20 เม.ย. 2022 เวลา 15:39 • ครอบครัว & เด็ก
ฝึกขี่จักรยาน
ผมเกิดที่ กรุงเทพมหานคร ฝั่งธนบุรี ในยุด 80 ชุมชนที่ผมอยู่ เป็นชุมชนคนจีน ที่มาอยู่รวมๆกันในละแวกนั้น จึงเรียกว่า ซอยแซ่...
ชุมชนนี้ในยุคที่ผมเกิดจะมีคนจีนอาศัยอยู่ ร้อยละ 70 เพราะเรื่องของกาลเวลา จึงทำให้รุ่นอาก๋ง อาม่า ค่อยๆจากลากลับสวรรค์กันทีละคนๆ และมาเติมเต็มด้วยลูกสะใภ้ ลูกเขต ที่เป็นคนไทย และสัญชาติอื่น
บ้านที่ผมพักอาศัย อยู่ในซอยเล็กๆ ที่รถยนต์ไม่สามารถเข้าได้ จะเข้าก็เฉพาะจักรยาน และมอเตอร์ไซท์เท่านั้น ความกว้างของบ้านก็ประมาณเดิน 4 ก้าวติดผนัง บ้านมี 2 ชั้น บ้านอยู่ติดกันทั้งซอย เป็นซอยตัน มีบ้าน 2 ฝั่ง หน้าบ้านชนหน้าบ้านระยะทางไม่เกิน 3 เมตร หรืออาจจะเรียกแบบดูดีหน่อยคือตึกแถวขนาดย่อม
ผมโตที่ซอยนี้ ดังนั้น คนที่อาศัยอยู่ชุมชนประมาณเดียวกันจะเข้าใจ แต่หากคนที่อาศัยอยู่บ้านเดี่ยว ชุมชนในเมือง บ้านจัดสรรระดับ B ขึ้นไป อาจจะนึกภาพนี้ไม่ออก
ชุมชน
ผมจะเล่าให้ฟัง... ขึ้นชื่อว่าชุมชน อย่างแรกคือ คน คนจะเยอะ เพราะบ้าน 1 หลังเล็กๆ จะไม่ได้อาศัยอยู่แค่ 1-2 คน จะต้องมี 4-5 คนต่อหลัง และต่อมาจะตามมาด้วยเสียง... ทุกๆเช้าหลังจากตื่นนอน ผมจะเดินลงมาชั้น 1 เพื่อมาดูป๊าผมคัดกระบองเพื่อนำไปขาย (กระบองที่เอาไว้ม้วนผ้าตามพาหุรัด) และเงยหน้ามองขึ้นอีก 15 องศาก็จะเห็นบ้านตรงข้าม นั่งต่อแถวยาวลึกเข้าไปในบ้าน 5-6 คน กำลังนั่งขัด เจีย เครื่องเงินกันอย่างขมักเขม้น
ดังนั้น คำว่า เหงา ไม่เคยเกิดขึ้น นั่งเล่นอยู่สักพัก ก็จะมีคนข้างบ้านแวะเข้ามาคุย คนหน้าบ้านชวนกินข้าวเที่ยง ตกเย็นดูโทรทัศน์ ต่างบ้านต่างเปิดคนละเครื่อง และเปิดเสียงดัง แต่เอ๊ะ ทำไมพูดเหมือนกัน 5555 ใช่ครับ ในยุคที่โทรทัศน์มีให้เราเลือกช่องได้เพียง 5 ช่อง และมีละครให้เราดูอยู่ไม่กี่ช่อง ทุกๆบ้านก็มักจะเลือกดูช่องหลากสี
การเล่นในวัยเด็กของผมก็เกิดขึ้นที่ซอยนี้... วันหนึ่งป๊าผมได้ซื้อจักรยานมา เพราะเห็นว่าเริ่มโตแล้วจะได้หัดขี่เอาไว้ ช่วงนั้นผมอายุประมาณ 7-8 ขวบ... ผมได้ทดลองขี่จักรยานสีฟ้า เสริม 2 ล้อท้าย ด้วยความสนุกสนาน ขี่ตั่งแต่ต้นซอยจนถึงท้ายซอย พอเริ่มขี่เป็นสักระยะ ก็เริ่มถอด 2 ล้อเสริมออก และค่อยๆหัดขี่ โดยมีม๊าของผมคอยช่วยประคอง จนในที่สุดผมก็ขี่เป็น...
ฝึกขี่จักยาน
ผมอยากให้ทุกคนลองจินตนาการซอยที่ผมอาศัยอยู่ ไม่ว่าจะบ้าน ขนาดของซอย สิ่งของวางระเกะระกะหน้าบ้าน ไม่ว่าจะเป็น กระถางต้นไม้ ถังขยะ และส่งของอื่นๆ ที่แต่ละบ้านกองเอาไว้
พอจินตนาการเสร็จ ให้ลองนึกถึงการฝึกขี่จักรยาน ว่าการขี่นั้นจะต้องระมัดระวังมากน้อยขนาดไหน ไม่ว่าจะเป็นสิ่งของที่วาง จนาดของซอยที่ค่อนข้างเล็ก... แต่ก็ขี่จนเป็นได้!!!
เมื่อพอเราโต และมีวิถีความเป็นอยู่ของชีวิตที่ดีขึ้น มีกำลังทรัพย์มากขึ้น และถึงคราวที่เราต้องการสอนลูกขี่จักรยาน... ทำไมต้องมีหมวกกันน็อค ถุงมือ สนับเข่า สนับศอก... หัดขี่ในที่โล่ง หรือสวนสาธารณะเท่านั้น ยิ่งเป็นหญ้ายิ่งดี ล้มแล้วจะได้ไม่เจ็บ...
เจ็บแล้วทนได้ไหม
เราสปอยลูกเกินไปหรือเปล่า เราชดเชยสิ่งที่เราไม่เคยมีตอนวัยเด็ก เราต้องการสิ่งที่ดีที่สุดให้ลูก... ให้ถูกทางหรือเปล่า ลูกเราเคยรู้จักความลำบาก หรือเจ็บปวดหรือไม่ ภูมิต้านทานด้านอารมณ์ ความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น มีน้อยไปไหม... นึกย้อนไปแล้วก็ถึงได้นำสิ่งเหล่านี้มาคอยเตือนสติตนเอง.
โฆษณา