28 เม.ย. 2022 เวลา 08:34 • หนังสือ
10 วิธี เปลี่ยนตัวเองให้เป็น คนที่อยู่ด้วยแล้ว สบายใจจัง ~
จากหนังสือ -
คนแบบไหน อยู่ด้วยแล้วสบายใจ
คนแบบไหน อยู่ใกล้แล้วเพลีย
ตอนที่ 2/4
เรายังอยู่กับหนังสือเล่มเหลืองสดใสนี้นะคะ
หลังจาก 1/4 เป็นเรื่องของการเชคลิสต์ความแตกต่างระหว่าง คนที่อยู่ด้วยแล้วสบายใจกับคนที่อยู่ด้วยแล้วเพลียกันไปแล้ว
วันนี้เราจะมาดูวิธีว่า ต้องทำยังไงจึงจะกลายเป็นคนที่อยู่ด้วยแล้วสบายใจ มีทั้งหมด 10 วิธี จากหนังสือเล่มนี้นะคะ
เรามาดูกันนะคะว่า 10 วิธีนั้นมีอะไรบ้าง
มีข้อไหนที่เป็นเรา
มีข้อไหนที่เรายังไม่ได้เป็นบ้าง
แล้วเราจะเป็นแบบนั้นได้ไหม
1. คนที่อยู่ด้วยแล้วสบายใจ มักจะเรียกชื่อ ‘คู่สนทนา’
ลองนึกถึงบทสนทนาที่เราหรืออีกฝ่ายเรียกชื่อเรา
เรารู้สึกยังไงบ้าง หรือ การสนทนาแบบนั้น มีบรรยากาศอย่างไร มีผลต่อความรู้สึกของเราไหม
เพียงแค่เอ่ยชื่อ ทำไมจึงสร้างความแตกต่าง
การเอ่ยชื่อคู่สนทนาทำให้อีกฝ่ายรับรู้ได้ว่า
- เขาเป็นที่สนใจ
- และอีกเรามีเจตนาที่ดี
หากว่าเราเป็นคนที่จำชื่อคนไม่เก่ง
( เราเองก็เป็น บางครั้งจะต้องนึกอยู่พักใหญ่ๆ ว่าคนนี้ชื่ออะไร )
แต่เราสามารถทำได้ด้วยการ
- ท่อง ในใจ
- พูดซ้ำหรือทวนชื่อของเขาออกมา
ยกตัวอย่าง การพูดชื่อของเขาพร้อมกับตามสิ่งที่เขาชอบ
เช่น คุณมะม่วงเป็นคนอุบลฯ ชอบกินข้าวเหนียวทุเรียน เป็นต้น
การพูดทวน จะช่วยให้หูของเราได้ยินและสมองจดจำได้ดีขึ้น
แต่ก็ระวังอย่าให้มากเกินไป ไม่อย่างนั้นจะกลายเป็นการล้อเลียนไปได้
ในกรณีที่นึกชื่ออีกฝ่ายไม่ออกจริงๆ
ให้ ‘ถามตรงๆ’ เพราะการถามตรงๆ ไม่ใช่เรื่องเสียมารยาท แต่เป็นการสื่อว่า เราต้องการจะจดจำชื่อของเขาให้ได้จริงๆ
บางคนอาจจะน้อยใจ
แต่สุดท้ายเขาจะรู้สึกดีที่เราจดจำชื่อเขาได้จริงๆ
:)
ไม่ต้องไปคิดว่าจะทำอย่างไรถึงจะเป็นที่ชื่นชอบของคนอื่น แต่เราต้องชอบคนอื่นให้ได้เสียก่อน
2
2. กล่าวขอบคุณให้เป็นนิสัย
ไม่ว่าเราจะเป็นใคร เด็ก ผู้ใหญ่ หญิง หรือชาย ทำงานประกอบอาชีพอะไร เป็นคนที่ดีหรือไปทำเรื่องชั่วร้ายมา เราก็ล้วนต้องการคำ ‘ขอบคุณ’
แม้จะเป็นเพียงเรื่องเล็กน้อย
แต่การกล่าวคำขอบคุณนั้น
แสดงให้เห็นว่า อีกฝ่ายนั้นเป็นคนที่สำคัญนะ และ เราก็อยากจะสนิทกับเขาให้มากขึ้น
มีเหตุการณ์ไหนในชีวิตที่เรา ได้มิตรภาพจากการขอบคุณบ้างมั้ยนะ … (^-^)/
หากลองนึกย้อนดู เราอาจจะเจอมิตรภาพที่ดีซ่อนอยู่มากมายจากการขอบคุณ
มิตรภาพต่อตัวเราเอง ขอบคุณที่ตัวเองได้มีชีวิตอยู่ ( เพราะนั่นเป็นเรื่องที่สำคัญที่เราไม่ควรลืม )
มิตรภาพต่อผู้อื่น ขอบคุณที่พวกเขามีชีวิตอยู่ ไม่ว่าจะเป็นเพื่อน คนรัก ครอบครัว เพื่อนร่วมงานของเรา หรือแม้แต่พนักงานร้านกาแฟ หรือ พนักงานร้านสะดวกซื้อ
พวกเขาล้วนเติมเต็มชีวิตของเรา
และเราก็มีส่วนเติมเต็มพวกเขาได้เช่นกัน
สำหรับเราแล้ว — คำ ‘ขอบคุณ’ ที่ทรงพลังที่สุดคือ คำขอบคุณจากคุณย่า คุณย่ากล่าวขอบคุณผ่านทางโทรศัพท์ก่อนจะจากโลกนี้ไปว่า
ขอบใจนะ ที่ยังมีชีวิตอยู่
ช่วยมีชีวิตอยู่ต่อไปนะ
คุณย่า…ของหลานสาว
2
ความอบอุ่นเหล่านี้ อาจจะเป็นเรา
มีทำให้ใครสักคนที่สิ้นหวัง หมดแรง กลับมีกำลังใจ
และเห็นค่าในสิ่งที่เขาทำ … แม้แต่ เห็นค่า ที่เขายังหายใจ
3. การมองหาและชื่นชมข้อดีของอีกฝ่าย
ไม่ว่าจะเป็นใคร ก็ต้องอยากได้รับคำชม มากกว่าถูกด่า
แต่น่าแปลกใจที่วัฒนธรรมที่เราเติบโตกันมา มักจะบอกว่า ‘อย่าชม’ เดี๋ยวจะเหลิง เราเลยได้แต่กลืนคำชมลงคอแล้วก็เก๋บเงียบๆไว้ ไม่บอกให้อีกฝ่ายรู้
ทั้งๆ ที่ คนเรามีข้อดีมากมายให้ชื่นชม
และเราเองก็ต้องการได้รับคำชมเช่นกัน
.
ถ้าเช่นนั้น เราจะกล่าวคำชมอย่างไรดี
การกล่าวชมในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ก็เพียงพอแล้ว แต่ขอให้เป็นคำชมที่มาจากใจจริงๆ ไม่ใช่การชมเพียงเพราะคิดว่าเขาจะชอบคำชมของเรามั้ย
1
การชื่นชมคือการให้อีกฝ่ายเป็นจุดศูนย์กลาง
ไม่ใช่ตัวเราเอง
โดยการสังเกตสิ่งที่เขาชอบ หรือ ชมสิ่งที่เป็นตัวตนของเขา
การชมที่ไม่ค่อยได้ผล : เสื้อไหมพรมสีกรมท่าตัวนั้นสวยมากเลย
การชมที่ได้ผลมาก : คุณ (เอ่ยชื่อคู่สนทนา) ใส่เสื้อไหมพรมกรมท่าแล้วยิ่งดูสวยมากเลยนะครับ/นะคะ เนี่ย
การชมที่ไม่ค่อยได้ผล : คุณมีกระเป๋าตังค์สวยๆเยอะเลยนะคะ
การชมที่ได้ผลมาก : คุณ (เอ่ยชื่อคู่สนทนา) มีรสนิยมดีจังเลย เลือกกระเป๋าตังค์สวยนะคะ
เราจะเห็นว่า การชมที่ได้ผลคือ
ไม่ใช่การชมสิ่งของ แต่เป็นการชมตัวตนของคนๆนั้น
1
คำชมอีกอย่างหนึ่งที่ดีคือ
การชมว่า ‘สง่างาม’
และการพยายามมองหาข้อดีมากล่าวชมเขา
หากทำไม่ได้หรือไม่กล้าพูดต่อหน้า
ก็ลองเขียนเป็นโน๊ตแล้วไปให้เขาก็ได้นะคะ :)
4. การผ่อนคลายร่างกาย และสูดลมหายใจลึกๆ
ในข้อนี้เรากำลังพูดถึงความเครียดและการเอาตัวรอดกันค่ะ
ในข้อนี้ขอให้เราลองสังเกตตัวเองหรือคนรอบข้างว่า...ในสถานการณ์แบบไหนที่เรามักจะหายใจสั้นและมีความรู้สึกเกร็งบ้าง...
