17 เม.ย. 2022 เวลา 05:24 • เพลง & ซีรีส์ เกาหลี
รู้จัก 88rising ค่ายที่พา MILLI ไป Coachella
12
เมื่อไม่กี่ชั่วโมงมานี้ หลายคนคงได้เห็นสาว MILLI ขึ้นเวที Coachella อย่าง “สุดปัง” พร้อมกับข้าวเหนียวมะม่วง และวลี “คนไทยไม่ได้ขี่ช้าง” ไปแล้ว
และค่ายที่พาสาวไทยมากความสามารถคนนี้ ไปเหยียบเวทีระดับโลก ก็คือ 88rising
7
ซึ่งนอกจาก MILLI แล้ว 88rising ก็ยังได้ยกทัพศิลปินเอเชียอีกหลายคน มาเหยียบเวทีระดับโลกนี้
ไม่ว่าจะเป็น NIKI, Hikaru Utada, Jackson Wang ไปจนถึงการสร้างความเซอร์ไพรส์ให้กับแฟน ๆ อย่างการพาสาว ๆ 2NE1 มาขึ้นเวทีแบบทั้งวง
4
และนี่ก็ไม่ถือว่าเป็นครั้งแรก เพราะหากดูผลงานที่ผ่าน ๆ มา ก็เรียกได้ว่า เป็นค่ายที่ยกระดับความเป็นสากล ให้กับศิลปินชาวเอเชียจำนวนมาก
อย่างผลงานเพลง “The Weekend (Remix)” จาก BIBI ศิลปินเกาหลีใต้ร่วมกับ MILLI แรปเปอร์สาวไทย
3
หรือจะเป็นเพลง “Lover Boy 88” ของคุณภูมิ วิภูริศ ในเวอร์ชันที่นำมาทำดนตรีใหม่ และได้ Higher Brothers วงฮิปฮอปจากจีนมาร่วมแรป ช่วยให้เพลงนี้สนุกขึ้นไปอีก 88%
7
ซึ่งคุณ Sean Miyashiro ผู้ร่วมก่อตั้ง ยังได้เปรียบเทียบว่าค่ายเพลงของพวกเขา คือ “The Disney of Asian Hip-Hop” และยังนำโมเดลธุรกิจจาก Disney มาใช้เป็นต้นแบบอีกด้วย
3
แล้วค่ายเพลงฮิปฮอปจะนำโมเดลธุรกิจ จากอาณาจักรแห่งจินตนาการมาใช้ได้อย่างไร ?
และเรื่องราวของ 88rising จะน่าสนใจขนาดไหน ? ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟัง
1
ก่อนอื่น เรามาดูถึงความแข็งแกร่งของ 88rising กันก่อนดีกว่าค่ะ
88rising เป็นบริษัทสื่อ ครอบคลุมทั้งการผลิตวิดีโอ การตลาด การจัดการศิลปิน และค่ายเพลง
โดยมีเป้าหมายในการส่งเสริมวัฒนธรรมเอเชียเข้าสู่กระแสหลักของโลก
6
โดยเบื้องหลังความสำเร็จก็คงต้องยกให้กับ 2 ผู้ก่อตั้งที่ชื่อว่า คุณ Sean Miyashiro และคุณ Jaeson Ma
 
ซึ่งเดิมที 88rising เริ่มต้นจากการเป็นกลุ่มดนตรีและบริษัทจัดการศิลปินหน้าใหม่ที่คุณ Sean Miyashiro เห็นว่ามีแววหรือค้นพบผ่านทางอินเทอร์เน็ต ในชื่อว่า “CXSHXNLY” ก่อตั้งขึ้นเมื่อเดือนกรกฎาคม ปี 2015
3
ก่อนที่บริษัทจะอัปโหลดวิดีโอแรกของพวกเขาบน YouTube ในชื่อช่อง “88rising” ในเดือนพฤษภาคม ปี 2016
2
โดยเหตุผลเบื้องหลังชื่อ 88rising มาจากความหมายของเลข 88 ซึ่งคล้ายกับตัวอักษรในภาษาจีน ที่สื่อถึง “ความสุขทวีคูณ”
ต่อมา 88rising ก็เริ่มมีศิลปินที่หลากสไตล์มากขึ้น สร้างสรรค์ผลงานเพลงออกมาหลายแนว ไม่ว่าจะเป็น Hip-Hop, Pop, R&B ไปพร้อมกับการโปรโมตและเน้นย้ำถึงความเป็นเอเชีย
1
เริ่มตั้งแต่วิดีโอแรกที่ถูกปล่อยออกมาภายใต้ชื่อ 88rising คือ เพลง “Panda” จากศิลปิน Desiigner ซึ่งถ่ายทำมิวสิกวิดีโอที่ศาลเจ้าพร้อมคำบรรยายเนื้อเพลงภาษาจีน
5
ตามมาด้วยเพลง “Dat $tick” จาก Rich Brian แรปเปอร์ชาวอินโดนีเซีย ที่กลายเป็นไวรัลดังบนโลกออนไลน์ ด้วยมิวสิกวิดีโอที่เขาสวมใส่เสื้อโปโลสีชมพูและกระเป๋าคาดเอว ขัดกับบุคลิก เสียงร้อง และเนื้อเพลง
7
อีกทั้งยังมี Higher Brothers กลุ่มฮิปฮอปจากจีนแผ่นดินใหญ่กลุ่มแรก ๆ ที่ประสบความสำเร็จในระดับนานาชาติ
2
โดยพวกเขามักจะยกย่องวัฒนธรรมจีนและผสมผสานภาษาจีนกลาง ภาษาถิ่นเสฉวน และภาษาอังกฤษ เข้าไปในเนื้อเพลง เช่น เพลง “Made in China” และเพลง “WeChat”
1
หรือจะเป็นศิลปินแนว R&B อย่าง Joji ลูกครึ่งญี่ปุ่น-ออสเตรเลีย ซึ่งเคยเป็นที่รู้จักในฐานะ Filthy Frank และ Pink Guy ใน YouTube ที่เคยสร้างเสียงฮือฮาจากคลิปการเต้น Harlem Shake จนทำให้หลายคนไม่เชื่อในความสามารถทางด้านดนตรีของเขา
2
จนกระทั่งในปี 2018 เมื่อ Joji ปล่อยอัลบั้ม Ballads 1 เขาก็กลายเป็นหนึ่งในนักร้อง R&B ที่ได้รับคำชมมากที่สุดในขณะนั้น อีกทั้งเพลงในอัลบั้มอย่าง “Slow Dancing in the Dark” ได้ขึ้นชาร์ต Billboard อันดับที่ 96
2
ถือเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จที่ทางค่ายสามารถผลักดันนักร้องเอเชียสู่ตลาดโลกได้
1
ที่น่าสนใจคือ 88rising ยังมีโปรเจกต์พิเศษ ให้ศิลปินในค่ายออกอัลบั้มร่วมกันในชื่ออัลบั้ม “Head In The Clouds” ซึ่งก็เป็นอีกครั้งที่ค่ายประสบความสำเร็จอย่างมาก
1
ต่อยอดไปถึงการจัดงานเฟสติวัล Head In the Clouds ที่ลอสแอนเจลิส ในปี 2018 สร้างประวัติศาสตร์เป็นเทศกาลแรกในสหรัฐฯ ที่มีศิลปิน Headliner จากเอเชียทั้งหมด และมีผู้เข้าร่วมมากถึง 10,000 คนเลยทีเดียว ก่อนจะเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณในปีถัดมา
2
แต่เรื่องราวความสำเร็จก็ไม่ได้มีเพียงเท่านี้ เพราะ ​​88rising ก็ได้ไปร่วมมือกับ Guess แบรนด์แฟชั่นสัญชาติอเมริกันที่ทำงานร่วมกับคนดังในแวดวงฮิปฮอปมาอย่างยาวนาน
โดยเปิดตัวคอลเลกชัน “GUESS Rising” ซึ่งขายหมดภายใน 20 นาที และยังเป็นครั้งแรกที่ Guess ได้ร่วมมือกับศิลปินชาวเอเชียอีกด้วย
1
ต่อมาในปี 2021 88rising ยังได้ไปจับมือกับ Marvel ร่วมทำเพลงประกอบในภาพยนตร์ซูเปอร์ฮีโรชาวเอเชีย อย่าง Shang-Chi and The Legend of The Ten Rings
1
และล่าสุด กับโปรเจกต์ใหญ่ของค่ายในชื่อ Double Happiness: Global Digital Festival เทศกาลดนตรีดิจิทัลระดับโลก รวม 14 ศิลปินดังจากเอเชีย เช่น Jackson Wang, Mino ซึ่งมีศิลปินไทยอย่าง MILLI และ Youngohm อยู่ในรายชื่อด้วย
6
ซึ่งโปรเจกต์ที่ว่านี้ได้ถ่ายทอดสดให้รับชมฟรี ผ่านทางออนไลน์พร้อมกันทั่วโลก พร้อมทั้งเปิดรับเงินระดมทุนบริจาคแก่ Asian Mental Health Collective มูลนิธิสุขภาพจิตแห่งเอเชีย
3
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ทำให้ 88rising มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว นอกจากเรื่องดนตรีแล้ว ยังเป็น “โมเดลธุรกิจ”
โดยคำถามสำคัญของเรื่องนี้ที่ว่า ทำไม 88rising ถึงนำ Disney บริษัทที่ดูจะไม่เกี่ยวข้องกัน มาเป็นต้นแบบทางธุรกิจ ?
2
สำหรับคำตอบของเรื่องนี้ ก็ตามที่กล่าวไปก่อนหน้านี้ว่า 88rising มีเป้าหมายที่จะสร้างตัวตน และเผยแพร่วัฒนธรรมเพลงเอเชียไปสู่ชาวตะวันตกและทั่วโลก
2
ซึ่งถ้าเรามองลึกไปที่พันธกิจหลักของ Disney นั่นก็คือ “เป็นบริษัทด้านความบันเทิงชั้นนำของโลก ผ่านการเล่าเรื่องที่ให้ความบันเทิง และสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้คนทั่วโลก”
1
เมื่อนำมาเทียบกับพันธกิจของ 88rising ที่ว่า “สนับสนุนครีเอทิฟชาวเอเชียให้ได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ สร้างความหลากหลาย เชื่อมโยงช่องว่างระหว่างดนตรีผ่านบทเพลง และเผยแพร่ความเป็นเอเชียไปทั่วโลก” ก็จะพบว่าสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน
1
ดังนั้น เมื่อ Disney ใช้โมเดลการผลิตเนื้อหาสื่อครอบคลุมตั้งแต่ เนื้อหาความบันเทิง, ข่าว, กีฬา และอีกมากมาย
88rising จึงมีการผลิตสื่อที่หลากหลายอย่างสร้างสรรค์ ไม่ว่าจะเป็น แนวเพลง ช่องทางสื่อ ไปจนถึงเรื่องราวไลฟ์สไตล์ที่ศิลปินอยากจะลองทำ ไม่ต่างกัน
อย่างในช่อง YouTube หลักของค่าย ก็ได้อัปโหลดเนื้อหาที่นอกเหนือจากดนตรี เช่น “Eighty ATE” รายการเจาะลึกแง่มุมอาหารเอเชีย หรือ “88 Stories” รายการเกี่ยวกับวิถีชีวิตพื้นเมืองคนเอเชีย เป็นต้น
6
และจากจุดนี้เองที่ทำให้ 88rising มองว่า Disney เป็นแบบอย่างสู่การพัฒนา รวมถึงนิยามตนเองว่า “The Disney of Asian Hip-Hop” นั่นเอง
แล้วอะไรที่ทำให้ 88rising ก้าวเข้ามาอยู่ในสื่อกระแสหลักได้ ? เราลองมาดูที่กลยุทธ์ของพวกเขากันสักนิด
3
แน่นอนว่า 88rising “สร้างตัวตนที่ชัดเจน” ตั้งแต่การรักษาวิสัยทัศน์ที่หนักแน่น เรื่องการเผยเเพร่ความเป็นเอเชียไปสู่ทั่วโลก ไปจนถึงการสร้างบุคลิกภาพองค์กรอย่าง บุคลิกสนุกสนานและเข้าถึงได้ รวมถึงแฟชั่นเสื้อผ้า สไตล์ต่าง ๆ ที่สร้างการจดจำว่านี่คือ 88rising เท่านั้น
2
กลยุทธ์ต่อมาคือ “สร้างการเชื่อมต่อกับแฟนคลับ” โดยเปิดโอกาสให้แฟน ๆ ได้มีส่วนร่วมในเรื่องต่าง ๆ เช่น แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเพลงใหม่ หรือการวางแผนทัวร์คอนเสิร์ต
5
รวมถึงสร้างฐานแฟนคลับที่เหนียวแน่น ไม่ว่าจะเป็นการปล่อยฟุตเทจเบื้องหลังของศิลปิน ตอบโต้กับแฟนคลับผ่าน Twitter และสนับสนุนให้แฟน ๆ ทำเพลงคัฟเวอร์บน TikTok
1
โดยกลยุทธ์ที่ว่านี้ นอกจากจะสร้างรากฐานแฟนคลับให้แข็งแกร่งแล้ว 88rising ยังสามารถพึ่งพาอิทธิพลของเครือข่ายทางสังคมของเหล่าแฟนคลับ ช่วยโปรโมตเพลง ซึ่งอาจเพิ่มฐานผู้ฟังไปในตัว
1
และอีกหนึ่งกุญแจแห่งความสำเร็จ ก็คือ “ช่องทางการติดตาม” โดย 88rising เลือก YouTube เป็นช่องทางการตลาด และช่องทางการจัดจำหน่ายหลัก
1
เนื่องจาก 88rising มองว่า YouTube เป็นแพลตฟอร์มที่ช่วยให้เนื้อหาของพวกเขา แพร่กระจายไปทั่วโลกได้อย่างรวดเร็ว
1
อีกทั้งการโปรโมตศิลปินในค่ายผ่านโซเชียลมีเดียส่วนกลางและช่อง YouTube เดียวกัน จะช่วยให้ศิลปินหน้าใหม่ได้รับประโยชน์จากการปรากฏตัวของศิลปินรายใหญ่ดั้งเดิมอีกด้วย
1
อ่านมาถึงตรงนี้ เราคงได้เห็นเรื่องราวที่น่ายินดี ของการผลักดันศิลปินเอเชียเข้าสู่ตลาดโลกได้สำเร็จของ 88rising กันบ้างแล้ว
นอกจากนี้ ยังทำให้เราได้เห็นอีกว่า โลกในปัจจุบันเปิดกว้างและยอมรับศิลปินชาวเอเชียมากขึ้น โดยไม่สำคัญว่าศิลปินจะเป็นคนเชื้อชาติไหนหรือพูดภาษาอะไร
2
สำคัญที่พวกเขาสามารถผลิตผลงานคุณภาพออกมาได้หรือไม่ต่างหาก..
2
โฆษณา