3 พ.ค. 2022 เวลา 02:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ
ทำไมเศรษฐกิจพวกพ้องจึงไม่ดีต่อประเทศ
4
เดือนที่แล้ว นิตยสาร เดอะอีโคโนมิสต์ ได้เผยแพร่รายงานข้อมูล ดัชนีทุนนิยมพวกพ้อง (Crony Capitalism Index) ของปี 2021 วัดโดยสัดส่วนอภิมหาเศรษฐีของประเทศที่เติบโตด้วยทุนนิยมแบบพวกพ้องว่าประเทศไหนมีมากสุด
6
ทำไมเศรษฐกิจพวกพ้องจึงไม่ดีต่อประเทศ
ประเทศไทยติดอันดับเก้า รัสเซียอันดับหนึ่ง มาเลเซีย สิงคโปร์อันดับสองและสามตามลำดับ มีแฟนคอลัมน์ถามมาว่า ที่ประเทศไทยอยู่ในดัชนีนี้อันดับต้นๆ ดีหรือไม่ แสดงถึงอะไร อยากให้ช่วยขยายความ วันนี้จึงขอเขียนเรื่องนี้
ประเทศส่วนใหญ่รวมถึงไทยมีระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม คือเศรษฐกิจที่ยืนบนพื้นฐานของเสรีภาพและการแข่งขัน นำไปสู่การจัดสรรทรัพยากรและการเติบโตของเศรษฐกิจ
ในระบบนี้คนที่ประสบความสำเร็จคือคนที่ขยัน ทุ่มเท รู้จักใช้ความรู้ความสามารถสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ และนวัตกรรมจนประสบความสำเร็จ สามารถแข่งขันได้ ร่ำรวย กลายเป็นอภิมหาเศรษฐี
1
ขณะเดียวกันประชาชนและธุรกิจอื่นๆ ก็ได้ประโยชน์จากการแข่งขันและการจัดสรรทรัพยากรตามกลไกตลาด นำไปสู่การเติบโตของเศรษฐกิจและความยั่งยืนของระบบทุนนิยม
แต่ทุนนิยมพวกพ้องเป็นสิ่งที่ตรงข้ามกับระบบทุนนิยมและกลไกตลาด คือผู้ที่เป็นอภิมหาเศรษฐีแม้อยู่ในระบบทุนนิยมแต่ไม่ได้โตหรือประสบความสำเร็จด้วยการแข่งขัน แต่โตจากความใกล้ชิด การปกป้อง และการอุปถัมภ์ของภาครัฐหรือเจ้าหน้าที่รัฐ หมายถึงนักการเมืองและข้าราชการประจำ ทำให้ธุรกิจพวกนี้ร่ำรวยเป็นอภิมหาเศรษฐีได้โดยไม่ต้องแข่งขัน ได้เปรียบคนอื่น
1
ที่สำคัญถ้าทุนนิยมพวกพ้องยิ่งเติบโต เศรษฐกิจประเทศก็จะยิ่งอ่อนแอ เพราะกลายเป็นเศรษฐกิจที่ไม่มีการแข่งขัน การจัดสรรทรัพยากรขึ้นอยู่กับการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐ ทำให้คนส่วนใหญ่เสียเปรียบ ไม่ได้โอกาสที่จะแข่งขัน ทำลายการเติบโตของเศรษฐกิจและความยั่งยืนของระบบทุนนิยมในที่สุด
2
ในทางเศรษฐศาสตร์ ที่มาของทุนนิยมพวกพ้องคือการใช้อำนาจรัฐที่มีตามกฎหมายแทรกแซงกลไกตลาดเพื่อให้เกิดเศรษฐกิจค่าเช่าหรือ rent seeking economy ที่ให้ประโยชน์หรือทำให้คนบางกลุ่มได้เปรียบ สามารถสร้างรายได้หรือได้ผลตอบแทนจากการทำธุรกิจสูงกว่าคนอื่นที่ทำธุรกิจตามกลไกตลาดปกติ
การแทรกแซงหรือนโยบายของรัฐจึงเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ "ค่าเช่า" หรือกำไรส่วนเกินเกิดขึ้น ผู้ที่ได้ประโยชน์จึงรวยเร็วกว่าคนอื่น กลายเป็นอภิมหาเศรษฐีที่ร่ำรวยแบบถูกต้องตามกฎหมาย แต่เกิดจากการใช้อำนาจรัฐที่ไม่เป็นธรรมและอาจผิดกฎหมาย
การใช้อำนาจรัฐแทรกแซงกลไกตลาดจนเกิดเศรษฐกิจค่าเช่ามีให้เห็นหลายรูปแบบ เช่น การให้ใบอนุญาตทำธุรกิจที่มีจำนวนจำกัด บางคนได้บางคนไม่ได้ เช่นธุรกิจการเงิน โทรคมนาคม ผลิตสุรา การประมูลงานก่อสร้างภาครัฐและการให้สัมปทาน ที่มุ่งให้คนบางกลุ่มได้งานได้ประโยชน์โดยเงื่อนไขการประมูลหรือเงื่อนไขการให้สัมปทานที่ไม่เป็นธรรม ไม่โปร่งใส เพื่อไม่ให้เกิดการแข่งขัน เช่นต่อสัญญาสัมปทานโดยไม่ต้องประมูลใหม่
1
การใช้อำนาจรัฐสร้างเงื่อนไขให้บางธุรกิจเป็นธุรกิจที่มีการแข่งขันน้อย มีผู้เล่นน้อยราย หรือไม่มีการแข่งขัน เช่น สินค้าปลอดภาษี พลังงาน การนำทรัพย์สินของราชการ เช่น ที่ดิน ไปให้พวกพ้องในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์หาประโยชน์โดยไม่มีต้นทุนหรือในต้นทุนที่ต่ำกว่าราคาตลาด
2
การยอมให้เกิดการควบรวมธุรกิจจนเกิดการผูกขาดโดยผู้เล่นรายใหญ่ที่มีอำนาจเหนือตลาด รวมทั้งการปกป้องผู้เล่นเดิมโดยกฎระเบียบต่างๆที่ไม่ยอมให้ผู้เล่นรายใหม่เข้ามาแข่งขัน เช่น ขนส่งสาธารณะ เหล่านี้เป็นต้น
การแทรกแซงในรูปแบบเหล่านี้มีให้เห็นตลอด สร้างความมั่งคั่งให้กับผู้ที่ได้ประโยชน์ ในบางประเทศผู้ที่ได้ประโยชน์กลายเป็นอภิมหาเศรษฐีและเป็นกลุ่มอิทธิพลทางเศรษฐกิจของประเทศ ที่ใช้ความร่ำรวยและอิทธิพลทางเศรษฐกิจครอบงำการเมืองของประเทศต่อ
1
เพื่อให้การออกนโยบายเศรษฐกิจเป็นประโยชน์ต่อกลุ่มตน ทั้งเพื่อปกป้องธุรกิจ "ค่าเช่า" ของตนและสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่เพื่อสร้างความมั่งคั่งให้มีมากขึ้น ชัดเจนว่าระบบเศรษฐกิจพวกพ้องทำลายการแข่งขัน ทำลายโอกาสของคนส่วนใหญ่ที่จะเติบโตทางเศรษฐกิจ และทำลายระบบทุนนิยม
ดัชนีทุนนิยมพวกพ้องของนิตยสารเดอะอีโคโนมีสล่าสุด จัดรัสเซียเป็นอันดับหนึ่งในทุนนิยมพวกพ้อง วัดจากสัดส่วนอภิมหาเศรษฐีที่ร่ำรวยจากระบบเศรษฐกิจค่าเช่าที่รัสเซียมีมากสุด
คือเกือบร้อยละ 60 ของอภิมหาเศรษฐีในประเทศรัสเซีย สำหรับประเทศไทยอยู่อันดับ 9 ไม่มีรายละเอียดว่าอภิมหาเศรษฐีไทยกี่เปอร์เซ็นต์รวยมาจากเศรษฐกิจค่าเช่าหรือจากการทำธุรกิจกับภาครัฐ
1
ที่น่าสนใจคือถ้าดูตัวเลขย้อนหลัง อันดับของประเทศไทยในดัชนีพวกพ้องเพิ่มขึ้นตลอดช่วงสิบห้าปีที่ผ่านมา คือ อันดับ 23 ในปี 2007 อันดับ 16 ในปี 2014 อันดับ 12 ในปี 2016 และอันดับ 9 ในปี 2021 แสดงให้เห็นถึงการแทรกแซงกลไกตลาดโดยภาครัฐที่มีมากขึ้น
9
แนวโน้มนี้สอดคล้องกับอีกหลายข้อมูล ที่ชี้แนวโน้มของปัญหาในทางเดียวกัน คือ ขนาดของระบบราชการที่เติบโตมากขึ้นตลอด ความใกล้ชิดของภาคธุรกิจกับระบบการเมืองของประเทศที่เพิ่มสูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็น การช่วยเหลือในการหาเสียงเลือกตั้ง การมีส่วนร่วมของคนจากภาคธุรกิจในตำแหน่งการเมืองและการกำหนดนโยบาย และความรุนแรงของปัญหาคอร์รัปชันที่เพิ่มสูงขึ้น
 
ดังนั้น ในแง่เศรษฐกิจและอนาคตของคนในประเทศ ทุนนิยมพวกพ้องไม่ดีแน่ต่อประเทศแน่นอน
หนึ่ง นำไปสู่การจัดสรรทรัพยากรที่ผิดพลาด คือ การจัดสรรทรัพยากรเศรษฐกิจของประเทศขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของเจ้าหน้าที่รัฐมากกว่าโดยการแข่งขันหรือระบบตลาด นำไปสู่การใช้ทรัพยากรที่ไม่มีประสิทธิภาพ กระทบศักยภาพและการเติบโตของเศรษฐกิจ
1
ในเรื่องนี้ นายรัคฮูแรม ราจาน (Raghuram Rajan) อดีตผู้ว่าการธนาคารกลางอินเดียเคยให้ความเห็นว่า อภิมหาเศรษฐีที่เติบโตจากระบบ "ค่าเช่า" (Oligarchies) ทำให้เศรษฐกิจของประเทศขยายตัวช้า เป็นปัญหาสำคัญของประเทศที่ตกอยู่ในกับดักรายได้ปานกลาง
สอง สร้างปัญหาความไม่เป็นธรรมในระบบเศรษฐกิจ ทำให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำรุนแรงขึ้น สาม เอื้อให้การทุจริตคอร์รัปชันยิ่งมีมากจากการใช้อำนาจเพื่อหาประโยชน์ เช่น การทุจริตเชิงนโยบาย
2
อดัม สมิท บิดาของระบบทุนนิยม เคยกล่าวว่า ศัตรูตัวร้ายของระบบทุนนิยมคือความไม่เป็นธรรม ที่คนจำนวนน้อยได้ประโยชน์จากต้นทุนที่เกิดกับคนส่วนใหญ่ ทุนนิยมพวกพ้องคือตัวอย่างของศัตรูตัวร้าย.
2
บทความโดย: ดร.บัณฑิต นิจถาวร | คอลัมน์ #เศรษฐศาสตร์บัณฑิต
*หมายเหตุ บทความนี้เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 18 เม.ย. 2565
โฆษณา