Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
เภสัชสามัญประจำบ้าน
•
ติดตาม
19 เม.ย. 2022 เวลา 12:41 • สุขภาพ
ประเภทของยา และ แหล่งในการหาซื้อยาอย่างถูกต้อง
ปัจจุบัน "ยา" สามารถหาซื้อได้ง่ายจากหลากหลายที่ ยิ่งในยุคที่การซื้อขายออนไลน์มากๆ ทำให้ประชาชนเข้าถึง "ยา" ได้ง่ายขึ้น แต่อาจจะ "ไม่ปลอดภัย"
เคยสงสัยกันมั้ยคะ ?? ว่าทำไมยาบางชนิดหาซื้อได้ตามร้านสะดวกซื้อ หรือ ร้านขายของชำ บางชนิดซื้อได้ในร้านยาที่มีเภสัชกรแนะนำ หรือ ยาบางชนิดต้องมีใบสั่งยาจากแพทย์ถึงจะขอซื้อได้
นั่นเป็นเพราะว่า "ยา" แบ่งออกเป็นหลายประเภท แต่ละประเภทมีวิธีใช้ ข้อบ่งใช้ และ ข้อควรระวังต่างๆกัน เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภคในการใช้ยาได้อย่างถูกต้องและปลอดภัย กระทรวงสาธารณสุขจึงได้ออกประกาศต่างๆ ตามความในพระราชบัญญัติยา (พรบ.) พ.ศ. 2510 และ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม เพื่อจำแนกยาออกเป็นประเภทต่างๆ โดยมีรายละเอียด ดังนี้
★
แบ่งตามศาสตร์การรักษา ได้แก่ ยาแผนปัจุบัน และ ยาแผนโบราณ
★
แบ่งตามระดับการควบคุมการขาย ได้แก่ ยาสามัญประจำบ้าน, ยาอันตราย, ยาควบคุมพิเศษ และ ยาบรรจุเสร็จที่ไม่ใช่ยาอันตราย และ ยาควบคุมพิเศษ
★
แบ่งตามกระบวนการแปรรูป ได้แก่ เภสัชเคมีภัณฑ์, เภสัชเคมีภัณฑ์กึ่งสำเร็จรูป, ยาสมุนไพร และ ยาบรรจุเสร็จ
★
แบ่งตามวิธีการใช้งาน ได้แก่ ยาใช้ภายนอก และ ยาใช้เฉพาะที่
วันนี้ "เภสัชสามัญประจำบ้าน" จะขออธิบายเฉพาะการแบ่งตามระดับการควบคุมการขาย และ แหล่งในการจำหน่ายอย่างถูกกฎหมายเท่านั้นนะคะ
เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับความปลอดภัยจากยา และเป็นการวางบทบาทของผู้ที่จะรับผิดชอบในการส่งเสริมให้เกิดความปลอดภัยจากการใช้ยา รวมทั้งเพื่อให้สามารถควบคุมการขายได้อีกด้วย สามารถแบ่งยาตามระดับการควบคุมกาขายได้ 4 ประเภท ดังนี้
1.
ยาสามัญประจำบ้าน
2.
ยาอันตราย
3.
ยาควบคุมพิเศษ
4.
ยาบรรจุเสร็จที่ไม่ใช่ยาอันตราย และ ยาควบคุมพิเศษ
1. ยาสามัญประจำบ้าน
คือ ยาแผนปัจจุบันหรือยาแผนโบราณที่รัฐมนตรีประกาศเป็นยาสามัญประจําบ้าน
ยาในกลุ่มนี้เป็นยาที่ได้รับการพิจารณาแล้วว่าปลอดภัย โอกาสเป็นอันตรายต่อสุขภาพน้อย
กฎหมายจึงอนุญาตให้วางจําหน่ายได้ทั่วไป และ ให้ผู้ป่วยสามารถตัดสินใจเลือกใช้ยาด้วยตนเองตามอาการเจ็บป่วยเบื้องต้น
ยาในกลุ่มนี้สังเกตได้จาก “อักษรสีเขียว” ที่ระบุว่า “ยาสามัญประจําบ้าน”
แบบอักษรแสดงประเภทยาสามัญประจำบ้าน
ตัวอย่างยาในกลุ่มนี้ เช่น
●
ยาเม็ดบรรเทาปวดลดไข้พาราเซตามอล 500 มิลลิกรัม เฉพาะขนาดบรรจุ 4 และ 10 เม็ด
●
ยาเม็ดขับลมไซเมทิโคน 80 มิลลิกรัม ขนาดบรรจุ 4 และ 10 เม็ด
2. ยาอันตราย
คือ ยาแผนปัจจุบันหรือยาแผนโบราณที่รัฐมนตรีประกาศเป็นยาอันตราย
เป็นยาที่กฎหมายอนุญาตให้ขายได้เฉพาะในร้านขายยาแผนปัจจุบัน (ข.ย.1) เท่านั้น และต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของเภสัชกรผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการ เนื่องจากยาในกลุ่มนี้อาจก่อให้เกิดอันตรายได้ง่ายหากใช้ไม่ถูกต้อง
เภสัชกรต้องดูแลตั้งแต่ การจัดทําบัญชีซื้อ บัญชีขาย การควบคุม การจัดเก็บยา ตลอดถึงการส่งมอบยาพร้อมคําแนะนําที่เหมาะสมแก่ผู้ป่วย
ยาในกลุ่มนี้สังเกตได้จาก “อักษรสีแดง” ที่ระบุว่า “ยาอันตราย” บริเวณกล่อง หรือ ภาชนะบรรจุยา
แบบอักษรแสดงประเภทยาอันตราย
ตัวอย่างยาในกลุ่มนี้ เช่น ยาปฏิชีวนะ ยาเบาหวาน ยาแก้ปวดชนิดต่าง ๆ
3. ยาควบคุมพิเศษ
คือ ยาแผนปัจจุบันหรือยาแผนโบราณที่รัฐมนตรีประกาศเป็นยาควบคุมพิเศษ
เป็นยาที่ผู้ป่วยจะใช้ยานี้ได้ก็ต่อเมื่อได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ก่อน คือ
จะซื้อยาในกลุ่มนี้จากร้านขายยาแผนปัจจุบันได้ก็ต่อเมื่อมีใบสั่งยาจากแพทย์เท่านั้น และเภสัชกรจะต้องเป็นผู้ควบคุมการทําบัญชี และเป็นผู้ส่งมอบยาพร้อมให้คําแนะนําที่เหมาะสมด้วย
ยาในกลุ่มนี้สังเกตได้จาก “อักษรสีแดง” ที่ระบุว่า “ยาควบคุมพิเศษ” บริเวณกล่อง หรือภาชนะบรรจุยา
แบบอักษรแสดงประเภทยาควบคุมพิเศษ
ตัวอย่างยาในกลุ่มนี้ เช่น ยาเม็ดสเตียรอยด์ เป็นต้น
นอกจากนี้ยังมี ยาใหม่ที่ยังอยู่ระหว่างการติดตามความ
ปลอดภัย ประเภท "ยาควบคุมพิเศษ ใช้เฉพาะโรงพยาบาล" ไม่อนุญาตให้จําหน่ายในร้านขายยา
แบบอักษรแสดงประเภทยาควบคุมพิเศษ ใช้เฉพาะโรงพยาบาล
เป็นผลิตภัณฑ์ยาใหม่ที่ได้รับการพิจารณาให้ขึ้นทะเบียนตํารับแบบมีเงื่อนไข
ยากลุ่มนี้จะต้องมีระบบการติดตามความปลอดภัยและประสิทธิภาพของยา (Safety Monitoring Program: SMP) ซึ่งจะจํากัดการใช้เฉพาะในสถานพยาบาล หรือเฉพาะในโรงพยาบาล ที่มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญดูแลอย่างใกล้ชิดเท่านั้น
และต้องรายงานผลความปลอดภัย อาการไม่พึงประสงค์จากยาใหม่นี้ต่อสํานักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 2 ปี
4. ยาบรรจุเสร็จที่ไม่ใช่ยาอันตรายหรือยาควบคุมพิเศษ
คือ ยากลุ่มที่นอกเหนือจาก 3 ประเภทด้านบนนั่นเอง หากมองหาสัญลัษณ์บอกประเภทยาบนแผงยา หรือ กล่องบรรจุไม่เจอ
แสดงว่า เป็นยาที่ไม่ได้รับการจัดประเภทให้เป็นยาควบคุมพิเศษ หรือ ยาอันตราย หรือยาสามัญประจําบ้าน ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ก็จะเข้าข่ายยากลุ่มนี้ค่ะ
ตัวอย่างเช่น
ยาพาราเซตามอลขนาด 500 มิลลิกรัม หากมีขนาดบรรจุต่างกันก็จัดเป็นยาคนละประเภท
✓
ยาพาราเซตามอลขนาด 500 มิลลิกรัม บรรจุ 100 เม็ด จัดเป็น ยาบรรจุเสร็จที่ไม่ใช่ยาอันตรายหรือยาควบคุมพิเศษ
✓
ยาพาราเซตามอลขนาด 500 มิลลิกรัม บรรจุ 4 และ 10 เม็ด จัดเป็น ยาสามัญประจําบ้าน
เนื่องจาก ยาพาราเซตามอลขนาด 500 มิลลิกรัม ขนาดบรรจุ 4 และ 10 เม็ดเท่านั้นที่ถูกระบุอยู่ในประกาศว่าเป็น ยาสามัญประจำบ้าน
แต่ในกรณี ขนาดบรรจุ 100 เม็ด ไม่ถูกระบุอยู่ในประกาศให้เป็นยาควบคุมพิเศษหรือยาสามัญประจําบ้าน จึงจัดเป็นยาบรรจุเสร็จที่ไม่ใช่ยาอันตรายหรือยาควบคุมพิเศษ
พูดง่ายๆ คือ ยาที่มีวางขายตามร้านสะดวกซื้อ มักจะเป็นยาสามัญประจำบ้าน
หรือ ยาที่มีโอกาสเป็นอันตรายจากการใช้ยาได้น้อย ใช้บรรเทาอาการเจ็บป่วยเล็กๆน้อยๆ กฎหมายก็อนุญาตให้ประชาชนซื้อหาทานเองได้ โดยไม่ต้องได้รับคำแนะนำจากเภสัชกร (แต่ควรอ่านเอกสารกำกับยาให้ละเอียดก่อนใช้ยาด้วยนะคะ)
แต่ส่วนมากแล้ว ยาที่จะบรรเทาอาการได้ดี มักจะเป็นยาประเภท "ยาอันตราย" หรือ "ยาควบคุมพิเศษ" ค่ะ ซึ่งจำหน่ายได้ในร้านขายยาที่มีเภสัชกร ปฏิบัติการอยู่เท่านั้นนะคะ
หากใครไปเจอพวก ยาแก้ปวด ยาฆ่าเชื้อ ยาแก้ไอละลายเสมหะ ฯลฯ โพสต์ขายกันในช้อปปี้ ลาซาด้า หรือ facebook ก็อย่าลืมสอบถามผู้ขายให้แน่ใจก่อน ว่าเป็น "เภสัชกร" ตัวจริงหรือไม่ สามารถขอเลขใบประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม แล้วไปตรวจสอบสถานะได้ที่เว็บไซต์ของสภาเภสัชกรรม นะคะ
https://www.pharmacycouncil.org/index.php?option=com_pharmacist_list
ค้นหาชื่อผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม
ในตอนนี้ เภสัชกรอย่างเราสามารถให้บริการผู้ป่วยแบบทางไกล (telepharmacy) ที่จะช่วยให้คำปรึกษาด้านยาและสุขภาพออนไลน์กันได้แล้วค่ะ แต่ประชาชนก็ต้องระวัง ร้านค้าออนไลน์ที่ขายยากันโดยไม่ได้รับอนุญาตด้วยนะคะ เพราะ นอกจากอาจเกิดอันตรายจากการใช้ยา อาจจะเจอ ยาปลอม หรือ ยาเสื่อมคุณภาพได้ด้วยค่ะ
หากต้องการปรึกษาเรื่องยา หรือ สุขภาพ กับเภสัชพี่น้องบิว ก็สามารถแชทมาคุยกันได้นะคะ ยินดีให้ความรู้ทุกๆท่านค่ะ เพราะ เราอยากให้คนไทยได้เข้าถึงความรู้ด้านยาและสุขภาพได้ทุกที่ ทุกเวลา เหมือนมีเภสัชกร นั่งๆนอนๆอยู่ที่บ้าน เลยค่ะ
★
Line Official :
https://lin.ee/It1wJy2
★
Facebook :
https://www.facebook.com/householdpharmacist/
★
Youtube :
https://www.youtube.com/channel/UCibJqe2L2wzJLYC54PBlbHQ
★
Blockdit :
https://www.blockdit.com/householdpharmacist
★
tiktok :
https://vt.tiktok.com/ZSdS5YEsK/
อยากให้คนไทยได้เข้าถึงความรู้ด้านยาและสุขภาพได้ทุกที่ ทุกเวลา เหมือนมีเภสัชกร นั่งๆนอนๆอยู่ที่บ้าน
- เพจ เภสัชสามัญประจำบ้าน -
อ้างอิง
บทความ "ประเภทของยา เลขทะเบียนยาและฉลาก" โดย ภญ.อ.สมณัฐทัย แย้มเม่น และภญ.ผศ.ดร.อาภา เพชรสัมฤทธิ์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา
ยา
บันทึก
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย