20 เม.ย. 2022 เวลา 06:38 • ศิลปะ & ออกแบบ
"การงานคือความรักก่อตัวเป็นรูปร่าง"
Kahlil Gibran (คาริล ยิบราน)​ กวี​ นักเขียน​ และศิลปินได้กล่าวไว้
ถ้าการงานคือ "ความรัก" ที่ก่อตัวเป็นรูปร่างจริงงั้น Designer ที่มีผลงานการออกแบบตลอดช่วง 3 ทศวรรษกว่า 4,000 ชิ้นล่ะ!! นี่มันต้าว "คลั่งรัก" ชัดๆ
วันนี้ Class A Solution สุดแสนภูมิใจจะนำเสนอ สุดยอดนักออกแบบเจ้าของรางวัล 2020 American Prize for Designer (รางวัลการออกแบบมาตรฐานสูงสุดในสหรัฐอเมริกา) และรางวัลระดับโลกอีกไม่ต่ำกว่า 300 รางวัล เคยร่วมงานมาไม่ต่ำกว่า 40 ประเทศทั่วโลก
นักออกแบบผู้เป็นทั้ง industrial designer, interior designer, graphic designer, artist, illustrator, แถมยังเป็นศิลปิน ที่มีผลงานเพลงเป็นของตัวเองอีกด้วย!!
เรียกได้ว่า "เป็นทุกอย่างให้เธอแล้ว"
เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา ขอเชิญพบกับ Karim Rashid นักออกแบบผู้สุดแสนจะมีสไตล์ที่เจ้าตัวบอกว่า ตัวเองไม่ได้ทำงานสไตล์!?
เรื่องราวและแนวความคิดของเค้าจะเป็นอย่างไร อะไรที่ทำให้เค้าประสบความสำเร็จมาได้จนถึงทุกวันนี้ ขอเชิญทุกท่านร่วมดำดิ่งไปกับเราได้ ณ บัด Now!!
**คลิกที่รูปเพื่ออ่านต่อ**
ติดตามบทความอื่นๆได้ทาง : https://www.class-a-solution.com/blog
Karim Rashid เกิดที่อียิปต์ในปี 1960 ก่อนย้ายถิ่นฐานไปเติบโตที่แคนาดา และสหรัฐอเมริกา สำเร็จการศึกษาด้าน Industrial Design จากมหาวิทยาลัยCareleton ประเทศแคนาดา มหาวิทยาลัยแห่งนี้ถือเป็นรากฐานสำคัญบนเส้นทางสู่การเป็น Designer ของเค้า
โดยเฉพาะอย่างยิ่งแนวความคิดเรื่อง "สัจจะวัสดุ" ที่เน้นการออกแบบ โดยให้วัสดุที่นำมาใช้ได้แสดงตัวตน และใช้ประโยชน์จากวัสดุอย่างสมเหตุสมผล
เช่น ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ไม้ ต้องแสดงความเป็นไม้ และใช้งานได้สมคุณค่าความเป็นไม้ เหล็กต้องเป็นเหล็ก โชว์พื้นผิว สี ลวดลายของวัสดุ โดยไม่จำเป็นต้องมีอะไรมาปิดทับ ยอมรับและเข้าใจการเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติของวัสดุ ซึ่งเป็นสิ่งที่ครูชาวสแกนดิเนเวียได้ถ่ายทอดให้เขาอย่างถึงแก่น
แนวความคิดนี้ส่งผลให้ Karim Rashid มีความเข้าใจในวัสดุสูงมาก ทั้งในแง่ของคุณสมบัติ และข้อจำกัดของวัสดุ ซึ่งเป็นสิ่งที่เขานึกขอบคุณอาจารย์อยู่เสมอ
เพียงแต่ว่า.. จำเป็นไหมที่ลูกของนายแพทย์ใหญ่ เรียนจบโตมา แล้วต้องเป็นหมอ?
ถ้าคำตอบของคุณคือ ไม่
Karim Rashid ก็เช่นกัน ถึงแม้จะบรรลุแนวความคิดเรื่อง "สัจจะวัสดุ" แต่โปรดักส์ของเขา "สีสัน" นี่เรียกได้ว่า โคตรจัดจ้าน ซึ่งสวนทางกับแนวความคิดเรื่องสัจจะวัสดุ ที่อาจารย์บ่มเพาะมาโดยสิ้นเชิง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสี "ชมพู" ที่เขาเคยให้ความเห็นไว้อย่างน่าสนใจว่า ทำไมสีชมพูต้องถูกผูกไว้กับผู้หญิง ผู้ชายอย่างเขาก็สนุกสนาน มีชีวิตชีวา มุ๊งมิ๊ง กับสีชมพูแบบ "หล่อเท่" ได้เช่นกัน
แนวความคิดเรื่อง "สีสัน" นี้ สะท้อนทั้งชีวิต มุมมอง และตัวตนของเขาต่องาน Design ได้เป็นอย่างดี
"สนุก ร่าเริง หวือหวา ฉูดฉาด ทรงพลัง" คือสิ่งที่เขาพูดผ่านงาน Design ของเขาอยู่เสมอซึ่งต่างจากปรัชญาการออกแบบของ Naoto Fukasawa โดยสิ้นเชิง (อ่านบท​ความ​ของ Naoto Fukasawa​ ได้ทาง : https://www.class-a-solution.com/blog/naoto-fukasawa)
"หากโลกมันจืดชืดน่าเบื่อนัก ฉันจะเติมสีสันให้มันเอง" Karim Rashid เจ้าของฉายา King of Colour ไม่ได้กล่าว ผู้เขียนมโนขึ้นมาเอง(ฮา)
เปลือกนอกหวือหวา ใช่ว่าข้างในต้องไร้แก่น เปลือกนอกเรียบง่าย ใช่ว่าข้างในต้องมีคุณค่า
เคยได้ยินคำว่า "Minimal แบบกลวง ๆ" ไหม?
คำนี้น่าจะถูกกล่าวในช่วงปี 2000 สมัยที่งาน Minimal เฟื่องฟู มองไปทางไหนก็ มินิม๊อล~ มินิมอล..
Less is more หรือที่แปลเป็นไทยว่า น้อยแต่มาก วลีฮิตของ Ludwig Mies van der Rohe สถาปนิกลูกครึ่งเยอร์มัน-อเมริกัน วลีนี้ถือเป็นแก่นของปรัชญา Minimal ที่หลายคนให้การยอมรับ
แต่ถ้างาน น้อยแต่น้อย หรือน้อยแต่ใช้จริง ผลิตจริงไม่ได้ละ มันยัง Minimal อยู่ไหม? เฟอร์นิเจอร์ Minimal เหลี่ยม "คมกริบ" ที่พร้อมจะบาดแข้งบาดก้น ของใช้ Minimal ที่น้อยจนใช้งานจริงแล้วโคตรไม่ฟังก์ชัน นี่กระมังที่มีคนเขาเรียกว่า Minimal แบบกลวง ๆ .. แต่ในขณะเดียวกัน เชื่อหรือไม่ว่าผลงานดีไซน์ของ Karim Rashid นี่แหละ Minimal !?
"Sensual Minimalism" คือนิยามงานออกแบบของเขา ซึ่งถ้าจะให้แปลเป็นไทย อืม.. จะแปลยังไงดีนะ? แปลว่า "ความเรียบง่ายที่เย้ายวน" ละกัน เพราะในหลาย ๆ งานเขาได้แรงบันดาลใจในการสร้าง Form มาจาก ทรวดทรง และองค์เอวของผู้หญิง เพียงแต่ว่าที่มัน "ไม่กลวง" เพราะฟอร์มมันตอบสนองต่อฟังก์ชันการใช้งานได้ดีด้วยนี่สิ!!
อีกสิ่งที่ขาดไม่ได้ เวลาเราพูดถึงเซเลบนักออกแบบคนนี้ คือเรื่องของ Style (สไตล์) ซึ่งเจ้าตัวออกตัวว่า เขาไม่ได้ทำงานสไตล์นะ !? ทำไมเขาถึงกล่าวเช่นนั้น ?
Style แปลว่า ลีลา, ท่าทาง และวิธีการ ซึ่งในชีวิตจริงเราใช้คำนี้กันจนชินปาก ไม่ว่าเวลาจะกล่าวถึงสไตล์เพลง สไตล์การแต่งตัว หรือสไตล์แบบหนุ่มเกาหลี (-///-) แต่รู้หมือไร่ว่า Style นั้นมีจุดกำเนิด หรือมีที่มาจากอะไร? Karim Rashid ได้อธิบายการกำเนิดของสไตล์ไว้อย่างน่าสนใจ ว่าสไตล์จะเกิดได้จาก 3 Step นี้คือ
1. Moment คือการเกิดขึ้นของอะไรบางอย่างที่ส่งผลมากต่อสังคม เช่น การเปลี่ยนแปลงนโยบายประเทศ โรคระบาด เทคโนโลยี ฯลฯ
2. Movement คือ "รีแอคชั่น" ของคนส่วนใหญ่ต่อโมเมนต์ที่เกิดขึ้น ซึ่งเราจะได้เห็นคนมากมายทำสิ่งต่าง ๆ และจะดำเนินต่อไปเรื่อย ๆ จนกว่าแอคชั่นนั้นจะหมด อิ่มตัว หรือยุติลง
3. เมื่อฝุ่นควันจางหาย ทุกอย่าง "ตกตะกอน" เมื่อนั้นแหละ ที่เราจะสรุปได้ว่า ลีลา, ท่าทาง, วิธีการ และสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ณ ช่วงเวลานั้น มันคือ Style อะไร ?
ถ้ายังไม่เห็นภาพเราขอยกตัวอย่าง กรณีการเกิดขึ้นของ Style ที่เชื่อว่าคนเกือบทั้งโลกน่าจะรู้จัก ผ่านผลงานเพลงของแร็ปเปอร์ชาวเกาหลีสุดกวน นั่นก็คือ (โอปป้า)กังนัม Style..
Moment สำคัญเกิดจากนโยบายภาครัฐ ซึ่งทำให้เศรษฐกิจในเกาหลีเติบโตแบบก้าวกระโดด ในช่วงยุค 1970 ย่านกังนัมได้รับผลเต็ม ๆ เนื่องจากเป็นทำเลทอง ราคาที่ดินพุ่งกระฉูด
Movement หรือ "รีแอคชั่น" ที่เกิดขึ้น คือนักลงทุน เจ้าของที่ดิน รวมถึงผู้คนมากมายแห่กันมาจับจองพื้นที่ ส่งผลให้ย่านกังนัมเต็มไปด้วยร้านค้าแบรนด์เนม คลินิกศัลยกรรม สถาบันกวดวิชา และเป็นที่ตั้งของบริษัทต่างชาติขนาดใหญ่มากมาย
เมื่อพื้นที่ในย่านกังนัมถูกจับจองจนเต็ม ทุกอย่างเริ่มนิ่ง ละอองฝุ่นเริ่มจางลง "ตกตะกอน" กลายเป็น.. กังนัม Style ย่านที่มีภาพลักษณ์ของความหรูหรา ภาพเศรษฐี (โอปป้า)รุ่นใหม่ ซึ่งต่างจากภาพลักษณ์เศรษฐีรุ่นเก่า ๆ อย่างสิ้นเชิง
ด้วยเหตุนี้ เมื่อมีลูกค้ามาบอก Karim Rashid ให้ทำงาน Style ใดๆก็ตาม เขาจึงมักจะ "ปฏิเสธ" อยู่เสมอ เพราะเมื่อใดที่คุณบอกให้ Designer ทำงาน Style แปลว่าคุณกำลังบังคับให้ Designer ทำงานโดยยึดโยงอยู่กับอดีต เพราะการที่คุณระบุ Style ได้แสดงว่า Movement นั้นจบไปแล้ว และมันจะไม่หวนกลับมาเป็นปัจจุบันได้อีก เมื่อเทคโนโลยีเปลี่ยน สังคมเปลี่ยน movement ก็จะปรับเปลี่ยนไปตาม
จะมีประโยชน์อันใด ที่เราจะตอบโจทย์ความต้องการใหม่ๆในปัจจุบัน โดยลอกคำตอบจากอดีต..
นี่คือความจำเป็น ที่ทำให้ Karim Rashid ต้องการนำเสนองานโดยยึด "โจทย์" ที่เกิดขึ้นจาก Moment ณ ปัจจุบัน ก่อนที่เขาจะพยายามสร้าง Movement หรือ "คำตอบ" บางอย่างด้วยงานออกแบบของเขา ซึ่งเจ้าตัวก็ระบุไม่ได้เหมือนกันว่า มันคือ Style อะไร? จนกว่า Movement นั้นจะจบลง ด้วยเหตุนี้ผลงานออกแบบของ Karim Rashid จึง "สด" ด้วยคำตอบใหม่ และสร้างความตื่นตาตื่นใจได้อยู่เสมอ
"ทำงานถ้าไม่สนุกมันก็เหนื่อย" ประโยคหนึ่งที่ พี่ป็อดโมเดิร์นด็อก เคยกล่าวไว้ในภาพยนตร์สารคดีเรื่อง ตัวกูของกู ของ สันติ แต้พานิช
ลองคิดกันดูเล่นๆว่า Karim Rashid ได้ออกแบบผลงานคร่าวๆประมาณ 4,000 ชิ้น ภายใน 30 ปี หรือตีกลมๆ 10,950 วัน แปลว่าเขาต้องออกแบบผลงาน แล้วเสร็จ 3 วันต่อ 1 ชิ้น ชื่อเสียง, เงินทอง, รางวัล และคำชื่นชมเหรอ ที่ทำให้เขาทำงานได้ต่อเนื่องและยาวนานขนาดนี้ ? ไม่รู้เหมือนกัน รู้แค่เพียงจากทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้นสิ่งที่พอจะสรุปได้คือ เขาพยายามหาทางที่จะ "สนุก" กับงานที่เขาทำ ซึ่งมันก็คงต้องผ่านการยืนยัน การดื้อ เพื่อที่เขาจะได้ทำในสิ่งที่เขารัก ด้วยวิธีการและมุมมองในแบบที่เขาเชื่อ
ซึ่งนั่นคือสาระสำคัญที่เรามองเห็น และอยากส่งต่อให้คุณผู้อ่านที่รักได้รับรู้
- คำถามทิ้งท้าย ทุกวันนี้คุณยัง "สนุก" กับงานที่ทำไหม ?
Karim​ Rashid​ - Prince of Plastic
"ขยะ" คือมุมมองที่ผู้คนส่วนใหญ่มีต่อ Plastic
ในช่วงปี 1980 - 1999 โปรดักส์จาก Plastic แทบทั้งหมดถูกผลิตแบบ "เน้นถูกไม่เน้นทน" มีอายุการใช้งานไม่ยาวนัก เรียกได้ว่าแทบจะไม่มีใครเห็นคุณค่า ของ Plastic เลยแม้แต่ตัวนักออกแบบเองก็ตาม
ซึ่งว่ากันตามจริงแล้ว Plastic ไม่ได้ผิดอะไรแรกเริ่มเดิมที Plastic ถูกคิดค้นเพื่อใช้เป็นวัสดุทดแทน "งาช้าง" ในการทำลูกบิลเลียด ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลทางธุรกิจ หรืออะไรก็ตามแต่ ข้อเท็จจริงก็คือ Plastic ได้ช่วยชีวิตช้างจำนวนมหาศาลแน่นอน
ยังไม่นับรวมต้นไม้ ที่ Plastic เข้ามาเป็นวัสดุทดแทน ต้นไม้ 1 ต้นเมื่อใช้หมดไป การปลูกทดแทน ต้องใช้ต้นทุนเวลา น้ำ และทรัพยากรต่างๆอีกมากมาย มิหนำซ้ำ ใบและเปลือกไม้ เราก็ไม่ได้ใช้งาน จึงถือได้ว่าเราใช้ต้นไม้อย่างไม่เต็มประสิทธิภาพนัก เมื่อเทียบกับ Plastic
Plastic เมื่อหมดอายุการใช้งาน สามารถนำมาตัด สับ หลอมละลายกลับมาใช้ใหม่ได้ ซึ่งจริงๆแล้ว Plastic ควรถูกยกย่องว่าเป็นวัสดุกู้โลกด้วยซ้ำ !!
เพียงแต่ "ปัญหาที่แท้จริง" อยู่ที่กระบวนการจัดเก็บแยกขยะ Plastic เพื่อนำกลับมา Recycle ใหม่มันไร้ประสิทธิภาพต่างหาก !!
ซึ่งพอ Plastic ทั้งหลายถูกทิ้งสู่ธรรมชาติ ด้วยน้ำมือของมนุษย์ ผนวกกับการจัดการที่ไร้ประสิทธิภาพของรัฐ Plastic จึงต้องกลายเป็นแพะรับบาปอย่างหลีกเลี่ยงมิได้ นี่คือสิ่งที่ Karim Rashid มองเห็น และเลือกที่จะแก้ปัญหา โดยการทำให้ Plastic มี "คุณค่า" ขึ้นมาด้วยฝีมือการออกแบบของเขา
ซึ่งเราจะเห็นสิ่งนี้ได้ชัด ผ่านผลงานที่เค้าได้ออกแบบให้กับ Method บริษัทผู้ผลิตและจำหน่าย น้ำยาล้างจาน น้ำยาล้างมือ น้ำยาซักผ้า และอื่นๆ
ก่อนจะพูดถึงโปรดักส์ชิ้นนี้ ต้องขอพูดถึงการออกแบบ "มิติที่ 4" หรือ User Experience ในมุมมองของ Karim เสียก่อน
ในสมัยก่อน นักออกแบบจะออกแบบสินค้าใด ๆ ต้องร่างและเขียนแบบลงกระดาษ (ออกแบบ 2 มิติ) ก่อนที่จะส่งแบบให้ช่างหรือโรงงานผลิตใดก็ตามแต่ และด้วยความที่เป็น 2 มิติ มันก็จะมีจุด มีมุม ที่มองไม่เห็น จินตนาการไม่ถึง ไม่สามารถออกแบบได้อยู่ เพราะการที่จะได้เห็นสิ่งที่ออกแบบครบถ้วนจริง ๆ ก็ต้องทำโมเดล หรือผลิตสินค้าชิ้นนั้นออกมาก่อน พูดง่าย ๆ คือ ถ้าออกแบบจาก 2 มิติ ผลลัพธ์ก็จะเป็น 3 มิติ
แต่เมื่อเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ โปรแกรมต่าง ๆ ก้าวมาถึงจุดที่มนุษย์เราสามารถออกแบบชิ้นงาน 3 มิติได้ (CAD 3D) ในช่วงปลายปี 70s นักออกแบบสามารถพลิกงานดูได้แบบ 360 องศา จึงสามารถออกแบบได้ครบทุกมุมมอง และสามารถใส่รายละเอียดได้มากขึ้นมหาศาล โดยมิต้องรอให้เห็นชิ้นงานจริงก่อน
ซึ่งพอเราใช้เครื่องมือที่สามารถออกแบบในมิติที่ 3 ได้ นักออกแบบก็สามารถคิดไปได้ไกลกว่า แค่เรื่องของรูปลักษณ์และรูปทรง ปัจจุบันโลกเราก็มาถึงยุคนี้แหละ ยุคแห่งการออกแบบมิติที่ 4 หรือ "เวลา" ซึ่งมันแปลงร่างมาเป็น User Experience หรือความสัมพันธ์ของมนุษย์ที่มีต่อ Object ในช่วงเวลาหนึ่ง ๆ ที่ Karim Rashid เป็น Designer คนแรก ๆ ที่พูดถึงสิ่งนี้ และนำมาใช้ในงานออกแบบจริงให้เห็น
ยกตัวอย่างนักออกแบบสามารถคิดต่อได้ว่า ถ้าเราเพิ่มปุ่มกดเข้าไปที่ใดที่หนึ่ง บนผลิตภัณฑ์ ปุ่มนั้นจะถูกใช้งานเมื่อใด และอย่างไร ? และนักออกแบบก็สามารถหมุนโมเดลดู เป็นพัน หมื่น รอบใน โปรแกรม 3D หรือ CAD เพื่อหาวิธีการใช้งานที่ดีที่สุด ให้กับเจ้าปุ่มนั้น ซึ่งมันไม่สามารถทำได้เลยหากไม่มี Software มาช่วย สรุปง่ายๆคือ ถ้าเราสามารถออกแบบใน 3 มิติได้ ผลลัพธ์ที่ได้คือ มิติที่ 4 ที่จะส่งผ่านให้กับ user
Medthod​ ฝาปั๊ม​กู้โลก​ คุณค่า​ ที่คุณแม่บ้าน​คู่ควร!!
อย่าว่าแต่คุณแม่บ้านเลย ขนาดนี่ต้องล้างจานเอง หลังจากเทน้ำยารอบแรกมือเลอะ ๆ แล้วน้ำยาไม่พอ ต้องคว้าขวดมาบีบน้ำยาใส่ฟองน้ำ มันเหนอะ มันลื่น มันแหยะมือ มันเปรอะมันเปื้อน มันหงุดหงิด เข้าใจไหม !!
นี่ยังไม่นับรวมน้ำยาซักผ้า ที่ต้องเทน้ำยาใส่ฝาเพื่อตวงปริมาณ ก่อนเทใส่เครื่องซักผ้าอีกที ซึ่งมันมักก่อให้เกิด User Experience ที่ไม่ค่อยจะดีเท่าไรแต่เราก็ใช้ชีวิตกับผลิตภัณฑ์เหล่านี้มาจนชิน และก็ไม่ได้ใส่ใจกับความแย่ของการออกแบบ Packaging น้ำยาล้างจาน น้ำยาซักผ้า ซักเท่าใดนัก
ซึ่งถามว่าเอาจริง ๆ แล้ว มันมีวิธีเอาน้ำยาออกจากขวด Plastic ที่ดีกว่าการเปิดฝา ยก บีบ เท ไหม? ตอบเลยว่ามี แต่ติดตรงคำว่า "เน้นผลิตให้ถูกที่สุด" และเมื่อใช้เสร็จก็โยนทิ้งไป นี่แหละที่ทำให้ปัญหานี้ไม่ถูกแก้ไขสักที
อีกเงื่อนไขหนึ่งที่สำคัญ คือเรื่องของ Marketing ยกตัวอย่างน้ำยาซักผ้า เคยสังเกตไหม ว่าเหตุไฉนฝาตวงน้ำยาซักผ้ามันแอบใหญ่ขึ้นทุกปีทุกปีนะ ? หรืออย่างยาสีฟันเราจำเป็นต้องบีบจนล้นแปรง แบบในสื่อจริง ๆหรือ ?
ซึ่งทั้งหมดนั้น ก็เพื่อให้เราใช้น้ำยาเหล่านั้นเยอะขึ้น หมดเร็วขึ้น และซื้อเยอะขึ้น จะได้ส่งเงินเข้ากระเป๋าบริษัทผลิตน้ำยาเหล่านั้น "เพิ่มขึ้น" แบบไม่รู้ตัว และเพิ่มปริมาณขยะขวด Plastic อีกมหาศาล
จนกระทั่งในปี 2010 วงจรอุบาทนี้ก็ได้ถูกท้าทาย !! เมื่อ Karim Rashid ได้ออกแบบ Packaging ให้กับ Method ด้วยความตั้งใจที่จะแก้ปัญหา User Experience ที่เกิดขึ้น และแก้ปัญหาขยะจากขวด Plastic ที่กำลังล้นโลก
โดยการนำเทคโนโลยี "ฝาปั๊ม" มาใช้ ผนวกกับการสร้าง "คุณค่า" ให้ขวด Plastic โดยการทำให้มันใสหนาขึ้น สวยขึ้น และปากกว้างขึ้น เพื่อรองรับการ Refill น้ำยาลงขวด พร้อมทั้งปรับขนาดขวดให้เล็กลง ใช้น้ำยาน้อยลง แต่สะอาดเท่าเดิม โดยการขอให้ Method ปรับสูตรน้ำยาให้มีความเข้มข้นมากขึ้น
สิ่งที่เกิดขึ้นคือ "ฝาปั๊ม" มันได้ลบ User Experience แย่ๆแบบเดิมโดยสิ้นเชิง
โดยที่เราไม่ต้อง (a)ยกขวดด้วยมือข้างหนึ่ง + (b)เอามือข้างที่เหลือไปบิดเปิดฝา + (c)หาที่วางฝา + (d)เอามือที่วางฝาเอื้อมไปหยิบฟองน้ำ หรือเปิดช่องเทนำยาซักผ้าในเครื่องซักผ้า + (e)บิดข้อมือที่ถือขวดนั้นเข้าหาฟองน้ำ + (f)บีบขวดหรือเอียงขวดเพื่อให้น้ำยาหล่นใส่ฟองน้ำ หรือ ใส่ช่องน้ำยาซักผ้า + (g)พลิกข้อมือที่ถือขวดกลับมาในตำแหน่งเดิม เตรียมปิดฝา +(h)อุ๊ยแย่ละปากขวดเลอะน้ำยา ก่อนไหลย้อยไปที่ขวดพร้อมเลอะมือที่จับขวด + (i)+(j)+(k)+(....)
ซึ่ง "สิ่งที่แย่ที่สุด" คือเราก็เคยชินกับ Design Solution ที่ไม่ส่งเสริมชีวิตที่ดีต่อไป..
จนกว่าเราจะได้มาเจอกับเจ้าขวด Method ที่ใช้ระบบ "ฝาปั๊ม" ที่เพียงยื่นฟองน้ำไปใกล้ปากขวด แล้วเอามือกด น้ำยาก็หล่นใส่ฟองน้ำ เพียงแค่ 3 step เราก็ได้น้ำยาในปริมาณที่เหมาะสม จบ ชีวิตง่ายขึ้น
สิ่งที่น่าโมโห คือเทคโนโลยีการปั๊มนี้มีมานานมาก ๆๆๆแต่ไม่เคยถูกเอามาใช้กับผลิตภัณฑ์เหล่านี้เลย ด้วยเหตุผลที่กล่าวไปข้างต้น ซึ่งหากมองให้ลึกอีกหน่อย ถ้าขวดน้ำยาล้างจานมันหนัก คนมีอายุที่ข้อมือไม่ดี และอยู่คนเดียว ยกขวดบิดแขนไม่ไหว แล้วใครจะล้างจานซักผ้าให้พวกเขากันนะ..
อีกเรื่องหนึ่งที่ค่อนข้าง "ล้ำ" มากในยุคนั้น คือการที่
Karim Rashid ใช้ตัวน้ำยาแทน Graphic คือสีของน้ำยาล้างจานถูกพัฒนามาให้ดูดี ให้เสมือนเป็น Graphic ที่ปริ๊นท์ลงบนขวดไปเลย ซึ่งสามารถทดแทนการแปะแผ่นสติ๊กเกอร์ ลดการพิมพ์ ลดกาว และ ลดโอกาสที่ sticker โดนน้ำแล้วยุ่ยดูไม่น่าใช้ ทำให้คนไม่ทิ้งมันง่ายๆ
และสิ่งที่สำคัญที่สุด คือขวดฝาปั๊มนี้ ได้ลดจำนวนขยะขวด Plastic ลงมหาศาล เพราะไม่จำเป็นต้องใช้หมดแล้วทิ้งเลยอีกต่อไป ซึ่ง Karim Rashid ตั้งใจออกแบบขวดให้มีความหนาและทนทาน ปากขวดใหญ่ ทำให้การเติม Refill ง่ายขึ้นไม่ต้องมาเล็งกันให้ปวดตา ปวดแขน เรียกได้ว่าขวดใบนี้สามารถเก็บไว้เป็น "มรดก" ให้เหลนไว้ใช้ต่ออีก 60 ปีได้เลย(ฮา)
ซึ่งทั้งหมดนี้ก็ยิ่งส่งผลต่อโลกมากขึ้น เมื่อแบรนด์อื่นๆ เข้ามาร่วมในเทรนด์ขวด "ฝาปั๊ม" นี้ และแน่นอนว่าปัญหาขยะ Plastic ยังไม่ได้หมดไป แต่นี่คงเป็นสิ่งที่ดีที่สุด ที่ Karim Rashid จะมีกำลังทำได้ ในฐานะที่เป็นนักออกแบบคนหนึ่ง..
“We do not inherit the Earth from our ancestors we borrow it from our children” American Indian proverb”
“โลกใบนี้ไม่ได้เป็นมรดกจากบรรพบุรุษ เราแค่ยืมมันมาจากลูกหลานของเราเท่านั้น”
สุภาษิตชาวอเมริกันอินเดียน
Garbino Trash Can​ -​ Umbra
กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว.. ก่อนการถือกำเนิดของ Garbino Trash Can ถังขยะถูกมองว่าเป็นถังขยะ คือแค่มีไว้เพื่อทิ้งขยะจริงๆ เมื่อใช้งานเสร็จก็มักถูกซ่อนไว้ตามซอกหลืบ ไม่ได้ถูกตั้งโชว์ ไม่ได้ถูกให้ค่าอะไร
แต่จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อวันหนึ่ง ถังขยะถูกทำให้สวย?
Garbino Trash Can เกิดจากการที่ Karim Rashid จับเอา Moment ที่สังคมกำลังเปลี่ยนผ่านจากยุคที่เคร่งขรึมใส่สูทผูกไทแบบ Modernism ไปสู่ยุค Casual Society ที่ผู้คนใส่ T-Shirt กางเกงยีนส์มาประชุม Movement หรือ "รีแอคชั่น" ของเขาต่อ Moment นี้คือ เรามาออกแบบถังขยะให้สวยงามกันเถอะ !?
Garbino หรือ Garbo เป็นโปรเจคท์ที่ Karim Rashid ได้ร่วมงานกับ Umbra บริษัทชื่อดังสัญชาติแคนนาดา ที่มักนำของใช้ในชีวิตประจำวันมาชุบชีวิตใหม่ เพื่อให้เข้ากับบริบท และยุคสมัยมากขึ้น
เพียงแต่คำถามข้อใหญ่สุด ที่เราทุกคนรวมทั้ง Umbra เองก็ยังคิดไม่ตก คือ "เราจะออกแบบถังขยะให้สวย และ สามารถตั้งโชว์ได้ไปทำไม(วะ)?"
แต่ในเมื่อคุณกล้าเสนอ เราก็กล้าสนอง Umbra ตกลงเอาด้วย ทีนี้ก็เป็นหน้าที่ของ Karim Rashid แล้วที่จะออกแบบถังขยะชิ้นนี้ออกมายังไง อย่างที่กล่าวไว้ข้างต้น ว่านิยามผลงานการออกแบบของเขาคือ "Sensual Minimalism" (ความเรียบง่ายที่เย้ายวน)
ในงานออกแบบชิ้นนี้ Karim Rashid ได้นำแรงบันดาลใจในการสร้าง Shape มาจาก "หน้าอก ทรวดทรง และองค์เอว" ของนักแสดงสาวชื่อดังชาวสวีเดน ผู้เคยได้รับรางวัลออสการ์ นาม Greta Garbo (เกรทา การ์โบ) ซึ่ง "Shape" ที่ได้มานี้ มันลึกล้ำมากแม่ !! เพราะนอกจากจะสวยงามเย้ายวน Sexy น่าตั้งโชว์แล้ว ปากถังที่มาจาก Shape ทรวงอก ผสมการเจาะรูก่อนคอดกิ่วลงไป ก็ได้ก่อกำเนิดฟังก์ชันการใช้งานที่หลากหลายขึ้นพร้อมๆกัน
ประการแรก ด้วยปากถังที่บานออก ทำให้ตอบสนองต่อพฤติกรรมการ 'โยน' ขยะลงถังได้ดีขึ้น ประการต่อมา การเจาะรูเป็นที่จับในตำแหน่งนั้น ส่งผลดี 2 เรื่อง คือคนจะไม่สามารถทิ้งขยะจนปิดรูจับ เพราะตำแหน่งมือจับนั้น อยู่เหนือจากตำแหน่งฝาปกติ ทำให้เวลานำขยะในถังไปทิ้ง มือก็จะไม่เปื้อนด้วย
และด้วยวัสดุ Plastic ก็ทำให้ล้างทำความสะอาดง่าย หนึ่งใน Pantone หลักที่ Karim Rashid เลือกคือ Semi translucent พลาสติกกึ่งใส ซึ่งคนใน Umbra ทุกคนได้แต่เกาหัวหงิก ๆ ว่ามนุษย์ User ที่ไหนอยากมองทะลุเข้าไปเห็นขยะในถังขยะ แต่ก็อีกนั่นแหละถ้าไม่เห็นขยะจะรู้ได้ไงว่ามันเต็ม แม่บ้านหรือพ่อบ้านอาจจะเดินผ่านไปมา และดองเจ้าขยะนั้น จนหนูมาทำรังก็เป็นได้
จาก Function ที่ถูกขัดเกลาประกอบกับฟอร์ม Minimal ที่ผลิตง่าย ด้วยการฉีด Plastic ลงแม่พิมพ์เพียงชิ้นเดียวจบ ก่อกำเนิดเกิดเป็น Garbo ถังขยะทรงสวยฟังก์ชั่นดี ราคาถูก ทุกอย่างฟังดูดีเพียงแต่ว่า.. เอาเข้าจริง Umbra ก็ไม่รู้ และคงจะไม่มีใครรู้ว่าโปรดักส์ชิ้นนี้มันจะ "ปัง(ขายดี) หรือ ปัง(ปิ๊นาศ) กันแน่ !?"
Garbino Trash Can วางขายครั้งแรกในปี 1997 ผลปรากฏว่า 2,000,000 ชิ้น ขายหมดในพริบตา !! และยอดขายรวมกว่า 7,000,000 ชิ้นเมื่อนับจนถึงปัจจุบัน เรียกได้ว่า โรงงานไม่ต้องหยุดฉีดพลาสติกกันเป็นสิบๆปี และนี่คือจุดเริ่มต้นของปรากฏการณ์ ที่ทำให้ผู้คนในสังคม เริ่มเอาถังขยะออกมาโชว์ ให้เห็นกันอย่างโจ๋งครึ่ม !!
แม้ Garbo อาจดูเป็น Object ถังขยะจากพลาสติกที่ผลิตง่าย ๆ และมีราคาย่อมเยา แต่ที่มาของมันซ่อนความเหนือชั้น และลึกล้ำ รวมทั้งแสดงถึงความกล้าหาญ ความดื้อ และ Passion ของ Karim Rashid
ออกมาอย่างเต็มเปี่ยม
สรุป พอจะได้คำตอบไหมครับว่า "เราจะออกแบบถังขยะให้สวย และ สามารถตั้งโชว์ได้ไปทำไม?"
ข้อมูลเสริม
การทำโปรดักส์ให้มี "ที่จับ" จริง ๆ แล้วถือเป็น เทรนด์ หรือ Movement ที่กำลังมา ณ ขณะนั้น ซึ่งก็มีที่มาจาก Jonathan Ive นักออกแบบคนสำคัญ ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของ Apple นั่นเอง
ย้อนอ่านบทความ​ Jonathan Ive ได้ทาง : https://www.class-a-solution.com/blog/jonathan-ive-apple
จาก​ OHM Chair​ สู่​ OH Chair​ -​ Umbra
Apple ตกใส่หัวนักวิทยาศาสตร์เกิดเป็นกฏแรงดึงดูด แต่นักออกแบบนั่งแล้วตกเก้าอี้เกิดเป็น OH Chair !!
เมื่อครั้งที่ Karim Rashid ใช้ชีวิตอยู่ในนิวยอร์ค ระหว่างที่นั่งรับประทานอาหารในร้านหรูแห่งหนึ่ง สิ่งที่ขัดใจเขามาก คือราคาอาหารบนโต๊ะเขา ที่แพงกว่าเก้าอี้ที่ทำจาก Plastic ทั้งตัวที่เขานั่งอยู่.. อยากให้ลองนึกภาพ เรากำลังนั่งทานอาหารบุฟเฟต์สุดหรูบนตึกใบหยก ด้วยเก้าอี้ Plastic monoblock แบบที่มักใช้ในงานศพ..
ปัญหา คือนอกจากมันจะไม่สวย นั่งไม่สบายตูดแล้วประเด็น คือมันไม่แข็งแรงด้วย !!
ซึ่งวันนั้นเอง โลกเกือบสูญเสียนักออกแบบคนสำคัญ อย่าง Karim Rashid ถ้าเพียงแต่เก้าอี้ขาหัก แล้วเขาทิ้งตัวลงผิดท่าเท่านั้นเอง.. สิ่งที่เกิดขึ้นในใจ ไม่รู้ว่าจะเอา "ปากกา" มาวงที่ความอายหรือความแค้นก่อนดี ?
มีคำกล่าวว่า จอมยุทธล้างแค้น 10 ปี ไม่สาย..
แต่นี่ไม่ใช่จอมยุทธ นี่คือนักออกแบบ Karim Rashid จะไม่ทน !! เขาติดต่อหาบริษัท Umbra คู่หูเก่าหลังจากที่ประสบความสำเร็จจากผลงานถังขยะ Garbo ทันที แจ้งความจำนงไปว่่า รอบนี้เรามาทำเก้าอี้ Plastic กันเถอะ !!
ทำ "ถังขยะ" จาก Plastic อาจไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่เก้าอี้ที่ทำจาก Plastic นี่สิ "งานช้าง" เพราะแม่พิมพ์ ในขนาด Scale ที่ต้องรองรับคนนั่งได้ ชุดเดียว ราคาก็ปาเข้าไปหลักหลายล้านแล้ว !! เรียกได้ว่าแม้แต่บริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Umbra ก็ยังสะดุ้งได้เช่นกัน
แต่อย่างว่า ขนาดไม่รู้ว่าจะทำถังขยะให้สวย และตั้งโชว์ได้ไปทำไม ? Umbra ยังยอมใจ Karim Rashid แล้วนับประสาอะไรกับงานนี้ ทำไมจะเซย์ No ล่ะ !!
โจทย์ของงานคือ เราจะผลิตเก้าอี้ Organic Form ที่นั่งสบายก้น สอดรับต่อ Ergonomic สวยงามมีคุณค่า แข็งแรงทนทาน และเป็นเก้าอี้ตัวโปรด ที่ผู้คนซื้อไปใช้ แล้วอยากส่งต่อยันรุ่นเหลน ด้วยวัสดุ Plastic ราคาถูกได้อย่างไร ?
ซึ่งใครที่เคยอ่านบทความ Charles and Ray Eames ที่ Class A Solution เคยนำเสนอไปคงพอจะคุ้นๆกับประโยคนี้ OH Chair ถือว่าเป็นการรับไม้ต่อของยุคสมัยได้เลย เพียงแต่ความท้าทายที่ Karim Rashid ต้องเผชิญ ไม่ได้อยู่ตรงการหาวิธี "ดัดวัสดุ" แต่ความยากอยู่ที่การหา Form ที่จะตอบโจทย์ทั้งหมดที่ได้กล่าวมาข้างต้นนั่นเอง..
*อ่านบทความ
(Charles​ and​ Ray​ Eames​ คู่รักนักออกแบบผู้พิชิต​ Misson ท้ายทายแห่งยุคสมัยได้ในลิงค์ด้านล่าง : https://www.class-a-solution.com/.../charles-and-ray...)
เราจะแยกนักออกแบบชั้นเยี่ยม ออกจากนักออกแบบทั่วๆไปได้อย่างไร ?
มีสุภาษิตกล่าวว่า "ยิงปืนนัดเดียวได้นกห่านที่กำลังบินอพยพขึ้นเหนือเป็นรูปตัว V ได้ทั้งฝูง" !!?
สำหรับนักออกแบบชั้นเยี่ยมแล้ว กระสุน..ไม่สิ
เส้น 1 เส้น ที่อยู่ในชิ้นงาน ต้อง "คำนึง" ถึงเหตุและผล ตอบโจทย์อันหลากหลายของชิ้นงานได้ ซึ่งเราจะเห็นสิ่งนี้ได้จากตัวอย่างงานของ Karim Rashid ชิ้นนี้
ที่เส้น 1 เส้น สามารถตอบโจทย์ความสวยงาม เป็น Organic Form สอดรับ Ergonomic นั่งสบาย ผลิตง่ายและราคาถูก ที่สำคัญคือแข็งแรงทนทาน เพื่อที่ผู้คน หรือนักออกแบบชื่อดังระดับโลกเช่นเขา จะได้ไม่ต้องมาเสี่ยงตายกับขาเก้าอี้ Plastic ที่อ่อนแออีกต่อไป..
และเหตุผลที่เขาเลือกใช้ Form ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากสัญลักษณ์ OHM ( Ω ) ไฟฟ้านั้น ไม่ใช่แค่สวย หรือเท่ แต่เพราะเขากลั่นมาแล้วว่า มันสามารถนำมาพัฒนาให้ตอบสนอง ฟังชันก์การใช้งานได้ดี Curve ของพนักพิง พนักแขน จะไม่มีเหลี่ยมสันมาทิ่มแทงร่างกาย และรองรับสรีระได้อย่างนุ่มนวล
การ "เจาะรู" บนเก้าอี้นั้นก็ช่วยให้ลดปริมาณ Plastic ที่ใช้ ได้ต้นทุนถูกลง ราคาถูกลง ผู้บริโภคไม่ต้องจ่ายค่า Plastic ส่วนเกินที่ไม่ได้ใช้ อีกทั้งยังช่วยให้เก้าอี้สามารถซ้อนเก็บได้ง่าย และลดต้นทุนในการขนส่งได้มหาศาลอีกด้วย นอกจากนั้นความ 'แหว่ง' นี้ยังช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นให้โครงสร้าง นั่งนุ่มขึ้น และสามารถรองรับขนาด Body ของคนนั่งได้หลากหลายมากขึ้น
คงไม่เกินเลยไปนักหากจะกล่าวว่า ไม่มีสักเพียง 1 เส้นในงานของเขาเลย "ที่ไม่มีเหตุผล" และนี่คือคำตอบ ว่าเราจะแยกนักออกแบบชั้นเยี่ยม ออกจากนักออกแบบทั่ว ๆ ไปได้อย่างไร ?
จากทั้งหมดที่กล่าวมา กว่าจะได้ออกมาเป็นเก้าอี้ Plastic ผสมขาเหล็กแบบที่เราเห็น ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีมากจากหลาย ๆ ประเทศ โดยเฉพาะที่ "ญี่ปุ่น" ตอบรับดีมาก แต่ติดอยู่เรื่องเดียว คือชื่อของมัน..โดยตอนแรกเก้าอี้นี้ ชื่อ OHM Chair ซึ่งมันไปพ้องเสียงกับ 'โอม' ชินริเกียว ลัทธิที่กำลังเป็นข่าวดังในญี่ปุ่น ด้วยเหตุนี้จึงต้องเปลี่ยนชื่อเป็น OH Chair แทนเพื่อการจัดจำหน่าย
ซึ่งถ้าใครไม่รู้ที่มาอาจนึกว่า ชื่อนี้มาจากเสียงตอนที่ได้นั่งแล้วนุ่มสบายจนต้องร้องออกมาว่า OH Chair~
Bobble
หนึ่งในความพยายามแรกที่จะเปลี่ยนพฤติกรรมใช้แล้วทิ้งของมนุษย์ขวด Bobble จึงถือกำเนิดขึ้นโดยการทำงานร่วมกันระหว่าง Richard Smiedt CEO ผู้มีวิสัยทัศน์ของ Bobble และ Karim Rashid โดยเจ้า Bubble ออกแบบมาให้มีระบบกรองน้ำจาก Carbon Filter ที่เป็นมาตรฐานเทคโนโลยีการกรองน้ำที่มีมาช้านานของมนุษย์ เพียงเราเทน้ำจากก๊อกใส่ขวด แล้วทุกครั้งที่บีบน้ำจากขวดเข้าปาก น้ำจะถูกดันให้ผ่าน ตัว Filter Carbon เพื่อกรองเอาสารสกปรกจากน้ำ​ ไปกักเก็บอยู่ใน Carbon Filter เพียงเท่านี้เราก็สามารถเข้าถึงน้ำดื่มสะอาดได้ทุกที่ ที่ประปา ไปถึง
ตัว Bobble มีเป้าหมายในการลดการบริโภคน้ำจากขวด PET ที่ใช้แล้วทิ้ง โดยพุ่งเป้าไปที่การแก้ปัญหาการพกพาน้ำดื่มของมนุษย์ โดย Karim Rashid​ ได้ตั้งใจออกแบบขวดให้ ทนทาน​ และใช้งานได้นานโดยใช้ วัสดุ Tritan® ที่ถูกพัฒนามาให้รถเหยียบแล้วยังไม่แตก ไม่เป็นรอยง่าย คงรูป คงความสวย คงความใสให้อยู่ยงคงกระพัน และ มี form ที่เช่นเคย​ Sensual สวยงามน่าเก็บ คู่ไปกับสีของ Filter ที่โดดเด่นสะดุดตา ทำให้การพกพาเจ้าขวด Bobble เป็นเหมือน statement ที่สร้างกระแสให้คนหันมาเปลี่ยนพฤติกรรมกันอย่างมีสีสัน
ตั้งแต่หลังปี 2000 เป็นต้นมาพฤติกรรมแย่ๆอันหนึ่งของมนุษย์ที่เกิดขึ้นจนเป็น Movement ชัดเจนมากคือ การบริโภค "น้ำดื่มขวด" ด้วยเหตุผลนานับประการ ไม่ว่าจะเป็นรสชาติน้ำจากก๊อก ที่ถึงจะกรองแล้วก็ยังมีกลิ่นแปร่ง ๆ หรือบางที ขี้เกียจกรอง !! ทำไมต้องมาคอยเปิดน้ำกรองให้ค่อย ๆ หยดใส่ขวด แล้วต้องยืนรอไม่รู้ว่ามันจะเต็มเมื่อไร หรือ "ง่ายดี" ขวดเล็ก ๆ เบา ๆเอาติดมือไปไหนมาไหนสบาย ๆ กินหมดแล้วก็ทิ้ง ยื่นให้คนอื่นก็ง่าย เวลาแขกหน้าแปลกเข้าบ้านมาจะได้ไม่ต้องมาดื่มน้ำจากแก้วของเรา และผลที่ตามมาคือ คนซื้อน้ำขวด PET ใส ๆ ใช้ครั้งเดียวทิ้งมาตุนไว้เป็นแพค ๆ ที่บ้าน และบริโภคแบบไม่เกรงใจสิ่งแวดล้อม
น่าเศร้าเพียงไหน ที่เราต้องเห็นภาพ "กองขยะ" ขวดพลาสติกที่ท่วมตึกสามชั้น.. สิ่งนี้มันถูกซุกซ่อน แอบอยู่ตามมุมต่างๆในโลกของเรา
ในมุมมองของ Karim Rashid, The King of Plastic หากเราเปลี่ยนระบบการจัดการขยะทั่วโลกไม่ได้ เรามาสร้างโปรดักส์ที่เปลี่ยนพฤติกรรมมนุษย์ แล้วสร้าง Movement ใหม่กันเถอะ !!
ขวด Bobble จึงถือกำเนิดขึ้นโดยการทำงานร่วมกันระหว่าง Richard Smiedt CEO ผู้มีวิสัยทัศน์ของ Bobble และ Karim Rashid โดยเจ้า Bubble ออกแบบมาให้มีระบบกรองน้ำจาก Carbon Filter ที่เป็นมาตรฐานเทคโนโลยีการกรองน้ำที่มีมาช้านานเพียงเราเทน้ำจากก๊อกใส่ขวด แล้วทุกครั้งที่ "บีบน้ำ" จากขวดเข้าปาก น้ำจะถูกดันให้ผ่าน ตัว Filter Carbon เพื่อกรองเอาสารสกปรกจากน้ำ ไปกักเก็บอยู่ใน Carbon Filter เพียงเท่านี้เราก็สามารถเข้าถึงน้ำดื่มสะอาดได้ทุกที่ ที่ประปา ไปถึง
ตัว Bobble มีเป้าหมายในการลดการบริโภคน้ำจากขวด PET ที่ใช้แล้วทิ้ง โดยพุ่งเป้าไปที่การแก้ปัญหาการพกพาน้ำดื่มของมนุษย์ โดย Karim Rashid ได้ตั้งใจออกแบบขวดให้ ทนทาน และใช้งานได้นานโดยใช้ วัสดุ Tritan® ที่ถูกพัฒนามาให้รถเหยียบแล้วยังไม่แตก ไม่เป็นรอยง่าย คงรูป คงความสวย คงความใสให้อยู่ยงคงกระพัน และ มี Form ที่เช่นเคย Sensual สวยงามน่าเก็บ คู่ไปกับสีของ Filter ที่โดดเด่นสะดุดตา ทำให้การพกพาเจ้าขวด Bobble เป็นเหมือน statement ที่สร้างกระแสให้คนหันมาเปลี่ยนพฤติกรรมกันอย่างมีสีสัน
Carbon filter ของ Bobble ถูกออกแบบมาให้สามารถกรองน้ำได้ 300 ขวด ซึ่งหากเรามี Cycle การเติมน้ำวันละสองครั้ง ก็เปลี่ยน Filter ในทุก ๆ 6 เดือน และ เราก็เปลี่ยนแค่ตัว Carbon จริง ๆ เพราะฝาที่ทำจาก PP ถูกออกแบบมาให้ถอดแยกชิ้นส่วนทำความสะอาดได้ง่าย และทนทาน เราเพียงเปลี่ยน แท่ง Carbon อย่างเดียว แล้วใช้เจ้า Bobble ไปจนส่งต่อให้เหลนได้แบบไม่ต้องอายว่าโปรดักส์จะดูขี้เหล่