การเผชิญหน้ากับความกลัว อาจจะไม่ใช่อันตรายจากการถูกล่าในเชิงเผชิญหน้ากับสัตว์ร้าย แต่ในยุคปัจจุบันเรามักจะเผชิญหน้ากับ 'การต่อสู้ในจิตใจ'
เช่น การกลัวว่าจะถูกเพื่อนเกลียด กลัวเจ้านายด่า กลัวคนจะไม่ชอบ
ความรู้สึกแบบนี้เป็นภาวะการเอาตัวรอดที่เป็นสัญชาตญาณของมนุษย์
มนุษย์เรามีวิวัฒนาการเพื่อเอาตัวรอดมาตั้งแต่ยุคถ้ำ เพียงแต่ยุคสมัยทำให้อันตรายและการสถานการณ์แตกต่างกันออกไป
แต่รู้หรือไม่ว่า การที่เราอยู่ในความกลัว ความกังวลเช่นนี้
ทำให้เกิดความรู้สึก 'อึดอัด' เกิดขึ้น และคนรอบข้างก็สัมผัสได้
ทำให้กลายเป็นคนที่อยู่ด้วยแล้วเหนื่อยจังเลย
วิธีแก้ก็คือ
การฝึกหายใจลึกๆ สูดลมหายใจเข้ายาวๆ หายใจออกยาวๆ แล้วก็หายใจเข้ายาวๆอีกครั้ง ให้รู้สึกว่าลมหายใจเข้าไปถึงท้องช่วงล่างของเรา
หรือเราอาจจะหาวิธีการทำสมาธิแบบอื่นๆที่เหมาะสมกับเราก็ได้
การฝึกตัวเองแบบนี้จะทำให้เรารับมือและเผชิญหน้ากับความกลัว หรือแม้แต่ความกังวลได้ดีขึ้น
5. การใช้ภาษากายสร้างความสบายใจ
ตอนเด็กๆ มีใครที่เป็นคนที่มักจะถูกรังแก หรือ ถูกบุลลี่ บ้างมั้ยคะ?
หรือแม้แต่ตอนที่โตเป็นผู้ใหญ่แล้ว ก็มักจะถูกเอาเปรียบเสมอ
หลายคนอาจจะไม่ทันสังเกตหรือได้รู้ตัวว่า ภาษากายของเรานั้น 'เชื้อเชิญ' ให้คนอื่นจู่โจมเรา
โดยสัญชาตญาณมนุษย์มักจะโจมตีคนที่อ่อนแอกว่า...
เรากำลังมีลักษณะของคนที่ใช้ร่างกายเพื่อป่าวประกาศว่า 'ฉันเป็นมนุษย์ที่อ่อนแอกำลังจะถูกทำร้าย' บ้างหรือเปล่า
ลักษณะที่แสดงออกแล้วสื่อสารเช่นนั้นเช่น การทำสายตาหลุกหลิก ล่อกแล่ก มองไปด้านล่างบ้าง บนบ้าง ไม่หยุดนิ่ง เดินหลังงอ นั่งห่อตัว
เราสามารถแก้ไขได้ด้วยการ
- วิธีการเดิน
การเดินที่แสดงออกว่าเรามั่นใจและไม่กลัวสิ่งใด แต่ไม่ใช่ลักษณะที่ก้าวร้าวหรือโผงผางนะคะ เพียงระวังการงุ้มไหล่ลงมาด้านหน้า ( แต่ก็อย่าแอ่นมากไป ) ขอให้ยืดตัวตรงเดินไปตามธรรมชาติ หรือ คือคำที่เราคุ้นเคยกันก็คือ อกผายไหล่พึ่งนั่นเอง
- วิธีการขณะนั่งและยืน
การนั่งและยืน ในหนังสือได้ให้คำเปรียบเทียบว่า
นั่งหลังตรงเหมือนมีเส้นด้ายผูกอยู่บนศรีษะ
แล้วดึงลำตัวไปตรงๆ
การนั่งหรือยืนแบบนี้จะช่วยให้คนรอบข้างไม่คิดว่าเราอ่อนแอหรือต้อยต่ำ
แต่ให้ความรู้สึกว่าอยู่ด้วยแล้ว สงบ มั่นคง
* ทั้งนี้ สิ่งที่คุณคุมิยะ พยายามบอกเรา อาจจะขัดแย้งกับสิ่งที่เราเรียนรู้ในวัฒนธรรมบางอย่างของเรามาอยู่บ้าง เราก็อาจจะต้องปรับใช้ให้เป็นตัวเอง
ด้วยความรู้สึกผ่อนคลายและมั่นใจในการมีอยู่ของตัวเราเข้าไว้
- และวิธีการสุดท้าย
เรียนรู้วิธีการใช้ภาษากายแบบเปิด - และปิด
ภาษากายแบบปิด
คือลักษณะของการเอียงไหล่หรือกึ่งหันข้างไปหาคู่สนทนา หรือเอี้ยวหลังไปหา พยายามเอนตัวหลบ หรือการกำหมัดแต่ไม่เผยไม่เห็นฝ่ามือ พยายามซ่อนมือ ลักษณะเล่านี้เป็นการแสดงออกทางภาษาภายกายว่า เราไม่เปิดใจ ซึ่งหลายครั้งเราอาจจะแสดงออกโดยไม่รู้ตัว
ภาษากายแบบเปิด
คือการมีรอยยิ้ม หันไปหาคู่สนทนาตรงๆ โน้มตัวไปด้านหน้าเล็กน้อย เป็นการให้ความสนใจอีกฝ่าย
ทั้งนี้ ก็ไม่จำเป็นต้องแสดงออกว่าเปิดทั้งหมด เราควรดูตามความเหมาะสมและแสดงออกอย่างพอดี...ไม่เช่นนั้นก็จะเป็นการยัดเยียดมากจนเกินไปและเราก็จะสูญเสียความเป็นตัวเองไปด้วย
6. การยิ้มให้มากกว่าเดิม 30%
หากมีผู้หญิงสองคนตรงหน้า
คนหนึ่งแต่งหน้า แต่งตัวสวย รสนิยมดี แต่ไม่ค่อยมีรอยยิ้ม
กับอีกคนหนึ่ง แต่งตัวธรรมดา แต่เธอมักจะมีรอยยิ้มเสมอ
คุณจะเลือกเข้าไปคุยกับคนไหน?
ถ้าเป็นเราเลือก เราก็จะเลือกคนที่ 2
เพราะแน้วโน้มว่าเธอจะรับฟังเราก็มีมากกว่า
เธอน่าจะใส่ใจเรา
ในขณะที่อีกฝ่ายนั้นเราไม่แน่ใจว่า เธออยู่ในอารมณ์ที่พร้อมจะรับฟังเราหรือไม่ก็ไม่รู้...จึงเป็นเรื่องปกติที่เรามักจะเลี่ยงคนลักษณะแรกที่ไม่ค่อยยิ้ม
ลองสังเกตตัวเราเองก็ได้ว่า เรามักจะได้เพื่อนใหม่จากการ 'ยิ้ม' ใช่หรือไม่
:)
รอยยิ้มเป็นสัญลัษณ์ของคนที่มีความสุข
ที่นี้เรามาลองดูเคล็ดลับว่าเราจะสร้างรอยยิ้มได้อย่างไร
- มุมปากยก : เมื่อเจอใครก็ตามให้เรายกมุมปากขึ้นไว้ก่อน ( มีใบหน้าที่พร้อมจะยิ้ม )
และเมื่อตอนที่จะยิ้มก็ยกมุมปากสูงขึ้นอีก 3 เท่า การทำแบบนี้ทำให้ผู้อื่นรู้ว่าเรากำลังยิ้มอยู่
- ดวงตายิ้ม : ยิ้มให้ถึงดวงตา ^ _ ^
การพบปะผู้ สิ่งเหล่านี้สำคัญที่ทำให้ผู้คนอยู่ด้วยกับเราแล้วสบายใจ ไม่ต้องเกร็งหรืออึดอัด
ยิ่งในยุคนี้เราใส่หน้ากากอนามัยกันตลอดเวลา บางคนมีตาที่ดูดุ ตาเข้ม ก็ทำให้คนอื่นไม่สามารถรับรู้ได้ว่าเค้ายิ้มอยู่หรือเปล่า เพราะฉะนั้นก็ยิ้มให้ดวงตากันไปเลยนะคะ ^________^
1
7. พูดอย่างอ่อนโยน ละมุนละม่อม
คุณคิดว่า ระหว่างเนื้อหาและน้ำเสียงในการพูด
ส่วนไหนมีความสำคัญและส่งผลต่อผู้ฟังมากกว่ากัน?
อัลเบิร์ต เมห์ราเบียน นักจิตวิทยาท่านหนึ่ง ได้ทำการทดลองและค้นพบทฤษฎีว่า
เนื้อหาของคู่สนทนามีผลเพียง 7% เท่านั้น
อารมณ์จากน้ำเสียงของผู้พูดหรือลักษณะน้ำเสียงมีผล 38%
ส่วนสีหน้าท่าทางที่มองเห็นได้มีผลสูงถึง 55%
ทฤษฎีนี้แสดงให้เห็นว่า วิธีการ ที่ 5 เรื่องการใช้ภาษากาย และ 6 เรื่องการยิ้ม มีผลอย่างมากในการสนทนา
8. การสร้างความสัมพันธ์แบบต่างฝ่ายต่างได้ประโยชน์ ( win - win )
ความสัมพันธ์ทุกรูปแบบ หากจะยืนยาวจำเป็นต้องมีค่านิยมที่สอดคล้อง หรือเติมเต็มกันและกัน
บางคนอาจจะให้ค่ากับการทำงานหาเงินและความก้าวหน้า
บางคนอาจจะให้ค่ากับการใช้เวลาและสังสรร
คนเป็นพ่อมักจะให้ค่ากับการงานและเงินที่ต้องใช้ในครอบครัว
คนเป็นแม่มักจจะให้ค่ากับลูกก่อนแล้วจึงตามมาด้วยเรื่องแฟชั่นและความงามในตัวเอง
ซึ่งก็ไม่ได้แปลว่าใครดีกว่าหรือแย่กว่า เพียงแต่ว่า ทุกคนมีค่านิยมที่ต่างกันออกไป
หากเราอยากรักษาความสัมพันธ์กับอีกฝ่ายให้ยืดยาว แม้ว่าจะมีค่านิยมต่างกัน
เราอาจจะต้องหาจุดเชื่อมหรือหาจุดเติมเต็มให้กันและกัน
win - win จึงเป็นความสัมพันธ์ที่ได้ประโยชน์กันทั้งสองฝ่าย ด้วยการให้ความสนใจกับสิ่งที่อีกฝ่ายสนใจหรือให้ความสำคัญ
ถ้าหากเราสามารถมีความสัมพันธ์เช่นนี้ได้
จะไม่ได้เป็นแค่อยู่ด้วยแล้วสบายใจ
แต่จะเป็นคนที่ เขาอยากจะอยู่ด้วย !
9. มีเวลาให้ตัวเองได้ปล่อยใจให้ว่าง
ในวิธีนี้ คุณคุมิยะอาจจะเน้นเรื่องการทำสมาธิ
การทำสมาธินั้นไม่ได้มีแค่การนั่งสมาธิแบบที่เราทำตอนเป็นเด็กที่โรงเรียนในวัยประถมเท่านั้น
แต่ยังมีวิธีการอีกหลากหลายมากที่จะใช้เพื่อทำสมาธิ
เช่นการสูดลมหายใจเข้า-ออก ช้าๆ การเดิน การยืน การนั่ง ทำสมาธิระหว่างล้านจาน แต่งหน้า ทำความสะอาดบ้าน หรืองานศิลปะสักชิ้น ล้วนเป็นการทำสมาธิทั้งนั้น
ผลที่ได้จากการนั่งสมาธิ
- งานวิจัยพบว่า คนที่ฝึกนั่งสมาธิ 8 สัปดาห์มีอารมณ์ด้านลบลดน้อยลง มีความสงบมากขึ้น มีความรู้สึกสงบและอารมณ์ด้านบวกทำงานได้ดีขึ้น
- มีการทดลองการทำสมาธิกับคู่แต่งงาน โดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มที่ทำสมาธิและไม่ได้ทำ ผลพบกว่า คู่ที่ทำ มีความพึงพอใจกับชีวิตแต่งงานและสนิทสนมกันมากขึ้น
- การวินิจฉัยในกลุ่มโรควิตกกังวล ทำให้พวกเขาเศร้าและกังวลน้อยลง
- การทดลองกับผู้ป่วยโรคมะเร็ง ที่ทำสมาธิทุกวัน พบว่าความไม่สบายใจ ความเศร้าโศก และความเครียด ของพวกเขา ลดน้อยลง
- งานวิจัยอีกชิ้นได้สรุปว่า ผู้ที่ทำสมาธิ ป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่น้อยลงด้วย
กล่าวคือคนที่ทำสมาธิเป็นประจำ จะมีสุขภาพร่างกายและจิตใจที่ดีขึ้น
10. มีเวลาสำหรับการขอบคุณ
ตลอดเล่มของหนังสือเล่มนี้มักจะพูดเรื่องการ 'ขอบคุณ' เสมอ
การขอบคุณที่เป็นนิสัย การขอบคุณให้บ่อย การขอบคุณจากใจจริง การเขียนบันทึกคำขอบคุณในทุกๆวัน
การทำเช่นนี้นอกจากจะทำให้ความสัมพันธ์กับคนรอบข้างดีขึ้นแล้ว
ยังช่วยให้นอนหลับได้อย่างสบายใจอีกด้วย
เราไม่เพียงแต่จะต้องขอบคุณคนที่ทำดีกับเรา
แต่เราจำเป็นต้องให้อภัยคนที่ทำร้ายเราด้วยการขอบคุณพวกเขาเช่นกัน
เป็นเรื่องยากใช่มั้ยคะ...
แต่ก็เป็นเรื่องที่จำเป็นต้องทำ
เราไม่ได้ทำเพื่อเขา...แต่เราทำเพื่อตัวเราเองค่ะ
ขอบคุณและยกโทษ
เพื่อตัวเราเอง
เราอาจจะไม่เข้าใจว่าทำไมจะต้องให้อภัย
แต่การเก็บความโกรธแค้นเอาไว้ ก็มีแต่จะทำร้ายตัวเราเอง
คนที่ทำให้เราเจ็บปวดหรือทำร้ายเรานั้น เขากลับมีชีวิตที่สุขกาย สบายใจ
แล้วเราจะจมอยู่กับความโกรธแค้นแล้วเต็มไปด้วยกลิ่นอายของความแค้นเคืองอย่างนั้นหรือเปล่า...
มันเป็นเรื่องยากมากๆ
แต่ขอให้ระลึกว่า บางครั้งความเจ็บปวดพวกนั้น
ก็เป็นโอกาส ประสบการณ์ ที่ผ่านเข้ามาให้เราได้เติบโตขึ้น แข็งแกร่งขึ้น
ลองนึกถึงสิ่งที่ดีที่เราได้รับจากเหตุการณ์ที่ทำให้เจ็บปวด
แล้วกล่าวขอบคุณดูสักครั้ง
การขอบคุณอาจจะไม่ได้เปลี่ยนสถานการณ์
แต่การขอบคุณได้เปลี่ยนหัวใจของเรา
เนื้อหาจากหนังสือ คนแบบไหน อยู่ด้วยแล้วสบายใจ คนแบบไหน อยู่ด้วยแล้วเพลีย
ผู้เขียน Komiya Noburu
ผู้แปล จิตรลดา มีเสมา
บทความ panpanmeme
ขอบคุณเพื่อนๆ สำหรับการติดตามและการสนับสนุนค่ะ : )

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา