17 เม.ย. 2022 เวลา 13:25 • การศึกษา
[ตอนที่ 61] “ภาษาต่างประเทศนอกกระแสความนิยมในไทย” ที่ “หนุ่มมาเก๊า” สนใจ (ตอนแรก : ภาษาตะวันออก 3 ภาษา)
เนื่องจากเครือข่ายเจ้าของบล็อกและเพจสายภาษาต่างประเทศที่ผมเป็นสมาชิกอยู่ มีกิจกรรมร่วมกัน โดยให้สมาชิกในเครือข่ายร่วมเขียนบทความในประเด็นกว้าง ๆ เรื่อง “ภาษาต่างประเทศ/ภาษาที่ 3 ในมุมมองของแต่ละบล็อก/เพจ” ในแบบปลายเปิด แล้วแต่เจ้าของบล็อกหรือเพจแต่ละคนเลือกหัวข้อ
เนื้อหาตอนแรกนั้น ทางบล็อก Phyblas ได้ประเดิมเขียนไว้ในเรื่อง “私と日本語との出会いの話 - เมื่อครั้งที่เราได้รู้จักภาษาญี่ปุ่น” สามารถอ่านได้ที่นี่
สำหรับในบล็อก “หนุ่มมาเก๊า” ผมจะเขียนในเรื่อง “ภาษาต่างประเทศนอกกระแสความนิยมในไทยที่สนใจ” ในประเด็นต่อไปนี้
- แรงจูงใจที่ทำให้ผมหันมาสนใจภาษานี้
- เคยเรียนหรือเรียบเรียงเนื้อหาถึงภาษานี้หรือไม่
- "อุปสรรค” หรือ “ความบั่นทอน” ต่อความสนใจในภาษานั้นที่เจอ
จากความคิดเห็นส่วนตัวของเจ้าของบล็อก ที่พิจารณาภาษาที่มีการเรียนการสอนตามศูนย์ภาษา โรงเรียนสอนภาษา มหาวิทยาลัย หรือใช้ในธุรกิจในประเทศไทยอยู่มาก ภาษาต่างประเทศพวก “ภาษาที่ 3” ที่ได้รับความนิยมในประเทศไทย ได้แก่...
- ภาษาตะวันออก : ภาษาญี่ปุ่น ภาษาเกาหลี ภาษาจีนกลาง
- ภาษาตะวันตก : ภาษาฝรั่งเศส ภาษาเยอรมัน ภาษาสเปน ภาษารัสเซีย
สำหรับภาษาที่ผมเลือกจะกล่าวถึงนั้น จะแบ่งเป็นภาษาตะวันออก-ภาษาตะวันตก อย่างละ 3 ภาษา เพื่อให้สอดคล้องกับธีม “ประตูสู่ภาษา-วัฒนธรรมทั้งโลกตะวันตก-ตะวันออก” ของบล็อกแห่งนี้ ในตอนนี้จะกล่าวถึงภาษาตะวันออกก่อน ภาษาตะวันออกที่ผมเลือกมา ได้แก่...
- ภาษาอินโดนีเซีย
- ภาษาเวียดนาม
- ภาษาฮินดี
ส่วนภาษาตะวันตกนั้น ผมจะกล่าวถึงในเนื้อหาตอนต่อไปครับ
[1. ภาษาอินโดนีเซีย]
หนังสือเรียนภาษาอินโดนีเซียด้วยตนเองที่ผมใช้ และเอกสารประกอบการเรียนในคอร์สภาษาอินโดนีเซียแบบเร่งรัด 1 วัน ที่ผมลงเรียนที่ห้องสมุดท้องถิ่นบนเกาะบาหลี
1.1 แรงจูงใจที่ทำให้ผมหันมาสนใจภาษานี้
- กลุ่มประเทศที่ใช้ภาษามลายู และบทบาททางเศรษฐกิจของอินโดนีเซีย:
ในกลุ่มประเทศ ASEAN มีประเทศ 4 ประเทศที่ใช้ภาษามลายูเป็นภาษาทางการ คือ มาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ และบรูไน ประชากร 4 ประเทศนี้รวมกันมากกว่า 300 ล้านคน หรือเกือบครึ่งหนึ่งของประชากรภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (มากกว่า 650 ล้านคน) และประเทศอินโดนีเซียก็เป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในภูมิภาค (ไปตามจำนวนประชากร)
ผมเลยมองว่าหากพอรู้ภาษามลายูติดตัวบ้าง ไม่ว่าจะเป็นภาษามลายูที่ใช้ในฝั่งมาเลเซีย-สิงคโปร์-บรูไน หรือภาษาอินโดนีเซีย (ภาษามลายูฝั่งอินโดนีเซีย) น่าจะช่วยค้นข้อมูลข่าวสารหรือเนื้อหาต่าง ๆ ในภูมิภาคนี้ได้ดีขึ้น
- วงการดาราศาสตร์ :
เนื่องจากงานหลักของผมเป็นงานด้านดาราศาสตร์ ซึ่งคนที่ผมรู้จักในสายนี้แถบ ASEAN ส่วนใหญ่ถ้าไม่นับไทยแล้วจะเป็นคนอินโดนีเซีย อีกทั้งอินโดนีเซียมีศักยภาพเป็นประเทศที่จะเติบโตจนมีบทบาทสำคัญในวงการดาราศาสตร์ระดับ ASEAN ควบคู่กับไทย
จากประสบการณ์ของผมแล้ว แม้ว่าการติดต่อกับคนรู้จักในวงการดาราศาสตร์ที่นั่นสามารถใช้ภาษาอังกฤษได้ แต่ถ้าใช้ภาษาอินโดนีเซียได้ จะช่วยเสริมให้การติดต่อประสานงานกันราบรื่น และอีกฝั่งเกิดความประทับใจกว่า
- วัฒนธรรมท้องถิ่น
ส่วนตัวผมชอบวัฒนธรรมพื้นเมืองของเกาะบาหลี (อย่างพวกสถาปัตยกรรม ดนตรีพื้นเมือง) และเพลงแบบดนตรีสมัยใหม่ที่ศิลปินในอินโดนีเซียนำดนตรีพื้นเมืองตามภูมิภาคต่าง ๆ เข้ามาประยุกต์ (ซึ่งอินโดนีเซียมีต้นทุนเรื่องความหลากหลายทางวัฒนธรรมท้องถิ่นตามเกาะต่าง ๆ อยู่แล้ว) จึงคิดว่าภาษาอินโดนีเซียน่าจะเป็น “ประตู” สู่ภาษาและวัฒนธรรมท้องถิ่นของอินโดนีเซียได้ดีขึ้น
ตัวอย่างเพลงแบบดนตรีสมัยใหม่ประยุกต์กับดนตรีพื้นเมืองอินโดนีเซีย ได้แก่ Janger persahabatan (หนึ่งในเพลงทางการของ Asian Games 2018 ที่อินโดนีเซียเป็นเจ้าภาพ)
Wonderland Indonesia ที่ศิลปิน Alffy Rev ประยุกต์ดนตรีพื้นเมืองในหลายภูมิภาคของอินโดนีเซียเข้ากับดนตรีแนว EDM และ Electropop
- ความง่ายในการเรียน (เมื่อเทียบกับการเรียนภาษาอื่น ๆ)
ในตอนนี้คิดว่าภาษาอินโดนีเซียเป็นภาษาที่ค่อนข้างเรียนง่าย เรื่องตัวอักษรนั้นไม่ต้องมาเริ่มเรียนตัวอักษรใหม่ แบบภาษาญี่ปุ่น-จีนกลาง-กัมพูชา-พม่า-ฮินดี-อาหรับ แต่ใช้อักษรโรมันเช่นเดียวกับภาษาอังกฤษ
ขณะที่เรื่องไวยากรณ์นั้น คำกริยาไม่ผันตามกาล (Tense) วุ่นวาย อย่าง Past-Perfect-Future แบบกลุ่มภาษาโรมานซ์ (สเปน โปรตุเกส ฝรั่งเศส อิตาลี) หรือกลุ่มภาษาเยอรมานิก (อังกฤษ เยอรมัน ดัตช์ พวกสแกนดิเนเวีย) ลองนึกถึงกริยา 3 ช่องของคำว่า “กิน” ในภาษาอังกฤษ (eat-ate-eaten)
คำกริยาภาษาอินโดนีเซียจะไปเน้น Prefix (การเติมคำที่ด้านหน้า), Suffix (การเติมคำที่ด้านหลัง) และการใช้คำบ่งชี้กาล โดยไม่ผันที่ตัวคำกริยาแทน เช่น กริยา baca "บาจา" = อ่าน และ buku “บูกู” = หนังสือ
ประโยคก็เรียงแบบ SVO (ประธาน-กริยา-กรรม) เหมือนภาษาไทย
1.2 เคยเรียนหรือเรียบเรียงเนื้อหาถึงภาษานี้หรือไม่?
เคยแต่ลงเรียนภาษาอินโดนีเซียขั้นต้นแบบเร่งรัด 1 วันที่ห้องสมุดท้องถิ่นในเกาะบาหลี ระหว่างออกทริปแบคแพคที่นั่นเมื่อปี ค.ศ.2018 ส่วนตอนนี้กำลังลงเรียนคอร์สเรียนภาษาอินโดนีเซียออนไลน์อยู่ครับ
ส่วนเรื่องเนื้อหาเกี่ยวกับภาษานี้ ยังไม่เคยเขียนลงบล็อกแห่งนี้เลย เคยเขียนแต่เรื่องเกร็ดประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมเกี่ยวกับชื่อเมืองในอินโดนีเซีย
- “นูซันตารา” จากชื่อเมืองหลวงใหม่ในอนาคตของอินโดนีเซีย สู่บริบททางภาษาและประวัติศาสตร์ของดินแดนหมู่เกาะเครื่องเทศ
- จาการ์ตา...เมืองใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กับชื่อเมืองที่มาจากภาษามลายู ภาษาสันสกฤต และภาษาดัตช์
1.3 อุปสรรค” หรือ “ความบั่นทอน” ต่อความสนใจในภาษานั้นที่เจอ
เนื่องจากความรู้ภาษาอินโดนีเซียของผมยังไม่มาก จึงยังไม่ทราบ “จุดยาก” ของภาษานี้ อีกทั้งโอกาสใช้งานภาษาอินโดนีเซียยังค่อนข้างน้อย คงต้องฝึกให้มีทักษะความรู้และมีโอกาสฝึกใช้ภาษานี้มากขึ้น
[2. ภาษาเวียดนาม]
หนังสือเรียนภาษาเวียดนามด้วยตนเองที่ผมใช้ กับสมุดจดบันทึกการเรียนภาษานี้ด้วยตนเอง
2.1 แรงจูงใจที่ทำให้ผมหันมาสนใจภาษานี้
- ประเทศจุดหมายที่เดินทางไปบ่อย
ผมเคยไปเวียดนามหลายครั้ง ทั้งการประชุม-อบรมวิชาการ และทริปแบคแพคแบบลุยเดี่ยว ครอบคลุมทั้งภาคเหนือ (ฮานอย) ภาคกลาง (เฮว้-ด่าหนัง-โห่ยอาน) และภาคใต้ (ญาจาง-ด่าหลัต-ฟานเที้ยต-นครโฮจิมินห์-ปากแม่น้ำโขง) เลยต้องอาศัยการอ่านภาษาเวียดนามระหว่างการเดินทางพอสมควร
- วงการดาราศาสตร์
คนที่ผมรู้จักในสายนี้แถบ ASEAN เป็นคนเวียดนามในจำนวนพอ ๆ กับคนมาเลเซีย และด้วยเหตุผลเดียวกับกรณีภาษาอินโดนีเซีย ที่แม้ว่าการติดต่อกับคนรู้จักในวงการดาราศาสตร์ที่นั่นสามารถใช้ภาษาอังกฤษได้ แต่ถ้าใช้ภาษาเวียดนามได้ จะช่วยเสริมให้การติดต่อประสานงานกันราบรื่น และอีกฝั่งเกิดความประทับใจกว่า
- ไวยากรณ์ภาษาเวียดนาม
ภาษาเวียดนามเป็นภาษาที่มีโครงสร้างประโยคแบบ SVO (ประธาน-กริยา-กรรม) และคำกริยาไม่มีการผันตามกาลและประธาน เหมือนภาษาไทยและภาษาอินโดนีเซีย ไวยากรณ์ภาษาเวียดนามตรงนี้จึงดูไม่ยุ่งยากแบบภาษาตะวันตกส่วนใหญ่ (อย่างภาษาอังกฤษ เยอรมัน ภาษาฝรั่งเศส ภาษาสเปน)
อย่างไรก็ตาม ภาษาเวียดนามคล้ายภาษาไทยตรงที่ใช้คำลักษณนามกำกับคำนาม เมื่อชี้เฉพาะถึงคำนามที่กล่าวถึง หากจะเรียนภาษาเวียดนาม อาจต้องจำคำลักษณนามชุดใหม่ในภาษานี้
2.2 เคยเรียนหรือเรียบเรียงเนื้อหาถึงภาษานี้หรือไม่?
ยังไม่เคยลงคอร์สเรียนภาษาเวียดนามแบบจริงจัง เคยเพียงแต่ฝึกภาษาเวียดนามเองผ่านแอปพลิเคชัน Duolingo ส่วนเนื้อหาเกี่ยวกับภาษาเวียดนามก็ยังไม่เคยเขียน
2.3 “อุปสรรค” หรือ “ความบั่นทอน” ต่อความสนใจในภาษานั้นที่เจอ
เรื่อง “การออกเสียง” ในภาษาเวียดนาม...เรื่องยากแต่ต้องเจอในช่วงแรกหากจะเรียนภาษาเวียดนาม แม้ว่าภาษาเวียดนามจะใช้อักษรโรมันในระบบการเขียนเช่นเดียวกับภาษาอังกฤษ
ภาษาเวียดนามมีเสียงวรรณยุกต์ 6 เสียง ขณะที่ภาษาไทยมีเสียงวรรณยุกต์ 5 เสียง
สระในภาษาเวียดนามที่มีค่อนข้างหลากหลาย และมีรูปเขียนไว้ทางด้านบนของสระเช่นเดียวกับวรรณยุกต์ ทำให้อ่านเสียงภาษาเวียดนามที่เขียนในอักษรโรมันแบบเดียวกับการอ่านภาษาอังกฤษไม่ได้
เสียงพยัญชนะในภาษาเวียดนาม ยังมีเสียงส่วนที่อ่านต่างจากภาษาอังกฤษ
สำหรับเรื่องการทับศัพท์เสียงในภาษาเวียดนาม ผมขอแนะนำเนื้อหาเรื่องนี้จากบล็อก Phyblas ซึ่งเป็นบล็อกเพื่อนบ้านสายภาษาครับ
[3. ภาษาฮินดี]
เอกสารฝึกการเขียนอักษรเทวนาครีที่ใช้ในภาษาฮินดี เรื่องการประสมพยัญชนะต้นกับสระ จากตอนที่ผมลงเรียนออนไลน์กับทางมหาวิทยาลัยในเกาหลีใต้
3.1 แรงจูงใจที่ทำให้ผมหันมาสนใจภาษานี้
- บทบาทของประเทศอินเดียในเวทีโลก
ประเทศอินเดียมีประชากรมากเป็นอันดับที่ 2 ของโลก ที่จำนวน 1.37 พันล้านคน (ขณะที่ประเทศจีนมีจำนวนประชากรมากเป็นอันดับที่ 1 ที่ 1.41 พันล้านคน) ซึ่งถือว่าจีนกับอินเดียมีประชากรใกล้เคียงกัน ซึ่งอินเดียกำลังเติบโตจนมีบทบาทสำคัญในเวทีโลก ไม่ว่าจะด้านการเมืองระหว่างประเทศ เศรษฐกิจ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
แม้ว่าจะมีคนอินเดียใช้ภาษาฮินดีเป็นภาษาแม่ประมาณ 341 ล้านคนก็ตาม แต่ภาษาฮินดีได้รับการประกาศเป็นภาษาราชการระดับชาติ เพื่อใช้ในการสื่อสารระหว่างคนอินเดียในภูมิภาคต่าง ๆ ดังนั้น คนอินเดียหลายคนก็ใช้ภาษาฮินดีเป็น “ภาษาที่ 2” ถัดจากภาษาแม่ในภูมิภาคของตน
ผมจึงคิดว่าหากต้องการค้นข้อมูลข่าวสารของทางอินเดียให้ได้ลึกขึ้น ก็ควรจะรู้ภาษาฮินดีในระดับพื้นฐานบ้างครับ
- อินเดียในฐานะรากฐานของอิทธิพลทางวัฒนธรรมสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เนื่องจากดินแดนแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้รับอิทธิพลจากอินเดียทั้งทางศาสนาและวัฒนธรรม หากต้องการศึกษาเรื่องวัฒนธรรมอินเดียในฐานะรากฐานอิทธิพลทางวัฒนธรรม หากพอรู้ภาษาฮินดีบ้างเพิ่มจากภาษาอังกฤษ จะช่วยให้ค้นข้อมูลได้ดีขึ้น
3.2 เคยเรียนหรือเรียบเรียงเนื้อหาถึงภาษานี้หรือไม่?
ผมเพิ่งเรียนคอร์สภาษาฮินดีพื้นฐานแบบออนไลน์กับทางมหาวิทยาลัยในประเทศไทยจบ เลยพออ่านอักษรเทวนาครีได้บ้างครับ (ในแบบภาษาฮินดี)
ส่วนเรื่องเนื้อหาเกี่ยวกับภาษานี้ เคยเขียนแต่เรื่อง “แนะนำภาพรวมของภาษาฮินดี” ครับ
3.3 “อุปสรรค” หรือ “ความบั่นทอน” ต่อความสนใจในภาษานั้นที่เจอ
คิดว่าเป็นเรื่องความยากของไวยากรณ์ภาษาฮินดีครับ ซึ่งยากและซับซ้อนกว่าภาษาในแถบ ASEAN (อย่างภาษาอินโดนีเซียและภาษาเวียดนาม) เนื่องจากคำนามในภาษาฮินดีมีเพศทางไวยากรณ์ (Grammatical gender) อยู่ 2 เพศ ได้แก่ คำนามเพศชาย และคำนามเพศหญิง
อีกทั้งคำนาม และคำคุณศัพท์ในภาษาฮินดียังผันตามเพศของคำนาม พจน์ (เอกพจน์-พหูพจน์) และการก (หน้าที่ของคำนามในประโยค) ซึ่งภาษาฮินดีมี 3 การก ได้แก่
Nominative case (กรรตุการก) – คำนามที่ผันจะเป็นประธานของประโยค
Oblique case (กรรมการ) – คำนามที่ผันจะเป็นกรรมของประโยค
Vocative case (สัมโพธนาการก) – คำนามที่ผันจะเป็นคนหรือสิ่งที่ถูกเรียก
ขณะที่คำกริยาในภาษาฮินดี นอกจากจะผันตามเพศของคำนาม พจน์ และการกแล้ว ยังผันตาม "มาลา" (ลักษณะอารมณ์หรือความคิดเห็นของผู้พูด) ด้วย
ตัวอย่างกริยาที่ยกมาในแผนภาพ : Verb to be (คำกริยา “เป็น อยู่ คือ”) ในภาษาฮินดี होना (honā) เฉพาะกรณีมาลาบอกเล่า (Indicative mood : อารมณ์ของประโยคในสถานการณ์ที่ผู้พูดใช้บอกเล่า) ซึ่งคำกริยาในภาษาฮินดียังมีการผันตามมาลาแบบอื่นอีก เช่น...
- Subjunctive mood : ประโยคที่กล่าวถึงเงื่อนไข แต่สถานการณ์ ข้อเท็จจริง หรือความปรารถนากลับไม่เป็นไปตามเงื่อนไข
- Imperative mood : ประโยคที่เป็นคำสั่ง คำขอร้อง หรือคำแนะนำ
ในเนื้อหาตอนนี้ ผมก็กล่าวถึง “ภาษาต่างประเทศนอกกระแสความนิยมในไทยที่สนใจ” ในแง่มุมของผม ซึ่งเลือกภาษาตะวันออก 3 ภาษา (อินโดนีเซีย เวียดนาม ฮินดี) และประเด็นแรงจูงใจที่ทำให้สนใจภาษาเหล่านี้ เคยเรียนหรือเรียบเรียงเนื้อหาเรื่องภาษาเหล่านี้หรือไม่? และอุปสรรค-ความบั่นทอนต่อความสนใจในแต่ละภาษา
จะเห็นได้ว่าในมุมมองของผมนั้น ความสนใจที่ภาษาตะวันออกที่กล่าวถึงจะขึ้นกับบทบาทของประเทศในภูมิภาคหรือเวทีโลก คนประเทศนั้นในสายงานวิชาการที่เป็นงานหลักของผม วัฒนธรรมท้องถิ่น และความง่ายในการเรียน
หากคนอ่านอยากแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเรื่อง “ภาษาต่างประเทศนอกกระแสความนิยมในไทยที่สนใจ” ก็พูดคุยแลกเปลี่ยนกันได้ครับ ส่วนเนื้อหาตอนหน้าจะยังคงเป็นหัวข้อนี้ แต่เป็นเรื่องภาษาตะวันตกแทนครับ
หากชอบเนื้อหาในบล็อกนี้ สามารถกดติดตามได้ครับ
แล้วพบกันใหม่ในตอนต่อไปครับ
โฆษณา