่ง มันไม่ใช่ว่าจะเกิดขึ้นได้จากการเค้นหรือบีบบังคับให้ตัวเองต้องคิดให้ออกภายในระยะเวลาที่จำกัดเท่านั้น
บางครั้งการคิดไอเดียเจ๋งๆ ที่มีประโยชน์ต่อการทำงานสักเรื่องหนึ่ง มันมักจะเกิดขึ้นในเวลาที่เราไม่ได้ตั้งใจจะคิด หรือถ้าให้เปรียบเทียบง่ายๆ ก็จะเหมือนกับประโยคที่ว่า “คิดออกในเวลาที่ไม่ได้คิด”
และเชื่อไหมว่าความคิดในลักษณะแบบนี้ มันมักจะมีประสิทธิภาพมากกว่าไอเดียบางอย่างที่ถูกเค้นหรือรีดออกมา
อีกทั้งการที่ปรับทัศนคติการทำงานไปเป็นเชิง Work-life Integration ย่อมหมายถึงการหาสมดุลของการใช้ชีวิตและการทำงานได้อย่างเหมาะสมลงตัว สามารถบริหารจัดการตนเองได้ในสถานการณ์ต่างๆ อีกทั้งยังสอดรับกับการจัดลำดับความสำคัญของมิติต่างๆ ในชีวิตที่ทำ ให้มีความลงตัวมากที่สุด
จริงๆ แล้ว ก็มีหลายต่อหลายครั้งที่คนเราสามารถทำงานได้ในเวลาที่ไม่ได้ทำงาน ยกตัวอย่างเช่น เวลาที่ออกไปคาเฟ่เพื่อตั้งใจจะดื่มด่ำรสชาติที่อร่อยของน้ำดื่มในวันหยุดสุดสัปดาห์ นักเขียนท่านหนึ่งก็คิดไอเดียในการเขียนบทความออก จากนั้นจึงยกอุปกรณ์ขึ้นมาเพื่อเล่าสิ่งที่ตัวเองคิดออกมาลงบนหน้าจอคอมพิวเตอร์
ในมุมกลับกันระหว่างการทำงานในช่วง Work from Home เราอาจใช้เวลาพักผ่อนสัก 1 ชั่วโมง เพื่อไปสูดอากาศหรือเติมความสดชื่นให้ตัวเอง จนสามารถกลับมาทำงานที่ยังคงคั่งค้างต่อได้อย่างมีประสิทธิภาพ มากกว่าการนั่งอยู่ที่หน้าจอและบีบบังคับให้ตัวเองต้องเค้นความคิดชุดใดชุดหนึ่งออกมา
อย่างไรก็ตามในการบริหารเวลาการทำงานของตัวเองให้เกิดความสมดุลที่สุด อย่าลืมพิจารณาเรื่องประเด็นความเร่งด่วนของงาน สัญญาที่ให้ไว้กับผู้อื่น และกฎระเบียบขององค์กรตัวเองด้วย
ทั้งสามปัจจัยถือเป็นองค์ประกอบตั้งต้นที่จะช่วยให้คนทำงานหลายต่อหลายคนเกิดความสุขในการทำงานขึ้นทีละเล็กละน้อย เพียงแค่ลองนำไปปรับใช้ อย่างน้อยๆ ก็คงทำให้การทำงานที่จืดชืดขาดชีวิตชีวา กลับมามีความสีสันและความสดใสมากยิ่งขึ้น
📝 POTR
สามารถติดตาม Huatoa - หัวโต ได้อีกช่องทางบน
โฆษณา