Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
ฝึกใจไปกับธรรมะ
•
ติดตาม
30 เม.ย. 2022 เวลา 11:59 • ปรัชญา
"เป็นเจ้าของกิจการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค
ตั้งใจดำเนินกิจการอยู่บนความถูกต้อง
จะทำอย่างไรให้สำเร็จสมความตั้งใจ ?"
. . . . .
“ ค ว า ม ถู ก ต้ อ ง ” ที่คุณยึดเป็นหลักในการทำงานของคุณนั้น มาจากคำว่า “ สั จ จ ะ ” ซึ่งแปลว่าความซื่อตรง ซื่อสัตย์ นั่นก็หมายความว่าต้องทำแต่สิ่งที่ถูกต้อง
เมื่อครั้งพุทธกาล เคยมีหัวหน้ายักษ์เป็นผู้ตั้งคำถามถามพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า
“ทำอย่างไรให้มีชีวิตอยู่ก็เป็นสุข ตายแล้วก็ไปสวรรค์”
พระองค์ตรัสตอบว่า
“ผู้มีศรัทธาเชื่อในคำสอนของพระอริยเจ้า แล้วมีความประพฤติ ๔ ข้อ คือ ๑. มีสัจจะ ๒. มีทมะ ๓. มีขันติ ๔. มีจาคะ ผู้มีศรัทธา และมีธรรมครบ ๔ อย่างนี้ มีชีวิตอยู่ในโลกก็มีความสุข ตายไปก็ไปสวรรค์”
ธรรมเรื่องที่ ๑ สัจจะ เป็นธรรมที่ต้องลงมือประพฤติปฏิบัติ ถ้ารู้ความหมายเพียงแค่ “ความถูกต้อง” ยังไม่ก่อให้เกิดความเข้าใจมากพอจะนำไปปฏิบัติได้ ถ้าแปลในลักษณะที่เอาไปฝึกด้วย ใช้งานด้วย สัจจะนั้นแปลว่า ความรับผิดชอบ เมื่อทำอะไรขึ้นมาแล้ว ถ้าผิดก็ต้องรับผิด ถ้าถูกก็รับความดีความชอบไป บูรพาจารย์ของเราท่านแยกออกมาให้ดูว่าความถูกต้องที่คุณจะต้องรับผิดชอบทำนั้นมีอยู่ ๕ เรื่อง ไม่ใช่เรื่องเดียว
• รับผิดชอบต่อหน้าที่ ต้องทำให้ครบทุกหน้าที่ที่มี
• รับผิดชอบต่อการงาน หน้าที่แต่ละอย่างมีการงานที่ต้องทำมากมาย งานต่าง ๆ ที่ทำขึ้นมาต้องทำให้ได้ดีถึงระดับดีที่สุด
• รับผิดชอบต่อคำพูด ในการดูแลกิจการนั้นคุณไม่ได้ทำเองทุกเรื่อง คุณต้องให้คนอื่นมาช่วยทำ ฉะนั้น คำพูดของคุณที่สั่งงานไปต้องให้ชัดเจน
• รับผิดชอบต่อบุคคล คุณมีบุคคลที่ต้องรับผิดชอบ ทั้งบุคคลต่าง ๆ ในการปกครองรวมถึงลูกค้าของคุณด้วย
• รับผิดชอบต่อความดีของตัวเอง คือ บุญบาปที่จะเกิดกับคุณ รวมทั้งนิสัยดี ๆ หรือนิสัยเลว ๆ ที่จะเกิดกับคุณ
ยกตัวอย่างการทำงานของคุณ จะสร้างผลิตภัณฑ์แต่ละชิ้น หน้าที่ของคุณต้องไปควบคุมดูแลให้วิจัยแล้ววิจัยอีก ทดลองแล้วทดลองอีก ให้ได้ผลแน่นอน จึงจะยอมให้มีการผลิตออกมาจำหน่าย ส่วนในงานผลิต คุณก็ต้องติดตามรักษาคุณภาพให้สม่ำเสมอ ต้องกำกับดูแลลูกน้องทุกระดับให้ทำงานให้ดีที่สุด เพื่อรักษาชื่อเสียงของยี่ห้อเอาไว้ ฉลากสินค้าทุกตัวอักษรก็ต้องรับผิดชอบ เพราะมันคือคำพูดของคุณ ถ้าทำไม่ดีก็คือการไม่รับผิดชอบทั้งต่อลูกค้า ต่อบุคลากรต่อบริษัท สุดท้ายก็ต่อบุญบาปของตัวเอง
นี้คือธรรมเรื่องที่ ๑ คือ สัจจะ ที่ใช้คำว่ารับผิดชอบหรือความถูกต้อง ซึ่งจะสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อทั้งคุณ และลูกน้องต้องฝึกให้ตัวเองมีความซื่อสัตย์ถึง ๕ สถาน
ความรับผิดชอบเพื่อความถูกต้องนี้ต้องฝึกจากการงานที่ทำ และต้องทำให้เป็นนิสัย โดยประการสำคัญจะต้องมีความสำนึกในเรื่องความดี ความชั่ว เรื่องบุญ เรื่องบาป ให้เป็นนิสัยการมีความสำนึกในความรับผิดชอบเรื่องบุญเรื่องบาปเป็นนิสัย นั่นคือลักษณะของผู้มี “ศรัทธา” เชื่อในคำสอนของพระอริยเจ้าแล้ว เพราะถ้ายังไม่เชื่อว่ามีบุญ มีบาป มีนรก มีสวรรค์ มีชีวิตหลังความตายก็จะไม่ตระหนักถึงความสำคัญของการกระทำของตนว่าจะเป็นบุญหรือบาป คนที่ไม่เชื่อ ไม่มีศรัทธา จะไม่ทุ่มเทรับผิดชอบมาถึงตรงนี้
ธรรมเรื่องที่ ๒ ทมะ ในขณะที่ทำการงานด้วยความรับผิดชอบตามหลักสัจจะอยู่นั้น คุณธรรมหนึ่งจะเกิดตามมาคือ ทมะ ซึ่งแปลว่า ฝึก แปลว่า ข่ม
๑. ฝึกนิสัยดี ๆ ขึ้นมาใหม่ เมื่อก่อนเราอาจจะทำงานอะไรยังไม่ดีเท่านี้ แต่วันนี้ถึงคราวจะต้องสร้างธุรกิจให้เป็นหนึ่ง จึงต้องฝึกต้องทำให้ดียิ่ง ๆ ขึ้น ยกตัวอย่างเช่น แม้ตอนนี้สินค้าในตลาดของเราถือเป็นที่หนึ่งแล้ว แต่เมื่อคำนึงว่า เมื่อต่างประเทศรุกเข้ามา สินค้าของเราก็อาจจะร่นถอยลงมาเป็นอันดับ ๓ อันดับ ๔ ได้ เมื่อคาดการณ์เห็นอย่างนี้ก็มีความจำเป็นจะต้องฝึกกันต่อไป ต้องทำทุกอย่างให้ดีที่สุด ต้องปรับปรุงพัฒนาต่อไปไม่หยุดยั้ง
๒. ต้องข่มนิสัยไม่ดีต่าง ๆ ให้หมดไปด้วย เพราะนิสัยไม่ดีต่าง ๆ คือข้อบกพร่องที่ทำให้การดำเนินธุรกิจเกิดความเสียหาย เกิดอันตรายได้ เพราะฉะนั้น เราก็ต้องฝึกบุคลากรทั้งองค์กรให้มีใจคิด และฝึกไปในแนวทางเดียวกัน การพัฒนาถึงจะก้าวหน้าไม่หยุดยั้ง ขณะเดียวกันก็ระวังป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายตามหลังอีกด้วย
ธรรมเรื่องที่ ๓ ขันติ คือ ความอดทน การทำงานทุกงานนั้นต้องมีความอดทน ถ้าไม่มีก็เติบโตต่อไปไม่ได้ ขันติมี ๔ ลักษณะ แบ่งเป็น ๓ ทน ๑ อด คือ
• ทนต่อความยากลำบาก ได้แก่ ทนแดด ทนลม ทนฝน ยิ่งเป็นเจ้าของต้องลงไปตรวจงานดูกิจการของเราเอง
• ทนต่อทุกขเวทนา ได้แก่ ทนป่วย ทนไข้ ถ้าไม่เจ็บหนักก็ต้องออกไปติดตามดูการทำงานของลูกน้อง ถ้าปล่อยปละอาจมีบางสิ่งรอดหูรอดตาไปแล้วเสียหายได้
• ทนต่อการกระทบกระทั่ง เพราะการปกครองคนหมู่มากย่อมมีการกระทบกระทั่งกันเกิดขึ้นบ้างก็ต้องทนต่อลูกน้อง ทนคำบ่น ทนคำนินทา
• อดใจต่อการยั่วเย้าของกิเลส เช่น อดใจต่อคำชม คำสรรเสริญต่าง ๆ ถ้าเผลอตัวไปกับคำชื่นชมต่าง ๆ เราอาจประเมินกำลังศักยภาพของตนผิดพลาดได้ ความประมาทเป็นหนทางแห่งความเสื่อม
