22 เม.ย. 2022 เวลา 10:01 • หนังสือ
ผมเคยได้รางวัลเป็นนิยาย 1984 จากสำนักพิมพ์สมมติ ตอนนั้นมีประกาศว่าใครเขียนเหตุผลที่ควรอ่าน 1984 ได้โดนใจจะได้ปกใหม่ไปครอง
1
ผมเขียนถึงการหายไปของใครบางคนภายใต้ระบอบเผด็จการ
คน ๆ นั้นเป็นตัวประกอบที่ชื่อว่า ไซม์ฺ
เขาปรากฏตัวขึ้นมาฉากเดียว จากนั้นก็ถูกทำให้หายไป
ไซม์ฺทำงานที่กระทรวงแห่งความจริง (Ministry of Truth) หรือเรียกสั้น ๆ ว่า Minitrue ที่แปลได้ว่า ความจริงอันน้อยนิด
กระทรวงนี้มีหน้าที่ประกาศข่าวและแก้ข่าวที่พี่เบิ้มคาดการณ์ผิด และหน้าที่อีกอย่างคือตีพิมพ์พจนานุกรมนิวสปีค (Newspeak)
ภาษานิวสปีคคือภาษาที่ถูกทำลายถ้อยคำจนเหลือแต่แก่นกระดูก คำบางคำจะหายไปเพราะมันไม่มีความหมายอีกแล้ว เช่น
“เสรีภาพ” จะหายไปเพราะที่นี่ไม่มีเสรีภาพ
“ความเท่าเทียม” จะหายไปเพราะที่นี่ไร้ซึ่งความเท่าเทียม
เหตุผลที่ต้องทำแบบนี้หรือครับ ?
รัฐบาลเชื่อว่าการทำลายคำจะทำให้ความคิดแคบลง
ความรู้สึกบางอย่างจะหายไปเพราะไม่มีคำอธิบาย
เวลาที่คิดจะทำอะไรจะมีเพียงคำ ๆ เดียวเท่านั้นที่ปรากฎขึ้นมาเพราะความหมายข้างเคียงอื่นจะถูกลบไป
เมื่อคำถูกทำลายไปเรื่อย ๆ ขอบเขตความคิดก็จะแคบลง จนสุดท้ายไม่มีใครคิดเกินขอบเขต
ทุกคนจะคิดเหมือน ๆ กัน
ไซม์ฺเพลิดเพลินกับงานนี้มาก รวมถึงเพลิดเพลินกับความโหดร้ายที่เกิดในสังคมด้วย
กิจกรรมที่เขาชอบคือการไปดูลงทัณฑ์นักโทษ สมมติถ้าเราเป็นเพื่อนเขา เขาก็จะถามเราว่า “เมื่อวานนี้ไปดูแขวนคอนักโทษหรือเปล่า”
แล้วสาธยายต่อว่า “เป็นการแขวนคอที่ดีนะ เสียตรงเขาผูกขาพวกมัน ผมอยากดูมันถีบแข้งถีบขาชักดิ้นชักงอ ที่เยี่ยมกว่าอะไรทั้งหมดคือตอนท้าย ลิ้นมันห้อยทะลักออกมาเขียวปื๋อ อันนี้ล่ะถูกใจผมจริง”
ไซม์ฺเป็นคนชอบอ่านหนังสือและติดตามข่าวสารตลอดเวลา อันที่จริงเขาเป็นปัญญาชนเลยล่ะ แต่ที่ย้อนแย้งคือเขาก็เชื่อคำบิดเบือนของพี่เบิ้ม
วันหนึ่งมีการเดินขบวนขอบคุณพี่เบิ้มที่เพิ่มช็อกโกแลตเป็น 20 กรัมต่อสัปดาห์ แต่ทั้งวินสตันและไซม์ฺก็จำได้ว่าวันก่อนพี่เบิ้มบอกว่าจะลดช็อกโกแลตเป็น 20 กรัมต่อสัปดาห์
อย่างไรก็ตาม ไซม์ฺก็บิดคำเหล่านั้นด้วย “การคิดสองชั้น” จนเชื่อว่า “การลดคือการเพิ่ม”
คิดสองชั้นคือทำยังไงก็ได้ให้สมองของเราเชื่อตามที่พี่เบิ้มพูด แต่ของแบบนี้ต้องใช้สติสัมปชัญญะเพราะมันต้องมีความแม่นยำชัดเจน
ขณะเดียวกันก็ต้องทำไปโดยไม่รู้สึกตัวเช่นกัน ไม่งั้นจะรู้สึกเป็นเท็จและรู้สึกผิด
พวกปัญญาชนจะคิดสองชั้นเสมอ
คนทั่วไปจะไม่ใช้วิธีนี้เพราะมันยากเกินไป พวกเขาจึงกลืนคำพูดของพี่เบิ้มไปโดยไม่ต้องคิด
อย่างเช่นพาร์สัน ตัวประกอบอีกคนที่เชื่อคำพูดทุกคำของพี่เบิ้ม พี่เบิ้มพูดอะไร พาร์สันก็สามารถกระเดือกคำโกหกเข้าไปได้อย่างง่ายดาย
แต่สุดท้ายคนฉลาดที่ภักดีอย่างไซม์ฺก็ตายเร็วกว่าคนโง่แบบพาร์สัน
วินสตันเองก็เชื่อว่าซักวันไซม์ฺจะต้องระเหยหายกลายเป็นไอ เพราะไซม์ฺมีพฤติกรรมบางอย่างที่เผด็จการไม่ชอบ
เช่น ชอบพูดสิ่งที่ไม่ควรพูด อ่านหนังสือมากเกินไป สุงสิงกับจิตรกรและนักดนตรี ชอบไปร้านกาแฟที่พวกผู้นำเก่า ๆ เคยไป
ความภักดีจะไร้ค่า ถ้าทำให้เผด็จการหวาดระแวง
แล้ววันหนึ่งเขาหายตัวไปจริง ๆ
โดยที่ไม่มีใครรู้
ไซม์ระเหยหายไปเหมือนที่วินสตันคาดไว้
“ไซม์หายไป เช้าวันหนึ่งเขาไม่มาทำงาน คนไร้หัวคิดสองสามคนวิพากษ์การขาดงานนี้ วันต่อมาก็ไม่มีใครเอ่ยถึงเขาอีก
“วันที่สาม วินสตันไปที่โถงแผนกบันทึกเพื่อดูบอร์ดประกาศ ประกาศแผ่นหนึ่งพิมพ์รายชื่อของคณะกรรมการหมากรุกซึ่งไซม์ฺเคยร่วม ประกาศนี้ดูเหมือนเดิมทุกอย่าง ไม่มีสิ่งใดถูกขีดฆ่า
“แต่มีชื่อหนึ่งหายไป แค่นี้ก็เพียงพอแล้ว ไซม์ยุติการมีตัวตน เขาไม่เคยมีตัวตนอยู่เลย”
นี่คือจุดจบของปัญญาชนผู้ซื่อสัตย์ในระบอบเผด็จการ
สมมติว่าวันหนึ่งเราต้องอยู่ในระบอบนี้ เราจะต้องทำตัวยังไงล่ะถึงจะปลอดภัย ?
คำตอบคือ เราต้องทำตัวแบบพาร์สัน
คือละทิ้งสติปัญญาไปอย่างสิ้นเชิง
ทำตัวให้โง่บริสุทธิ์
และปลื้มปิติทุกครั้งที่โดนจูงจมูก
โฆษณา