Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
@RAMA
•
ติดตาม
21 เม.ย. 2022 เวลา 02:00 • ข่าวรอบโลก
Marked Crosswalk ความเป็นมาและวิถีการข้ามถนนให้ปลอดภัยทั่วโลก
Volume: ฉบับที่ 44 เดือนเมษายน 2565
Column: Vocab With Rama
Writer Name: นู๋โน โกอินเตอร์ นู๋นัน สะพายกล้อง
ปัญหาอุบัติเหตุ (Accident: /ˈæksɪdənt/) บนท้องถนนที่เกิดกับคนเดินถนน (Pedestrian: /pəˈdestriən/) กลายเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์ในวงสังคมอย่างกว้างขวาง เมื่อเกิดเหตุเศร้าที่ทำให้เราต้องสูญเสียบุคลากรทางการแพทย์ไปจากการถูกบิ๊กไบค์ชนระหว่างเดินข้ามทางม้าลาย (Zebra Crossing: ˌzebrə ˈkrɒsɪŋ ในภาษาอังกฤษแบบอังกฤษ หรือ Marked Crosswalk: / mɑːrkt ˈkrɒswɔːk/ ในภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน) เรื่องนี้เป็นแรงกระตุ้นให้ผู้เขียนต้องหันกลับไปมองว่า เหตุการณ์อุบัติเหตุกับคนเดินถนนในลักษณะเดียวกันนี้ มีเกิดขึ้นแค่ในประเทศไทยเราหรือเป็นปัญหาสากลทั่วโลก
แล้วทางม้าลายมันคืออะไรกันแน่? เจ้าเส้นสีขาวสลับสีดำ ลวดลายเหมือนตัวม้าลาย ที่เราเห็นอยู่ตามท้องถนนมีความเป็นมาอย่างไร? แล้วทั่วโลกมีการจัดการกับอุบัติเหตุกับคนเดินถนนที่เกิดขึ้นระหว่างการข้ามทางม้าลายอย่างไรบ้าง? ผู้เขียนใช้เวลาในการสืบค้นข้อมูลแล้วจึงพบว่า ต้นกำเนิดแรกสุดของทางม้าลายนั้นแท้จริงแล้วยังคงเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ อย่างไรก็ตาม แรกเริ่มเดิมที ทางข้าม (Crosswalk: / ˈkrɒswɔːk/) ไม่ได้มีลักษณะเป็นการตีเส้นอย่างที่เราเห็นในปัจจุบัน แต่เป็นการปักหมุดด้วยปุ่มเหล็กเล็ก ๆ บนเส้นถนน ให้สัญญาณคนขับรถ และใช้เสาติดตั้งด้านข้างบนทางเท้าเพื่อให้สัญญาณแก่คนข้าม
เวลาผ่านไปเรื่อย ๆ ทางข้ามก็ได้มีการพัฒนามากขึ้นด้วยการติดตั้งโคมไฟสีส้มเพื่อให้สัญญาณชัดเจนขึ้น เรียกกันว่า Belisha beacons (/bəˌliːʃə ˈbiːkən/) โดยไอเดียนี้เป็นของรัฐมนตรีคมนาคมของประเทศอังกฤษ ชื่อว่า Leslie Hore-Belisha และมีการทาสีบนพื้นถนนเพื่อให้เป็นสัญลักษณ์ มีหลักฐานระบุอยู่ในข้อ 18 ของกฎหมายว่าด้วยการจราจรบนท้องถนนของสหราชอาณาจักรในปี ค.ศ. 1934 (หรือพ.ศ.2477) ที่ระบุไว้ว่ารถทุกประเภทต้องหยุดให้คนเดินข้ามถนน พร้อมกำหนดให้จุดข้ามถนนของผู้คน ต้องมีลักษณะเป็นเส้นตรงสลับช่องในแนวขวางของถนน โดยมีการทดลองในเรื่องของสีที่จะใช้ทาอยู่หลายสี ทั้งสี เหลือง-ฟ้า ขาว-แดง กระทั่งในปี 1949 รัฐบาลอังกฤษ ได้ตัดสินใจใช้สี เหลือง-ฟ้า ในการทาสีทางข้ามถนน โดยทดลองใช้กันราวหนึ่งพันแห่งทั่วประเทศ
ต่อมาปี 1951 ทางม้าลายขาวดำแห่งแรกของโลกก็ถือกำเนิดขึ้น และมันได้กลายมาเป็นสัญลักษณ์ทางข้ามถนนอย่างเป็นทางการในเมือง Slough ประเทศอังกฤษ โดยช่วงปีนี้เป็นปีที่การใช้รถยนต์ส่วนตัวกำลังเป็นที่นิยมและอัตราการเกิดอุบัติเหตุรถชนคนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนเป็นที่น่าวิตก จึงต้องมีการตีเส้นสัญลักษณ์เพื่อให้คนข้ามถนนและหยุดรถขึ้นมา
ส่วนที่มาของคำว่า “ทางม้าลาย” นั้นมาจาก James Callaghan อดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษ (ดำรงตำแหน่งระหว่าง ค.ศ. 1976-1979) ที่มองเห็นทางม้าลายแล้วบอกว่า “เห็นสีขาว-ดำสลับกันบนถนนแล้ว นึกถึงม้าลาย” ทางม้าลายแห่งแรกของโลกก็กลายมาเป็นจุดท่องเที่ยวสำคัญ (Attraction: /əˈtrækʃn/) เมื่อวงดนตรีร็อกแอนด์โรล (Rock and Roll: /ˌrɒk ən ˈrəʊl/) ระดับตำนานอย่าง The Beatles ใช้ทางม้าลายบนถนน Abbey เส้นนี้เป็นภาพหน้าปกอัลบั้มที่โด่งดังไปทั่วโลก จนถนนแห่งนี้ได้กลายเป็นมรดกโลกและเป็นจุดท่องเที่ยวไฮไลท์ (highlight: /ˈhaɪlaɪt/) แห่งหนึ่งของประเทศอังกฤษเลยทีเดียว รูปแบบของทางม้าลายแบบอังกฤษได้แพร่หลายไปทั่วโลก
ด้วยในยุคนั้นอังกฤษยังมีปกครองอาณานิคมอยู่หลายพื้นที่ในโลก ประเทศเหล่านั้นก็ได้นำเอาแนวคิดการขับรถและรูปแบบถนนของอังกฤษไปใช้ในอาณานิคมตัวเองทั่วโลกไปด้วย ทำให้ทางม้าลายจึงแพร่หลาย กลายเป็นสัญลักษณ์จราจร (Road Sign: /ˈrəʊd saɪn/) แบบสากลมาจนถึงปัจจุบันนั่นเอง ทั้งนี้ในประเทศอังกฤษ มีการตีเส้นถนนแบบซิกแซ็กก่อนถึงทางม้าลายเอาไว้ด้วย เพื่อเป็นการเตือนผู้ขับขี่ว่าข้างหน้าจะเป็นทางข้าม ให้ชะลอความเร็ว เตรียมหยุดรถ และห้ามขับแซง เนื่องจากเส้นซิกแซ็กจะช่วยให้สะดุดตา
สำหรับประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก จากการค้นคว้าพบปัญหาด้านความปลอดภัยของคนข้ามถนนอยู่ไม่น้อย ดังเช่น กรณีการข้ามถนนในอินเดียที่ประชาชนล้วนเห็นตรงกันว่า ไม่ต่างอะไรกับการ “วัดดวง” ถ้าข้ามไปได้อย่างปลอดภัยก็ถือว่าเป็นโชค
หรือแม้แต่ในประเทศที่ขึ้นชื่อว่ามีความปลอดภัยติดอันดับต้น ๆ ของโลก อย่างประเทศญี่ปุ่น ซึ่งขึ้นชื่อในการปฏิบัติตามกฎระเบียบอย่างเคร่งครัด กว่า 90% ของคนญี่ปุ่นกลับไม่ค่อยหยุดรถให้คนข้าม ถ้าเป็นทางม้าลายที่ไม่ติดตั้งไฟจราจร โดยข้อมูลนี้มาจากสำนักข่าว Japan Today บอกว่า สหพันธ์ยานยนต์ญี่ปุ่น (JAF) ได้ทำการสำรวจทางม้าลาย 94 ทางข้ามถนนทั่วประเทศซึ่งไม่ได้ติดตั้งสัญญาณไฟจราจรในปี 2016 พบว่ามีแค่ 7.6% เท่านั้นที่หยุดให้คนข้าม และในปี 2021 ที่สำรวจล่าสุด พบว่ามีเพิ่มขึ้น 30% แล้วที่หยุดให้คนข้าม ในประเทศญี่ปุ่นหากไม่หยุดให้คนข้ามจะโดนปรับ 9,000 เยน (2,600 บาท) และถ้าไม่จ่ายค่าปรับ ก็จะโดนปรับเพิ่มเป็น 50,000 เยน (14,500 บาท)
แน่นอนว่าแต่ละประเทศ ก็มีทั้งคนที่เคารพกฎ และไม่เคารพกฎจราจร แต่การออกแบบของถนนที่ดีจะช่วยลดอุบัติเหตุที่เกิดบนท้องถนนได้ เพราะทรัพยากรมนุษย์ ก็เป็นอีกหนึ่งทรัพยากรที่สำคัญในประเทศ เป็นแรงงานที่สามารถขับเคลื่อนประเทศได้ ยกตัวอย่างเช่น ทางม้าลายของประเทศคาซัคสถาน ที่ทำให้รถชะลอความเร็วลงได้ โดยการมีลูกระนาดคั่นไว้ก่อนถึงทางม้าลาย เพื่อที่ให้รถจอดได้ทันทีเมื่อมีคนเดินข้าม
ทางม้าลาย และรอบ ๆ นั้น เป็นพื้นที่เปิดโล่ง ทำให้เห็นป้ายสัญลักษณ์ได้อย่างชัดเจน ที่จีนก็มีการติดตั้งไฟ LED บนทางม้าลาย เพื่อเป็นสัญลักษณ์ว่ากำลังมีคนข้ามถนน ทำให้รถที่ผ่านมาเห็นสัญญาณแล้วต้องหยุดรถให้คนข้าม และมีการติดตั้งระบบเพื่อตรวจจับคนที่กระทำความผิดบนท้องถนน และติดตั้งกล้องวงจรปิดพิกเซลสูงเพื่อตรวจจับคนที่เดินข้ามทางม้าลายโดยที่ไม่มองไฟจราจรอีกด้วย ถนนในประเทศสเปนเอง ก็มีทางม้าลายอัจฉริยะโดยใช้เป็นระบบไฟ LED ที่ช่วยส่องสว่างในตอนกลางคืน และทำให้รถที่ผ่านมาเห็นป้ายสัญลักษณ์ชัด ๆ พร้อมระบบเซ็นเซอร์ที่ทำให้ไฟสว่างขึ้นมาหากมีคนกำลังจะข้ามถนน
ขณะที่เกาหลีมีการทำ Smart crosswalk (/smɑːt ˈkrɒswɔːk/) ทางม้าลายอัจฉริยะ โดยการติดตั้งไฟที่พื้นให้คนที่ก้มหน้าเล่นมือถือรู้ว่าบริเวณนี้เป็นทางม้าลาย และสามารถข้ามถนนได้อย่างปลอดภัย และยังมีเสียงเตือนอีกด้วย นอกจากนี้ก็ยังติดตั้งกล้องวงจรปิดบริเวณทางม้าลาย และจอ LED ที่สามารถแสดงป้ายทะเบียนรถที่ฝ่าฝืนกฎจราจรและจอดล้ำเส้นอีกด้วย
ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำนโยบายด้านความปลอดภัยในแต่ละประเทศล้วนใช้ความพยายามในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นการติดป้ายจราจร แจ้งเตือนให้เห็นชัดเจน รวมไปถึงทำทางม้าลายสามมิติ การติดตั้งระบบเสียงเตือนระหว่างการข้ามทางม้าลาย การควบคุมความเร็วของยานพาหนะ การปรับปรุงแก้ไขปัญหาดังกล่าวนั้นครอบคลุมหลายภาคส่วน ทั้งกฎหมาย หลักทางวิศวกรรม
นอกจากนี้ ความเป็นเมืองใหญ่ที่มีคนพลุกพล่านก็ส่งผลให้อัตราการเสียชีวิตบนท้องถนนพุ่งขึ้นตามไปด้วย ตามรายงานจากองค์การอนามัยโลกที่ชี้ว่า ทั่วโลกมีผู้เสียชีวิต 1.35 ล้านรายจากปัญหาความปลอดภัยบนท้องถนน นอกจากนี้อุบัติเหตุบนท้องถนนยังเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้น ๆ ของผู้ที่มีอายุระหว่าง 5 ถึง 29 ปี ซึ่งปัญหาโครงสร้างพื้นฐานที่ไม่ปลอดภัยนับเป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ก่อให้เกิด ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญชี้ตรงกันว่า ควรจะมีการสร้าง “ทางม้าลาย” ให้ตรงตามหลักวิทยาศาสตร์ และควรมีป้ายจราจรบอกให้รถหยุดอย่างชัดเจนก่อนถึงทางม้าลายเพื่อให้หยุดรถได้ทัน และทางข้ามถนนนั้นควรเป็นแบบที่ผู้ข้ามถนนสามารถกดรอสัญญาณเตือนให้รถหยุด รวมถึงต้องแก้ปัญหาป้ายสัญญาณที่ไม่ตรงตามหลักวิทยาศาสตร์ด้วย
อ้างอิง:
- Andalusian Stories. “AS Creating a smart pedestrian step that detects pedestrians and warns vehicles”. [online].
https://www.youtube.com/watch?v=ZdEZZkw9_1k
.
- CCTV Video News Agency. “Shanghai Starts Using New Pedestrian Crosswalk Warning System”. [online].
https://www.youtube.com/watch?v=PotWW59orcE
.
-Eschner, Kat. “A Short History of the Crosswalk”. [online].
https://www.smithsonianmag.com/smart-news/short-history-crosswalk-180965
....
- Magazine, Japantoday. “More than 90% of vehicles don’t stop at crosswalks without lights despite presence of pedestrians” [Online].
japantoday.com/category/national/more-than-90-of-vehicles-dont-stop-at-crosswalks-without-lights-despite-presence-of-pedestrians
- Magazine, Japantoday. “Only 30% of Japanese drivers stop for pedestrians at crosswalks, survey says” [Online].
https://japantoday.com/category/features/lifestyle/only-30-percent-of-ja
...
- Magazine, The Times “The knowledge: Zebra crossings”. [online].
https://www.thetimes.co.uk/article/the-knowledge-zebra-crossings-s9b8j68
....
- Smart City PR Center. “Smart crosswalk makes crossings smarter and safer”. [online].
https://www.youtube.com/watch?v=_Qz2D-Zdw_0
.
- หนังพาไป. “ถนนที่เป็นมิตรกับคนข้ามทางม้าลาย l หนังพาไป ซีซัน 5 l
VIPA.me
”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก
https://www.youtube.com/watch?v=frDabbLBlcE
.
rama.mahidol.ac.th
Marked Crosswalk ความเป็นมาและวิถีการข้ามถนนให้ปลอดภัยทั่วโลก | คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
นู๋โน โกอินเตอร์ นู๋นัน สะพายกล้อง
อ่านเพิ่มเติม
ข้ามถนน
บันทึก
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย