22 เม.ย. 2022 เวลา 05:00 • การเมือง
ชัชชาติกับศิลปะ: คุยกับ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เรื่องมุมมองทางศิลปะ และศิลปะกับความเป็นเมือง
2
ในฤดูกาลแห่งการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นห้วงเวลาที่ประเด็นเรื่องความเป็น 'เมือง' ถูกหยิบยกมาถึงอย่างกว้างขวางอีกครั้ง เราได้พบเห็นแนวคิดที่น่าสนใจจากทั้งผู้สมัครผู้ว่าฯ หลายคนในประเด็นต่างๆ รวมทั้งภาคเอกชนเองก็มีการจัดเวทีพูดคุยกันหลายเวที
1
สำหรับ happening ที่เป็นสื่อมวลชนด้านศิลปวัฒนธรรมซึ่งได้ติดตามความเติบโตในด้านนี้ของกรุงเทพฯ มาอย่างยาวนาน เราสนใจเป็นอย่างยิ่งว่าผู้สมัครผู้ว่าฯ ผู้อาสามาพัฒนาเมืองหลวงของประเทศไทยมีความรู้รอบ มีความเห็น และความผูกพันกับศิลปะ ซอฟพาวเวอร์ และแวดวงครีเอทีฟแค่ไหน อย่างไร ตลอดจนวิสัยทัศน์ของผู้สมัครผู้ว่าฯ แต่ละท่านในเรื่องนี้จะเป็นอย่างไรบ้าง ไม่ใช่เพียงเพราะเป็นแนวทางในการทำงานในอนาคตของแต่ละท่านเท่านั้น แต่เพราะเราคิดว่าความเห็นและวิสัยทัศน์ของผู้มีความสามารถที่อาสามาดูแลเมืองใหญ่แห่งนี้ ไม่ว่าเขาจะได้รับเลือกตั้งหรือไม่ ก็ย่อมน่ารับฟังแน่นอน และไม่มากก็น้อย นี่คือเรื่องราวที่เป็นประโยชน์กับแวดวงสร้างสรรค์ของบ้านเรา
1
ทีม happening ขอเริ่มต้นบทซีรีส์สัมภาษณ์ด้วยการพูดคุยกับผู้สมัครผู้ว่าฯ ท่านแรกที่ตอบรับนัดของเรา คือรองศาสตราจารย์ ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีตผู้ช่วยอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอดีตรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคม ที่เปิดตัวก่อนใครว่าตั้งใจจะสมัครลงเลือกตั้งในตำแหน่งพ่อเมืองกรุงเทพฯ
อาจารย์ชัชชาตินั่งคุยกับเราในร้านกาแฟในห้างสรรพสินค้าใจกลางเมือง ด้วยท่าทีเป็นกันเอง และด้วยพลังที่เต็มเปี่ยม
2
ต่อไปนี้คือคำถามและคำตอบในประเด็นที่เราอยากรู้ และอยากให้คนรักศิลปะได้รับรู้ จากปากคำของชายวัย 55 ปีที่บางคนเรียกเขาว่า 'บุรุษที่แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี'
คุณคิดว่า ศิลปะสำคัญอย่างไร?
มันก็เป็นสิ่งที่จรรโลงชีวิตนะ คืออย่างผม ผมเป็นคนชอบวาดรูปตั้งแต่เด็กก็เลยเอ็นจอย เวลาเราเห็นพวกงานอาร์ต แต่ผมก็ไม่ได้เป็นพวกผู้เชี่ยวชาญ แต่พอได้เห็นงานอาร์ตที่สวยๆ อย่างผมชอบวิ่งพวก city run พอเห็นเป็นสตรีตอาร์ตสวยๆ ก็เข้าไปดู ผมว่ามันเป็น creativity ที่สำคัญ เพราะมันแสดงมิติของเมืองด้วยนะ เมืองที่มันมีอาร์ตมันแสดงถึงความก้าวหน้าและความน่าอยู่ในระดับหนึ่ง เพราะว่าคนที่มีเวลามา appreciate สิ่งที่มันไม่ใช่แค่ทำมาหากินหรืออะไรอย่างนี้ ผมว่าอันแรกคือมันเป็นสิ่งที่จรรโลงใจ ซึ่งผมว่าดี ในฐานะวิศวะเองเราก็อาจจะไม่ได้เชี่ยวชาญมาก แต่เราก็เอ็นจอยกับการดูมันน่ะ ผมก็ว่านี่เป็นเรื่องหนึ่ง
2
แล้วนอกจากแง่ของจรรโลงใจแล้ว งานอาร์ตมันก็มีคุณค่าทางเศรษฐกิจ (economy value) ที่สูงมากนะ แล้วผมว่าคำว่าอาร์ตไม่ได้รวมเฉพาะแค่รูปภาพ มันรวมถึงดนตรี หนัง อะไรด้วย แล้วเป็นเศรษฐกิจที่ยิ่งใหญ่มาก ตรงนี้มันคือส่วนหนึ่งของ เศรษฐกิจสร้างสรรค์ (ceative economy) นะ คือมันสร้างจากความที่ไม่มีอะไรขึ้นมา ซึ่งผมว่าสิ่งนี้คือตัวที่จะขับเคลื่อนเมืองในอนาคตเลย ผมว่าเรื่องครีเอทีฟอีโคโนมี ซึ่งอาร์ตก็เป็นส่วนหนึ่ง มันก็เป็นตัวสำคัญที่จะต้องให้ความสำคัญเราจะเพิกเฉยไม่ได้แล้วแหละ ทั้งในแง่ของความจรรโลงใจ ทั้งในแง่ความจำเป็นในแง่ของเศรษฐกิจ
ผมเคยอ่านหนังสือเล่มหนึ่งของ โจอิ อิโต (Joi Ito) ที่เขาอยู่ MIT Media Lab เขาพูดถึงงานในอนาคต (หนังสือ Whiplash: How to Survive Our Faster Future) เขาบอกเด็กสมัยผมเนี่ย เราจะวิ่งหางาน แต่เด็กสมัยใหม่สร้างงานเองแล้ว พอเด็กมันครีเอตงานเอง เพราะมันคือครีเอทีฟมันคืออาร์ต ฉะนั้นเราต้องมีระบบนิเวศ (ecosystem) ที่เหมาะที่จะให้เด็กรุ่นใหม่เขาสามารถเป็นดอกไม้ที่ผลิบานได้ คือรัฐต้องใส่ใจตรงนี้ให้มากขึ้น
1
คุณมองความเติบโตทางด้านศิลปวัฒนธรรมของกรุงเทพฯ อย่างไรบ้าง?
ช่วงหลังก็เห็นว่ามันมีสิ่งที่จะแทรกซึมอยู่ตามมุมต่างๆ เยอะขึ้น ทั้งจะโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ เช่น เราจะเห็นสเปซต่างๆ ที่มันมีงานพวกนี้เยอะขึ้น หรืออย่างผมไปวิ่งก็จะเห็นเลย จากริมคลองแสนแสบก็จะเห็นกราฟิตี้ที่มีขึ้นมาเยอะ แล้วผมชอบไปกินร้านกาแฟ ร้านหนึ่งแถวปรีดี พนมยงค์ 26 อะ มันก็จะมีงานอาร์ตมาขายอะไรเงี้ย แล้วผมว่าจริงๆ แล้วมันก็มีออร์แกนิกที่มันเริ่มเติบโตขึ้น คนเริ่ม appreciate เรื่องพวกนี้มากขึ้น
1
แล้วกรุงเทพฯ มีพื้นฐานด้านศิลปะที่เพียงพอหรือยัง?
ผมว่าไม่มีเลย ผมว่ามันมีอยู่ที่แค่ในส่วนกลางเป็นหลักนะ โอเค เรามีหอศิลป์กรุงเทพฯ ที่ใหญ่นะ แต่ว่าในตามเขตตามอะไรอย่างนี้เราไม่มี เราไม่มี public space ที่มีคุณภาพมากพอ ซึ่งผมว่าเป็นหัวใจของ creativity เลย เพราะว่าคุณเกิด creative ได้ คุณต้องมีคนมาเจอกันน่ะ มาปะทะกัน แล้วแลกเปลี่ยนความเห็น มันถึงจะเกิด creativity ได้ แต่ว่าถ้าถามถึง public space ของเราเหรอ เราก็ไปเดินห้างน่ะ มันก็เป็นปัจเจกอะ มันไม่ได้ไปเจอคนรุ่นใหม่
1
วันก่อนผมไปพูดที่มิวเซียมสยาม ซึ่งก็เป็นพื้นที่ที่น่ารักดีเนอะ ส่วนใหญ่คนที่มาฟังก็เป็นเพื่อนๆ กัน แล้วผมก็ไปเจอเด็กสามคนมาถ่ายรูปกับผม เป็นเด็กผู้หญิงน่ะ ดูเขาสนิทกัน ก็ถามเขาว่า 'เป็นเพื่อนโรงเรียนเดียวกันเหรอ' เขาก็บอกว่า ไม่ใช่ เขามาเจอกันที่มิวเซียมสยาม คือเขาเป็นเด็กที่ appreciate งาน มาดูมิวเซียม คือมี value มีการ share value แล้วมาเจอกันใน public space ที่มีคุณภาพ ก็เกิดปฏิสัมพันธ์ เกิดเป็นเพื่อน เกิดแลกเปลี่ยนความเห็น เกิด creativity ขึ้นได้ แต่ว่าเมืองไทยยังขาดตรงนี้อีกนะ
คือเรามักจะมีหอศิลป์ แล้วถามว่าใครจะมาหอศิลป์ได้ ก็คือคนที่อยู่แถวนี้หรือทำงานแถวนี้ใช่ไหม แต่ว่าถามว่าคนที่อยู่หนองจอก มีนบุรี ลาดกระบัง หรือว่าฝั่งธน มันก็มาไม่ง่ายนัก ผมว่าอันนี้สำคัญ เราต้องมี public space ที่มีคุณภาพ กระจายอยู่ทั่วทั้งกรุงเทพฯ แล้วก็อาจจะไม่ใช่แค่หอศิลป์นะ วันหนึ่งอาจจะเป็นหอศิลป์ วันหนึ่งอาจจะเป็นที่แสดงดนตรี วันหนึ่งอาจจะเป็น co-working space อะไรอย่างเงี้ย ส่วนห้องสมุดก็อาจจะมีแฝงอยู่ จะเป็น e-books ก็ได้ อะไรแบบนี้
1
มันต้องเป็น multi purpose public space ให้มีเด็กมาเปิดหมวกเล่นดนตรีในเขตนี้ได้ไหม หรือว่าอาจจะมีจัดเสวนาปัญหาของเมืองอะไรแบบนี้ ผมว่ามันน่าจะทำแบบนี้ให้มันกระจายอยู่ทั่วไป เป็น multi purpose แล้วงานอาร์ตก็จะอยู่ในส่วนตรงนี้ด้วยครับ
คุณได้วางนโยบายเชิงศิลปวัฒนธรรมของคุณไว้อย่างไรบ้าง?
คือนโยบายผมเนี่ย ก็จริงๆ แล้วผมไม่ค่อยรู้เรื่องอะนะ ต้องพูดตรงๆ เราเป็นวิศวกร ซึ่งวิศวกรเนี่ยมันก็ไม่ได้รู้เรื่องอาร์ตมาก ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญ ดังนั้นสิ่งที่ผมทำขั้นแรกก็คือผมก็มีผู้เชี่ยวชาญมาประมาณ 10 คน ที่เราเชิญมา แต่จะไม่ได้บอกชื่อเพราะบางคนอาจจะไม่อยากให้บอกชื่อ ก็มีทั้งนักทำดนตรี ทำหนัง เป็นคนที่มีมิวเซียมบ้าง ก็พยายามให้ตกผลึกออกมา จริงๆ แล้วก็ผมว่าอันแรกก็อย่างที่บอกคือ อยากจะให้มี public space ที่มีคุณภาพกระจายอยู่ทั่วไป
1
อันที่สองก็คืออยากจะให้มีนิทรรศการที่หมุนเวียนน่ะ สมมติว่าเรามี นิทรรศการศิลปะที่หอศิลป์กรุงเทพฯ เราควรจะเอานิทรรศการไปหมุนที่อื่นด้วย ต้องมี exhibition เคลื่อนที่ อาจจะเป็นรถหรือไม่ก็ไปแสดงที่ที่เราทำไว้แต่ละเขต เพื่อให้มันสามารถจะกระจายแล้วคนมา appreciate มันได้เยอะขึ้น ผมว่าอันนี้ก็จะเป็นตัวหนึ่งที่ทำให้คนเข้าถึงอาร์ตได้มากขึ้น แล้วบางที่ไม่ใข่มากองอยู่แค่หอศิลป์อย่างเดียว ไหนๆ มาทั้งทีแล้วเนี่ย คุณก็จัดแบบหมุนเวียน หรือว่าบางคนอาจจะทำเป็นรถ นโยบายคืออยากจะให้งานอาร์ต งาน exhibition ต่างๆ เนี่ยหมุนเวียนลงมาในพื้นที่ด้วย
อันที่สาม ที่อยากจะมีคือ อยากจะให้มีศิลปะกลางแจ้งให้เยอะขึ้น ให้มันกระจายอยู่เป็นส่วนหนึ่งของเมืองเลย แล้วก็หมุนเวียนไป อาจจะคล้ายกับงานอาร์ตเบียนนาเล่ (Art Biennale) ที่ทำกันอยู่
แล้วผมคิดว่ารัฐอย่าไปทำเองน่ะ คือรัฐต้องหาแนวร่วมที่มีความรู้เรื่อง แล้วก็อย่าเป็นแค่งานออร์แกไนเซอร์ ปัญหาที่ผ่านมาเนี่ยคือเราชอบทุ่มงานไปกับการจัดงานออร์แกไนเซอร์ แต่จริงๆ แล้วศิลปินไม่มีส่วนร่วมเลย ผมว่าหัวใจคือต้องเอาคนที่รู้มาทำ รัฐเป็นแค่ facilitator คอยอำนวยความสะดวก อาจจะมีงบประมาณให้บ้าง แต่ว่าให้คนที่เขารู้ คนที่เขาเป็น เข้าใจจิตวิญญาณจริงๆ เป็นคนทำ
ที่ผ่านมารัฐไปจ้างออร์แกไนเซอร์ เปิดงานเสร็จกลับ ถ่ายรูปเสร็จ แต่ว่าศิลปินกลับไม่ได้ผมประโยชน์อะไรที่เป็นระยะยาว แล้วผมว่าอันนี้อาจจะต้องปรับมุมคิด คือให้ศิลปิน stakeholder จริงๆ มีส่วนร่วมในการจัดงาน แล้วก็ไม่ใช่เป็นงานถ่ายรูปน่ะออกข่าว แต่เป็นงานที่ long term มีการประเมินผลจริงๆ ว่าได้ผลดี ผลเสียอย่างไง แล้วก็ปีหน้าควรจะปรับปรุงยังไง แต่อย่างผมบอกอะ ผมก็จะมี
คือผมว่าส่วนหนึ่งของการกระตุ้นเศรษฐกิจของกรุงเทพฯ เรามีนโยบาย 50 ย่าน 12 เทศกาล เพื่อให้มันเกิดการกระตุ้นตลอดไง จริงๆ แล้วเฟสติวัลหนึ่งก็จะอยู่ในนี้แหละของเราที่เกี่ยวกับอาร์ต เป็นเทศกาลศิลปะ อาจจะเป็นเรื่องงานเขียน ผมว่างานเขียนก็เป็นศิลปะแบบหนึ่งนะ อาจจะเป็น Arts & Writting ของกรุงเทพฯ อาจจะเป็นเดือนพฤศจิกายน หน้าหนาว ก็จัดทั้งเดือน หรืออาจจะเป็นย่านที่เหมือนกับโซโห (Soho) ที่แบบเป็นย่านของศิลปินได้ไหม ให้มันมีโซนที่มันดูงานอาร์ตเมืองไทยต้องมาดูแถวนี้
ผมว่าทั้งย่าน (district) และทั้งเฟสติวัลกับทั้งย่านก็จะเป็นแนวหนึ่งที่กระตุ้นให้ Bangkok Arts Festival อยู่ในปฏิทินของโลกได้ไหม ให้คนมาดู อาจจะมีโซนไหนให้เป็นโซนของศิลปินที่มาอยู่รวมกัน เหมือนกับ River City ขายของเก่าอะไรแบบนี้ ผมว่ามีพื้นที่ที่น่าจะทำได้เยอะแยะเลย
4
ผมไป Bangkok Design Week ก็ไปถามร้านก๋วยเตี๋ยวบะหมี่หมูแดง เขาบอกว่าจัดแบบนี้ทั้งปีได้ไหม (หัวเราะ) หัวใจคือพอมีคนเดินในงานแบบนี้ มันก็เกิดเศรษฐกิจขึ้นตามเส้นทาง ผมว่ามันช่วยเศรษฐกิจเมืองด้วยไง เพราะจริงๆ แล้วอาร์ตกับเศรษฐกิจนี่มันคือเนื้อเดียวกัน มันก็คือ creative economy ที่จะช่วยให้เมืองอยู่รอดหลังโควิดได้ ผมว่าจริงๆ แล้วอาจจะมีสามเรื่องหลักๆ ที่ เราคิดตอนนี้นะ ก็คือเรื่องทำ public space ที่มีคุณภาพ กระจายลงไปในเขต แล้วก็ทำเรื่องตัวอาร์ตหมุนเวียน มีศูนย์กลางแล้วค่อยหมุนเวียนงานอาร์ตไปกระจายตามพื้นที่ แล้วก็ทำตัวสตรีทอาร์ตที่ศิลปะกลางแจ้ง
1
ส่วนเรื่อง 50 ย่าน 12 เทศกาล ก็เป็นส่วนหนึ่งที่เราเอามาร่วมได้อยู่แล้ว ถ้ามีอย่างอื่นก็บอกได้นะ นโยบายผมเนี่ยมันเหมือนกับเป็นตัวอะมีบา มันขยายได้เรื่อยๆ ตอนนี้เรามี 2 นโยบาย เพราะว่าเราเชื่อ เอางี้ดีกว่า ถ้าคุณบอกนโยบายกรุงเทพฯสำคัญ 5 เรื่อง สุดท้ายแล้วเราก็ไม่มีอาร์ตเข้ามาอยู่ เพราะอะไร เพราะคุณจะเจอรถติด ขยะ น้ำท่วม ถูกปะ เพราะงั้นมันจะไม่ตอบโจทย์พวกเราหลายๆ เรื่อง
1
งั้นผมว่าเราต้องมีนโยบายที่เยอะ เพราะว่ามันจะตอบโจทย์ทุกคนไง เยอะนี้ไม่ได้หมายความว่าเฝือ แต่ละคนก็มีหน้าที่ต้องเอาไป carry on ไง งั้นผมใส่นโยบาย Art Festival ไว้ใน 1 ใน 200 เนี่ย สุดท้ายมันต้องมีคนจับไปทำเพราะมันอยู่ในแผนแล้วถูกไหม แต่ถ้าเกิดแบบว่าเราพูดเฉพาะ 5 เรื่องสำคัญ ไอ้ 195 เรื่องที่เราไม่ได้พูด สุดท้ายคนก็จะลืมไปไง ผมว่าอาร์ตเป็นเรื่องสำคัญที่มันจรรโลจิตใจนะ มันทำให้ผมเชื่อว่ามันช่วยทั้งในแง่ของสภาวะเครียดในปัจจุบัน ใช่มั้ย แล้วเราก็ผ่อนคลาย แล้วเราไม่ได้ไปไหน ปัจจุบันก็ต้องไปห้างอย่างเดียว ไปเดินห้างไปไรเงี้ย
แต่ว่าผมก็สนใจเรื่องอาร์ตที่มันไม่แพงนะ ผมว่าเนี่ยก็ดี ผมว่ามันจะเป็นอาร์ต แล้วผมอย่างเมื่อวานนี้ไปงานที่น่าสนใจ เป็นงานที่ชุมชนอินเดียเขาจัดกันอะ คือเขาจัด เขาก็ช่วยเหลือกัน มีงานอาร์ตมาแสดงเยอะ มีเด็กอะไรอย่างนี้ คือพอมันมีพื้นที่ มีมาร์เก็ตเพลสให้คนมาขายของมันก็เกิดการแลกเปลี่ยนหมุนเวียน เกิดศิลปินมานั่งอธิบายงานเขา เออ ผมว่าถ้ามีแพลตฟอร์มพวกนี้เยอะๆ ขึ้นก็ดีอะ
1
คุณเป็นคนหนึ่งที่เคยทำงานกับภาครัฐมาแล้ว เพราะเป็นรัฐมนตรีด้วย อยากทราบว่าการที่ทำงานกับองคาพยพของภาครัฐกับการที่ส่งเสริมงานศิลปะนี่มีอะไรที่คุณหนักใจไหม?
คือหนักใจอยู่แล้ว เพราะว่าราชการมันไม่ใช่ creative ไง ราชการมันคือทำตาม rule ทำตาม law คือ creative มันไม่ต้องมี rule ไม่ต้องมี law ถูกไหม มันคนละแบบคนละขั้วเลยไง งั้นผมว่าต้อ define บทบาทของรัฐให้ชัดเจนน่ะ ให้เขาทำให้สิ่งที่เหมาะสม เช่นแบบว่า รัฐทำต้องต้องมี resource ต้องมีทรัพยากรอะให้เขาทำตรงนั้น แต่ส่วนที่เป็น creative นี่เราต้องเข้าไปทำ เพราะว่ามันต้องแบ่งบทบาท เขาก็มีจุดแข็งของเขา แต่ให้รัฐมาทำ innovation ทำ creative เนี่ยยาก เพราะมันต้อง out of the box
4
ส่วนภาครัฐนี่ก็เห็นใจเขานะ ก็ต้องมีการจัดซื้อจัดจ้างอะไรแบบนี้ แต่หัวใจคือคุณก็ต้อง collaborate ให้เหมาะ แล้วก็ต้องเอาเอกชนมาร่วมเยอะๆ เพราะเอกชนเนี่ยเข้าใจ แล้วก็มีพลังมากกว่าภาครัฐ งั้นผมว่าระบุบทบาทให้ออก แต่ถ้าเข้าใจตั้งแต่ต้นก็ไม่ยากอะไรอะ อย่างหอศิลป์ ภาครัฐก็ลงทุนให้ถูกไหม แต่ปัญหาก็คือมีเรื่องจัดการทีหลังอะ แต่ถ้าเกิดรัฐไม่ยุ่งมากนะ ให้เขาไปหากันเอง ผมว่ามันก็จะดีกว่านี้เลยถูกปะ คือรัฐไม่รู้เรื่องหรอกไอ้เรื่องศิลป์อะ คือรัฐก็จะ maximize คุณจะมูลคุณต้องเอาของแพงที่สุด แล้วของถูกที่สุด อะไรแบบนี้ เพราะงั้นมันมีกฎระเบียบเรื่องนั้นอยู่ งั้นผมว่าจริงๆ แล้ว คือเรื่องมูลนิธิมันก็ดีอยู่แล้วนะผมว่า แต่ผมก็ไม่รู้เหมือนกันว่ามันเกิดไรขึ้นนะ
1
อยากรู้ว่าคุณมีรสนิยมในการเสพหนังฟังเพลงหรือดูงานศิลปะอย่างไรบ้าง?
ผมก็จะฟังเพลงก็เปิดไปอะ ฟังแบบไม่ได้ตั้งใจฟังมากหรอก คือผมก็เสพตามเวลาว่าง คือผมเป็นคนเอนจอยกับการออกกำลังกาย ส่วนศิลปินก็ไม่ได้มีในใจมากก็ คือชอบดูงานศิลป์แต่ไม่ได้ติดตามใคร ถ้าของฝรั่งก็ชอบพวกอิมเพรสชั่นนิสม์ พวก โมเนต์ (Claude Monet) อะไรแบบนี้ ก็ดูแบบเพลินๆ ตา หรืออย่างของ คลิมต์ (Gustav Klimt) ภาพ The Kiss อะไรแบบนี้ ส่วนที่ไทยก็ดูไปแบบเรื่อยๆ นะ ผมไม่ได้ติดตามมาก แต่อย่างภาพยนตร์ก็ส่วนใหญ่จะดูหนังฝรั่ง ดู Netflix ดูอะไรไปตามเรื่อง ที่ชอบๆ ก็ Forrest Gump (1994) นะครับ ชอบที่สุดนะ
ผมว่ามันก็สะท้อนชีวิตดี มันมีหลายอย่างก็เหมือนกับที่เราเป็น คืออย่างผมมีลูกมีปัญหาไง ลูกผมเด็กหูหนวก มันก็สะท้อนคล้ายๆ กับ กัมพ์ ซึ่งผมก็นับว่าเป็นออทิสติกนะ มันก็คล้ายๆ กัน มีปัญหาในการสื่อสาร แต่ว่าถ้าพยายามเหมือนอย่างแม่เขาผลักดัน เขาให้ลูกไปโรงเรียน ก็บอกว่าลูกต้องทำให้ได้นะ คือแม่ก็สู้ทุกอย่าง ซึ่งก็อาจจะสะท้อนชีวิตเรานิดหน่อย เราก็พยายามไฟต์ให้ลูกให้พูดให้ได้ ให้ไปผ่าตัดไรแบบนี้ มันก็สะท้อนชีวิตเราหลายๆ เรื่อง แล้วหนังมันมีบทซึ้งๆ หลายเรื่องนะ หรือที่กัมพ์มันวิ่ง แล้วผมก็ชอบวิ่งไง แล้วก็ตอนที่มันกลับมา มันเล่าให้เจนนี่แฟนมันฟัง เล่าให้ฟังว่าไปวิ่งอะไรยังไง แล้วเจนนี่ก็บอกว่าอยากจะอยู่กับเธอเหลือเกินตอนที่เธอวิ่งน่ะ กัมพ์บอกว่า 'เธออยู่ตลอด' โอ้โห มันคิดได้ไงวะ ก็คือมันอยู่ในใจตลอดอะ ผมว่ามันสัมผัสใจผมได้ ก็เลยชอบ Forrest Gump ครับ ดูหลายรอบเลย
1
ตอนแรกคุณบอกว่าตอนเด็กๆ คุณวาดรูป อยากรู้ว่าวาดอะไรบ้าง?
ก็วาดหน้าคน วาดรถยนต์ ผมชอบวาดออกแบบรถเก๋งอะไรพวกนี้ แต่ไม่ได้ทำเป็นเรื่องเป็นราว แต่ก็ชอบสเก็ตช์รูป แล้วต่อมาก็มาดูรูปตึกรูปอะไรแบบนี้ครับ แต่ก็อาจจะมีส่วนให้ผมมาเป็นวิศวกรโยธา เพราะว่าผมก็จะวาดรูปสามมิติ ก็ต้องเกี่ยวกับดรอว์อิ้ง แต่ตอนเด็กผมก็อ่านหนังสือเยอะ แล้วการอ่านหนังสือก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ผมมีวันนี้ได้นะ หนังสือก็เป็นงานศิลป์ส่วนหนึ่งนะครับ ตอนเด็กผมอ่าน พล นิกร กิมหงวน น่ะ อ่านเยอะมากเลยนะ จำได้ไปหัวหินนี่นะไปซื้อจากร้านในตลาดน่ะ ผมก็นั่งอ่านกับพี่ชายฝาแฝดสองคน อ่านไปขำไป
1
ทราบว่าคุณชอบอ่านหนังสือ คิดว่าตัวเองได้นิสัยนี้มาอย่างไร?
เรื่องอ่านหนังสือผมจะบอกว่าให้ read what you love until you love to read คืออ่านสิ่งที่คุณชอบอ่านจนคุณจะรักการอ่านไปเลยน่ะครับ ตอนแรกๆ อย่าไปสนใจว่าอ่านอะไร อย่างผมนี่อ่าน พล นิกร กิมหงวน ซึ่งไม่ได้มีสาระมากมายใช่ไหม แล้วผมเคยนั่งอ่านสกุลไทย อ่านนิยายแม่งทุกเรื่องเลย จนเรารู้สึกว่าการอ่านเป็นส่วนหนึ่งของเรา เราก็จะอ่านหนังสือที่ลึกขึ้นได้เอง มันก็จะกลายเป็นสิ่งที่ติดมือเราอะ
1
ผมว่าจริงๆ งานศิลป์มันก็สามารถพัฒนากลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตที่สำคัญได้ ถ้าคุณมีงานศิลป์ที่ถูกใจเด็กๆ ให้เด็กๆ ชอบอ่าน พัฒนานิสัยการอ่านไป ผมว่างานศิลป์ก็มีหลายมุมมอง ผมว่ามันทำให้เราเห็นความแตกต่าง คุณพัฒนางานศิลป์ขึ้นมา อาจจะมีมุมมองมุมมองหนึ่ง คุณมาดูตีความ เอ๊ะทำไมคิดอย่างนี้ เอ๊ะทำไมวาดอย่างนี้ มันทำให้สังคมยอมรับความเห็นที่แตกต่างกันได้มากขึ้น มันไม่ใช่งานที่แบบคุณต้องคิดอย่างนี้เท่านั้น มันคือการตีความ พอตีความปุ๊บ ผมว่ามันจะยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่างได้
แล้วอันนี้คือปัญหาสังคมไทยเรื่องที่เราทะเลาะกัน เพราะเราไม่รับความเห็นคนอื่นน่ะ ผมว่าการที่เราเอนจอยมีงานศิลป์ให้ดู ให้ซึมซับ ให้แลกเปลี่ยนกัน ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เรายอมรับความแตกต่างในสังคมได้มากขึ้น แล้วผมก็เชื่อว่าอย่างต่างประเทศที่มีงานศิลป์ ผมว่าสังคมเขาก็น่าจะยอมรับความแตกต่างทางมิติอื่นได้มากขึ้นด้วยครับ
2
ถ้าคุณได้มีโอกาสคุยกับกลุ่มศิลปินในกรุงเทพฯ คุณอยากจะคุยอะไรกับพวกเขาบ้าง?
อยากถามว่าอะไรคือ pain point ของเขา อะไรที่เขาอยากจะให้เราช่วย ที่อยากจะทำให้ชีวิตเขาสามารถสร้างงานศิลป์ได้ต่อ โดยยังอยู่ได้ ผมว่ามันก็เป็นงานที่เหนื่อยนะ คือบางคนอาจจะเป็นศิลปินที่ประสบความสำเร็จ มีรายได้ แต่ผมเชื่อว่ามีอีกคนจำนวนมากเลยที่ต้องดิ้นรนอยู่ จะทำยังไงให้เขาสามารถอยู่ได้โดยทำในสิ่งที่เขาชอบด้วย ผมว่านี้ก็เป็นเรื่องสำคัญ มันก็ไม่ได้ง่ายนะ คือบางทีเขาอาจจะต้องเลือกทำงานที่เขาไม่ชอบไปก่อน แล้วก็ใช้งานศิลป์เป็นงานนอกเวลาเพื่อให้มีชีวิตรอด ก็อยากจะถามว่ามีอะไรที่เราจะช่วยทำให้ชีวิตเขาสามารถทำในสิ่งที่เขาชอบได้
บางทีเขาขาดพื้นที่ หรือขาดตลาดที่จะขายงาน ก็อยากจะเอาไอเดียจากเขา แล้วก็อาจจะถามว่าอะไรคือแรงบันดาลใจให้เขาทำอย่างนี้ ผมเชื่อว่าคนที่เป็นศิลปิน นี่ไม่ธรรมดานะ ต้องเป็นคนที่กล้า ต้องมี passion ที่แข็งแรง ขนาดที่ยอมเสี่ยงกับความไม่แน่นอนทางการเงินน่ะ อย่างผมถามว่าเราจะกล้าทำเหรอ เราจะกล้าออกมาทำในสิ่งที่เรารัก แต่ว่าเราไม่รู้จะได้เงินเดือนหรือเปล่า หรือว่าจะขายงานได้หรือเปล่า มันก็เป็นเรื่องที่เครียดเหมือนกัน ก็อาจจะต้องคุยว่าอะไรคือแรงบันดาลใจของเขาซึ่งผมก็ว่าน่านับถือ มันก็ไม่ใช่ง่ายอะ ผมเคยไปซื้องานของนักเขียนคนหนึ่ง เขาเขียนปากกาลายเส้นเล็กๆ น่ะ เป็นนักเขียนที่พิการด้วยนะ แล้วก็เขียนรูปยาวเลย ก็แบบ amazing น่ะ ผมว่าศิลปินก็มีอยู่เยอะ แต่ต้องพยายามหาตลาดให้เขาให้ได้ด้วย
หมายเหตุ: ติดตามบทสัมภาษณ์ของผู้สมัครผู้ว่าฯ ท่านอื่นๆ ได้ต่อไปในเพจเฟซบุ๊ก happening mag และเว็บไซต์ happeningandfriends.com
4
#happeningScoop #เลือกตั้งผู้ว่ากทม #นโยบายสนับสนุนศิลปะ
โฆษณา