24 เม.ย. 2022 เวลา 02:50 • ธุรกิจ
กรณีศึกษา อัญมณีและเครื่องประดับ ธุรกิจที่ไทยเป็นหนึ่งใน ผู้นำของโลก
หลายคนอาจแปลกใจ ถ้าบอกว่า “ธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับ”
ถือเป็นธุรกิจที่ประเทศไทย เป็นหนึ่งในผู้นำของโลก
ทำไม ประเทศไทย จึงเป็นผู้นำด้านธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับ ระดับโลก
แล้วเราสามารถนำจุดเด่นตรงนี้ มาช่วยพัฒนาประเทศ อย่างไรได้บ้าง ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
1
อัญมณีและเครื่องประดับ แม้จะถูกมองว่าเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย แต่ก็มีคนจำนวนไม่น้อยที่ต้องการ
โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าที่มีกำลังซื้อทั้งผู้ชายและผู้หญิง
ปัจจุบัน ประเทศที่มีชื่อเสียเรื่องอัญมณีและเครื่องประดับในระดับ ชั้นแนวหน้าของโลก จนเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ประกอบไปด้วย สหรัฐอเมริกา เยอรมนี อิตาลี ฝรั่งเศส และประเทศไทย..
1
สำหรับประเทศไทยนั้น ถูกจัดให้เป็นหนึ่งในศูนย์กลางการซื้อขายพลอยสี ที่ใหญ่ที่สุดของโลก
โดย “ทับทิม” ถือเป็นอัญมณีที่มีค่าและมีราคาสูงมาก อีกทั้งยังได้รับการขนานนามว่าเป็น “ราชาแห่งอัญมณี” ที่นิยมนำมาทำเป็นเครื่องประดับ เพราะมีความแข็งแกร่ง และสีสวยเปล่งประกาย
นอกจากนี้ บางคนยังเชื่อว่า ทับทิมจะช่วยปกป้องผู้เป็นเจ้าของ จากความโชคร้ายได้อีกด้วย
ส่วน “ไพลิน” เป็นพลอยชนิดหนึ่งที่มีหลายสี แต่ส่วนใหญ่มักหมายถึงสีน้ำเงิน
1
ชาวเปอร์เซียโบราณเชื่อกันว่า ไพลิน คือ “หินที่มาจากฟ้า”
บางคนยังเชื่อว่า ไพลินนั้นเป็นพลอยของกษัตริย์ ที่ใช้สวมใส่เพื่อป้องกันภยันตราย และเชื่อว่าผู้ที่สวมใส่ไพลิน จะมีชีวิตที่สดใส มีพลังในการดำรงชีวิต
และด้วยความที่พลอยมีความแข็ง รองลงมาจากเพชร จึงมักนิยมนำมาทำเป็นเครื่องประดับ
โดยแหล่งทับทิมและไพลินที่สำคัญของประเทศไทย ตั้งอยู่ที่จังหวัดจันทบุรี ซึ่งเดิมที่เราเคยผลิตได้เอง แต่ปัจจุบัน เป็นตลาดสำหรับการซื้อขาย ที่มีชื่อเสียงที่สุดในไทยเท่านั้น แต่ยังโด่งดังไปไกลถึงระดับโลก
อีกประเด็นคือ การเจียระไนพลอยนั้น
ถือว่าเป็นงานที่ต้องใช้แรงงานที่มีทักษะ ประสบการณ์ และความชำนาญในระดับสูง
เพื่อทำให้งานเจียระไน ออกมาเป็นงานที่มีคุณภาพและมีความสวยงาม
ซึ่งช่างฝีมือชาวไทย ไม่เพียงแต่มีค่าแรงที่เหมาะสม สามารถแข่งขันในด้านราคาได้ดี
แต่ช่างเจียระไนไทยยังมีฝีมือดี จนได้รับการยอมรับไปทั่วโลกอีกด้วย
5
เห็นได้จากการที่จังหวัดจันทบุรีนั้น มักมีโอกาสเป็นที่จัดงานแสดงนิทรรศการ สุดยอดพลอยสวยที่คัดสรรจากทั่วทุกมุมโลกบ่อยครั้ง
นอกจากทับทิมและไพลิน ประเทศไทยก็ยังเป็นแหล่งซื้อขายพลอยสีประเภทอื่น เช่น มรกต
ทีนี้ เรามาดูมูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของไทย ในช่วงที่ผ่านมา
ปี 2562 มูลค่าการส่งออก 486,216 ล้านบาท
ปี 2563 มูลค่าการส่งออก 567,046 ล้านบาท
ปี 2564 มูลค่าการส่งออก 317,644 ล้านบาท
ที่มูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับในปีล่าสุดลดลง
เหตุผลหนึ่งที่สำคัญ ก็เนื่องจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด 19
อย่างไรก็ตาม มูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ ก็ยังถือว่ามีความสำคัญ
โดยมีสัดส่วนเกือบ 4% ของมูลค่าการส่งออกทั้งประเทศ ในปี 2564
ที่น่าสนใจคือ แม้ปีล่าสุดที่มูลค่าการส่งออก อัญมณีและเครื่องประดับจะลดลง แต่ก็เป็นสินค้าที่มีมูลค่าการส่งออกมากที่สุด เป็นอันดับ 6 และเป็นหนึ่งในธุรกิจที่สร้างรายได้ จากการส่งออกในระดับสูง ให้กับประเทศไทยมาอย่างยาวนาน
2
พอเรื่องเป็นแบบนี้ จึงทำให้ธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับ ถือเป็นหนึ่งในธุรกิจที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะเศรษฐกิจฐานราก อย่าง SMEs
ที่น่าสนใจคือ ด้วยชื่อเสียงในด้านธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับ
ทำให้ประเทศไทยนั้น เป็นที่ตั้งของฐานการผลิตเครื่องประดับรายใหญ่ของโลก อย่าง “Pandora”
Pandora เกิดขึ้นเนื่องจาก คุณเพียร์ อีนีโวลด์เซ่น และภรรยา ที่ครั้งหนึ่งได้เดินทางมาเที่ยวในประเทศไทย และชื่นชอบอัญมณีของไทยที่สวยงาม รวมไปถึงฝีมือของช่างประดับอัญมณีชาวไทย
จนเมื่อทั้งคู่กลับไปเดนมาร์ก จึงตัดสินใจเริ่มทำธุรกิจเล็ก ๆ คือ การนำเข้าอัญมณีต่าง ๆ จากประเทศไทย ไปขายในประเทศเดนมาร์ก และก่อตั้ง Pandora ขึ้นมา ในปี 1982 หรือเมื่อ 40 ปีที่แล้ว
ซึ่ง Pandora นั้นถือเป็นบริษัทสัญชาติเดนมาร์ก ที่มีฐานการผลิตตั้งอยู่ในประเทศไทย
1
โดยปัจจุบัน Pandora มีมูลค่าบริษัทราว ๆ 285,000 ล้านบาท และเป็น Top 10 บริษัทที่ขายเครื่องประดับอัญมณี ที่ใหญ่สุดในโลก
กลับมาที่ประเทศไทย..
ที่แม้ว่าในปัจจุบันเราจะเป็นแหล่งซื้อขาย อัญมณีและเครื่องประดับรายสำคัญรายหนึ่งของโลก และสร้างรายได้จากการส่งออก ให้แก่ประเทศมาเป็นเวลานาน
อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายความว่า ประเทศไทยจะสามารถพึงพอใจกับสิ่งที่เป็นในวันนี้ได้ตลอดไป
เพราะหลายธุรกิจมักจะเจอความท้าทายเมื่อเวลาผ่านไป
อย่างกรณีของธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับ
ก็มีความเปลี่ยนแปลงและความท้าทายในหลายเรื่อง เช่น
- พฤติกรรมและความชื่นชอบในอัญมณีและเครื่องประดับ ที่อาจแตกต่างจากคนรุ่นก่อน
- แนวโน้มการแต่งงานที่น้อยลง ซึ่งอาจทำให้ความต้องการสินค้าเหล่านี้ ลดลงได้ไม่น้อย
และยังไม่รวมถึง การที่ต้องพยายามสร้างแรงงานรุ่นใหม่ เพื่อไปทดแทนช่างฝีมือประดับอัญมณีรุ่นเก่า ๆ เนื่องจากงานประเภทนี้ ต้องใช้เวลาในการฝึกฝน เพื่อสร้างความเชี่ยวชาญ
ดังนั้น จึงเป็นเรื่องสำคัญ ที่ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องจะมาร่วมมือกัน
สนับสนุนและต่อยอดอุตสาหกรรม อัญมณีและเครื่องประดับของประเทศ ที่เรามีความโดดเด่นอยู่แล้ว
ให้ดียิ่งขึ้นไปอีก ในอนาคต..
1
โฆษณา