21 เม.ย. 2022 เวลา 00:40 • ประวัติศาสตร์
"การโล้ชิงช้า" พิธีตรียัมปวาย จัดครั้งสุดท้ายกลางพระนครปี 2478
เสาชิงช้าสีแดงขนาดใหญ่ด้านหน้าวัดสุทัศนเทพวรารามนับว่าเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งเมื่อนึกถึงกรุงเทพฯ แต่หลายคนอาจจะยังนึกภาพไม่ออกว่าเสาชิงช้าขนาดใหญ่นั้นถูกสร้างขึ้นมาเพื่ออะไร และทำไมถึงเรียกว่า “เสาชิงช้า” ทั้งๆ ที่ไม่มีชิงช้าแต่อย่างใด
แท้จริงแล้วเสาชิงช้าสร้างมาเพื่อประกอบพิธี “ตรียัมปวาย” ตามความเชื่อทางศาสนาพราหมณ์-ฮินดู แต่ถูกยกเลิกไปในปี พ.ศ.2478 หลังจากที่ประเทศไทยได้เปลี่ยนรูปแบบการปกครอง โดยพิธีตรียัมปวายนี้เป็นพิธีขึ้นปีใหม่ของศาสนาพราหมณ์ เนื่องจากมีความเชื่อว่าพระอิศวรจะเสด็จลงมายังโลกจึงได้จัดพิธีโล้ชิงช้าขึ้นเพื่อต้อนรับพระอิศวร โดยในโบราณจะให้ขุนนางชั้นพระยาพานทองสมมติเป็นพระอิศวรและมีขบวนแห่ไปที่เสาชิงช้า เมื่อไปถึงสถานที่ประกอบพิธีจะให้พราหมณ์ขึ้นไปโล้ชิงช้ากระดานละ 4 คน ต้องทำซ้ำ 3 กระดาน รวมแล้วจึงมีพราหมณ์ที่ต้องขึ้นไปโล้ชิงช้าทั้งหมด 12 คน
พิธีโล้ชิงช้าทำอยู่ด้วยกัน 2 วัน คือเช้าของวันขึ้น 7 ค่ำและเย็นของวันขึ้น 9 ค่ำ ในเดือนยี่หรือช่วงเดือนมกราคมของทุกปี ร่วมด้วยพิธีกรรมต่างๆ ณ เทวสถานโบสถ์พราหมณ์ซึ่งอยู่ข้างกัน ในอดีตนั้นนับได้ว่าพิธีโล้ชิงช้าเป็นหนึ่งในพิธีใหญ่ของกรุงเทพฯ ส่วนปัจจุบันใครที่อยากเห็นพิธีโล้ชิงช้าสามารถไปชมได้ที่จังหวัดนครศรีธรรมราชซึ่งมีการจัดงานประเพณีแห่นางดานและโล้ชิงช้าเป็นประจำทุกปีในช่วงสงกรานต์
.
ต้นเรื่อง : นิตยสารสารคดี ตุลาคม 2545
โฆษณา