อ่านบทความเพิ่มเติมเกี่ยวกับขยะพลาสติกได้ที่ : https://www.class-a-solution.com/blog/plasticbag
บทส่งท้ายกับ
BLOBJECT​ = Blob + Object
Blobject คือ Project สนุก ๆ ที่เกิดจากการรวมตัวของบรรดา "ดีไซน์เซเลบ" (Designer + Celeb) ในช่วงยุคสมัย 1980 - 2000 อาทิเช่น Philippe Starck, Marc Newson และที่ขาดไม่ได้เลยคือ Karim Rashid นักออกแบบคนสำคัญ ที่จะร่วมนำพางานออกแบบไปสู่ขอบเขตใหม่ ๆ ที่ไม่เคยมีใครไปถึง
ซึ่งเป้าหมายแรกนั้น ก็ต้องเริ่มจากการพยายาม "ทำลายข้อจำกัดทางการผลิต" เพราะต่อให้ดีไซน์มันล้ำยังไง แต่ถ้าผลิตไม่ได้ก็เปล่าประโยชน์ ด้วยเทคโนโลยี 3D ที่กำลังเข้ามา ผสานกับความทุ่มเทของเหล่าขุนพล Designer จนเกิดเป็นยุคสมัยแห่ง "ราชาโจรสลัด" เอ้ย ยุคสมัยแห่ง Blobject ที่เรากำลังพูดถึงอยู่นั่นเอง
Blob คือ Form ที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจาก Curve, หยดน้ำ, Organic, หน้าอก และทรวดทรงองค์เอวของสตรี ซึ่งเป็นฟอร์มที่แต่ก่อน " คิดได้แต่ผลิตไม่ได้ " จนกระทั่งเกิด Moment สำคัญ เมื่อเทคโนโลยีก้าวเข้ามาสู่ยุคของ 3D นี่แหละ และเมื่อโปรแกรม 3D เข้ามา ความมันส์ก็บังเกิด !! เมื่อนักออกแบบสามารถสร้างงาน จากมุมมองแบบ 360 องศา ช่างและโรงงานก็มีความพร้อมที่จะผลิตชิ้นงาน ที่มีความซับซ้อนมากขึ้น
และนี่คือที่มาของยุคการออกแบบ ที่ Form บางทีก็ไม่ต้อง Follow Function !! ได้เกิดขึ้นมากมาย
จะเกิดอะไรขึ้นถ้า Form มันนำหน้าฟังก์ชัน ดั่งนักร้องนำที่นักดนตรีเล่นตามไม่ทัน !! และนี่คือตัวอย่างผลงาน "ความมันส์" ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้น !!
รู้หมือไร่ ?
Karim Rashid ได้ Claim ว่าตัวเค้าเองเป็นดั่ง "บิดา" ผู้ให้กำเนิด Blobject เรามาดูตัวอย่าง "ลูกๆ" ของเขากัน
Ego Vase แจกัน
ผลงานที่ต้องขออนุญาตใช้คำว่า "กวนตีน!!" มากของ Karim Rashid ที่นำมุมหน้าด้านข้างของตัวเอง มาหมุนวนด้วยคำสั่ง Revolve ใน 3D Program คล้ายการใช้ 'แป้น' หมุนในการทำเครื่องปั้นดินเผา ก่อเกิดเป็นแจกันแก้ว ที่ตั้งใจล้อเลียนผลงานประติมากรรมทองเหลืองใบหน้าของ "เบนิโต มุสโสลินี" ผู้นำเผด็จการฟาสซิสต์ และนี่แหละคือการ Bully แบบนักออกแบบ!!
Bokka Lamp
เห็นแวบแรกตกใจ นึกว่าหน้ากาก Scream!! หนังที่ฆาตกรโรคจิต ใส่หน้ากากผีถือมีดวิ่งไล่เชือดคน ด้วย Form ที่มันดูน่าพิศวงมาก
ผลงานชิ้นนี้ Karim Rashid ได้ออกแบบให้บริษัทผลิตแก้วในอิตาลี งานชิ้นนี้พิเศษด้วยการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในการสร้าง Form ที่โคตร Organic จากคอมพิวเตอร์ ผสมผสานเทคนิคการผลิต Molded แก้วโบราณที่มีประวัติความเป็นมากว่า 1000 ปี เข้ากับ Technique Water Jet หรือการตัดวัสดุด้วยแรงดันน้ำ ทำให้ได้ Form และ รูปบนชิ้นงานแก้ว ในแบบที่งานฝีมืออย่างเดียวก็เอาไม่อยู่ จะ Machine อย่างเดียว ก็จบไม่ได้ และนี่คือผลงานที่ต้องผสานสองอย่างร่วมกัน
บทสรุปแห่ง BLOBJECT : เมื่อ Form ไม่ยอม Follow Function
Blobject เป็น Project ที่ถูก "ด่า" เยอะมากในเรื่องของ Emotional Design การผลิตที่ไม่คำนึงถึงฟังก์ชันการใช้งาน การที่เอามันส์ เอาสนุกเข้าว่า สุดท้ายแล้วก็โรยราไปเมื่อกระแสหมดลง แม้คุณงามความดีหนึ่งของ Project นี้ คือการทลายข้อจำกัดในด้านการผลิตแห่งยุคสมัยลง แต่ก็ยังไม่เพียงพอ
เพราะเอาเข้าจริงแล้ว โลกนี้ยังมีปัญหาที่มากกว่าความ "น่าเบื่อ" ที่ท้าทาย และสำคัญยิ่งกว่า รอให้นักออกแบบเข้าไปจัดการ "แก้ปัญหา" เพื่อชีวิตของผู้คนที่ดีขึ้น และโลกใบนี้ที่ดีขึ้น
จริง ๆ แล้ว Bobble ขวดกรองน้ำ Carbon Filter ที่ Karim Rashid ออกแบบ ถือได้ว่าเป็นงานชิ้นส่งท้ายของยุคสมัยแห่ง Blobject ซึ่งเขาใช้ความทุ่มเทอย่างมหาศาลที่จะใช้พลังแห่งความ "สนุก" ที่มีอยู่ในงานออกแบบของเขา ท้าทายต่อปัญหาขยะขวดพลาสติก ที่กำลังจะล้นโลก แต่ถ้าให้พูดตามตรงก็คือ "ไม่สำเร็จ" ปัญหานี้อาจจะใหญ่ยักษ์เกินกำลังของนักออกแบบคนหนึ่ง แต่อย่างน้อยที่สุด นี่ก็เป็นสิ่งที่ดีที่สุดที่ Karim Rashid หรือนักออกแบบคนหนึ่ง ที่จะทำเพื่อโลกใบนี้ได้ และทางเราหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะได้เห็น ว่านักออกแบบรุ่นใหม่ ๆทั้งหลายจะ "รับไม้ต่อ" โจทย์สำคัญแห่งยุคสมัยนี้ ต่อจากเขา
ตัวอย่างผลงานของ Karim Rashid ใน blobject
โฆษณา