ธรรมเรื่องที่ ๔ จาคะ คือ เสียสละ ในขณะที่ทำงานไป และพยายามฝึกสัจจะ ทมะ และขันติไปด้วยก็มีเรื่องที่ต้องการความเสียสละของเราเกิดขึ้นตามมา
การเสียสละเกิดขึ้นหลายประการ ได้แก่
• สละเวลา สละเวลาหลับเวลานอน บางครั้งต้องติดตามงานให้เสร็จจนถึงดึกดื่นหรือบางครั้งต้องถูกปลุกแต่เช้าไปดูแลแก้ไขความผิดพลาดที่เกิดขึ้น
• สละความรู้ความสามารถ ความรู้ความสามารถบางอย่างหวงไม่ได้ เมื่อต้องการคนมาช่วยงานแบ่งเบาภาระงานต้องให้ความรู้แก่เขา และบางทีความรู้ที่เป็นความลับของเราจะรั่วไหลไปบ้างก็คงต้องยอมสละ
• สละอารมณ์ ต้องสละอารมณ์เสียอารมณ์บูดทั้งหลายจากการทำงาน จากความเห็นไม่ตรงกัน ฯลฯ หากจะทำให้การสละอารมณ์ตรงนี้ได้ง่ายก็ต้องฝึกนั่งสมาธิให้บ่อย ๆ
• สละทรัพย์สิ่งของ ถึงเวลา ถึงจังหวะโอกาสที่เหมาะสมก็มีรางวัลเตรียมไว้ให้แก่ลูกน้องคนทำงานด้วย ตอบแทนน้ำใจที่เขายอมทำงานติดตามเรา ให้เราได้ใช้สอยให้ทำงาน ธรรมทั้ง ๔ ประการ คือ สัจจะ ทมะ ขันติ และจาคะ เมื่อฝึกทำงานไปจะเกิดตามกันมาเป็นชุด จึงจะเกิดเป็นนิสัยขึ้นมา ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องเดียวกัน ไม่ใช่แยกเป็น ๔ เรื่อง เปรียบเสมือนเพชรเม็ดหนึ่งมีทั้งสีสวย เนื้อแกร่ง น้ำดี สะท้อนแสงแวววับ มันไม่ได้แยกออกมาอย่างใดอย่างหนึ่ง โดยจุดเริ่มต้นต้องเป็นคนที่มีศรัทธาเชื่อคำสอนของพระอริยเจ้า เชื่อในกฎแห่งกรรม เชื่อบุญบาปโลกนี้โลกหน้ามีจริง
เมื่อคุณคิดจะดำเนินกิจการบนความถูกต้อง ให้ลำดับความสำคัญของคุณภาพสินค้ามาก่อนกำไร นั่นคือเริ่มต้นการทำงานด้วยสัจจะ เป็นการเริ่มต้นที่ถูกทางแล้ว แต่จำเป็นต้องศึกษาให้เข้าใจรอบด้านว่าความถูกต้องประกอบด้วยความรับผิดชอบถึง ๔ ด้าน และธรรมชาติของความรับผิดชอบเหล่านี้จะทำได้สมบูรณ์จะต้องฝึกทมะ ขันติ และจาคะให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไปด้วย
ดังนั้น ถ้าคุณทำได้เช่นนี้ กิจการก็จะเจริญเติบโตยั่งยืนได้ ทรัพย์ก็มั่งคั่ง ชีวิตก็มั่นคง สมบูรณ์ด้วยมิตรสหาย ลูกน้องบริวาร และเป็นชีวิตที่ได้สั่งสมบุญ ละเว้นจากบาปอกุศล จึงเป็นชีวิตที่อยู่ในโลกอย่างเป็นสุข ตายแล้วก็ไปสู่สวรรค์
• • • • •
เรื่อง : พระราชภาวนาจารย์ (หลวงพ่อทัตตชีโว)
.. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .
ที่มา :
www.dmc.tv
บันทึก
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
สุขสาระ 🤗
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย