19 เม.ย. 2022 เวลา 12:19 • หุ้น & เศรษฐกิจ
ทำไมรัฐบาลในหลายๆ ประเทศหันมาส่งเสริม Soft Power?
1
ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา เราน่าจะได้ยินข่าวมะม่วงล้นตลาด ราคาตกจนเกษตรกรแทบไม่เหลือกำไร ทางหน่วยงานรัฐต่างพยายามหาวิธีแก้ปัญหาไม่ว่าจะเป็นการช่วยรับซื้อในราคาที่สูงกว่าราคาตลาด เชื่อมโยงผลผลิตเข้าสู่รถโมบายพาณิชย์เพื่อกระจายสินค้าไปขายให้แก่ประชาชน ซึ่งก็แปลว่ารัฐจะต้องแบกรับต้นทุนของการอุดหนุนเกษตรกรไว้เป็นจำนวนมาก
3
แต่เพียงแค่ไม่กี่นาทีหลังจากที่ Milli ศิลปินเดี่ยวสัญชาติไทยคนแรก* ที่ได้ขึ้นโชว์ในเทศกาลดนตรีระดับโลก "Coachella" และโชว์กินข้าวเหนียวมะม่วงบนเวที ทำให้คำว่า Mango Sticky Rice กลายเป็นคำที่ถูกค้นหาเป็นอย่างมากใน Google จากทั่วโลก ทั้งยังส่งผลให้ผู้บริโภคชาวไทยแห่กันไปต่อคิวซื้อข้าวเหนียวมะม่วงจนเป็นปรากฎการณ์จนมะม่วงไม่พอขายกันเลยทีเดียว
2
(* อันที่จริงลิซ่าเป็นคนไทยคนแรกในเวทีนี้ แต่ไปในนามของวง Blackpink ซึ่งถือว่าเป็นศิลปินสัญชาติเกาหลีใต้)
เครดิตภาพ : Coachella
เรื่องดังกล่าวทำให้คนไทยหันกลับมาพูดเรื่อง Soft Power กันอีกครั้ง ซึ่งเป็นสิ่งที่หลายๆ ประเทศทั่วโลกหันมาให้ความสำคัญในยุคปัจจุบันนี้ เพราะเป็นวิธีการโปรโมทสิ่งที่ประเทศต้องการให้ทั่วโลกได้รับรู้ โดยใช้ต้นทุนไม่มากนัก และไม่ต้องใช้กำลังทางการทหารเหมือนในอดีต แต่กลับสร้างการตระหนักรู้ในเชิงบวกให้แก่ประเทศได้เป็นวงกว้าง
4
ในบทความนี้ Bnomics จะพาไปดูว่า ตัวอย่างของ Soft Power ที่แต่ละประเทศพยายามทำให้ยุคปัจจุบันนี้มีอะไรบ้าง และประสบความสำเร็จไปแค่ไหน
📌 Soft Power คืออะไร?
ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านๆ มา หลายประเทศมีความกังวลเกี่ยวกับเรื่องการถ่วงดุลอำนาจ และการเปลี่ยนผ่านขั้วอำนาจของประเทศมหาอำนาจในโลกกันมาตลอด ถ้าเรามองความหมายของคำว่า “อำนาจ” ตามพจนานุกรม ก็จะได้ความว่าคือการที่เราสามารถทำ หรือควบคุมสิ่งต่างๆ ให้เป็นตามที่ต้องการได้ ในอดีตอำนาจนี้เองจึงมักจะถูกผูกไว้กับประเทศที่เป็นเจ้าของทรัพยากร, มีประชากรมาก, มีอาณาเขตมาก, ขนาดเศรษฐกิจใหญ่, มีอำนาจทางการทหาร และความมั่นคงทางการเมือง
1
ดังนั้นการที่จะประชันกันว่าประเทศไหนมีอำนาจมากกว่าก็ไปวัดกันในสงคราม
แต่เมื่อวันเวลาผ่านไป การอำนาจในรูปแบบเดิมเริ่มถูกลดทอนความสำคัญลงเนื่องจากเทคโนโลยี การศึกษา และการเติบโตทางเศรษฐกิจได้เข้ามามีบทบาทสำคัญต่ออำนาจระหว่างประเทศมากยิ่งขึ้น การใช้อำนาจแบบรุนแรงในการบังคับ (Hard Power) จึงมีความสำคัญน้อยลงเนื่องจากต้องใช้ต้นทุนที่สูงขึ้น
และได้เกิดอำนาจแบบใหม่ที่เรียกว่า Soft Power ซึ่งเป็นอำนาจที่เกิดขึ้นผ่านทางการสร้างวัฒนธรรม อัตลักษณ์ และนโยบายต่างประเทศ เพื่อจูงใจให้ได้สิ่งที่ต้องการจากอีกฝ่ายโดยไม่ต้องใช้การบังคับด้วยความรุนแรง
2
📌 เกาหลีใต้…ตัวอย่างของประเทศที่สร้างชาติด้วย Soft Power
ถ้าพูดถึงประเทศที่เป็นตัวอย่างของการใช้ Soft Power ได้ดี คงหนีไม่พ้นเกาหลีใต้ ที่ขึ้นชื่อในเรื่องของการใช้สื่อต่างๆ เพื่อเผยแพร่ค่านิยมและวัฒนธรรมของเกาหลีใต้ผ่านซีรีส์, หนัง, เพลง, อาหาร, เครื่องสำอาง และไลฟ์สไตล์แบบชาวเกาหลีใต้ ซึ่งถือได้ว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากในการสร้างรายได้เข้าสู่เกาหลีใต้ และยังช่วยสร้างภาพลักษณ์ของเกาหลีในยุคใหม่ให้แก่คนทั่วโลกอีกด้วย ในปัจจุบันเราจึงได้เห็นตัว K นำหน้าอุตสาหกรรมต่างๆ อาทิ K-Pop, K-Movies, K-Dramas, K-Beauty แสดงให้เห็นว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ได้เป็นเพียงแค่วัฒนธรรมเกาหลี แต่คำว่าเกาหลีเองเหมือนเป็นชื่อแบรนด์หนึ่งไปแล้ว
5
Soft Power ของเกาหลีใต้ สามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศอย่างเป็นกอบเป็นกำทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยวง BTS ซึ่งเป็นบอยแบนด์ชื่อดังของเกาหลีเพียงแค่วงเดียว สามารถสร้างรายได้ให้แก่เศรษฐกิจเกาหลีคิดเป็นมูลค่ากว่า 0.3% ของ GDP และยังมากกว่า GDP ของทั้งเกาะมัลดีฟส์เสียอีก
1
เครดิตภาพ : Vogue Singapore
📌 การทูตวัคซีน… Soft power ของหลายประเทศในยุคโควิด
ในช่วงโควิด ก็เป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์ที่แต่ละประเทศสามารถแสดงให้ทั้งโลกเห็นภาพลักษณ์ของประเทศตัวเองได้ บางประเทศก็ทำให้เห็นถึงประสิทธิภาพในการจัดการที่ดีของภาครัฐ บางประเทศก็แสดงให้เห็นถึงความไร้ประสิทธิภาพในการจัดการ ซึ่งก็จะส่งผลถึงความเชื่อมั่นในอนาคตต่อไป
เราจึงได้เห็นประเทศใหญ่ๆ อย่างสหรัฐฯ จีน รัสเซีย และอินเดีย ต่างแข่งขันกันเป็นผู้นำในการผลิตวัคซีน และยังเข้าร่วมโครงการ COVAX เพื่อบริจาควัคซีนให้แก่ประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งนอกจากจะช่วยให้ทั้งโลกได้เห็นถึงความสามารถทางวิทยาศาสตร์และการแพทย์แล้ว ยังช่วยสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศได้อีกด้วย
2
ประเทศจีนซึ่งเป็นประเทศที่ถูกหลายๆ ประเทศลดความเชื่อมั่นคง จากการที่ไม่สามารถจัดการการแพร่ระบาดได้ในช่วงต้น เมื่อควบคุมโควิดในได้ระยะหนึ่งแล้ว จีนจึงได้นำกลยุทธ์ Soft Power ผ่านการส่งหน้ากากอนามัย, ทีมแพทย์, และชุดตรวจโควิด-19 ให้แก่หลายๆ ประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะในประเทศที่ยากจน
3
นอกจากนี้จีนยังเป็นประเทศที่ใช้ “การทูตวัคซีน” โดยการผลิตและกระจายวัคซีนไปยังประเทศต่างๆ เพื่อปรับภาพลักษณ์ประเทศในสายตานานาชาติเป็นประเทศแรกๆ ของโลก ซึ่งในตอนนั้นการผลิตและจัดหาวัคซีนยังเป็นเรื่องยากอยู่
2
การทูตวัคซีนของจีนไม่เพียงแต่จะช่วยแก้ไขภาพลักษณ์ของจีน และแสดงให้เห็นถึงอำนาจที่ยิ่งใหญ่ของจีนเท่านั้น แต่ยังเป็น Soft Power ชั้นดีที่จะช่วยให้จีนสามารถแสดงความสามารถทางด้านวิทยาศาสตร์ โปรโทภาพลักษณ์ความเป็นผู้นำทางด้านสุขภาพของโลก ความเป็นประเทศที่มีคุณธรรม ช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนา และยังสามารถใช้ประโยชน์จากโอกาสทางเศรษฐกิจใหม่ และภูมิศาสตร์ทางการเมืองใหม่ๆ ได้อีกด้วย
1
China News Service via Getty Images
ทั้งหมดนี้จึงทำให้เราเห็นว่าในยุคใหม่ การต่อสู้ด้วยแสนยานุภาพทางการทหารแบบเดิมๆ อาจไม่ตอบโจทย์อีกต่อไป แต่ Soft Power จะกลายเป็นสิ่งที่ช่วยให้ประเทศสามารถได้ในสิ่งที่ต้องการได้มากกว่า โดยที่ไม่จำเป็นต้องมีการเสียเลือดเสียเนื้อ และใช้ต้นทุนอย่างมหาศาลเหมือนในอดีตผ่านการก่อสงครามเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจอีกแล้ว แต่เป็นการต่อสู้ด้วยสมอง วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และวัฒนธรรมเสียมากกว่า
1
ซึ่งถ้ารัฐบาลไทยให้การส่งเสริมทางด้าน Soft Power ได้มากขึ้นกว่าที่ทำอยู่ในปัจจุบัน บางทีเราอาจจะสามารถใช้อาหาร เป็นอาวุธในการต่อสู้กับชาติอื่นๆ ก็เป็นได้…
ผู้เขียน : ชนาภา มานะเพ็ญศิริ Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
▶︎ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
Reference :
  • Nye, J. S. (1990). Soft Power. Foreign Policy, 80, 153–171. https://doi.org/10.2307/1148580
  • Vaccine diplomacy: nation branding and China’s COVID-19 soft power play - PMC (nih.gov)
  • On Hallyu and its global army: Soft power lessons from South Korea | ORF (orfonline.org)
  • The quest for soft power: competitive vaccine diplomacy in Southeast Asia | T.wai (twai.it)
โฆษณา