20 เม.ย. 2022 เวลา 03:50 • ธุรกิจ
New S-Curve คืออะไร ? ทำไมหลายธุรกิจชอบพูดถึง
ที่ผ่านมาเราน่าจะเคยได้ยินหลายบริษัท เริ่มมองหาธุรกิจใหม่ ๆ ซึ่งหลายครั้ง ธุรกิจใหม่นั้นก็ต่างจากเดิม จากหน้ามือเป็นหลังมือ
ทั้งนี้ ก็เพื่อมองหาการเติบโตใหม่ ๆ ที่มาช่วยสนับสนุนการเติบโตของธุรกิจเดิม
ดังนั้น เราจึงมักได้ยินคนในวงการธุรกิจพูดถึงคำว่า “New S-Curve”
สรุปแล้ว New S-Curve คืออะไร ทำไมหลายธุรกิจชอบพูดถึง ?
ต้องทำความเข้าใจกับคำว่า S-Curve ในทางธุรกิจกันก่อนว่า
การเติบโตของธุรกิจโดยทั่วไป มักจะมีลักษณะเป็นไปตามเส้นโค้งที่เรียกว่า S-Curve
ซึ่งสามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ระยะ คือ
1. ระยะที่เติบโตอย่างช้า ๆ ในช่วงแรก (Initial slow growth state)
ระยะนี้ ธุรกิจมักจะเติบโตอย่างช้า ๆ เนื่องจากลูกค้านั้นยังไม่รู้จักบริษัท
หรือผลิตภัณฑ์ของบริษัท อาจกำลังอยู่ในช่วงที่ทดลองตลาด อยู่ในช่วงที่ลูกค้าเพิ่งเริ่มใช้ ทำให้ยังไม่ได้เข้าถึงลูกค้าในวงกว้าง รายได้ยังเพิ่มขึ้นไม่มาก
2
ขณะที่บางบริษัทอาจจะยังขาดทุนอยู่ ดังนั้นเส้นที่ S-Curve ในช่วงนี้จะมีความชันเพียงเล็กน้อย คล้าย ๆ ช่วงแรกที่เรากำลังเขียนตัว S ขึ้นมาจากหางด้านล่าง
3
2. ช่วงเติบโตเร็ว (Rapid growth state)
ธุรกิจที่ผ่านช่วงแรกมาได้ จะเริ่มเข้าสู่ช่วงที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว เนื่องจากเป็นช่วงที่สินค้าและบริการของบริษัทติดตลาด และได้รับความนิยมแล้ว
สินค้าและบริการมีส่วนแบ่งในตลาดเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน มีลูกค้าเพิ่มมากขึ้นจากช่วงแรก ทำให้รายได้และกำไรเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
ดังนั้น เส้นที่ S-Curve ของธุรกิจจะมีความชันขึ้นอย่างมาก เมื่อเทียบกับในช่วงแรก
3. ช่วงเติบโตช้าลง (Slow growth stage)
การเติบโตของธุรกิจค่อย ๆ ลดลง สินค้าและบริการเข้าสู่ช่วงเติบโตเต็มที่ ลูกค้าส่วนใหญ่ได้ใช้สินค้าและบริการของบริษัทแล้ว และบริษัทก็เริ่มหาลูกค้าใหม่ให้มาใช้สินค้าหรือบริการได้ยากขึ้น
ในช่วงนี้รายได้จะเพิ่มขึ้นอย่างช้า ๆ ไม่รวดเร็วเท่ากับช่วงเติบโตเร็ว ขณะที่เส้น S-Curve เริ่มมีความชันขึ้นลดลง
4. ช่วงถดถอย (Declining state)
รายได้และกำไรของธุรกิจเริ่มลดลง แม้ว่าจะมีกลยุทธ์เพิ่มยอดขาย จัดกิจกรรมทางการตลาดต่าง ๆ มากแค่ไหน
เนื่องจากความต้องการซื้อสินค้าและบริการของลูกค้านั้นลดลง โดยอาจเกิดมาจากหลายปัจจัย
เช่น เริ่มมีคู่แข่งมากขึ้น ทำให้ส่วนแบ่งในตลาดลดลง พฤติกรรมของผู้บริโภคจะเริ่มเปลี่ยนไป หรือแม้แต่ภาพอุตสาหกรรมในอนาคตที่กำลังเปลี่ยนไปจากเดิม
พอเรื่องเป็นแบบนี้ ถ้าธุรกิจปล่อยให้เวลาผ่านไป S-Curve เส้นเดิม จะค่อย ๆ ปักหัวลง ก็หมายความว่า การเติบโตของธุรกิจจะค่อย ๆ ลดลง
ซึ่งเรื่องนี้ ผู้ที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของบริษัท ไม่ว่าจะเป็นผู้บริหาร ผู้ถือหุ้น หรือนักลงทุน ก็ไม่ต้องการที่จะเห็นสถานการณ์ดังกล่าวนี้เกิดขึ้น
ทำให้หลายธุรกิจจำเป็นต้องมองหาสิ่งที่เรียกว่า New S-Curve
หรือพูดง่าย ๆ ก็คือ “หน่วยธุรกิจใหม่ หรือสินค้า/บริการใหม่ ๆ ที่จะสร้างการเติบโตใหม่ให้กับบริษัท”
ลองมาดูตัวอย่างการมองหา New S-Curve ที่ผ่านมาของหลายบริษัทใหญ่ในไทย
1
- กลุ่ม PTT ผู้นำธุรกิจปิโตรเลียมและปิโตรเคมีครบวงจร
เข้าลงทุนในธุรกิจ Life Science หรือวิทยาศาสตร์เพื่อชีวิตและสุขภาพ เช่น ยา ฟิวเชอร์ฟูด และอุปกรณ์ทางการแพทย์
รวมไปถึงมีการลงทุนกับ Foxconn ผู้ผลิตและประกอบอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ เพื่อเตรียมเปิดโรงงานผลิตรถไฟฟ้าในไทย
- กลุ่ม GULF ผู้นำในธุรกิจโรงไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่
มีการจัดตั้งบริษัทย่อยเพื่อทำธุรกิจ และลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล สินทรัพย์ดิจิทัล เทคโนโลยีบล็อกเชน และบริการที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการลงทุนในกองทุน ที่ลงทุนในสินทรัพย์และธุรกิจดังกล่าวในต่างประเทศ
- ADVANC ผู้ให้บริการสื่อสารโทรคมนาคมและเทคโนโลยีรายใหญ่ในไทย
เข้าสู่ธุรกิจให้บริการด้านสินเชื่อผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์ม (Digital Lending) เพื่อให้ลูกค้าสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินที่สะดวกมากยิ่งขึ้น
ผ่านการร่วมมือกับ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) โดยตั้งบริษัทชื่อว่า AISCB
1
- OR ผู้นำธุรกิจค้าปลีกปิโตรเลียมในประเทศไทย
มีการเข้าไปลงทุนถือหุ้นในธุรกิจเครื่องดื่มอย่าง KAMU ธุรกิจอาหารสุขภาพอย่างโอ้กะจู๋ เพื่อเสริมศักยภาพกลุ่มธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มของบริษัท
นี่เป็นเพียงตัวอย่างของหลายธุรกิจที่กำลังปรับตัว เพื่อสร้างการเติบโตใหม่ ๆ
1
ถ้าวันนี้เรากำลังทำธุรกิจอยู่ ลองสังเกตและวิเคราะห์ดูว่า ธุรกิจของเรานั้นอยู่ในช่วงไหนของ S-Curve
ซึ่งการเรียนรู้เกี่ยวกับ S-Curve จะมีประโยชน์มาก โดยเฉพาะสำหรับผู้บริหาร รวมทั้งผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบในงานวางแผนเชิงกลยุทธ์ให้กับบริษัท เพื่อกำหนดทิศทางการเติบโตของธุรกิจในอนาคต
เพราะท่ามกลางโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว
ถ้าหลายธุรกิจมัวแต่ทำหรือยึดติดกับสิ่งเดิม ๆ ที่เคยทำกันมาในอดีต
ธุรกิจเหล่านั้น อาจเหลือเพียงแค่ชื่อให้คนได้รู้จักในอนาคต ก็เป็นได้..
โฆษณา