20 เม.ย. 2022 เวลา 23:00 • ธุรกิจ
ผู้บริโภคญี่ปุ่นสนใจ SDGs เพิ่ม 3 เท่า! โดยเฉพาะกลุ่มหญิงวัยกลางคน เกินครึ่ง เลือกใช้สินค้าของบริษัทที่นำ SDGs มาประยุกต์ใช้
ความสนใจในหมู่ผู้บริโภคเกี่ยวกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDGs (Sustainable Development Goals) ซึ่งประกอบด้วย 17 เป้าหมายที่สหประชาชาติตั้งขึ้นในปี 2558 เพื่อให้แน่ใจว่าโลกจะดีขึ้นภายในปี 2573 ทั้งนี้ เป้าหมายเหล่านี้คือการเรียกร้องให้มีการดำเนินการเพื่อยุติความยากจน ปกป้องโลกและทำให้ทุกคนมีความสงบสุข และความมั่งคั่ง มีแนวทาง และเป้าหมายที่ชัดเจนสำหรับทุกประเทศ เพื่อให้สอดคล้องกับลำดับความสำคัญในการพัฒนาของตนเอง อย่างไรก็ ตาม SDGs มีแนวโน้มได้รับความสนใจจากผู้บริโภคเพิ่มมากขึ้นเรื่อยมา โดยเฉพาะในญี่ปุ่น
จากข้อมูลการสำรวจของบริษัทวิจัย INTAGE อัตราความตระหนักรู้เกี่ยวกับ SDGs ในญี่ปุ่น (SDGs Awareness in JAPAN) ใน เดือนมกราคม 2565 อยู่ที่ร้อยละ 79.8 ซึ่งเพิ่มขึ้น 3 เท่าภายใน 2 ปี ทั้งนี้ ผู้บริโภคยังไม่เพียงแค่ให้ความสำคัญกับพฤติกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่ยังมีแนวโน้มเลือกใช้สินค้าของบริษัทที่นำแนวคิด SDGs มาประยุกต์ใช้ในการดำเนินธุรกิจอีกด้วย
บริษัท INTAGE ได้ทำการสำรวจความตระหนักรู้เกี่ยวกับ SDGs ในญี่ปุ่นตั้งแต่ปี 2563 ในหมู่ผู้บริโภคญี่ปุ่นประมาณ 2,000 - 3,000 คน โดยมีผู้ที่ตอบว่า "เข้าใจรายละเอียดดี" และ "เข้าใจ รายละเอียดในระดับหนึ่ง" ในเดือนมกราคม 2565 รวมกันมากถึงร้อยละ 52.1 ทั้งนี้หากรวมผู้ที่ตอบว่า "เคยได้ยิน แต่ไม่รู้รายละเอียด" จะกลายเป็นว่าความตระหนักรู้เกี่ยวกับ SDGs ในญี่ปุ่นอยู่ที่ร้อยละ 79.8 ในขณะที่ผลการสำรวจในเดือนมกราคม 2563 ความตระหนักรู้อยู่ที่ร้อยละ 27.8 ถึงว่าในปัจจุบัน เพิ่มขึ้นประมาณ 3 เท่า โดยผู้หญิงวัย 30 - 59 ปี เป็นกลุ่มที่สนใจเกี่ยวกับ SDGs เพิ่มขึ้นมากที่สุด
นอกจากนี้ ผลการสำรวจในเดือนมกราคมปี 2565 เกี่ยวกับเป้าหมาย SDGs ที่ควรให้ ความสำคัญในหมู่ผู้บริโภคในญี่ปุ่นพบว่า อันดับที่ 1 จะเน้น "ขจัดความยากจน" อยู่ที่ร้อยละ 27.4 รองลงมาเป็น "สุขภาพ และความเป็นอยู่ที่ดี" อยู่ที่ร้อยละ 27 และ "ความสงบสุข ยุติธรรม" อยู่ที่ร้อย ละ 25.7 ทั้งนี้หากย้อนกลับไปดูผลสำรวจในปี 2563 จะพบว่าเรื่อง "ขจัดความยากจน" เดิมอยู่ที่อันดับที่ 4 และขึ้นมาเป็นอันดับ 3 ในปี 2564 ต่อมาสถานการณ์โควิด-19 ที่ระบาดในวงกว้างส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก ทำให้ผู้ที่ประสบปัญหาทางการเงินในช่วงนี้มีเพิ่มขึ้น จึงน่าจะเป็นเหตุผลให้เรื่องความยากจนได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นกลายเป็นอันดับ 1 ในปี 2565
บริษัท INTAGE ยังทำการสำรวจเกี่ยวกับพฤติกรรมการบริโภคที่เกี่ยวกับ SDGs ในเดือน ธันวาคมปี 2563 และ 2564 อีกด้วย พบว่า มีผู้ที่ตอบว่า "เป็นผู้นำ" หรือ "กระตือรือร้น" ที่จะทำกิจกรรม หรือบริโภคอะไร โดยคำนึงถึง SDGs ในปี 2564 ที่ร้อยละ 33.8 ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.1 เทียบกับในปี 2563 ที่อยู่ที่ร้อยละ 29.7
สำหรับพฤติกรรมการบริโภคเกี่ยวกับ SDGs พบว่ากลุ่มผู้บริโภคที่มีอายุสูงขึ้นมีแนวโน้มที่จะ"ปฏิเสธไม่รับของที่ไม่จำเป็น เช่น ตะเกียบแบบใช้แล้วทิ้ง ช้อนส้อมพลาสติก เป็นต้น" หรือ "เลือกอาหาร ที่ไม่ใช้สารปรุงแต่ง หรือสารถนอมอาหาร" เพิ่มมากขึ้นไปด้วย
นอกจากนี้ สำหรับกลุ่มผู้บริโภคที่รู้จัก SDGs พบว่า ในปี 2564 มีผู้ที่ตอบว่า "คิดแบบนั้น" และ "คิดประมาณนั้น" ที่จะ "สนับสนุนบริษัทที่นำ SDGs มาประยุกต์ใช้" อยู่ร้อยละ 53.2 หรือกล่าวได้ว่าสูง เกินกว่าครึ่งเลยทีเดียว
เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDGs (Sustainable Development Goals) อาจจะไม่ใช่ศัพท์ใหม่ในปัจจุบัน แนวโน้มที่ภาครัฐ ผู้บริโภค และบริษัทต่างๆ ให้ความสนใจกันมากขึ้นเรื่อยมา ในญี่ปุ่นเองก็เช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายลดการใช้พลาสติกครั้งเดียวที่เพิ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา หรือจะบริษัทผู้ผลิตต่างๆ ที่นำเสนอผลิตภัณฑ์ หรือเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น จากผลการสำรวจของบริษัท INTAGE ทำให้เห็นตัวเลขที่สอดคล้องกับแนวโน้มที่ว่านี้ การตื่นตัวของผู้ผลิต และผู้บริโภคที่จะมีต่อไปอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับ SDGs เรียกได้ว่าเป็นเรื่องที่ หลีกเลี่ยงไม่ได้ในอนาคต ธุรกิจต่างๆ จึงต้องปรับตัวเพื่อให้สามารถตอบสนองต่อความต้องการทั้งของ ผู้บริโภค และภาคส่วนต่างๆ อย่างทันท่วงที ประเทศไทยในฐานะคู่ค้าสำคัญกับประเทศญี่ปุ่นก็เช่นกัน
เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDGs (Sustainable Development Goals) เป็นประเด็นที่บริษัทญี่ปุ่นทั้งรายย่อย และรายใหญ่ให้ความสำคัญในการนำมาพัฒนาผลิตภัณฑ์ และบริการต่างๆ กันมากในปัจจุบัน ผู้ประกอบการไทยควรศึกษาความหมายของ SDGs อย่างละเอียดถ่องแท้ รวมถึงแนวโน้มต่างๆ ที่สอดคล้องส่งเสริมแนวคิดนี้ด้วย ไม่ว่าจะวัสดุที่เป็นมิตรต่อธรรมชาติ วัสดุรีไซเคิล วัสดุทดแทนพลาสติก หรือจะการนำวัตถุดิบที่ส่งเสริมเป้าหมายต่างๆ ใน SDGs มาประยุกต์ใช้ในกระบวนการผลิต ก็เป็นความเคลื่อนไหวที่ผู้ประกอบการไทยต้องให้ความสนใจติดตาม เพื่อให้พร้อมรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงที่จะมีขึ้นทั้งในปัจจุบัน และอนาคตอันใกล้ด้วย
โฆษณา