8 พ.ค. 2022 เวลา 02:33 • การศึกษา
ปล่อยวางอย่างพระอริยะ
การเดินทางในสังสารวัฏเป็นการเดินทางที่ยาวไกล ยากที่ใคร ๆ จะหาเบื้องต้น ท่ามกลางและเบื้องปลายได้ ไม่รู้ว่าเดินทางมาถึงจุดไหนแล้ว ใกล้จะถึงจุดหมายปลายทางแล้วหรือยัง ก็ไม่มีใครทราบ ท่านถึงใช้คำว่า เวียนวน เพราะไม่รู้ว่าจะไปสิ้นสุดตรงไหน ต้องเกิดแล้วตาย ตายแล้วเกิด วนเวียนอยู่อย่างนี้นับภพนับชาติไม่ถ้วน ที่เป็นเช่นนี้ เพราะชีวิตยังไม่พบที่พึ่ง ที่ยึด ที่เกาะอย่างแท้จริง ไม่มีหลักของชีวิต จึงต้องลอยคว้างอยู่ในทะเลแห่งความทุกข์ มองหาฝั่งแห่งความสุขไม่เจอ
แต่ถ้าใครได้เข้าถึงพระธรรมกาย มีพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง ชีวิตก็จะพบกับความสุข ความปลอดภัย ไม่ต้องเสียเวลากับเรื่องไร้สาระ มุ่งตรงสู่จุดหมายปลายทางของชีวิต คือ อายตนนิพพาน
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน ขุททกนิกาย ธรรมบท ว่า…
อจิรํ วตยํ กาโย ปฐวึ อธิเสสฺสติ
ฉุฑฺโฑ อเปตวิญฺญาโณ นิรตฺถํว กลิงฺครํ
ไม่นานหนอ กายนี้จักนอนทับแผ่นดิน
ร่างกายนี้ปราศจากวิญญาณ ที่ถูกทอดทิ้งแล้ว
ราวกับท่อนไม้ไม่มีประโยชน์อะไร
สังขารร่างกายที่เราอาศัยใช้ในการสร้างบารมีในโลกนี้ ประกอบไปด้วยมหาภูตรูปสี่ คือ ธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม ธาตุทั้งสี่นี้ก่อเกิดเป็นรูปกาย และก็มีอากาศธาตุทำให้สามารถหายใจได้ เคลื่อนไหวได้ มีวิญญาณธาตุ ที่ทำให้สามารถรับรู้รับทราบ มีความรู้สึกนึกคิด สำหรับธาตุดินที่มีอยู่ในตัวของเรานี้ มีลักษณะแข้นแข็ง เป็นของหยาบๆที่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเนื้อ ไม่ว่าจะเป็นผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ม้าม หัวใจ ตับ กระเพาะอาหาร ไต ปอด ลำไส้ใหญ่ ลำไส้เล็ก อาหารใหม่ อาหารเก่า สิ่งเหล่านี้ท่านเรียกว่าเป็น ปฐวีธาตุ
อาโปธาตุ เป็นของเหลวเอิบอาบ มีลักษณะซึมซาบไปมาได้ ซึ่งก็คือ น้ำดี เสมหะ น้ำหนอง เลือด เหงื่อ มันข้น น้ำมัน น้ำตา น้ำลาย น้ำมูก ไขข้อ น้ำมูตร
ส่วน เตโชธาตุ มีลักษณะเป็นของร้อน ให้ความอบอุ่นกับร่างกาย ช่วยเผาผลาญอาหารที่รับประทานไปแล้ว ให้ย่อยสลายได้
และประการสุดท้าย คือ วาโยธาตุ เป็นรูปอาศัยซึ่งพัดไปมาได้ เช่น ลมพัดขึ้นเบื้องบน ลมพัดลงเบื้องล่าง ลมหายใจเข้าออก
นี่คือลักษณะการทำงานของมหาภูตรูปสี่ ที่ทำให้สังขารร่างกายของเราดำรงอยู่ได้ นอกจากนี้ยังมีอากาศธาตุที่อยู่ระหว่างธาตุต่าง ๆ ของร่างกาย และวิญญาณธาตุมีลักษณะรู้อารมณ์ ถ้าหากธาตุเหล่านี้ไม่สมดุลกัน ขันธ์ห้าก็ดำรงอยู่ไม่ได้ มีอันต้องแตกสลายไป
ขันธ์ห้า ก็คือสังขารร่างกายของเรานั่นเอง ประกอบไปด้วยนามและรูป ส่วนที่เป็นรูป คือ ธาตุ ดิน น้ำ ไฟ ลม ที่ประชุมรวมกันเป็นก้อนกาย ภาษาบาลีท่านใช้คำว่า รูปฺปลักฺขณํ คือ มีลักษณะเสื่อมสลายไปตามกาลเวลา ในส่วนของนาม คือ ความรู้สึกเป็นสุขหรือทุกข์ที่เกิดขึ้นทางกาย หรือรู้สึกเฉยๆ ไม่สุขไม่ทุกข์ ท่านเรียกว่า เวทนา มีลักษณะเสวยอารมณ์ ความจำได้หมายรู้ จำรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ธรรมารมณ์ที่เกิดทางใจได้ ท่านเรียกว่า สัญญา
สังขาร คือ การปรุงแต่งจิต ที่เป็นส่วนดี เรียกว่า กุศล ที่เป็นส่วนไม่ดีท่านเรียกว่า อกุศล หรือเป็นกลางๆท่านเรียกว่า อัพยากตา ความรู้สึกนึกคิดที่เกิดจากอายตนะภายใน กับอายตนะภายนอกกระทบกัน ไม่ว่าจะเป็นเห็นรูปด้วยตา ฟังเสียงด้วยหู ซึ่งส่งผลให้เกิดความรู้แจ้งทางอารมณ์ต่างๆเหล่านั้น ท่านเรียกว่า วิญญาณ
เพราะฉะนั้น เมื่อพูดถึงรูปนามขันธ์ห้า คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ นั่นเอง ขันธ์ห้านี้ พระพุทธองค์ตรัสว่า ไม่เที่ยง เป็นทุกข์และเป็นอนัตตา เพราะมีการเกิดขึ้นตั้งอยู่ และเสื่อมสลายไปตามกาลเวลา มีทุกข์มาก เพราะเป็นรังของโรคทั้งหลาย ต้องดูแลรักษากันตลอดเวลา บางคนเกิดมาร่ำรวยมหาศาล แต่มีร่างกายไม่แข็งแรง ต้องเสียเวลามาดูแลรักษา หมดเงินทองไปมากมาย เพื่อรักษาสรีรยนต์นี้ให้คงอยู่ต่อไป
ขันธ์ห้านี้จึงเป็นอนัตตา เพราะไม่อยู่ในบังคับบัญชา และไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริงของเรา พระบรมศาสดาจึงทรงสอนไม่ให้ไปยึดมั่นถือมั่น แต่ให้ดูแลรักษาขันธ์ห้าไว้ให้ดี เพื่อจะได้มีอายุขัยยืนยาว สามารถสร้างบารมีไปนาน ๆ
มีเรื่องเกิดขึ้นในสมัยพุทธกาล คือ มีกุลบุตรท่านหนึ่ง ออกบวชอุทิศชีวิตในพระพุทธศาสนา ได้ฉายาว่า พระติสสเถระ มีอยู่วันหนึ่ง โรคร้ายได้เกิดขึ้นในสรีระของท่าน ตุ่มเล็ก ๆ เท่าเมล็ดผักกาดได้ผุดขึ้นมาที่ผิวหนัง เนื่องจากกรรมเก่าของท่านตามมาทัน ต่อมาตุ่มนั้นโตขึ้นเรื่อย ๆ ขนาดประมาณเท่าเมล็ดถั่วเขียว แล้วก็โตเท่าเมล็ดถั่วดำ ใหญ่โตขึ้นเท่าเมล็ดกระเบา เท่าผลมะขามป้อม สุดท้ายก็โตเท่ากับผลมะตูม จากนั้นก็แตกออก มีเลือดและหนองไหลเยิ้มไปทั่วร่างกาย
ร่างกายของท่านมีแผลเหวอะหวะไปทั่ว ส่งกลิ่นเหม็นรุนแรง ท่านต้องทนทุกข์ทรมานมาก เพื่อนสหธรรมิกไม่กล้าเข้าใกล้ เท่านั้นยังไม่พอ กระดูกของท่านได้แตกหัก ขยับเขยื้อน ตัวไม่ได้ นอนจมกองน้ำเลือดน้ำหนองอยู่ในกุฏิตามลำพัง ผ้านุ่งและผ้าห่มเปรอะเปื้อนไปหมด นอนรอคอยวันตายอย่างน่าสงสาร
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเห็นท่านถูกพวกสัทธิวิหาริกทอดทิ้ง ไม่มีที่พึ่งในยามยาก ด้วยพระมหากรุณาอันไม่มีประมาณ จึงได้เสด็จออกจากพระคันธกุฎี ไปที่โรงไฟทรงต้มน้ำร้อนด้วยพระองค์เอง เอาผ้ามาซับให้เปียก แล้วเริ่มเช็ดตามร่างกายของพระติสสะ ซึ่งกำลังนอนอยู่ด้วยความหมดอาลัยในชีวิต
พวกภิกษุทราบว่าพระบรมศาสดาเสด็จมา จึงกราบทูลขันอาสาจะช่วยกันทำเอง พระบรมศาสดาทรงให้พวกภิกษุเปลื้องผ้าห่มของพระติสสะออก เอาไปขยำกับน้ำร้อน แล้วนำไปผึ่งแดด ส่วนพระพุทธองค์เองได้สรงน้ำให้พระติสสะ เมื่อผ้าห่มแห้งทรงช่วยท่านให้นุ่งผ้าห่ม แล้วนำผ้าสบงจีวรที่ท่านนุ่งไปซักแล้วผึ่งแดด จากนั้นก็เอาผืนใหม่มาให้นุ่งห่ม
พระบรมศาสดาประทับยืนที่เหนือศีรษะของท่าน ตรัสให้เห็นทุกข์เห็นโทษของสังขารร่างกายนี้ว่า "กายของเธอนี้อยู่อีกไม่นาน เพราะจะปราศจากวิญญาณแล้ว หาอุปการะมิได้ อีกไม่นานต้องนอนบนแผ่นดิน เหมือนท่อนไม้ที่ไม่มีประโยชน์"
พระเถระนอนฟังพระธรรมเทศนา ข่มความเจ็บปวดของร่างกาย ค่อยๆปล่อยใจตามกระแสเสียงของพระพุทธองค์ จนมีใจหยุดนิ่งเป็นอารมณ์เดียว พอถูกส่วน ปฐมมรรคก็เกิดขึ้นมาทันที เกิดความเย็นกายเย็นใจขึ้นมาเป็นครั้งแรกที่ได้เห็นดวงสว่างปรากฏเกิดขึ้นมาตรงกลางกายนี้ ใสเป็นเพชรเป็นแก้ว
ภาพบาปอกุศลกรรมอะไรต่างๆที่มารบกวน ล้วนมลายหายสูญไปหมด กุศลกรรมส่งผล ความดีที่เคยทำไว้มากมายก็ได้ช่องตอนนี้ เพราะว่าเมื่อใจหยุดแล้ว ดวงสว่างเกิดขึ้น จะเชื่อมโยงบุญเก่าที่เคยทำมาทั้งหมด เชื่อมต่อกับบุญใหม่ที่เกิดจากการบวช สนับสนุนให้หยุดนิ่งหนักเข้าไปอีก ท่านก็มีความสุขเพิ่มขึ้น กายเบาใจเบา
เพราะฉะนั้น เมื่อตรองตามกระแสพระธรรมเทศนาไป ใจหยุดนิ่งจนบังเกิดเป็นดวงกลมใสขึ้นมา ใจท่านก็ตั้งมั่น มีความรู้สึกเกิดขึ้นมาเลยว่า ชีวิตที่ผ่านมา เหมือนว่ายวนอยู่ในมหาสมุทรที่มีภัยอันตรายรอบด้าน ภัยจากสัตว์ร้าย จากฝูงปลาต่าง ๆ ภัยจากคลื่นลม จะจมน้ำตายเมื่อไรก็ไม่ทราบ เมื่อท่านเข้าถึงธรรม ได้เห็นดวงปฐมมรรค เหมือนกับว่ายน้ำถึงฝั่งแล้ว พ้นจากภยันตรายทั้งมวล หายสะดุ้ง หายหวาดกลัว เมื่อขึ้นเกาะแล้ว ฝูงปลาร้าย สัตว์ร้ายต่าง ๆ ไม่สามารถทำอันตรายได้อีกต่อไป ท่านจึงมีความสุขเข้ามาแทนที่
เมื่อใจท่านมาหยุดอยู่ที่ตรงนี้ได้ มีความเบากายเบาใจ แม้ว่าสังขารร่างกายจะไม่เอื้ออำนวย ถูกพยาธิรุมเร้าให้ทรมาน แต่เมื่อได้ปล่อยใจตามพระธรรมเทศนา เห็นความไม่เที่ยงของสังขารร่างกายแล้ว ท่านก็ปล่อยวางเข้าไปสู่กายที่ละเอียดภายในไปตามลำดับ จนกระทั่งในที่สุดท่านได้เข้าถึงกายธรรมอรหัต เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับกายธรรมอรหัต
ท่านก็ถอดกายต่าง ๆ ออกหมด ขันธ์ทั้งห้าถอดออกหมด ไม่ติดอะไรเลย ถอดขันธ์ของกายมนุษย์ ขันธ์ของกายทิพย์ ขันธ์ของกายรูปพรหม ขันธ์ของกายอรูปพรหม สิ่งทั้งหลายทั้งปวงที่อยู่ในภพทั้งสามหลุดหมด เพราะเห็นสิ่งที่วิเศษกว่า มีความสุขกว่า คือ ธรรมกาย นั่นเอง แต่เมื่อสังขารร่างกายทรงอยู่ไม่ได้ ท่านก็ทิ้งมันไป เอากายธรรมเข้าสู่อายตนนิพพานในวันนั้นนั่นเอง
พวกเราทั้งหลายก็เช่นเดียวกัน ถ้าหากว่าอยากจะหลุดพ้นจากขันธ์ห้า อยากจะหลุดพ้นจากบาปกรรมทั้งหลายที่เราเคยพลั้งเผลอทำลงไป ตั้งแต่อดีตชาติก็ดี หรือกระทั่งในปัจจุบันนี้ก็ดี ทุกคนเคยพลาดพลั้งกันมาแล้วทั้งนั้น หากไม่อยากไปสู่อบาย อยากจะไปสู่ภพอันวิเศษ ไม่อยากเวียนว่ายตายเกิดอีก มีวิถีทางเดียวเท่านั้น ต้องทำใจให้หยุดให้นิ่ง แล้วหมั่นทำภาวนาสัมมาอรหังทุก ๆ วัน ชีวิตของพวกเราทุกคนจะปลอดภัย ขึ้นมาสู่เกาะแห่งธรรม พ้นจากภัยพิบัติทั้งปวง พ้นจากภัยในอบายภูมิ ไปสู่ภพอันวิเศษ เพราะฉะนั้น เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว ให้หมั่นประพฤติปฏิบัติธรรม ฝึกฝนใจให้หยุดนิ่ง ให้เข้าถึงพระธรรมกายภายในกันให้ได้ทุก ๆ คน
จากหนังสือธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับมงคลชีวิต ๖ หน้า ๔๙๖ – ๕๐๕
อ้างอิง.......พระไตรปิฎก ฉบับมหามกุฏฯ (ภาษาไทย)
พระปูติคัตตติสสเถระ เล่ม ๔๐ หน้า ๔๓๕
โฆษณา