22 เม.ย. 2022 เวลา 09:43 • ประวัติศาสตร์
🍵 แคทเธอรีนแห่งบรากันซา ราชินีผู้มีสินสอดเป็น “ชา” ที่ทำให้ชาวอังกฤษติดงอมแงม
ชาเป็นเครื่องดื่มคู่กับคนอังกฤษ การดื่มชาเป็นสิ่งที่ถูกมองว่า “very British-เป็นอังกฤษมาก ๆ” แต่ข้อเท็จจริงมีอยู่ว่าชาไม่ใช่พืชท้องถิ่นของอังกฤษ และคนที่ทำให้ชาเป็นเครื่องดื่มที่เป็นที่นิยมในอังกฤษก็ไม่ใช่คนอังกฤษเช่นกัน
ต้นกำเนิดของชาอยู่ที่จีน และบุคคลที่เป็นผู้นำเทรนด์หรือธรรมเนียมนิยมในการดื่มชามาสู่อังกฤษเป็นคนโปรตุเกส คนผู้นั้นคือ แคทเธอรีนแห่งบรากันซา (Catherine of Braganza) เจ้าหญิงแห่งโปรตุเกส ผู้เดินทางมายังอังกฤษเพื่อเป็นเจ้าสาวของกษัตริย์แห่งอังกฤษคือ ชาร์ลส์ที่ 2 (Charles II) โดยนำสินสอดมูลค่ามหาศาลมาด้วย ซึ่งหนึ่งในนั้นมี “ชา” ที่นำพาความเปลี่ยนแปลงมหาศาลมาสู่ประวัติศาสตร์ของประเทศอังกฤษและของโลก
แคทเธอรีนแห่งบรากันซาสร้างธรรมเนียมนิยมการดื่มชาให้แก่คนอังกฤษ และผลพวงที่ตามมาของ “โรคบ้าชา” ของคนอังกฤษ คือ ชากลายเป็นสิ่งที่ขับเคลื่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรม ขับเคลื่อนลัทธิจักรวรรดินิยมอังกฤษที่ยึดดินแดนต่าง ๆ มาเป็นอาณานิคม และเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดสงครามระหว่างอังกฤษกับจีนที่ยังสร้างรอยแผลให้คนจีนจดจำความอัปยศครั้งนั้นซึ่งยังส่งผลถึงปัจจุบันในกรณีปัญหาเรื่องฮ่องกง
1
ในวันนี้จะมาเล่าถึงเฉพาะส่วนของผู้ที่ริเริ่มนำธรรมเนียมนิยมในการดื่มชามาสู่ชาวอังกฤษให้อ่านกัน
แคทเธอรีนแห่งบรากันซา (Wikipedia)
🍵 เจ้าสาวจากโปรตุเกส
เดือนพฤษภาคม ปี 1662 แคทเธอรีนแห่งบรากันซา พระราชธิดาแห่งกษัตริย์จอห์นที่ 4 (King John IV) แห่งโปรตุเกส ได้เดินทางมาถึงอังกฤษเพื่อมาอภิเษกสมรสกับกษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 2
สิ่งที่เจ้าหญิงแคทเธอรีนแห่งบรากันซานำมาด้วยมีมูลค่ามหาศาลและมีความหมายต่ออังกฤษมาก นั่นคือสินสอดของเจ้าสาวที่จะตกเป็นของเจ้าบ่าวที่เป็นกษัตริย์แห่งอังกฤษ นั่นคือ เงิน ทรัพย์สมบัติมีค่า สินค้าที่เป็นเครื่องเทศ และดินแดนที่อยู่ในความครอบครองของโปรตุเกสคือท่าเรือแทนเจียร์ส (Tangiers-ที่โมร็อคโค) และบอมเบย์ (Bombay-ที่อินเดีย) ที่สร้างรายได้งาม ทั้งหมดนี้จะตกเป็นของอังกฤษ ส่วนเจ้าสาวก็จะได้สิ่งแลกเปลี่ยนเป็นราชินีแห่งอังกฤษ สก็อตแลนด์ และไอร์แลนด์
แน่นอนว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ได้มาด้วยความบังเอิญ การอภิเษกสมรสของราชวงศ์ในยุโรปเป็นเรื่องของการเมืองและผลประโยชน์ของชาติ และในกรณีนี้ก็เช่นเดียวกันที่การอภิเษกได้ผ่านการเจรจาตกลงกันระหว่างฝ่ายอังกฤษกับโปรตุเกสมาแล้ว และมีการลงนามในสนธิสัญญาเป็นที่เรียบร้อยก่อนที่เจ้าสาวจะถูกส่งตัวมา
จากข้อตกลงนี้อังกฤษนั้นได้ทั้งดินแดนที่กล่าวไปเบื้องต้น สินสอดที่เป็นเงินจำนวน 2 ล้านเหรียญโปรตุเกส สินค้าฟุ่มเฟือยที่ถูกบรรทุกมาหลายลำเรือทั้งส่วนที่มอบให้เป็นของขวัญและส่วนที่มอบให้เพื่อให้อังกฤษนำมาขายแปรเป็นเงินเพื่อจะได้นำมาใช้หนี้ และสิทธิพิเศษทางการค้าในบราซิลและดินแดนอินเดียตะวันออกของโปรตุเกส ส่วนโปรตุเกสจะได้รับการสนับสนุนทางการทหารและทางกองทัพเรือจากอังกฤษเพื่อต่อสู้เพื่อเอกราชจากคู่อริตัวฉกาจคือสเปนและสู้เอาดินแดนต่าง ๆ คืนมาจากดัตช์ โดยแคทเธอรีนแห่งบรากันซาจะยังได้รับอิสระในการนับถือศาสนาคริสต์นิกายเดิมอยู่
หลังจากที่โอลิเวอร์ ครอมเวลล์ (Oliver Cromwell) ถูกโค่นล้ม ระบอบกษัตริย์ของอังกฤษถูกฟื้นฟูขึ้นมาอีกครั้ง กษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 2 จึงได้กลับมาครองบัลลังก์ต่อจากกษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 1 แต่พระองค์ต้องทรงแบกรับหนี้สินจากรัฐบาลสาธารณรัฐที่ก่อขึ้นก่อนหน้านี้ด้วย ซึ่งทางออกของพระองค์คือการอภิเษกกับเจ้าหญิงต่างชาติที่มั่งคั่ง และเจ้าหญิงจากโปรตุเกสคือตัวเลือกที่ดีที่สุดในเวลานั้น
เมื่อเจ้าหญิงแคทเธอรีนแห่งบรากันซาเดินทางมาถึงอังกฤษ ในบรรดาข้าวของส่วนพระองค์ที่เป็นส่วนหนึ่งของสินสอดที่ทรงนำมาด้วยนั้นมีหีบที่บรรจุใบชาถูกนำมาด้วย (และแน่นอนว่ารวมไปถึงอุปกรณ์ที่ใช้ในการดื่มชาซึ่งถือว่าเป็นสินค้าหรูหราหรือฟุ่มเฟือยมาก ๆ) มีเรื่องเล่าสนุก ๆ (ที่ไม่ได้รับการยืนยันว่าเป็นเรื่องจริง) กล่าวขานกันว่าลังที่บรรจุใบชานั้นเขียนไว้ว่า “Transporte de Ervas Aromaticas” หรือแปลเป็นภาษาอังกฤษว่า “Transport of Aromatic Herbs” ซึ่งต่อมาถูกเรียกย่อ ๆ ว่า T.E.A.
1
และมีเรื่องเล่าอีกว่า พอเมื่อเจ้าหญิงย่างเท้าลงบนผืนแผ่นดินอังกฤษเป็นครั้งแรกพระองค์ก็เรียกหาชาสักแก้วทันทีเพื่อระงับท้องไส้และสติอารมณ์ที่ปั่นป่วนจากการนั่งเรือฝ่าพายุมายาวนาน แต่เนื่องจากชายังเป็นสิ่งที่หายากในอังกฤษตอนนั้น พระองค์จึงได้รับการถวายเป็นเอลแทน
ในโปรตุเกส ชาเป็นเครื่องดื่มที่เป็นที่นิยมในหมู่ชนชั้นสูงมานานแล้ว เพราะโปรตุเกสค้าขายโดยตรงกับจีนมาตั้งแต่ปี 1537 ผ่านอาณานิคมมาเก๊าของตนเอง ดังนั้นชาจึงเป็นหนึ่งในสินค้าจากโลกตะวันออกที่ถูกนำมาเผยแพร่ยังโปรตุเกส
กรรมวิธีการดื่มชาที่ชนชั้นสูงทำกันก็ไม่ใช่สิ่งที่คิดค้นขึ้นเอง ชนชั้นสูงที่ดื่มชาได้เลียนแบบวิธีการดื่มชาทั้งหมดมาจากชาวจีน อุปกรณ์เครื่องเคลือบไม่ว่าจะเป็น ถ้วยชา จานรองถ้วยชา กาน้ำชา จานใส่น้ำตาล ซึ่งใช้ในการดื่มชาทั้งหมดถูกนำเข้ามาจากจีน โปรตุเกสเป็นดินแดนทางผ่านที่นำเข้าเครื่องเคลือบจากจีนมาเผยแพร่ยังดินแดนอื่น ๆ ในยุโรป
การดื่มชาจึงกลายเป็นสิ่งที่หรูหราจำกัดอยู่เฉพาะในราชสำนักและแวดวงชั้นสูงเท่านั้น เจ้าหญิงแคทเธอรีนแห่งบรากันซาจึงเติบโตขึ้นมาท่ามกลางสภาพแวดล้อมเช่นนี้ และชายังเป็นที่นิยมในฮอลแลนด์เช่นกันเพราะชาวดัตช์ก็ได้ทำการค้าขายกับโลกตะวันออกเช่นกัน
อาณานิคมของจักรวรรดิโปรตุเกสในอดีต (World History Encyclopedia)
🍵 ราชินีอังกฤษผู้อาภัพ
ในทางการเมือง ราชินีแคทเธอรีนแห่งบรากันซาไม่เป็นที่นิยมในอังกฤษนัก เพราะพระนางเป็นคาทอลิกในประเทศที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นโปรเตสแตนท์ การเป็นราชินีแห่งอังกฤษ สก็อตแลนด์ และไอร์แลนด์ ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย พระนางถูกกล่าวหาว่าเป็นกบฏพยายามลอบวางยากษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 2 และจะถูกนำตัวไปไต่สวนถ้ากษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 2 ไม่ทรงมาแทรกแซงระงับคำกล่าวหานี้ด้วยพระองค์เองเสียก่อน
ในทางการมุ้ง แม้พระนางจะได้รับการชื่นชมว่ามีคุณลักษณะที่ดีงามแถมยังเป็นที่ชื่นชอบจากพระมารดาของกษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 2 ว่าเป็นเสมือนดั่งนักบุญ เพราะพระองค์ถูกเลี้ยงดูขึ้นมาดั่งไข่ในหินในสำนักนางชีโดยพระมารดา พระนางจึงกลายเป็นเจ้าหญิงคาทอลิกที่เคร่งศาสนามาก แต่พระนางทรงห่างไกลจากรสนิยมของพระสวามีมากนัก ราชสำนักอังกฤษในตอนนั้นเต็มไปด้วยความรื่นเริงรักความบันเทิงและเต็มไปด้วยเรื่องคาวโลกีย์ และประชาชนเองก็มิได้ต่อต้าน อาจจะเป็นเพราะความอัดอั้นในช่วงเคร่งศาสนายุคครอมเวลล์ครองเมือง
กษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 2 นั้นขึ้นชื่อในเรื่องมักมากในกามารมณ์และมีสนมกำนัลหรือเมียน้อยมากมายนับไม่ถ้วน แค่อภิเษกสมรสกันได้ไม่กี่อาทิตย์กษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 2 ก็กลับไปคั่วกับเหล่าสนมกำนัลหรือเมียน้อยของพระองค์อย่างเปิดเผย ซึ่งเรื่องนี้ได้ทำให้พระนางอับอายอยู่มิใช่น้อย แต่ข้อดีของกษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 2 คือพระองค์จะมิให้เหล่าสนมกำนัลล้ำเส้นและต้องปฏิบัติต่อองค์ราชินีด้วยความเคารพ
ราชินีแคทเธอรีนแห่งบรากันซาทรงตั้งพระครรภ์ 3 ครั้ง และแท้งทั้ง 3 ครั้ง พระนางไม่สามารถผลิตรัชทายาทให้แก่อังกฤษได้ แต่กษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 2 นั้นกลับมีพระโอรสและพระธิดากับบรรดานางสนมมากมายนับไม่ถ้วน และพระองค์ทรงรับเป็นพระโอรสและพระธิดาของพระองค์อย่างเป็นทางการด้วย ซึ่งเหล่าที่ปรึกษาในราชสำนักอังกฤษเมื่อเห็นวี่แววว่าองค์ราชินีจะไม่สามารถผลิตรัชทายาทให้กับราชบัลลังก์อังกฤษได้จึงกระตุ้นให้กษัตริย์ของตนหย่ากับราชินี เพราะหวังว่าจะได้ราชินีใหม่ที่เป็นโปรเตสแตนท์และสามารถผลิตรัชทายาทได้ แต่กษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 2 ทรงปฏิเสธและยืนยันที่จะไม่หย่า ซึ่งราชินีแคทเธอรีนแห่งบรากันซาทรงตอบแทนด้วยความซื่อสัตย์และจงรักภักดีต่อพระสวามี (แม้พระสวามีจะไม่ซื่อสัตย์ต่อพระนางก็ตาม)
1
แคทเธอรีนแห่งบรากันซากับกษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 2 (The House of Portugal)
แคทเธอรีนแห่งบรากันซากับกษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 2 (Wikimedia Commons)
🍵 ราชินีผู้เผยแพร่วัฒนธรรมการดื่มชา
อนึ่ง ชาถูกนำมาเผยแพร่ที่อังกฤษก่อนที่แคทเธอรีนแห่งบรากันซาจะมาเป็นราชินีแล้ว แต่ชาในอังกฤษถูกใช้บริโภคเป็นยาโดยเชื่อกันว่าจะช่วยบำรุงกำลังวังชาให้ร่างกายแข็งแรงและช่วยให้ม้ามไม่อุดตัน และไม่ได้เป็นที่นิยมดื่มกันอย่างแพร่หลาย
เมื่อแคทเธอรีนแห่งบรากันซามาเป็นราชินีแห่งอังกฤษ พระนางก็ดำเนินกิจวัตรประจำวันแบบที่เคยทำเหมือนเมื่อครั้งเคยอยู่ที่โปรตุเกส คือทรงจิบชาเป็นประจำทุกวันเพื่อให้พระองค์กระปรี้กระเปร่า พระองค์ไม่นิยมดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เพราะเชื่อว่ามันจะทำให้มีอารมณ์ร้อนจนติดเป็นนิสัยและทำให้หัวสมองมึนงงทั้งเช้า เที่ยง และเย็น
แน่นอนว่าการเป็นราชินีย่อมเป็นจุดศูนย์รวมของความสนใจของทุกคน ทุกอย่างที่ราชินีจากโปรตุเกสใช้ตั้งแต่เครื่องแต่งกายยันเครื่องเรือนเป็นที่กล่าวขวัญถึงในราชสำนัก รวมถึงสิ่งที่พระองค์เสวยเข้าไปด้วย ราชสำนักอังกฤษต่างตะลึงและหลงใหลในความงดงามของเครื่องเคลือบที่ใช้ในการดื่มชาจากจีน
เมื่อองค์ราชินีจิบชาเป็นประจำ จึงกระตุ้นให้บรรดาข้าราชสำนักอังกฤษทำตาม สตรีในราชสำนักพากันแห่แหนเลียนแบบการจิบชาเหมือนราชินีและกลายเป็นข้าราชบริพารประจำพระองค์ แคทเธอรีนแห่งบรากันซาจึงได้ทำให้การดื่มชากลายเป็นที่นิยมในฐานะเครื่องดื่มทางสังคมมากกว่าที่จะเป็นยาบำรุงเหมือนเช่นที่เคยเป็นในอังกฤษ เพราะเมื่อราชินีทำอะไรคนก็อยากจะทำตาม
ในชั้นแรกการดื่มชาจึงจำกัดอยู่เฉพาะในราชสำนักเท่านั้น จากนั้นก็เผยแพร่ไปสู่ชนชั้นสูงพวกขุนน้ำขุนนาง และก็เผยแพร่ไปยังคนร่ำรวย โดยเฉพาะในหมู่สตรี เพราะชามีราคาแพงมาก มันจึงเป็นเครื่องดื่มเฉพาะสำหรับชนชั้นสูง สาเหตุที่ชามีราคาแพงในอังกฤษเพราะตอนนั้นอังกฤษยังไม่ได้ทำการค้ากับจีนโดยตรง ชาจากอินเดียก็ยังไม่มี และชาถูกนำมาขายในอังกฤษโดยพวกดัชต์ซึ่งขายชาในราคาสูงมาก แถมภาษีชาก็สูงมากอีกเช่นกัน อีกทั้งอุปกรณ์ที่ใช้ในการดื่มชาที่เป็นเครื่องเคลือบจากจีนก็มีราคาสูงมากเช่นกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่คนธรรมดาทั่วไปเอื้อมไม่ถึง
สินสอดจากแคทเธอรีนแห่งบรากันซาที่กษัตริย์อังกฤษได้รับ คือ เมืองท่าบอมเบย์ (ปัจจุบันเรียกว่ามุมไบ) ซึ่งกลายเป็นจุดสำคัญในการค้าชาของอังกฤษ เพราะกษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 2 ให้สิทธิ์แก่บรรษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษ (East India Company) ในการผูกขาดการค้าและให้สิทธิ์ในการเช่าเมืองท่าแห่งนี้ เหตุที่พระองค์ทรงโปรดบรรษัทนี้เพราะบรรษัทนี้ได้ทุ่มของบรรณาการมาถวายแก่พระองค์เป็นจำนวนมหาศาลนั่นเอง และมุมไบจึงกลายเป็นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่ในตะวันออกไกลของบรรษัทอินเดียตะวันออก
ชาถูกนำมาจากจีนและมาขายต่อยังเมืองท่าแห่งนี้ จึงทำให้ชากลายเป็นสินค้าที่เริ่มมีจำนวนมากขึ้น พอชากลายเป็นสินค้าที่มีปริมาณมากขึ้นราคาจึงเริ่มถูกลง และชาวอังกฤษก็เริ่มเข้าถึงชามากขึ้น ยิ่งเมื่อบรรษัทอินเดียตะวันออกเปิดเส้นทางการค้าโดยตรงกับมาเก๊ายิ่งทำให้เข้าถึงชาได้มากขึ้น ในเวลาต่อมาชากลายเป็นสินค้าที่มีราคาถูกลง คนอังกฤษทั่วไปสามารถเข้าถึงชาได้ ความนิยมในการดื่มชาจึงแพร่ขยายโดยทั่วไป
เมื่อกษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 2 สิ้นพระชนม์ แคทเธอรีนแห่งบรากันซาจึงต้องเสด็จกลับโปรตุเกส แต่พระองค์ได้ทิ้งมรดกแห่งความนิยมในการดื่มชาไว้ให้แก่คนอังกฤษ
ภาพวาดแสดงคนงานขนถ่ายชาลงจากเรือขนชาของบรรษัทอินเดียตะวันออกที่ท่าเรือในลอนดอนช่วงกลางศตวรรษที่ 19 (Royal Museums Greenwich)
ภาพวาดแสดงความคลั่งชาของคนอังกฤษ ชื่อภาพ The Tea Phrensy โดย M Smith ปี 1785 (pegsandtails.wordpress.com)

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา