Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
วิทย์-ชีวะ-ชีวิต
•
ติดตาม
18 เม.ย. 2022 เวลา 02:38 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
ศัพท์ S&T ทันโลกตอน 34
ไมโครไบโอม (Microbiome)
ที่มา https://www.biomedcentral.com/collections/MGBA
แต่ไหนแต่ไรมาเวลาเรียนเรื่องเกี่ยวกับสมอง คนส่วนใหญ่ก็จะนึกถึงก้อนสมองที่อยู่ในกะโหลก อาจมีบ้างที่นึกเลยไปถึงเซลล์ประสาทในไขสันหลังด้วย
แต่คงมีน้อยคนมากๆ ที่จะนึกเลยไปอีกถึงเซลล์ประสาทตามอวัยวะในระบบทางเดินอาหารต่างๆ ไม่ว่าจะกระเพาะอาหารหรือลำไส้ ฯลฯ
แต่งานวิจัยสมัยใหม่ชี้ว่า ระบบเครือข่ายเซลล์ประสาทของทางเดินอาหารอาจจะมีจำนวนมาก และมีความสำคัญมากขนาดพอที่จะเรียกได้ว่าเป็น สมองที่ 2 (second brain) ของคนเราได้เลยทีเดียว
ระบบประสาทลำไส้ (Enteric Nervous System, ENS) หรือจะเรียกให้ถูกต้องตรงกว่า น่าจะเรียกว่า “ระบบประสาททางเดินอาหาร” ซึ่งครอบคลุมมากกว่า
ระบบนี้ประกอบด้วยเซลล์ประสาทมากถึงกว่า 500 ล้านเซลล์ แม้หากเทียบกับเซลล์ประสาทในสมองที่ประเมินกันว่ามีอยู่ราว 100,000 ล้านเซลล์แล้ว จะคิดเป็นแค่เพียง 0.5% เท่านั้น
แต่เซลล์จำนวนนี้ก็ถือได้เป็นแหล่งเซลล์ประสาทนอกกะโหลกที่รวมกลุ่มกันมากที่สุด
สมองที่ 2 นี่ถือได้ว่าเก่าแก่กว่าสมองหลักมาก และเชื่อมโยงอยู่กับทุกส่วนของระบบย่อยอาหาร ไล่ตั้งแต่หลอดอาหารลงมาเลยทีเดียว ยาวไล่ไปถึงกระเพาะอาหาร ลำไส้ทั้งใหญ่และเล็ก ไปจนสุดทางออกที่ทวารหนักกันเลยทีเดียว
สมองเสริมนี้จึงไม่ได้เป็นก้อน แต่เป็นโครงข่ายคล้ายกับใยแมงมุม
แต่แม้จะมีรูปร่างต่างออกไป แต่ก็ส่งกระแสประสาทได้เหมือนกันทุกประการ แถมเป็นสารสื่อประสาทชุดเดียวกันด้วย เรียกว่าท้องคุยกับหัวได้ด้วยภาษาร่างกายเดียวกัน
แม้นักวิทยาศาสตร์จะรู้จักว่ามีเครือข่ายเซลล์ประสาทแบบนี้อยู่ แต่กลับไม่รู้แน่ชัดว่าพวกมันทำงานอย่างไรกันแน่
จนกลางปีนี้ก็มีงานวิจัยตีพิมพ์ในวารสาร The Journal of Neuroscience (DOI:
https://doi.org/10.1523/JNEUROSCI.3489-17.2018
) ที่ทดลองในหนูและแสดงให้เห็นว่า เซลล์ประสาท ENS ควบคุมการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อรอบๆ ลำไส้ใหญ่ ซึ่งส่งผลให้บีบส่งก้อนอาหารไปตามลำไส้ได้
ระบบแบบนี้ทำงานได้ โดยไม่ผ่านการรับรู้ของตัวหนูเอง พูดอีกอย่างง่ายๆ คือ หนูไม่ต้องออกคำสั่งว่า ฉันจะย่อยละนะ มันถึงจะทำงาน แต่มันทำงานได้เอง
อันที่จริงเราก็มีระบบหลายๆ อย่างที่ที่ทำงานแบบอัตโนมัติส่วนกลางนะครับ เช่น ระบบหายใจ เรียกย่อๆ ว่า CNS (Central Nervous System)
เจ้าระบบ ENS ทำงานกับ CNS ด้วย
เรื่องที่น่าสนใจก็คือ ระบบ ENS นี่มันเปิดทำงานตลอดเวลาแบบ 24/7 (มิน่าเราเลยหิวได้ตลอด!) จึงทำให้ร่างกายของเรายืดหยุ่นเรื่องเวลากินอาหารได้มาก
เราจึงไม่จำเป็นต้องยึดเวลากินอาหารแน่นอน อย่างที่เคยเชื่อกันแต่ก่อน
ระบบ ENS น่าจะมีหน้าที่อื่นๆ อีก เพราะมันทำงานแม้แต่ตอนที่เราไม่ได้ย่อยอาหาร แต่เรายังไม่รู้แน่ชัดว่า มันทำอะไรกันแน่ ... รู้สึกราวกับมีร่างกายในร่างกายอีกทีนะครับ
แต่ที่เรารู้ว่าระบบประสาทลำไส้ต้องสำคัญแน่ๆ ก็เพราะ พบว่า 90% ของเซโรโทนิน (serotonin) ซึ่งเป็นสารสื่อประสาทที่เกี่ยวข้องกับความสุข สร้างในเซลล์พิเศษของระบบนี้นี่เอง
นี่อาจจะพอทำให้มองเห็นคำตอบได้เลาๆ ว่า ทำไมการกินทำให้เราเป็นสุขได้มากขนาดนั้น และไม่น่าแปลกใจว่ามันจะส่งผลทางตรงต่ออารมณ์ของเราได้มากเพียงใด
แต่แค่นั้นยังอาจจะซับซ้อนไม่พอ ในทางเดินอาหารของเรามีจุลินทรีย์เป็นจำนวนมาก เรียกรวมๆ ว่าเป็น ไมโครไบโอม (microbiome) พวกนี้มีเป็นจำนวนมากมายมหาศาลนะครับ อาจจะเท่า ๆ กับเซลล์ร่างกายเองหรืออาจจะมากกว่าด้วยซ้ำไป
จุลินทรีย์พวกนี้มีมาตั้งแต่เกิดเลยนะครับ เรียกว่าเป็น “กรรมเก่า” แบบหนึ่ง และเป็นตัวกำหนดสุขภาพดีร้ายของเราซะด้วย เพราะพวกมันต่อสู้กับเชื้อร้ายๆ จากภายนอกไม่ว่าจะเป็นไวรัสหรือราต่างๆ
มีหลักฐานว่าระบบ ENS ทำงานโดยสอดประสานกับพวกไมโครไบโอมแบบนี้ด้วยครับ
มีงานวิจัยที่ระบุว่า คนที่มีสุขภาพดีมักจะมีไมโครไบโอมที่หลากหลายกว่า ดังนั้น การเลือกกินอาหารที่มีเชื้อจุลินทรีย์ดีๆ (โพรไบโอติกส์) และอาหารที่ไปกระตุ้นให้เชื้อจุลินทรีย์ดีๆ โตได้ดี (พรีไบโอติกส์) จึงมีส่วนเสริมสร้างความแข็งแรงของร่างกาย
แม้ว่ากลไกอาหารกับการทำงานของจุลินทรีย์ในทางเดินอาหารและตัวอวัยวะต่างๆ ในทางเดินอาหารเองจะยังคลุมเครืออยู่ แต่หลักฐานว่ามีความเกี่ยวข้องกันแน่ เริ่มมีมากขึ้นเรื่อยๆ แล้วนะครับ แถมยังให้ผลกว้างขวางมากๆ
ตัวอย่างเช่น ทางเดินอาหารที่ทำงานได้ดี ช่วยควบคุมอาการอักเสบได้ดีขึ้น ควบคุมระดับคอร์ติซอล (cortisol) จึงช่วยลดระดับความเครียดและกระวนกระวายใจได้
แถมยังอาจจะช่วยกระตุ้นความจำอีกด้วย
ด้วยเหตุนี้เอง การกินยาปฏิชีวนะจึงอาจจะไปรบกวนสมดุลของเชื้อเหล่านี้จนก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรงได้ หากไม่เจอโรคติดเชื้อที่ออกจะรุนแรง ก็น่าจะหลีกเลี่ยงนะครับ
อ่านข้อดีของโพรไบโอติกส์และพรีไบโอติกส์มากๆ แล้วไม่ใช่ว่าอ่านจบปุ๊บ วิ่งออกไปหยิบหรือหาซื้อโยเกิร์ตมากินกระหน่ำนะครับ
ระบบนี้ของร่างกายก็ไม่ต่างจากระบบอื่นๆ ที่ต้องการความพอดี มีความซับซ้อน และแตกต่างกันไปมากบ้างน้อยบ้างในแต่ละคน และที่สำคัญอาจปรับเปลี่ยนได้ตลอดเวลา
เรื่องพวกนี้คงต้องทดลองจนได้จุดเหมาะสมของแต่ละคนนะครับ
ไมโครไบโอม
microbiome
secondbrain
บันทึก
1
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
ศัพท์ S&T ทันโลก
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย