20 เม.ย. 2022 เวลา 13:14
หนี้ประเทศพุ่งต่อเนื่อง จี้ช่วยภาคครัวเรือน
จับตาหนี้ประเทศพุ่งต่อเนื่อง หลังวิกฤตโควิด-19 “หนี้ครัวเรือน หนี้ภาคธุรกิจ หนี้สาธารณะ” ห่วงปัญหาเงินเฟ้อ-โควิด ซ้ำเติมกลุ่มเปราะบาง สัดส่วนหนี้บัตรเครดิตเพิ่ม เวิลด์แบงก์ชี้ หนี้ครัวเรือนเป็นปัจจัยเสี่ยงเศรษฐกิจไทยระยะยาว เศรษฐกิจ
การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ตัวเลขหนี้ของประเทศพุ่งสูงขึ้น ไม่เพียงแต่หนี้ครัวเรือนเท่านั้น แต่ยังรวมถึงหนี้ภาคธุรกิจและหนี้สาธารณะอีกด้วย ซึ่งจากรายงานล่าสุดของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พบว่า ยอดคงค้างเงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือนปี 2564 ขยับเป็น 14.58 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.09 ล้านล้านบาทหรือ 8.09% จากสิ้นปี 2562 ก่อนที่จะมีการระบาดของโควิด-19 ซึ่งอยู่ที่ 13.49 ล้านล้านบาท
เมื่อพิจารณาจากยอดหนี้ครัวเรือน 14.58 ล้านล้านบาทเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2562 ก่อนเกิดโควิด-19 พบว่า เป็นหนี้ที่อยู่ในสถาบันรับฝากเงิน 12.51 ล้านล้านบาทเพิ่มขึ้น 8.8 แสนล้านบาทหรือ 7.50% แบ่งเป็นธนาคารพาณิชย์ 6.26 ล้านล้านบาท 4.7 แสนล้านบาทหรือ 8.12% สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐขยับเพิ่มจาก 3.76 ล้านล้านบาทเป็น 4.09 ล้านล้านบาทเพิ่มขึ้น 8.65% สหกรณ์ออมทรัพย์ขยับเพิ่มจาก 2.06 ล้านล้านบาทเป็น 2.15 ล้านล้านบาทเพิ่มขึ้น 4.81% และสถาบันรับฝากเงินอื่นๆ 6,413 ล้านบาท ลดลงจาก 21,505 ล้านบาทหรือ 70.18%
ขณะที่สถาบันการเงินอื่นขยับเพิ่มจาก 1.86 ล้านล้านบาทเป็น 2.07 ล้านล้านบาทเพิ่มขึ้น 11.79% แบ่งเป็นบริษัทบัตรเครดิต ลิสซิ่งและสินเชื่อส่วนบุคคลขยับเพิ่มจาก 1.40 ล้านล้านบาทเป็น 1.56 ล้านล้านบาทเพิ่มขึ้น 11.95% บริษัทประกันภัยและประกันชีวิต 1.80 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.67% บริษัทหลักทรัพย์ขยับเป็น 1.12 แสนล้านบาทจากเดิม 6.63 หมื่นล้านบาทเพิ่มขึ้นถึง 69.41% ธุรกิจบริหารสินทรัพย์สถาบันการเงิน 1.01 แสนล้านบาทเพิ่มขึ้น 3.94% โรงรับจำนำ 7.58 หมื่นล้านบาท ลดลง 9.20% และสถาบันการเงินอื่นๆ 3.97 หมื่นล้านบาท ลดลง 16.38%
การที่หนี้ภาคครัวเรือนส่วนใหญ่ยังทยอยปรับเพิ่ม ทำให้ธปท.และธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) ต่างออกมาส่งสัญญาณเตือนว่า ปัญหาหนี้ครัวเรือนของไทย คือปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้า ที่จะเป็นตัวฉุดการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และเป็นระเบิดเวลาของประเทศไทย เพราะการขยายตัวของหนี้สินที่มากกว่า ความสามารถในการชำระหนี้เป็นเสมือนระเบิดเวลาของเศรษฐกิจ หากไม่ได้แก้ไขอย่างจริงจังและรวดเร็ว
ขณะที่ธนาคารโลกประเมินว่า หนี้ครัวเรือนของไทยปัจจุบัน ยังคงอยู่ในระดับสูง ต้องใช้เวลาในการปรับลดลง จึงเป็นแรงกดดันกับการบริโภคในประเทศระยะยาวต่อไป แม้ธปท.ออกมาตรการไกล่เกลี่ย ปรับโครงสร้างหนี้แต่ยังคงมีความจำเป็นมาตรการปรับโครงสร้างหนี้เพิ่มเติม
ทั้งนี้โครงสร้างหนี้ครัวเรือนสิ้นปี 2564 พบว่า หนี้ส่วนใหญ่ของครัวเรือน 3 อันดับแรกยังคงเป็นเงินกู้เพื่อซื้อที่อยู่อาศัย ซึ่งมีสัดส่วน 34.5% ของหนี้ครัวเรือนรวม เงินกู้เพื่อการประกอบธุรกิจ 18.1% ของหนี้ครัวเรือนรวม และเงินกู้เพื่อซื้อหรือเช่าซื้อรถยนต์/รถจักรยานยนต์สัดส่วน 12.4% ของหนี้ครัวเรือนรวม แต่สัดส่วนหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลขยับขึ้นมาที่ 8.0% ของหนี้ครัวเรือนรวมในปี 2564 จากที่มีสัดส่วนประมาณ 7.0% ของหนี้ครัวเรือนรวมในปี 2562 ซึ่งเป็นช่วงก่อนโควิด-19
แหล่งข่าวจากสถาบันการเงินตั้งข้อสังเกตุกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า สถานการณ์ภาระหนี้ของประเทศ จะต้องพิจารณาภาพรวมทั้ง หนี้ครัวเรือน หนี้ภาคธุรกิจและหนี้สาธารณะ ซึ่่งหากเทียบกับผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) พบว่า ทั้ง 3 ส่วนล้วนปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากหนี้ครัวเรือนไทยสิ้นปี 2564 อยู่ที่ 90.1% ของจีดีพี เพิ่มขึ้นถึง 10.2% จากช่วงก่อนมีโควิด-19 สิ้นปี 2562 อยู่ที่ 79.9% ต่อจีดีพี
ส่วนหนี้ภาคธุรกิจขยับจาก 67.5% ต่อจีดีพีมาอยู่ที่ 78.8% ต่อจีดีพี เพิ่มขึ้น 11.3% ต่อจีดีพี และหนี้สาธารณะ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้อยู่ที่ 60.2% ต่อจีดีพี เพิ่มขึ้นถึง 18.4% หากเทียบช่วงก่อนโควิดอยู่ที่ 41.2% ต่อจีดีพี
“สัดส่วนหนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้น เพราะรัฐบาลจำเป็นต้องกู้เงิน เพื่อดำเนินมาตรการประคองเศรษฐกิจ โดยต้องติดตามมาตรการในระยะข้างหน้า ซึ่งส่วนตัวเห็นด้วยกับธนาคารโลกที่คาดการณ์ว่าดุลการคลังมีแนวโน้มขาดดุลลดลงจากปี 2564 ทำให้หนี้สาธารณะอยู่ที่ 62% ต่อจีดีพี ไม่ได้ปรับขึ้นสูงมากและจะทรงตัวในปีต่อๆ ไป ขณะที่เสถียรภาพหนี้สาธารณะในสกุลเงินต่างประเทศยังอยู่ในระดับต่ำมาก โดยยังไม่ได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นดอกเบี้ยของ ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)”แหล่งข่าวกล่าว
สำหรับหนี้ภาคธุรกิจที่เพิ่มขึ้น 11.3% นั้น เป็นการก่อหนี้ เพื่อเงินทุนหมุนเวียนธุรกิจ เสริมสภาพคล่อง มองไปข้างหน้า แนวโน้มหนี้ทั้ง 3 ส่วนยังเพิ่มขึ้น ประกอบกับขนาดของจีดีพีปรับลดลง ภาพรวมแนวโน้ม น่าจะระมัดระวังในการก่อหนี้ เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัว ที่สำคัญยังมีปัจจัยกดดันทั้งเงินเฟ้อและสถานการณ์ระบาดของโควิด-19
ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพี สิ้นปี 2565 อยู่ที่ประมาณ 87.5% หรือช่วง 86.5-88.5% มูลค่า ยอดหนี้ครัวเรือนอยู่ที่ประมาณ 15-15.3 ล้านล้านบาท โดยให้ความเห็นว่า ปริมาณหนี้ครัวเรือนที่ปรับเพิ่มสะท้อนภาพ 2 ด้าน คือ ภาพด้านบวกที่เร่งหนี้ครัวเรือนในกลุ่มผู้มีกำลังซื้อ เพื่อกู้ซื้อที่อยู่อาศัย ส่วนภาพด้านลบ เป็นครัวเรือนที่เปราะบางก่อหนี้เพื่อประกอบอาชีพและเพื่อใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน
อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองแนวโน้มหนี้ครัวเรือนมีโอกาสปรับขึ้นแต่อยู่ในกรอบลดลง ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่ดีนัก หรือฟื้นตัวไม่เต็มที่ เชื่อว่าแนวโน้มครัวเรือนน่าจะระมัดระวังในการก่อหนี้ ยกเว้นครัวเรือนที่ฐานะทางการเงินยังเปราะบาง ภาวะการเงินตึงตัวที่ยังคงก่อหนี้ ทำให้ภาพรวมหนี้ครัวเรือนทั้งปี 2565 ยังปรับเพิ่มแต่ไม่หวือหวา
โฆษณา