16 เม.ย. 2022 เวลา 12:07 • สุขภาพ
“อย่าใช้จอเลี้ยงลูก”
การเลี้ยงลูกของคนในปัจจุบันย่อมต่างจากคนในอดีต อย่างน้อยก็มีเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่พัฒนาอย่างรวดเร็ว และคนส่วนใหญ่เข้าถึงได้ แทบทุกบ้านต้องมีโทรศัพท์มือถือ ส่วนใหญ่โทรศัพท์มือถือสมัยนี้ก็เป็นสมาร์ตโฟนกันทั้งนั้น บางบ้านมีแท็บเล็ตอีก ผู้ใหญ่ก็สามารถเปิดคลิปวิดิโอต่าง ๆ ให้เด็กดูได้ เปิดรายการในทีวีให้เด็กดู เด็กโตขึ้นมาหน่อยก็ให้เล่นเกมด้วย ซึ่งถือเป็นวิธีการทำให้เด็กอยู่นิ่ง ไม่ให้มากวนเวลาผู้ใหญ่ต้องทำงาน หรือทำงานบ้าน นอกจากนี้บางคนให้เด็กเล็กดูคลิปภาษาอังกฤษ เพื่อหวังให้พูดได้ 2 ภาษาตั้งแต่เด็ก ๆ
จากที่กล่าวไป ฟังดูดี แต่ในความเป็นจริงนั้น ไม่ได้ดีอย่างที่หลาย ๆ คนคิด เพราะการดูจอนาน ๆ มีผลกระทบต่อพัฒนาการ และการพัฒนาของสมองของเด็ก
พัฒนาการสามารถแบ่งออกเป็น 4 ด้านหลัก ๆ ได้แก่
1. การเคลื่อนไหวด้วยกล้ามเนื้อมัดใหญ่ (Gross motor)
2. การใช้กล้ามเนื้อมัดเล็ก (Fine motor)
3. ภาษา (Language)
4. การช่วยเหลือตนเอง และสังคม (Personal-Social)
การดูจอนาน ๆ ในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ ทำให้เกิดพัฒนาการล่าช้าได้ เด็กบางคนอาจมีปัญหาล่าช้าเพียงด้านเดียว บางคนมีหลายปัญหาหลายด้าน ถ้าไม่ได้รับการแก้ไข ปล่อยไว้เรื่อย ๆ สุดท้ายเด็กก็จะมีปัญหาในการใช้ชีวิต ปัญหาการเรียน และปัญหาการเข้าสังคม ดังนั้น ในการเลี้ยงเด็ก ควรจำกัดระยะเวลาการดูจอ อย่าให้มากเกินไปในแต่ละวัน
การดูจอส่งผลกระทบต่อพัฒนาการอย่างไร?
1. ด้านการใช้กล้ามเนื้อมัดใหญ่ (Gross motor)
พัฒนาการด้านนี้จะเกี่ยวกับการใช้หัว คอ แขน ขา เช่น ชูคอ ดันอกขึ้น นั่ง ยืน เดิน วิ่ง เตะบอล ขว้างบอล กระโดด ทรงตัวบนขาข้างเดียว เป็นต้น
ถ้าให้เด็กใช้เวลาไปกับการดูจอวันละหลายชั่วโมง เด็กจะไม่ได้ขยับเคลื่อนไหวร่างกายมาก ทำให้กล้ามเนื้อมัดใหญ่ถูกใช้งานน้อย กล้ามเนื้อก็จะไม่แข็งแรงมากพอที่จะเคลื่อนไหวได้มากขึ้น เช่น อายุ 2 ขวบครึ่งเดินได้คล่อง แต่ยังเตะบอลไม่ได้ อาจเป็นเพราะกล้ามเนื้อยังไม่แข็งแรงมากพอ หรือเด็กยังไม่เคยได้มีโอกาสได้ลองทำ เพราะวัน ๆ ไม่ได้ออกไปเล่น นั่งดูแต่คลิปในโทรศัพท์มือถือหรือแท็บเล็ต
2. ด้านการใช้กล้ามเนื้อมัดเล็ก (Fine motor)
พัฒนาการด้านนี้จะเกี่ยวกับการใช้มือและนิ้วมือ ในการหยิบจับสิ่งของ และจับดินสอขีดเขียนวาดรูป
ถ้าให้เด็กใช้เวลาไปกับการดูจอวันละหลายชั่วโมง เด็กก็จะมีโอกาสได้หยิบจับของเล่นน้อยลง ได้จับดินสอวาดรูประบายสีน้อยลง ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อมัดเล็กก็จะไม่ถูกเสริมสร้างอย่างดีนัก ซึ่งการใช้มือและนิ้วเป็นสิ่งสำคัญในการดำเนินชีวิตในแต่ละวัน โตขึ้นมา เด็กต้องหยิบแปรงสีฟันมาแปรงฟันเอง จับช้อนตักอาหารเข้าปาก จับดินสอเขียนหนังสือตอนเรียน
3. ด้านภาษา (Language)
การดูคลิปวิดีโอต่าง ๆ ถึงแม้ในคลิปจะมีรูปภาพประกอบ แต่สิ่งที่ขาดไป คือ รูปปากที่พูดคำต่าง ๆ ออกมา อีกทั้งหลายคลิปมีการพูดประโยคที่ยาวเกินไปและพูดค่อนข้างเร็วสำหรับเด็ก ดังนั้นการเรียนรู้ภาษาจากคลิปวิดีโอจะทำให้เด็กได้ภาษาช้า ได้คำศัพท์นำมาพูดได้น้อย และคำบางคำที่เด็กพูดเลียนแบบนั้นเด็กเองอาจจะไม่ได้เข้าใจจริง ๆ แต่พูดได้เพราะได้ยินบ่อย โดยเฉพาะคำหยาบ ดังนั้นเวลาเปิดคลิปวิดีโอให้เด็ก ๆ ดู ผู้ใหญ่ควรนั่งดูด้วย เพื่อสอน เมื่อมีสิ่งที่ไม่ดีเกิดขึ้น เช่น พฤติกรรมไม่เหมาะสม การใช้ภาษาไม่สุภาพ เป็นต้น
4. ด้านการช่วยเหลือตนเอง และด้านสังคม (Personal-Social)
การช่วยเหลือตนเองส่วนหนึ่งมีความสัมพันธ์กับพัฒนาการทั้ง 3 ด้านที่กล่าวมา เช่น ตักอาหารกินเอง ถอดและใส่เสื้อผ้า แปรงฟัน บอกความต้องการ เป็นต้น
ส่วนด้านสังคมก็ได้รับผลกระทบจากการดูจอนาน ๆ เหมือนกัน เพราะเด็กก็จะมีปฏิสัมพันธ์กับคนน้อยลง มีโอกาสได้เล่นของเล่นน้อย ไม่ค่อยได้ออกไปเล่นกับเพื่อน อาจจะทำให้เด็กไม่รู้จักวิธีการเข้าสังคม ไม่รู้ว่าต้องทำตัวอย่างไรบ้าง เมื่อเจอคนประเภทต่าง ๆ ไม่รู้ว่าจะเล่นกับเด็กคนอื่นอย่างไร นอกจากนี้สื่อ ไม่ว่าจะเป็นวิดีโอหรือเกม ถ้ามีเนื้อหาเกี่ยวกับการใช้ความรุนแรง ก็อาจจะส่งผลต่อพฤติกรรมและการแสดงออกทางอารมณ์ของเด็กได้ อาจทำให้มีความก้าวร้าวขึ้นมา หรือไปทำร้ายผู้อื่น
เมื่อทราบผลกระทบจากการดูจอนาน ๆ ในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบแล้ว ก็จะต้องปรับเปลี่ยนวิธีการเลี้ยงเด็ก ต้องให้เด็กได้เล่นเยอะ ๆ ได้ออกไปวิ่งเล่น ได้วาดรูประบายสี และผู้ใหญ่ต้องให้เวลาแก่เด็กเยอะ ๆ พูดด้วยเยอะ ๆ แต่ไม่ต้องยาว พูดช้า ๆ ชัด ๆ ลงไปเล่นด้วย อ่านหนังสือนิทานให้ฟัง และสิ่งสำคัญอีกอย่าง คือ การจำกัดระยะเวลาการดูจอ
ในปี 2019 องค์การอนามัยโลกได้ออกมาบอกเกี่ยวกับการจำกัดระยะเวลาการดูจอในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ ใน Guidelines on physical activity, sedentary behavior and sleep for children under 5 years of age ดังนี้
"เด็กทารกอายุต่ำกว่า 2 ขวบ ไม่แนะนำให้ดูจอเลย"
"เด็กอายุ 2-5 ขวบ ให้ดูจอได้ไม่เกิน 1 ชั่วโมงต่อวัน"
Reference & Further reading
- American Optometric Association. New WHO guidance: very limited daily screen time recommended for children under 5. 2019 [cited 2022 April 16]. Available from: https://www.aoa.org/news/clinical-eye-care/public-health/screen-time-for-children-under-5?sso=y
- Madigan S, Browne D, Racine N. Association between screen time and children’s performance on a developmental screening test. JAMA Pediatr. 2019;173(3):244-250. doi: 10.1001/jamapediatrics.2018.5056.
- Veraksa N, Veraksa A, Gavrilova M, Bukhalenkova D, Oshchepkova E, Chursina A. Short- and long-term effects of passive and active screen time on young children’s phonological memory. Front Educ. 2021;6:600687. doi: 10.3389/feduc.2021.600687.
- World Health Organization. To grow up healthy, children need to sit less and play more. 2019 [cited 2022 April 16]. Available from: https://www.who.int/news/item/24-04-2019-to-grow-up-healthy-children-need-to-sit-less-and-play-more
โฆษณา