20 เม.ย. 2022 เวลา 11:50 • ธุรกิจ
รู้จัก DHL หนึ่งในธุรกิจขนส่ง ใหญ่ที่สุดในโลก
ในช่วงที่ผ่านมา ได้เกิดกลุ่มมิจฉาชีพนำชื่อของบริษัท “DHL” ไปแอบอ้างเพื่อหลอกลวงคนไทย
ซึ่งทางบริษัทเอง ก็ได้มีการออกมาเตือนและให้ความรู้บนช่องทางโซเชียลมีเดียของบริษัทเป็นระยะ ๆ
1
ในความเป็นจริงแล้ว DHL เรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในธุรกิจขนส่งใหญ่สุดในโลก
ถูกก่อตั้งโดยชาวอเมริกัน แต่ปัจจุบัน เป็นส่วนหนึ่งของเครือธุรกิจจากเยอรมนี
บริษัทแห่งนี้ใหญ่ขนาดไหน มีที่มาที่ไปอย่างไร ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
รร. นานาชาติไบรท์ตัน คอลเลจ กรุงเทพฯ ขอเชิญท่านผู้ปกครองที่มีบุตร-หลาน อายุ 2-18 ปี ร่วมงาน Open House วันเสาร์ที่ 30 เม.ย. เวลา 8.45 น. พร้อมรับข้อเสนอพิเศษ ลิ้งค์ลงทะเบียน https://forms.gle/4x7PecnqqtFbUqcP7
╚═══════════╝
ในช่วงปี 1969 หรือราว 53 ปีก่อน
คุณ Adrian Dalsey ผู้จัดการฝ่ายขาย วัย 54 ปี
คุณ Larry Hillblom นักศึกษากฎหมายจบใหม่ วัย 26 ปี
ทั้งคู่เป็นพนักงานในบริษัทจัดหาสินค้าขนาดเล็กแห่งหนึ่งในแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา
ที่ได้ไอเดียธุรกิจจากการเห็นพ้องตรงกันว่า ธุรกิจขนส่ง ณ ตอนนั้น ยังคงมีปัญหาคอขวดอยู่
3
โดยพวกเขาสังเกตเห็นว่าการขนส่งทางเรือ
นอกจากจะใช้เวลาขนส่งที่ยาวนาน เพราะความเชื่องช้าของเรือขนส่งแล้ว
พิธีการศุลกากรก็เป็นอีกจุดหนึ่ง ที่ดูเหมือนจะเป็นปัญหาสำคัญ ที่ทำให้การขนส่งล่าช้าลงไปอีก
1
ทั้งคู่ ร่วมกับเพื่อนอีกคน หรือก็คือคุณ Robert Lynn จึงมองว่าในระหว่างที่สินค้าขนส่งด้วยเรือ
หากเอกสารเดินทางด้วยเครื่องบิน เอกสารก็จะไปถึงก่อน และสามารถทำเรื่องเคลียร์กับศุลกากรให้เสร็จล่วงหน้าได้เลย
2
หากทำได้แบบนี้ ทั้งผู้รับและผู้ส่ง ก็จะประหยัดเวลาลงได้
และเมื่อใช้เวลาที่ท่าเรือลดลง ก็จะทำให้ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องลดลงไปด้วย
1
จุดนี้เอง จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการก่อตั้ง “DHL” บริษัทขนส่งเอกสารทางอากาศ
ซึ่งชื่อของบริษัทก็ได้มาจากตัวอักษรตัวแรกของนามสกุลผู้ก่อตั้งแต่ละคน
1
D จาก Dalsey
H จาก Hillblom
และ L จาก Lynn
โดย DHL ได้เริ่มต้นธุรกิจ จากการจัดส่งด่วนจากแคลิฟอร์เนียไปยังฮาวาย
ซึ่งบริษัทก็เติบโตได้อย่างรวดเร็ว จนขยายไปถึงฝั่งตะวันออก ของประเทศสหรัฐอเมริกา
ในช่วงแรกนั้น ลูกค้าหลักของ DHL ก็คือ 1 ใน 4 ธนาคารที่มีสินทรัพย์มากที่สุด ในประเทศสหรัฐอเมริกา
นั่นก็คือ Bank of America
โดยธนาคารแห่งนี้ กำลังมองหาผู้ให้บริการขนส่งเอกสารเป็นพันธมิตรอยู่พอดี เพราะต้องการผู้รับผิดชอบการขนส่งเอกสารต่าง ๆ รวมถึง Letter of Credit หรือเอกสารทางการเงินที่ธนาคารเป็นผู้รับรองการชำระเงินให้กับธุรกิจซื้อขายสินค้า
เข้าสู่ทศวรรษ 1970 คู่แข่งในกลุ่มธุรกิจเดียวกันอย่าง FedEx ได้เริ่มขยายเครือข่ายการขนส่งในประเทศสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะการบริการจัดส่งแบบข้ามคืน
อย่างไรก็ตาม DHL กลับไม่เลือกที่จะเน้นธุรกิจในประเทศ แต่มองไปถึงการขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศมากกว่า
โดยบริษัท ได้ขยายธุรกิจไปยังอีกฟากของมหาสมุทรแปซิฟิกนั่นก็คือ “เอเชีย” ซึ่งก็ได้มีการว่าจ้างคุณ Po Chung นักธุรกิจชาวฮ่องกง เพื่อเข้ามาช่วยสร้างเครือข่าย DHL ให้ครอบคลุมทั่วโลก
DHL จึงได้แยกธุรกิจออกเป็น 2 ส่วน แบ่งออกเป็น
- DHL Airways ดูแลตลาดภายในประเทศสหรัฐอเมริกา มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่แคลิฟอร์เนีย
- DHL International ดูแลตลาดต่างประเทศ มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่เมืองบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม
จากการโฟกัสในธุรกิจส่งเอกสารเพียงอย่างเดียว และได้ตีตลาดไปทั่วโลก
DHL ก็ได้เติบโตอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว โดยมีการขยายเส้นทางเพิ่มเติมไปยังยุโรป, ตะวันออกกลาง, ลาตินอเมริกา และแอฟริกา ในช่วงเวลาเดียวกันนั้น DHL ก็ได้เพิ่มบริการรับ-ส่งพัสดุ จากเดิมที่ส่งแต่เอกสารด้วย
นอกจากนั้น ก็ยังได้จับมือกับเครือโรงแรม Hilton International Co. เพื่อเข้าไปรับและจัดส่งเอกสารทุกวันให้กับโรงแรมในเครือของ Hilton ทั้ง 49 แห่ง รวมถึงลูกค้าของโรงแรมด้วย
1
อย่าลืมว่าสมัยนั้น ยังไม่มีอินเทอร์เน็ตหรือโทรศัพท์มือถือ การที่เราสามารถส่งเอกสารหรือจดหมาย ได้อย่างรวดเร็วและถูกต้อง ก็ถือเป็นหนึ่งในบริการระดับพรีเมียม ที่ลูกค้าของโรงแรมจะได้รับเช่นกัน
เข้าสู่ยุค 1980 ที่เศรษฐกิจโลกเฟื่องฟู DHL ขยับขยายต่อเนื่อง ไปยังฮังการี เยอรมนีตะวันออก และอีกหลายประเทศ หนึ่งในนั้นก็คือการร่วมทุนกับจีน เกิดเป็นบริษัท “DHL Sinotrans”
โดยบริษัทแห่งนี้ ได้กลายเป็นบริษัทขนส่งด่วนรายแรก ที่เข้าไปให้บริการในประเทศจีน
ในขณะที่ตลาดในประเทศญี่ปุ่น DHL ก็ได้กินส่วนแบ่งการตลาด มากถึง 80%
และรู้หรือไม่ว่าระบบ Tracking System หรือระบบการติดตามพัสดุ ที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบัน
ก็เป็นหนึ่งในนวัตกรรมจาก DHL ที่ได้คิดค้นขึ้น ตั้งแต่ปี 1983 หรือราว 39 ปีก่อนอีกด้วย
2
ในเวลาต่อมา หรือในปี 1990
DHL ได้นำหุ้นบางส่วนของบริษัท ขายออกให้กับบริษัท 3 ราย ได้แก่
- สายการบิน Lufthansa ของเยอรมนี 5%
- สายการบิน Japan Airlines 5%
- Nissho Iwai บริษัทเทรดดิงจากประเทศญี่ปุ่น 2.5%
1
ภายหลัง สัดส่วนการถือหุ้นก็เพิ่มขึ้นเป็น 25%, 25% และ 7.5% ตามลำดับ
โดยเหตุผลในการขายหุ้นครั้งนี้ นอกจากจะเป็นเรื่องของการเป็นพันธมิตรกันแล้ว
อีกเหตุผลก็คือ DHL ต้องการเงินทุนเพิ่มเติมหลักหมื่นล้านบาท
เพื่อนำไปลงทุนในเทคโนโลยี และขยายการดำเนินงานเพิ่มเติมทั่วโลก
ทั้งการเพิ่มสาขา การสร้างศูนย์กลางการขนส่งระดับภูมิภาค
ไปจนถึงการซื้อเครื่องบินขนส่งสินค้า เพิ่มอีก 40 ลำ
ถึงตรงนี้ ก็ดูเหมือนว่าอนาคตของ DHL จะสดใส แต่มันก็ไม่ได้เป็นแบบนั้น..
เพราะกำไรที่หอมหวาน ก็ได้ทำให้การแข่งขันในอุตสาหกรรมนี้รุนแรงขึ้น
แค่นั้นยังไม่พอ บริษัทก็ต้องมาเจอข่าวสุดช็อก เมื่อคุณ Larry Hillblom หนึ่งในผู้ก่อตั้งบริษัทได้เสียชีวิตกะทันหัน จากอุบัติเหตุเครื่องบินตก ใกล้กับเกาะไซปัน ในมหาสมุทรแปซิฟิก ที่เขาอาศัยอยู่
2
ภายหลังจากการเสียชีวิตของคุณ Hillblom ก็ได้เกิดคดีความและเรื่องอื้อฉาวมากมาย รวมถึงเรื่องพินัยกรรมมรดกด้วย เนื่องจากคุณ Hillblom เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ซึ่งเขาคนเดียวถือครองหุ้น DHL อยู่มากถึง 23%
เมื่อเสร็จสิ้นคดีความแล้ว DHL จึงต้องพยายามหาทางซื้อหุ้นคืน เพื่อรักษาสัดส่วนการถือหุ้นส่วนใหญ่เอาไว้
ต่อมาในปี 1998 Deutsche Post ผู้ให้บริการไปรษณีย์ในเยอรมนี
ซึ่งขณะนั้นรัฐบาลยังเป็นเจ้าของทั้งหมด ได้เริ่มทำการเข้าซื้อหุ้น DHL
โดยหุ้นที่ว่านั้น ก็คือสัดส่วน 23% ที่คุณ Hillblom เคยถือครองอยู่
แต่ก็ถือว่า การเข้ามาถือหุ้นของ Deutsche Post ทำให้บริษัท DHL ได้ประโยชน์
เพราะ DHL ได้ขยายธุรกิจผ่านสาขาของ Deutsche Post ที่มีมากถึง 15,000 สาขาในเยอรมนี
ในขณะที่ Deutsche Post ก็ได้ขยายการเติบโตจากบริการในประเทศ ออกไปทั่วทวีปยุโรป เช่นกัน
หลังจากที่ทำธุรกิจขนส่งสินค้าขนาดใหญ่แล้ว DHL ก็ขยายธุรกิจอีกครั้ง โดยได้รุกเข้าสู่บริการด้านโลจิสติกส์ และมีเป้าหมายว่าจะเข้าไปเป็นหนึ่งในห่วงโซ่อุปทาน ของลูกค้าแบบครบวงจร ซึ่งบริษัทก็ได้จัดตั้ง
- ศูนย์โลจิสติกส์ระดับภูมิภาค 8 แห่ง
- ศูนย์อะไหล่อีก 54 แห่ง
เพื่อให้ลูกค้าที่อยู่ในอุตสาหกรรมการผลิต สามารถลดจำนวนสินค้าคงคลังลงได้ แถมยังเข้าถึงอะไหล่ได้รวดเร็วในยามที่ต้องการ
ในขณะที่ Deutsche Post ก็ได้เริ่มรุกเข้าสู่ธุรกิจโลจิสติกส์ทั่วโลก โดยได้เข้าซื้อกิจการ Danzas Group ซึ่งเป็นบริษัทเก่าแก่ด้านโลจิสติกส์ของสวิตเซอร์แลนด์ ที่มีอายุเก่าแก่กว่า 180 ปี ซึ่งดำเนินงานใน 150 ประเทศ
รวมถึง Air Express International Corporation บริษัทขนส่งสินค้าทางอากาศ ที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐอเมริกา โดยมีเครือข่ายสาขาใน 125 ประเทศ
จนกระทั่งในปี 2002 Deutsche Post ก็ซื้อหุ้นของ DHL เพิ่มจากผู้ถือหุ้นเดิมทั้ง Lufthansa, Japan Airlines และกองทุนเพื่อการลงทุนอีก 2 แห่ง ในที่สุด Deutsche Post ก็ได้เป็นเจ้าของ DHL ทั้งบริษัท
1
ต่อมาจึงเปลี่ยนมาใช้ชื่อว่า Deutsche Post DHL Group และทำให้สำนักงานใหญ่ของ DHL ย้ายมาอยู่ที่บอนน์ เมืองทางตะวันตกของประเทศเยอรมนี
และสำหรับโลโกเดิมของ DHL ที่ใช้ตัวอักษรสีแดงบนพื้นหลังสีขาว ก็ได้ถูกเปลี่ยนมาเป็น DHL ตัวอักษรสีแดง ตัดกับพื้นหลังสีเหลืองสดตามสีของ Deutsche Post หรือก็คือโลโกที่เราเห็นกันอยู่ในปัจจุบัน
ปัจจุบัน DHL มีสายการบินเป็นของตัวเอง อยู่ 6 สายการบิน ได้แก่
- European Air Transport Leipzig (EAT Leipzig)
- DHL Air UK
- DHL Aero Expreso
- SNAS/DHL
- Blue Dart Aviation
- DHL Air Austria
2
นอกจากนั้นก็ยังมีสายการบินย่อยและสายการบินพันธมิตร ทั้งหมด 15 สายการบิน
รวมแล้วในตอนนี้ DHL มีเครื่องบินขนส่งสินค้าในมือทั้งหมด 280 ลำ
สำหรับให้บริการใน 220 ประเทศ และส่งพัสดุมากกว่า 1,600 ล้านชิ้นต่อปี
หากเรามาดูผลประกอบการ ที่ผ่านมา
ปี 2018 รายได้ 2,300,000 ล้านบาท กำไร 73,000 ล้านบาท
ปี 2019 รายได้ 2,300,000 ล้านบาท กำไร 95,000 ล้านบาท
ปี 2020 รายได้ 2,400,000 ล้านบาท กำไร 110,000 ล้านบาท
12 เดือนล่าสุด รายได้ 2,900,000 ล้านบาท กำไร 180,000 ล้านบาท
3
แล้วถ้าถามว่าตอนนี้ Deutsche Post DHL Group ใหญ่แค่ไหน ?
หากเทียบกับมูลค่าบริษัทคู่แข่งในอุตสาหกรรมเดียวกัน
1. United Parcel Service หรือ UPS 5,500,000 ล้านบาท
2. Deutsche Post DHL Group 1,800,000 ล้านบาท
3. FedEx Corporation 1,800,000 ล้านบาท
สำหรับประเทศไทย DHL ได้เข้ามาให้บริการครั้งแรก ในปี 1971
ก่อนจะมาเปิดสำนักงานใหญ่แห่งแรกในประเทศไทย ในปี 1990 ที่กรุงเทพฯ
โดยกรุงเทพฯ ก็ยังเป็นศูนย์ขนส่งสินค้าหลักในเอเชียร่วมกับฮ่องกง เซี่ยงไฮ้ และสิงคโปร์ด้วย
ถึงตรงนี้ จะเห็นได้ว่าเส้นทางของ DHL ก็เป็นอีกกรณีศึกษาที่น่าสนใจ
เพราะจุดเริ่มต้นของบริษัทแห่งนี้ เกิดขึ้นจากพนักงานบริษัท ที่สังเกตเห็นถึงปัญหาคอขวดในกระบวนการขนส่ง ที่ยังไม่มีประสิทธิภาพมากพอ จนได้ไอเดียไปก่อตั้งเป็นธุรกิจ
ก็ไม่น่าเชื่อว่าจากจุดนั้น DHL ก็ได้เติบโตขึ้น จนวันนี้กลายมาเป็นหนึ่งในแบรนด์ขนส่ง ที่ใหญ่ที่สุดในโลก เลยทีเดียว..
╔═══════════╗
รร. นานาชาติไบรท์ตัน คอลเลจ กรุงเทพฯ ขอเชิญท่านผู้ปกครองที่มีบุตร-หลาน อายุ 2-18 ปี ร่วมงาน Open House วันเสาร์ที่ 30 เม.ย. เวลา 8.45 น. พร้อมรับข้อเสนอพิเศษ ลิ้งค์ลงทะเบียน https://forms.gle/4x7PecnqqtFbUqcP7
╚═══════════╝
โฆษณา