Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Dhamma Story
•
ติดตาม
4 พ.ค. 2022 เวลา 08:46 • การศึกษา
ตัดอาลัยไปนิพพาน
เวลาธรรมกายเป็นเวลาที่ทรงคุณค่ายิ่ง ที่เราจะมาปฏิบัติธรรมร่วมกัน หยุดใจไว้ในที่เดียวกัน คือ ที่ศูนย์กลางกายฐานที่เจ็ด แม้จะอยู่คนละสถานที่ แต่เราก็สามารถรวมใจเป็นหนึ่งเดียวกัน เพื่อให้กระแสแห่งความสุขและความบริสุทธิ์ของธรรมกายแผ่ขยายไปทั่วโลก การสร้างสันติสุขให้บังเกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องเพ้อฝัน เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ เพราะธรรมกายมีอยู่แล้วในตัวของมนุษย์ทุกคนในโลก โดยไม่จำกัดเชื้อชาติ ศาสนา ภาษาและเผ่าพันธุ์ หากทำใจให้หยุดนิ่งที่ศูนย์กลางกายได้ ย่อมเข้าถึงได้ทุกคน
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน ขุททกนิกาย ธรรมบท ว่า….
อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ โก หิ นาโถ ปโร สิยา
อตฺตนา หิ สุทนฺเตน นาถํ ลภติ ทุลลภํ
ตนแลเป็นที่พึ่งแห่งตน บุคคลอื่น ใครเล่าจะเป็นที่พึ่งได้
เพราะบุคคลมีตนฝึกดีแล้ว ย่อมได้ที่พึ่งที่บุคคลได้โดยยาก
การปฏิบัติธรรมเป็นเรื่องเฉพาะตน ที่เราจะต้องลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง จะทำแทนกันไม่ได้ เราทำเพื่อช่วยตนเองให้พ้นทุกข์ พ้นจากอำนาจกิเลสอาสวะ ฉะนั้นให้ตั้งใจปฏิบัติกันให้เต็มที่ อย่าประมาท อย่าปล่อยวันเวลาให้ล่วงไปเปล่าๆ ให้รีบแสวงหาที่พึ่งที่ระลึก คือ พระรัตนตรัยภายใน ถ้าเราเข้าถึงพระธรรมกาย เราจะได้ชื่อว่าเป็นผู้ได้ที่พึ่งที่บุคคลได้โดยยาก
ในสมัยพุทธกาล มีพระเถระรูปหนึ่งชื่อ พระกุมารกัสสปะ เป็นพระมหาเถระผู้ทรงคุณธรรมยิ่ง ประวัติชีวิตของท่านเป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับพุทธศาสนิกชน เมื่อศึกษาปฏิปทาของท่านแล้ว จะได้คลายความยึดมั่นถือมั่น ความผูกพันอาลัยอาวรณ์ในบุคคลอันเป็นที่รัก ความรักและความปรารถนาดีที่มีต่อหมู่ญาตินั้นเป็นสิ่งที่ดี แต่เมื่อถึงเวลาปฏิบัติธรรมก็ควรจะปล่อยวางเรื่องราวต่าง ๆ ไม่ให้มาเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติธรรมได้ เรื่องมีอยู่ว่า...
มารดาของพระกุมารกัสสปะ ซึ่งเป็นธิดาของเศรษฐี ในกรุงราชคฤห์ นางเป็นหญิงผู้มีบุญ ได้อ้อนวอนบิดามารดา ขอบวชตั้งแต่ยังเป็นเด็ก แต่พ่อแม่ไม่ยินยอม จนกระทั่งเติบโตเป็นสาว พ่อแม่ให้แต่งงาน แต่นางมีใจอยากจะบวช จึงได้เอาอกเอาใจสามีเป็นอย่างดี เพื่อที่ว่าสามีจะอนุญาตให้ออกบวช ต่อมาสามีก็อนุญาตให้นางบวชในสำนักของภิกษุณี
พอบวชได้เพียงไม่กี่เดือน ครรภ์ของนางก็โตขึ้น เหล่าเพื่อนภิกษุณีจึงสอบถามถึงเรื่องราวความเป็นมา นางยืนยันว่าไม่ทราบจริง ๆ ว่าตั้งครรภ์มาแล้วก่อนบวช แต่ศีลยังบริสุทธิ์อยู่ ไม่มีด่างพร้อย เหล่าภิกษุณีจึงพานางไปยังสำนักของพระเทวทัต เพื่อปรึกษาในเรื่องนี้ว่าจะทำอย่างไรดี
พระเทวทัตคิดแต่เพียงว่าให้สึกออกไป เพราะกลัวจะเสียชื่อเสียง กลัวคนจะนินทาภิกษุณีในสำนักของตน ไม่สนใจว่านางจะตั้งครรภ์มาก่อนบวชหรือไม่ ส่วนนางเห็นว่าเป็นคำตัดสินที่ไม่ยุติธรรม จึงกล่าวว่า "ฉันบวชถวายพระศาสดา ไม่ได้บวชเพราะพระเทวทัต ขอได้โปรดนำฉันไปยังสำนักของพระศาสดาเถิด"
พระบรมศาสดาทรงทราบอยู่แล้วว่า นางตั้งครรภ์ตั้งแต่ยังเป็นคฤหัสถ์ แต่เพื่อจะเปลื้องความสงสัยของมหาชน จึงให้บุคคลสำคัญ ๆ ในแผ่นดินมาร่วมเป็นพยานในการตรวจอายุครรภ์ของนาง ได้แก่ พระเจ้าปเสนทิโกศล ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ท่านจุลอนาถบิณฑิกเศรษฐี มหาอุบาสิกาวิสาขา และตระกูลใหญ่ๆอีกหลายตระกูล โดยมอบหมายให้พระอุบาลีเถระเป็นผู้ชำระคดีความให้หมดจด ท่ามกลางพุทธบริษัทสี่ ส่วนนางวิสาขาสั่งให้กั้นม่าน แล้วตรวจดูมือดูเท้าดูครรภ์ของภิกษุณี เมื่อนับวันนับเดือนดู พบว่านางได้ตั้งครรภ์มาก่อนที่จะบวช
พระอุบาลีเถระจึงประกาศถึงความบริสุทธิ์ ปราศจากมลทินของภิกษุณีท่ามกลางพุทธบริษัท และต่อมาไม่นานนางคลอดบุตรชาย เป็นผู้มีบุญมีอานุภาพมาก วันหนึ่งพระเจ้าปเสนทิโกศลได้เสด็จผ่านสำนักภิกษุณี ทรงได้ยินเสียงของทารก จึงทรงเมตตานำทารกไปเลี้ยงในพระราชวัง และให้แม่นมทั้งหลายคอยดูแลดุจพระกุมาร จึงได้ชื่อว่า พระกุมารกัสสปะ
เมื่อพระกุมารเจริญวัยขึ้น ไปเที่ยวเล่นกับเด็ก ๆ ในวัยเดียวกัน เกิดทะเลาะกันขึ้น เด็กเหล่านั้นจึงล้อว่า "พวกเราถูกคนไม่มีพ่อแม่ทุบตีเอา"
พระกุมารกัสสปะจึงไปเข้าเฝ้าพระราชา เล่าเรื่องที่เพื่อน ๆ บอกว่า ตนไม่มีบิดามารดาและรบเร้าให้พระราชาตรัสบอกความเป็นจริงว่า มารดาของตนนั้นเป็นใคร พระราชาตรัสว่า "หญิงแม่นมเหล่านี้ เป็นมารดาของเจ้า"
พระกุมารกัสสปะไม่เชื่อ จึงกราบทูลว่า "มารดาจะมีหลายคนไม่ได้ ต้องมีเพียงคนเดียวเท่านั้น"
พระราชาไม่สามารถจะปิดบังความจริงได้อีก จึงตรัสว่า "กัสสปะ มารดาของเจ้าเป็นภิกษุณี"
เมื่อพระกุมารทราบความจริง จึงเกิดความสลดสังเวชใจและได้ทูลขอออกบวช เมื่อบวชแล้ว พระกุมารกัสสปะได้ตั้งใจฝึกฝนอบรมตนเอง ตั้งใจประพฤติปฏิบัติธรรมจนได้บรรลุอรหัตผล
แล้วเหตุการณ์สำคัญในชีวิตนางภิกษุณีผู้เป็นมารดาก็เกิดขึ้น คือ นับตั้งแต่พระกุมารได้แยกจากนางไปถึง ๑๒ ปีนั้น นางได้แต่ร้องไห้ด้วยความคิดถึงบุตร มีความทุกข์เพราะความพลัดพราก ใบหน้าชุ่มไปด้วยน้ำตา วันหนึ่ง ขณะที่นางกำลังเดินบิณฑบาตอยู่นั้น ได้เห็นพระกุมารกัสสปะในระหว่างทางจึงดีใจร้องเรียกลูก แล้ววิ่งเข้าไปหาแต่ได้เซล้มลง
พระกุมารกัสสปะปรารถนาจะสงเคราะห์มารดา พลางคิดในใจว่า "ถ้าเราพูดดีกับมารดา ด้วยถ้อยคำไพเราะอ่อนหวาน จะไม่เป็นประโยชน์ต่อการบรรลุมรรคผลนิพพาน เราจะกล่าวด้วยถ้อยคำที่แข็งกระด้าง เพื่อให้คลายความผูกพันที่มีต่อเรา"
ท่านจึงกล่าวกับมารดาว่า "อะไรกัน ท่านเป็นภิกษุณีแล้วมัวเที่ยวทำอะไรอยู่ ความรักแค่นี้ ตัดไม่ได้เชียวหรือ"
นางภิกษุณีได้ฟังดังนั้น ยังไม่ค่อยจะแน่ใจนัก จึงถามว่า "นั่นลูกพูดอะไร"
พระกุมารกัสสปะกล่าวซ้ำโดยไม่มีเยื่อใยเลย นางรู้สึกผิดหวังอย่างรุนแรง ไม่อาจกลั้นน้ำตาไว้ได้ที่บุตรกล่าวอย่างไม่มีเยื่อใยแม้แต่น้อย นางจึงคิดว่า เรามีน้ำตานองหน้า เฝ้าคิดถึงลูกคนนี้อยู่ถึง ๑๒ ปี วันนี้ได้พบแล้ว กลับได้ฟังวาจาที่เย็นชากระด้าง จะมีประโยชน์อะไรที่เราจะเฝ้าคิดถึงลูกคนนี้อีก แล้วได้ตัดความเสน่หาในบุตร ไม่มีความอาลัย ความผูกพันอีกต่อไป จิตใจเริ่มสงบลง นางจึงหันมาประพฤติปฏิบัติธรรมอย่างจริงจัง ปล่อยวางเรื่องของพระลูกชาย ไม่ช้าใจก็หยุดนิ่ง พอหยุดถูกส่วนก็เข้าถึงธรรมไปตามลำดับ และในที่สุดก็ได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ในวันนั้นเอง ความทุกข์โศกได้ดับไป มีแต่ความสุขเกษมศานต์ที่เกิดจากการเข้าถึงธรรมมาแทนที่ เป็นความสุขที่ไม่มีประมาณ เป็นความสุขที่แท้จริง
เพราะฉะนั้น อย่าไปยึดมั่นถือมั่นในสิ่งที่ไม่เป็นสาระกัน อย่าไปติดอกติดใจ หลงใหลเพลิดเพลินในสิ่งที่ไม่จีรังยั่งยืน ให้รู้จักปล่อยวางเสียบ้าง แล้วใจเราจะสบาย จะได้พบกับความสุขที่แท้จริง คนรักตนเองจะต้องพาตนให้พ้นจากทุกข์ การปฏิบัติธรรมเป็นวิธีเดียวเท่านั้น ที่จะทำให้เราพ้นจากทุกข์อย่างแท้จริง พ้นจากกิเลสอาสวะไปถึงที่สุดแห่งธรรม ซึ่งเป็นเป้าหมายที่แท้จริงของการเกิดมาเป็นมนุษย์
ดังนั้น ให้หมั่นปฏิบัติธรรม อย่าให้ขาดเลยแม้แต่วันเดียว เพราะชีวิตของเราร่อยหรอลงไปทุกวัน รีบทำความดีให้มาก อย่าปล่อยวันเวลาให้ผ่านไปโดยเปล่าประโยชน์ ให้เสียดายเวลาที่ผ่านไป เพราะเวลาที่ผ่านไปได้กลืนกินชีวิตของเราให้เหลือน้อยลงไปทุกที จึงต้องหมั่นฝึกใจของเราให้หยุดนิ่ง เพื่อเข้าถึงพระธรรมกายกันให้ได้
1
จากหนังสือธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับมงคลชีวิต ๖ หน้า ๔๕๔ – ๔๖๒
อ้างอิง.......พระไตรปิฎก ฉบับมหามกุฏฯ (ภาษาไทย)
มารดาของพระกุมารกัสสปเถระ ๔๒ หน้า ๒๐๓
2 บันทึก
81
12
73
2
81
12
73
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย