27 เม.ย. 2022 เวลา 12:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ
ส่องปัจจัย ทำ "ค่าเงินเยน" ร่วงหนักในรอบ 20 ปี
ส่องปัจจัย ทำ "ค่าเงินเยน" ร่วงลงต่ำสุดรอบ 20 ปี ท่ามกลางสภาพเศรษฐกิจและการดำเนินนโยบายการเงินของ "ญี่ปุ่น" ที่สวนทางกับหลายประเทศ โดยเฉพาะ "สหรัฐ"
ส่องปัจจัย ทำ "ค่าเงินเยน" ร่วงหนักในรอบ 20 ปี
อย่างที่หลายคนทราบกันดีว่า ในระยะหลังมานี้ “เงินเยน” อ่อนค่าลงเป็นอย่างมาก ล่าสุดในวันศุกร์ที่ผ่านมา (15 เม.ย.) ค่าเงินเยนร่วงลงไปอยู่ที่ 126.36 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐ ทุบสถิติอ่อนค่าลงต่ำสุดในรอบ 20 ปี ซึ่งตรงนี้เป็นผลมาจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)
อย่างไรก็ตาม การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในครั้งนี้เกิดขึ้นตามสภาพการณ์ทางเศรษฐกิจของสหรัฐ ที่ต้องประสบกับภาวะสภาพคล่องล้นและเงินเฟ้อสูง สอดคล้องกับอีกหลายประเทศทั่วโลก แต่ดูเหมือนว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นจะไม่ได้เผชิญกับภาวะเช่นนั้น ทั้งยังคงประกาศแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมในปีนี้อีกด้วย
จากที่กล่าวไป จึงสามารถสรุปปัจจัยสำคัญที่ทำให้เงินเยนอ่อนค่าลง และอธิบายได้ดังนี้
ความแตกต่างของนโยบายการเงิน (Monetary policy divergence)
การเดินหน้ากระตุ้นเศรษฐกิจของญี่ปุ่น เป็นผลให้ยังคงใช้นโยบายการเงินขยายตัวต่อไป สวนทางกับสหรัฐที่ต้องการถอนสภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจ สกัดความรุนแรงของภาวะเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นมาจากทั้งการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและภาวะสงคราม ซึ่งต้องใช้หันไปใช้นโยบายการเงินหดตัว ความแตกต่างของนโยบายการเงิน (Monetay policy divergence) ตรงนี้เองคือ ปัจจัยทำเงินเยนอ่อนค่าลงในรอบ 20 ปี
ในเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา เฟดได้ประกาศปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 2 ปี โดยจาก 0 - 0.25% สู่ระดับ 0.25 - 0.5% ต่อปี ซึ่งมีการส่งสัญญาณที่จะปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยฯ อีก 6 ครั้งในปีนี้ โดยจะเป็นการปรับขึ้นครั้งละ 0.25% นอกจากนี้ ยังมีการวิเคราะห์ว่า จะมีการถอนมาตรการ QE หลังจากอัตราดอกเบี้ยถูกปรับขึ้นแล้ว โดยทาง Goldman Sachs คาดว่าจะเกิดขึ้นในช่วงไตรมาส 4 ของปีนี
ทิศทางนโยบายดังกล่าว ทำให้สภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจลดลง ความร้อนแรงของเศรษฐกิจและภาวะเงินเฟ้อจึงชอละตัวลงตาม ขณะเดียวกันก็ทำให้ผลตอบแทนในการฝากเงินและลงทุนในสินทรัพย์สหรัฐนั้นปรับเพิ่มสูงขึ้นไปด้วย
ในทางตรงข้าม ญี่ปุ่นไม่ได้เผชิญสถานการณ์เช่นเดียวกับสหรัฐ โดยอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ตลอดทั้งปี 2565 นั้นอยู่เพียงระดับ 0.5% ต่อปี ต่ำกว่าสหรัฐราว 3% ทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นจึงยังเร่งเครื่องกระตุ้นเศรษฐกิจต่อไปอีก แม้อัตราดอกเบี้ยนโยบายจะต่ำมากที่ระดับ -0.1% และยังคงดำเนินมาตรการทางการเงินอื่นๆ ที่มีอยู่แล้วก็ตาม
โดยในช่วงเดือนมี.ค. ที่ผ่านมา มีการรายงานว่า รัฐสภาญี่ปุ่นได้อนุมัติงบประมาณแผ่นดิน ประจำปี 2565 ด้วยวงเงิน 9 แสนล้านดอลลาร์ ทุบสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ทั้งยังอาจมีการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมจากนี้อีกด้วย
ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากการเดินหน้ากระตุ้นเศรษฐกิจนี้ คือ รัฐบาลญี่ปุ่นยังคงเติมสภาพคล่องลงไปในระบบเศรษฐกิจต่อไปอีก ขณะเดียวกันก็ทำให้ผลตอบแทนจากการฝากเงินและลงทุนในสินทรัพย์ญี่ปุ่นนั้นยังคงอยู่ในระดับต่ำต่อไป
1
เมื่อนำสถานการณ์ของสหรัฐและญี่ปุ่นมาเทียบกัน จะพบว่า ผลตอบแทนของสินทรัพย์สหรัฐนั้นเข้าสู่ช่วงขาขึ้น และมีทิศทางว่าปรับตัวสูงขึ้นต่อไปอีก สวนทางกับสินทรัพย์ญี่ปุ่นที่ยังอยู่ในขาลง
ด้วยเหตุนี้ จึงเกิดความต้องการเทขายเงินเยนญี่ปุ่นเพื่อแลกเปลี่ยนเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐจำนวนมาก นำมาสู่การไหลออกของเงินทุนสุทธิ (Net Capital Outflow) และยิ่งการไหลออกของเงินทุนสุทธิมีขนาดใหญ่มากเท่าไร ก็เป็นผลให้เกิดการอ่อนค่าของเงินลงมากเท่านั้น
1
สภาพการณ์ที่แตกต่าง และความจำเป็นต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจของญี่ปุ่น
การปรับเปลี่ยนนโยบายมักสะท้อนมาจากสภาพเศรษฐกิจของประเทศ ดังนั้น ความแตกต่างของสภาพการณ์ทางเศรษฐกิจระหว่างสหรัฐและญี่ปุ่น จึงทำให้การดำเนินนโยบายมีทิศทางตรงกันข้ามกัน และนำไปสู่การอ่อนค่าของเงินเยนดังที่ปรากฎ
สหรัฐ ประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่ฟื้นตัวจากวิกฤติโควิด-19 ได้อย่างรวดเร็วในช่วงปีที่ผ่านมา ส่งให้พลเมืองสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติ กระตุ้นให้ราคาสินค้าและบริการปรับตัวขึ้นสูงอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง โดยอัตราเงินเฟ้อสหรัฐเดือนธ.ค. 2564 พุ่งทำสถิติในรอบ 40 ปี มาอยู่ที่อัตรา 7% จึงเป็นเหตุให้เฟดส่งสัญญาณในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยตั้งแต่ช่วงปลายปี 2564 ที่ผ่านมา
นอกจากนี้ เมื่อเข้าสู่ปี 2565 ระดับเงินเฟ้อของสหรัฐก็ยังคงอยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง โดยเงินเฟ้อเดือนม.ค. และก.พ. ก็ทำสถิติสูงสุดในรอบ 40 ปี มาแตะที่ 7.5% และ 7.9% ต่อปี ตามลำดับ ซึ่งตัวเลขดังกล่าวยังไม่ได้รวมผลกระทบของภาวะสงคราม แต่เป็นผลจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจเป็นสำคัญ
ดังนั้น ภาวะเงินเฟ้อในจะรุนแรงขึ้นอีก จากการถูกซ้ำเติมจากการเพิ่มขึ้นของราคาพลังงานในภาวะสงคราม ทำให้วาระสำคัญของเฟดคือการดูแลเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ หรือควบคุมระดับเงินเฟ้อให้อยู่ในกรอบเป้าหมาย ตรงนี้จึงเป็นผลให้สหรัฐมีความจำเป็นต้องถอนสภาพคล่องออกจากระบบด้วยการปรับทิศทางนโยบายเป็นครั้งแรกในรอบ 2 ปี
ขณะเดียวกัน ญี่ปุ่นที่ยังติดอยู่กับแผลทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากวิกฤติเศรษฐกิจช่วงปี 2533 ซึ่งทำให้เศรษฐกิจอยู่ในสภาวะซบเซายาวนานกว่า 2 ทศวรรษ หรือที่เรียกกันว่า “Lost Decades”
แม้ว่ารัฐบาลญี่ปุ่นในทุกยุคทุกสมัยจะพยายามกระตุ้นเศรษฐกิจมาตลอด แต่ก็เกิดภาวะที่เรียกว่า กับดักสภาพคล่อง (Liquidity trap) และภาวะสังคมผู้สูงอายุ (Aging society) ที่ทำให้การใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลไม่สามารถสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจได้มากเท่าที่ควร สะท้อนจากการที่ญี่ปุ่นต้องประสบกับภาวะเงินฝืดอย่างต่อเนื่องถึง 15 ปี
ทั้งนี้ งบประมาณในการดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจนั้นมีที่มาจากการก่อหนี้สาธารณะ โดยญี่ปุ่นมีสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีแตะ 100% ตั้งแต่ปี 2544 และทะลุตัวเลข 200% ต่อจีดีพีในปี 2553
อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจญี่ปุ่นก็ยังอยู่ในภาวะซบเซาเช่นเดิม และยังถูกซ้ำเติมจากผลของวิกฤติโควิด-19 นี้ด้วย จึงเป็นเหตุให้รัฐบาลยังต้องกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ซึ่งล่าสุดในปี 2564 ที่ผ่านมา หนี้สาธารณะของญี่ปุ่นนั้นอยู่ที่ 270% ต่อจีดีพี ทำสถิติสูงที่สุดในโลก
ถึงกระนั้น การใช้จ่ายงบประมาณของภาครัฐญี่ปุ่นคือท่อน้ำเลี้ยงหลักให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นยังคงเดินต่อไปได้ หากรัฐบาลญี่ปุ่นหันไปใช้นโยบายการเงินหดตัวนั้นอาจหมายถึงหายนะของเศรษฐกิจญี่ปุ่นก็เป็นได้ ด้วยเหตุนี้ ญี่ปุ่นจึงมีความจำเป็นที่ต้องเดินหน้าใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจต่อไป แม้จะสวนทางกับนานาประเทศก็ตาม
จากทั้งหมดที่กล่าวไป จึงเป็นชนวนสำคัญที่ทำให้เงินเยนร่วงลงหนักในรอบ 20 ปี และยังมีแนวโน้มที่จะร่วงลงอีกอย่างต่อเนื่อง จากเงื่อนไขของสภาพการณ์ทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่น ที่จะมีผลให้ความแตกต่างของนโยบายการเงินยังคงดำเนินต่อไป
อ้างอิง
นงนุช สิงหเดชะ
FRED Economic Data
Macrotrends
The Economic Times
โฆษณา