18 เม.ย. 2022 เวลา 10:50 • ธุรกิจ
รู้จัก KARUN แบรนด์ที่ยกระดับชาไทย ให้สวยหรูดูแพง
เราจะเห็นว่า เมนูชาไทย เป็นเมนูที่ร้านเครื่องดื่มแทบทุกร้านต้องมี
แต่ลองสังเกตดูว่า แทบไม่มีร้านไหนจริงจังกับการรังสรรค์เมนูชาไทยแบบเฉพาะเจาะจง
ส่วนชาเจ้าตลาดที่เราเห็น ๆ กันตามห้าง ก็มักจะเป็นร้านชาที่มีเมนูหลากหลาย เช่น ชากุหลาบ ชาเขียว ซึ่งก็ไม่ได้เน้นไปที่ชาไทยเมนูเดียว
และนี่เองจึงเป็นโอกาสของ KARUN (อ่านว่า การัน)
แบรนด์ชาไทยระดับพรีเมียมที่ขึ้นห้างหรูอย่างไอคอนสยาม, เกษร วิลเลจ, เอ็มควอเทียร์ และห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล ลาดพร้าว
แล้วอะไรที่ทำให้สินค้าที่ดูบ้าน ๆ นั้นสร้างความแตกต่างและพรีเมียม
จนต่างประเทศติดต่อเข้ามาขอซื้อแฟรนไชส์ ภายใน 3 ปี ?
วันนี้ BrandCase ได้มีโอกาสสัมภาษณ์
คุณรัส-ธัญย์ณภัคช์ ศิริประภาเจริญ ซีอีโอและผู้ก่อตั้งแบรนด์ KARUN
แล้ววิธีคิดของคุณรัสในการสร้างแบรนด์นี้เป็นอย่างไร ?
BrandCase สรุปมาให้ได้อ่านกันเป็นข้อ ๆ..
1. ศึกษาตลาดอย่างจริงจัง เพื่อดูว่ากลุ่มลูกค้าที่พร้อมจะซื้อสินค้าของเรา มีมากน้อยแค่ไหน
1
เท้าความก่อนว่า จุดเริ่มต้นของแบรนด์ KARUN มาจากคุณแม่ของคุณรัส ที่ได้ทำชาไทยในสูตรของคุณแม่เอง ซึ่งแน่นอนว่าการทำดื่มเองที่บ้านการัน ก็จะต้องคัดสรรใบชาคุณภาพ เข้มข้น และพิถีพิถัน
และเมื่อมีคนแวะเวียนมาที่บ้าน คุณแม่ของคุณรัสก็ให้คนอื่น ๆ ได้ดื่มฟรี จนทำให้หลายคนติดใจอยากที่จะขอซื้อชาไทยสูตรบ้านการันกันหลายคน
รวมถึงแบรนด์ใหญ่ ๆ ที่มักจะมาจัดงานสัมมนาบ่อย ๆ ก็เคยมีคนมาขอซื้อชาไทยสูตรของคุณแม่
1
ทำให้คุณแม่ของคุณรัสเริ่มคิดว่า จะเปิดธุรกิจขายชาไทยอย่างจริงจัง แต่ด้วยความกังวลหลาย ๆ อย่างของคุณรัส ทำให้คุณรัสต้องทำการบ้านอย่างจริงจัง
เพราะถึงแม้เราจะมีของดีก็จริง แต่คนที่พร้อมจะซื้อสินค้าของเรา จนสามารถหล่อเลี้ยงบริษัทและพนักงานได้นั้น จะมีมากน้อยแค่ไหน
คุณรัสจึงใช้เวลาเกือบปีในการศึกษาตลาด เพื่อดูว่ามีช่องว่างให้แบรนด์สามารถลงไปเล่นได้มากขนาดไหน และถ้าหากตั้ง Position และราคาของแบรนด์ไว้เท่านี้ จะมีคนที่มีกำลังซื้อเพียงพอหรือไม่
และคุณรัสก็ได้คำตอบว่า การทำชาไทยคุณภาพระดับพรีเมียมที่พร้อมส่งออก ยังมีช่องว่างให้เป็นผู้เชี่ยวชาญอยู่..
2. ทำให้แตกต่าง แต่ต้องทำอย่างเชี่ยวชาญ
เมื่อคุณรัสต้องการลุยตลาดชาไทยพรีเมียมอย่างจริงจัง จึงได้ไปเรียนเพิ่มเติมเกี่ยวกับสาขาฟูดไซน์ หรือก็คือวิทยาศาสตร์อาหาร เพื่อลงลึกในเรื่องของใบชาต่าง ๆ เพื่อให้ KARUN สามารถเป็นแบรนด์ที่แตกต่างในตลาด ทั้งเรื่องใบชาและรสชาติ
1
และอีกสิ่งสำคัญที่ทำให้ KARUN แตกต่างจากแบรนด์อื่น ๆ ได้อย่างชัดเจนก็คือ “การรังสรรค์ให้ชาไทยเป็นทุกอย่างได้”
เช่น สร้างสรรค์เมนูชาไทยการัน ที่ผสมดอกหอมหมื่นลี้และดอกจำปา
หรือเมนูไอศกรีมเจลาโตที่รวมกับยอดอ่อนของใบชา ซึ่งนำมาจากหมู่บ้านห้วยหินลาดใน จังหวัดเชียงราย ซึ่งเป็นหมู่บ้านปิด จากนั้นนำเอาใบชามาผสมกับน้ำผึ้ง เพื่อเพิ่มความหอมหวาน หรือเมนูขนมหวานอย่างบะนอฟฟีชาไทย
1
โดยเมนูส่วนใหญ่ของ KARUN จะมีราคาตั้งแต่ 75 บาท ไปจนถึงร้อยกว่าบาท
และยังมีการทำเทียนหอมกลิ่นชาไทย ไปจนถึง Bath Bomb หรือก็คือสบู่สำหรับแช่ตัวในอ่างอาบน้ำ โดยทำเป็นกลิ่นชาไทย สำหรับคนที่เป็นแฟนกลิ่นหอมของชาไทยอีกด้วย
เมื่อ KARUN สามารถวางตัวเองเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านชาไทยได้แล้ว ก็ทำให้แบรนด์อื่น ๆ ที่อยากเล่นสินค้าเกี่ยวกับชาไทยก็จะนึกถึงแบรนด์ KARUN ขึ้นมา
เช่น แบรนด์ Maison Eric Kayser ร้านเบเกอรีชื่อดังจากฝรั่งเศส ก็ได้ติดต่อขอร่วมงานกับ KARUN ทำเซตพิเศษ โดยให้ทางแบรนด์ KARUN นำกลิ่นเนยและเพิ่มรสชาติวานิลลาคาเคา ให้เข้ากับการทานคู่กับเบเกอรีที่โดดเด่นของ Maison Eric Kayser มาใส่ในชา และผลิตเป็นชาตัวใหม่ขึ้นมา ที่ชื่อว่า Vanilla Cacao Thai Tea
2
สรุปง่าย ๆ ก็คือ สิ่งที่ทำให้ KARUN แตกต่างก็เพราะว่า ที่ผ่านมาชาไทยคือของหาง่ายในตลาด มีเมนูนี้ในทุกร้าน แต่ยังไม่มีใครจริงจังและลงลึกให้ชาไทยกลายเป็นทุกอย่าง เหมือนกับที่ KARUN ทำได้นั่นเอง
3
3. หากกำหนดกลุ่มลูกค้าได้ถูกต้อง พวกเขาจะเป็นกระบอกเสียงให้เอง
บางคนอาจจะสงสัยว่า สินค้าชาไทยก็ดูเป็นเมนูที่คนคุ้นเคย แถมมีคู่แข่งในตลาดนี้มากมาย แต่ทำไมถึงจำเป็นต้องทำให้ดูพรีเมียม และมีราคาสูงกว่าร้านอื่น ?
ซึ่งประเด็นนี้ค่อนข้างน่าสนใจ เพราะคุณรัสได้บอกกับเราว่า การทำธุรกิจไม่ได้มีแค่เรื่องของ “ราคา” แต่มีเรื่องของ “การตลาด” ด้วย ที่เป็นเรื่องสำคัญ
1
ลองสังเกตดูว่า กลุ่มคนที่ใช้โซเชียลมีเดีย คนที่ชอบแชร์ไลฟ์สไตล์การกินดื่ม ถ่ายรูปอาหาร เครื่องดื่มสวย ๆ ที่ดูน่าทาน ก็มักจะเป็นกลุ่มลูกค้าที่ชอบสินค้าพรีเมียม
หากแบรนด์สามารถทำให้กลุ่มคนเหล่านี้ประทับใจ เขาก็จะแชร์สินค้าของเราลงโซเชียลมีเดีย ซึ่งแน่นอนว่าก็ทำให้ผู้ติดตามของคนกลุ่มนี้ ได้เห็นและได้รู้จักกับสินค้าของเราตามไปด้วย
แต่ถ้าหากแบรนด์ไม่ได้จับกลุ่มลูกค้าพรีเมียม โอกาสที่เขาจะถ่ายรูปทุกครั้งที่ซื้อ แล้วมาพูดถึง หรือบอกต่อ ก็อาจจะไม่อิมแพ็กมากพอ หรือดึงดูดกลุ่มคนที่มีกำลังซื้อได้ไม่มากเท่าที่ควร
1
โดยก่อนหน้านี้แบรนด์ KARUN ไม่ได้ทำหน้าร้าน และขายในออนไลน์เพียงอย่างเดียว
แต่ด้วยการทำแพ็กเกจจิง คุณภาพสินค้า และมีการทำโปรดักชันส์ที่จริงจัง ทำให้ KARUN ขายได้เกือบพันขวดต่อเดือน โดยที่เปิดขายเพียงแค่ 1-2 ครั้งต่อเดือนเท่านั้น
เพราะลูกค้าไม่ได้แค่ซื้อให้ตัวเอง แต่ด้วยความพรีเมียมของแบรนด์ ทำให้พวกเขาซื้อฝากคนอื่น ๆ ด้วย ซึ่งก็เป็นผลให้แบรนด์ KARUN เติบโตอย่างรวดเร็ว และมาเปิดสาขาแบบออฟไลน์ในห้างหรูได้ในเวลาไม่นาน
ดังนั้นการจะทำให้แบรนด์ธรรมดานั้นมีความพรีเมียม วัตถุดิบทุกตัวจะต้องมีคุณภาพไม่เหมือนใคร แพ็กเกจจิง และการตกแต่งร้าน ต้องถูกคิดมาแล้วเป็นอย่างดี เพื่อให้กลุ่มลูกค้าระดับพรีเมียมพร้อมเป็นกระบอกเสียงให้แบรนด์ และกลุ่มลูกค้าอื่น ๆ ก็จะอยากตามมาทดลอง
และในวันนี้แบรนด์ชาไทย KARUN ก็ไม่ได้หยุดอยู่แค่ในไทยแล้ว เพราะมีต่างชาติติดต่อเข้ามาขอซื้อแฟรนไชส์ เพื่อไปเปิดสาขาในต่างประเทศ โดยที่ KARUN ใช้เวลาแค่ 3 ปีเท่านั้นเอง..
4. หากหมดมุก หมดไฟในธุรกิจ เสียงของลูกค้าคือสิ่งที่ทำให้แบรนด์เกิดไอเดียใหม่
เป็นเรื่องปกติที่คนทำธุรกิจจะรู้สึกตัน หมดมุก ไม่รู้จะทำอะไรต่อ คุณรัสก็ได้แชร์ประสบการณ์ของตัวเองว่า ตัวคุณรัสเองก็ประสบปัญหาเหล่านี้บ่อย ๆ แม้ว่าจะเข้าสู่ปีที่ 3 ก็ยังมีความรู้สึกเหล่านั้นอยู่ดี
1
และวิธีที่คุณรัสและทีมงานมักจะทำ นอกจากจะศึกษาตลาดอย่างดีแล้ว สิ่งสำคัญก็คือการฟังเสียงของลูกค้าที่มาซื้อสินค้าจากหน้าร้าน และให้ทีมงานหน้าร้านคอยเก็บข้อมูล และสังเกตความต้องการของลูกค้า
3
เช่น ลูกค้าชอบซื้อท็อปปิงแบบไหน ? กลุ่มลูกค้าชอบหวานน้อย ชอบเรื่องสุขภาพและชอบความผอมกันมากขึ้นหรือไม่ ? หรือว่าลูกค้าชอบซื้อขนมแบบเป็นเซตหรือแบบแยกเดี่ยวมากกว่ากัน ?
1
ซึ่งการสังเกตและเก็บข้อมูลจากหน้าร้าน จะทำให้แบรนด์ได้นำข้อมูลไปต่อยอดออกเป็นเมนูใหม่ ๆ ให้ตอบโจทย์ลูกค้ามากขึ้น
อย่างเช่น การออกเมนูมินิ Tea Set ที่มีน้ำพร้อมขนม ก็เกิดมาจากการสังเกตพฤติกรรมของลูกค้าที่ชอบซื้อน้ำพร้อมกับขนม
หรือเมนูอัฟโฟกาโต ที่ดึงเอาความหอมของชาไทย KARUN มาทานคู่กับไอศกรีมของแบรนด์ Mövenpick ก็เกิดจากการพูดคุยกับลูกค้าจากหน้าร้านนั่นเอง
คุณรัสยังบอกเพิ่มเติมอีกว่า แต่อย่างไรก็ตาม การฟังเสียงจากลูกค้า ไม่ใช่ฟังแล้วทำตามเลยทุกอย่าง แต่เราต้องนำมาวิเคราะห์ต่อยอด เพื่อดูว่าอะไรยังเป็นช่องว่าง และช่วยในการเปิดตลาดใหม่ให้กับเราได้จริง ๆ
2
และการพูดคุยที่ช่วยให้เกิดไอเดียใหม่ ๆ ไม่ได้มีแค่ระหว่างเรากับลูกค้า แต่มันสามารถเกิดขึ้นจากการที่เราคุยกับคนในทีมทุกคน หรือคุยกับคนที่มีประสบการณ์ ไอดอลของเรา ซึ่งการออกไปพูดคุยบ่อย ๆ จะช่วยพัฒนาความคิดของเราได้ทุกวัน
และแม้แต่การอ่านหนังสือ ออกไปเรียนรู้อะไรใหม่ ๆ ก็จะช่วยให้เรามีไอเดียในการทำธุรกิจได้ง่ายขึ้น
อ่านมาถึงตรงนี้ เราจะเห็นว่า สิ่งที่ทำให้ KARUN เติบโตไว จนเป็นที่พูดถึงและเตะตาแบรนด์ดัง ไม่ได้มีแค่เรื่องของภาพลักษณ์แบรนด์ที่พรีเมียม
แต่เป็นการทำให้เห็นว่า KARUN เป็นตัวจริงในเรื่องของชาไทย ตั้งแต่การทำการบ้านให้ดี คัดสรรวัตถุดิบหายาก มีการผสมผสานเมนูชาไทยให้เป็นทุกอย่างได้อย่างสร้างสรรค์
และที่สำคัญคือ การตั้งใจฟังเสียงของลูกค้า เพื่อทำให้ได้สิ่งที่ดีที่สุด จนคนยอมที่จะจ่าย
เพื่อให้ KARUN เป็นแบรนด์ชาไทยของคนไทย ที่พร้อมเติบโตในระดับอินเตอร์ ได้นั่นเอง..
Reference:
- สัมภาษณ์พิเศษ คุณรัส-ธัญย์ณภัคช์ ศิริประภาเจริญ โดยเพจ BrandCase
3
โฆษณา