21 เม.ย. 2022 เวลา 16:35 • หนังสือ
ทุกครั้งที่นึกถึงนิยายญี่ปุ่น ผมมักจะมีภาพของนิยายสืบสวนสอบสวนปรากฎขึ้นในห้วงของความคิดเสมอ ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะ “ภาพจำ” เกี่ยวกับนิยายญี่ปุ่นในความทรงจำของผมนั้น นิยายญี่ปุ่นที่อ่านมักเป็นนิยายสืบสวนสอบสวน โดยเฉพาะในช่วงที่นิยายประเภทนี้จากดินแดนอาทิตย์อุทัยเป็นกระแสนิยมในบ้านเรา หลังปรากฏการณ์ถล่มทลายของนิยายเรื่อง “ริง คำสาปมรณะ” ที่เขียนโดยซุสุกิ โคจิ นิยายเรื่องดังกล่าวไม่เพียงแต่ก่อให้เกิดกระแสนิยายญี่ปุ่นในไทยเท่านั้น หากแต่ทำให้สำนักพิมพ์บลิส ที่ตีพิมพ์นิยายเรื่องนี้เป็นเจ้าแรก (เมื่อปีที่ผ่านมา ริง คำสาปมรณะ ถูกนำกลับมาตีพิมพ์ใหม่) เป็นสำนักพิมพ์ที่ได้รับการกล่าวขวัญถึงและจับตามอง เป็นหนึ่งในสำนักพิมพ์ที่มีงานอันสร้างกระแสการอ่านติดต่อกันอย่างยาวนานก่อนสำนักพิมพ์จะปิดตัวไป
“ลักคุณเท่าฟ้า” ของนิชิมูระ เคียวทาโร่ แปลโดย ดนูรัตน์ ทุ่งบูรพา เป็นงานตีพิมพ์ของสำนักพิมพ์เจคลาส ซึ่งมักหยิบวรรณกรรมญี่ปุ่นรุ่นลายครามมาแปลและตีพิมพ์ให้อ่านอย่างต่อเนื่อง งานเขียนของนิชิมูระ เคียวทาโร่ก็เป็นงานเขียนที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นตำนานแห่งวรรณกรรมสืบสวนสอบสวน และเป็นงานเขียน “ชั้นครู”
ผมเลือกหยิบนิยายเล่มกลางๆ ไม่หนา ไม่บางเรื่องนี้มาอ่าน เพราะทราบข่าวการเสียชีวิตของนิชิมูระ เคียวทาโร่ เมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เลยทำให้เกิดความกระหายใคร่รู้ว่างานเขียนของนักเขียนนามอุโฆษท่านนี้จะสนุกเหมือนกับนักเขียนนิยายสืบสวนสอบสวนญี่ปุ่นคนอื่นที่เคยอ่านมาหรือไม่
ก่อนหน้านี้ งานเขียนของนิชิมูระ เคียวทาโร่เคยได้รับการตีพิมพ์ในบ้านเรามาแล้วเรื่องหนึ่ง เป็นงานของสำนักพิมพ์ไอแอมบุ๊ค (น่าจะในเครือของสยามสปอร์ตฯ ครับ) ในชื่อว่า “รถไฟ ปริศนา และฆาตกรรม” ซึ่งผมยังไม่เคยอ่าน ดังนั้น “ลักคุณเท่าฟ้า” จึงเป็นงานเขียนเรื่องแรกของนักเขียนในตำนานท่านนี้ที่ผมมีโอกาสได้อ่าน
“ลักคุณเท่าฟ้า” เล่าเรื่องเหตุการณ์สะเทือนขวัญและแปลกประหลาด เมื่อมีสายปริศนาต่อเข้าไปที่ทำเนียบนายกรัฐมนตรี หมายใจจะขอคุยกับ ฯพณฯ ทว่า ผู้ที่รับสายคือเลขานุการ ซึ่งแจ้งผู้ที่โทรฯ เข้ามา และแนะนำตัวว่าเป็นกลุ่ม บลูไลอ้อนส์ ที่มีจุดมุ่งหมายในการลักพาตัวคนญี่ปุ่นทั้งประเทศ และหากนายกฯ ไม่ปรารถนาให้เรื่องเลวร้ายนี้เกิดขึ้นจะต้องยอมจ่ายเงินค่าไถ่แต่โดยดี
สายเรียกเข้าที่มีลักษณะเหมือน Prank Call และคนที่โทรฯ เข้ามาซึ่งไม่แตกต่างไปจากคนโรคจิตทำให้การเรียกร้องถูกเพิกเฉยไปโดยปริยาย แต่ใครจะรู้ว่าบลูไลอ้อนส์ มีจริงและการลักพาตัวโดยเอาชีวิตเป็นประกันก็เป็นเรื่องจริง เมื่อปรากฏว่าวัยรุ่นหนุ่มสาวสองคนถูกวางยาในร้านอาหารใหญ่ใจกลางเมืองท่ามกลางสายตาของผู้เห็นเหตุการณ์มากมาย ตามด้วยการลอบยิงพนักงานอู่ซ่อมรถ และวางระเบิดเครื่องบินที่มีคนตายเป็นเบือ
รัฐบาลเริ่มระส่ำ และตำรวจที่ต้องรับมือกับการตามล่าคนร้ายก็หัวหมุน ซามนจิ ซูซุมุ และภรรยาที่เปิดบริษัทนักสืบแต่ยังไม่มีงาน และบังเอิญจับพลัดจับผลูเป็นพยานที่เห็นเหตุการณ์ขณะวัยรุ่นหนุ่มสาวล้มลงไปนอนน้ำลายฟูมปากจึงก้าวเข้ามาร่วมสืบสวนเพื่อตามหาร่องรอยของกลุ่มคนที่เรียกตัวเองว่าบลูไลอ้อนส์ และช่วยชีวิตตัวประกัน 120 ล้านคนที่คนร้ายระบุว่า “ลักพาตัว” ไว้หมดแล้ว
งานเขียนของนิชิมูระ เคียวทาโร่มีลักษณะเป็นงานเขียนแนวสืบสวนสอบสวนแบบเก่า (Old School) ที่เน้นไปที่กระบวนการ และขั้นตอน (Process and Procudure) ในการตามจับตัวคนร้าย ถามว่าเชยไหม ก็ตอบได้แบบอ้อมๆ แอ้มๆ หน่อยว่าเชยอยู่เหมือนกัน แต่เมื่อมองดูรอยทางของงานอันได้รับการตีพิมพ์ในช่วงปี ’70 แล้ว ก็คิดว่าในสมัยนั้น การบอกเล่าขั้นตอนการหาตัวคนร้าย น่าจะเป็นเรื่องใหม่ และสร้างความตื่นตาตื่นใจให้คนอ่านได้พอสมควร
ดังนั้น สิ่งที่ผมคิดว่าทำให้นิยายเรื่องนี้โดดเด่น อ่านสนุก (แม้จะไม่ถึงกับอ่านเพลินด้วยความตะขิดตะขวงใจในความชืดเชยของการบรรยายต่างๆ) ก็คือโครงเรื่องที่เล่นเอาเถิดเจ้าล่อกับคดี และอาศัยเส้นเรื่องสองเส้นวิ่งคู่ขนานกันไป ทั้งเส้นที่เป็นการตามจับคนร้ายของตำรวจ และการสืบสวนหาตัวผู้ต้องสงสัยที่ดำเนินการโดยนักสืบ การแยกเส้นเรื่องออกเป็นสองเส้นและค่อยๆ ขมวดมันเข้าหากัน ในขณะที่เหตุการณ์ระทึกขวัญอันเป็นหมุดหมายในเรื่องก็ทยอยเกิดขึ้นเป็นระยะส่งผลให้คนอ่านอยากรู้ว่าคนไหนคือคนร้ายกันแน่ได้ไม่ยาก
อีกประเด็นที่ผมชอบมากและคิดว่านิชิมูระ เคียวทาโร่ เขียนได้ดีทีเดียวคือการเสียดสีการทำงานของรัฐบาล อีกทั้งยังแทรกสอดประเด็นเรื่องของการที่รัฐมีหน้าที่ในการดูแล ปกป้อง คุ้มครองประชาชน เข้าไปในเรื่องได้อย่างมีสีสัน แยบยล และมีอะไรให้คิดสะท้อนมองเทียบเคียงกับการทำงานของรัฐในบ้านเราได้อย่างน่าประหลาดใจ อ่านๆ ไป แล้วยังแอบคิดไปว่าเรื่องราวแบบนี้ หากเกิดขึ้นในบ้านเราขณะนี้ในรัฐบาลชุดนี้ก็อาจมีความลงเอยใกล้เคียงกับเหตุการณ์ที่เกิดในเรื่องก็ได้
สำหรับผม หากมองข้ามความเฉิ่มเชยบางประการในนิยายเรื่องนี้ไปได้ ก็ถือว่า “ลักคุณเท่าฟ้า” เป็นนิยายที่อ่านสนุก น่าสนใจ และมีประเด็นให้นำไปขบคิดต่อกันได้เพลินๆ ครับ
พร้อมกันนี้ ผมขอแสดงคารวะต่อนิชิมูระ เคียวทาโร่ และขอให้วิญญาณของท่านไปสู่สุคติครับ
#ReadingRoom #ลักคุณเท่าฟ้า #NichimuraKyotaro #นิชิมูระเคียวทาโร่
โฆษณา