12 พ.ค. 2022 เวลา 08:40 • ประวัติศาสตร์
• ที่มาของธรรมเนียม afternoon tea
ถ้าผู้อ่านได้ชมซีรีส์แนวย้อนยุคยอดฮิตทาง Netflix เรื่อง Bridgerton จะเห็นฉากการดื่มชายามบ่ายที่เป็นทางการเต็มไปด้วยพิธีรีตอง ซึ่งธรรมเนียมนี้สืบทอดมาจากยุควิกตอเรียช่วงทศวรรษที่ 1840 นั่นเอง
2
ในคราวก่อนได้เล่าถึงต้นกำเนิดของความนิยมดื่มชาของคนอังกฤษว่ามาจากราชินีอังกฤษผู้มาจากโปรตุเกสพร้อมสินสอดที่เป็นใบชา (ไปอ่านเรื่อง “แคทเธอรีนแห่งบรากันซา ราชินีผู้มีสินสอดเป็นชาที่ทำให้ชาวอังกฤษติดกันงอมแงม” ได้) และชาแพร่ขยายไปทั่วสังคมอังกฤษอย่างไร
มาคราวนี้เรื่องที่จะเล่าก็ยังวนเวียนกับเรื่องของชาอยู่ โดยจะเล่าที่มาของธรรมเนียมการจิบชายามบ่ายหรือ afternoon tea ของคนอังกฤษว่ามีที่มาอย่างไร
2
• แรกเริ่มเดิมที
ผู้คนในอดีตอาศัยการก่อไฟหรือเทียนไขเพื่อให้แสงสว่างในยามค่ำคืน แต่พอล่วงถึงยุควิกตอเรีย ชาวอังกฤษมีความก้าวหน้าทางด้านวิทยาศาสตร์มากขึ้น จึงนำมาซึ่งการประดิษฐ์อุปกรณ์ที่ให้แสงสว่างในยามค่ำคืนโดยใช้แก๊ส จึงส่งผลต่อพฤติกรรมการกินอยู่ของคนในยุควิกตอเรีย
เมื่อมีไฟที่ให้แสงสว่างในยามค่ำคืน คนมีอันจะกินได้เปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหารมื้อเย็นที่กลายเป็นมื้อค่ำหรือดึกไป ซึ่งแตกต่างจากชาวอังกฤษในชนบทหรือยากไร้ที่แสงไฟยังเป็นสิ่งที่เอื้อมไม่ถึง ชาวบ้านชาวนาทั่วไปจึงมีนาฬิกาการทานอาหารตามเวลาที่พระอาทิตย์ส่องแสง
โดยในหมู่ชนชั้นสูงเมื่อปลายศตวรรษที่ 1700 นั้น มื้ออาหารยามบ่ายเริ่มเปลี่ยนเป็นเวลาเย็นขึ้น และพอล่วงมาต้นศตวรรษที่ 1800 เวลามื้ออาหารเปลี่ยนเป็นช่วงหกโมงเย็นครึ่ง หรือมิฉะนั้นก็หนึ่งทุ่ม และต่อจากนั้นก็เลื่อนเป็นเวลาดึกขึ้นเรื่อย ๆ จนสามทุ่ม ดังนั้น เมื่อมื้อเที่ยงกับมื้อเย็นห่างกันกว่าเดิมมาก คนก็เลยต้องหาอะไรเล็ก ๆ น้อย ๆ ทานรองท้องคลายหิว
การดื่มชายามบ่ายจึงเกิดขึ้นเพราะเหตุนี้ ซึ่งก่อนหน้านี้จะมีการดื่มชาหลังจากที่ทานอาหารมื้อเย็นเสร็จแล้ว ซึ่งมื้อเย็นที่ว่านี้แต่ก่อนจะเป็นมื้อใหญ่ระหว่างวัน เพราะเชื่อกันว่าชาที่ดื่มตอนนั้นจะดีต่อการย่อยอาหาร เมื่อทานข้าวเสร็จ เหล่าผู้หญิงจะพากันไปที่ห้องรับแขก ส่วนบรรดาผู้ชายก็จะอยู่ที่ห้องทานอาหารเช่นเดิมเพื่อสูบบุหรี่ ดื่มเหล้า แล้วเหล่าชายหญิงจะกลับมาเจอกันอีกรอบในตอนเย็น
ภาพงานเลี้ยงชาของผู้มีอันจะกินที่สโมสรเทนนิส ราวปี 1891 (Image: Alamy)
• การดื่มชากับผู้หญิง
 
เมื่อมื้ออาหารของชนชั้นสูงเลื่อนไปเวลาที่ค่ำขึ้นเรื่อย ๆ นักดื่มชาจึงต้องรอคอยเวลาที่จะดื่มชาตลอดช่วงบ่ายไปจนถึงค่ำกว่าจะได้ดื่มชาที่จะได้ดื่มกันหลังทานอาหารมื้อค่ำ และกว่าจะได้ดื่มชาหลังมื้ออาหารค่ำบางทีก็ต้องรอไปถึงสี่ทุ่ม สตรีที่อยู่บ้านก็ต้องหาอะไรมาทานก่อนเพื่อเยียวยาความหิว
1
การดื่มชาจึงเปลี่ยนเวลาไป จากที่เคยดื่มชากันหลังจากทานอาหารมื้อเย็นเสร็จ ได้เปลี่ยนมาดื่มชาก่อนอาหารมื้อเย็น
ในอังกฤษเมื่อชาเป็นเครื่องดื่มที่แพร่หลายไปทั่ว พื้นที่สำคัญในการดื่มชาก็คือพื้นที่ของสตรีชาวอังกฤษ เพราะธรรมเนียมนี้เกิดขึ้นในราชสำนักของราชินีอังกฤษที่เป็นชาวโปรตุเกส แล้วทำให้เหล่าข้าราชบริพารที่เป็นสตรีรับเอาการดื่มชานี้มาด้วย
การเตรียมชาเพื่อดื่มในบ้านอย่างเหมาะสมกลายเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงบทบาทของผู้หญิงในการเป็น “ผู้ดูแลครอบครัว” และในตระกูลขุนนางและชนชั้นสูงของอังกฤษนั้น “การเตรียมชา” ถือว่าเป็นหนึ่งในงานบ้าน(เพียงไม่กี่อย่าง)ที่สตรีผู้ลากมากดีจะต้องตระเตรียมเองโดยไม่สั่งคนรับใช้เตรียมให้
1
ดังนั้น การจัดงานเลี้ยงน้ำชาจึงเป็นสิ่งสำคัญที่แสดงถึง “สถานะ” ของสตรีชาวอังกฤษ และเป็นพื้นที่ที่น้อยนักที่ผู้หญิงจะได้โอกาสแสดงบทบาทเป็นผู้นำ เพราะโดยปกติผู้ชายจะเป็นผู้นำในเกือบจะทุกพื้นที่
สตรีในยุควิกตอเรียกำลังดื่มชา (Image: ingsqueensandallthat.com)
• เมื่อการดื่มชายามบ่ายกลายเป็นธรรมเนียม
ธรรมเนียม “afternoon tea” การจิบชายามบ่ายของคนอังกฤษนั้นเกิดขึ้นในช่วงกลางศตวรรษที่ 19 ถึงแม้ว่าในเวลานั้นการดื่มชาจะแพร่หลายไปในทุกชนชั้น แต่การดื่มชายังมีความเชื่อมโยงกับการมีชีวิตที่ดีและการมีมารยาทที่ดี ดังนั้นธรรมเนียม afternoon tea จึงถูกรังสรรค์ขึ้นมาภายใต้ความหรูหราโอ่อ่าในพื้นที่ของกลุ่มชนชั้นสูง
แอนนา มาเรีย รัสเซล (Anna Maria Russell) ดัชเชสแห่งเบดฟอร์ด (Duchess of Bedford) ซึ่งเป็นนางสนองพระโอษฐ์ของสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย เป็นผู้ริเริ่มการดื่มชายามบ่าย (แต่นักประวัติศาสตร์บางคนเห็นว่าเธอไม่สมควรได้รับเครดิตนี้)
ดัชเชสผู้นี้มักจะรู้สึกหิวตอนสี่โมงในยามบ่าย เพราะกว่าที่มื้ออาหารเย็นจะถูกเสิร์ฟบนโต๊ะอาหารก็ปาไปตอน 2 ทุ่มเข้าไปแล้ว ดังนั้นระยะห่างระหว่างมื้อเที่ยงกับมื้อเย็นอันยาวนานจึงทำให้ดัชเชสผู้นี้รู้สึกหิว
เพื่อระงับความหิว ดัชเชสแห่งเบดฟอร์ดจึงเรียกหาชา ขนมปังและเนย และเค้ก มาทานในช่วงยามบ่ายแก่ ๆ เพื่อรองท้องไปก่อน และกลายเป็นสิ่งที่เธอทำจนติดเป็นนิสัย
เวลาดัชเชสแห่งเบดฟอร์ดดื่มชายามบ่าย เธอมักจะเชิญเพื่อนฝูงหรือมิตรสหายมาร่วมดื่มชาและทานขนมร่วมกับเธอด้วย คนเหล่านี้จึงได้ไอเดียตามและทำการตระเตรียมการดื่มชายามบ่ายตามไปด้วย และกลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติทางสังคมที่แพร่หลายไปในหมู่ชนชั้นสูงของอังกฤษไปในที่สุด
ดังนั้น ตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1880 เป็นต้นมา ชนชั้นสูงของอังกฤษจึงจริงจังกับการดื่มชายามบ่ายมาก และเหล่าบรรดาสุภาพสตรีจะต้องสวมชุดคลุมยาว ถุงมือ และหมวก เพื่อมาดื่มชาในห้องรับแขกโดยเฉพาะ ซึ่งการดื่มชายามบ่ายนี้จะอยู่ในช่วงเวลาบ่ายสี่โมงถึงห้าโมงเย็น
ภาพวาดดัชเชสแห่งเบดฟอร์ดกับห้องรับแขกที่ต้อนรับแขกเหรื่อเมื่อมาจิบชายามบ่าย (Image: National Portrait Gallery/Woburn Abbey)
เกร็ดเล็กเกร็ดน้อย:
• High tea เป็นมื้อชาของชนชั้นแรงงาน เมื่อเลิกงานกลับมาบ้านตอนเย็นหลังจากเหนื่อยล้าจากการทำงานในชั่วโมงการทำงานที่ยาวนาน ชนชั้นแรงงานจะรับประทานอาหารในบ้าน ได้แก่ เนื้อเย็นหรือปลา เค้ก และชา
• สโคนกับแซนวิชได้กลายมาเป็นของว่างเพื่อรับประทานร่วมกับการดื่มชายามบ่ายในภายหลัง คือช่วงเวลาที่ล่วงเข้าศตวรรษที่ 20 แล้ว
• ธรรมเนียมการดื่มชายามบ่ายไม่ได้หมายความว่าคนอังกฤษดื่มชาเฉพาะยามบ่ายเวลาเดียว แต่จริง ๆ แล้วคนอังกฤษดื่มชากันตลอดเวลา
• ตามมารยาทอันดี แขกที่ถูกเชิญมาดื่มชาจะต้องอยู่ดื่มชาอย่างน้อย 30 นาที
• ใน afternoon tea เครื่องดื่มไม่ได้มีแต่ชา บางครั้งกาแฟ พันซ์ และน้ำมะนาวก็ถูกเสิร์ฟมาด้วย แต่เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เช่น ไวน์ เป็นสิ่งที่จะไม่ถูกเสิร์ฟบนโต๊ะอย่างเด็ดขาด
2
ตัวอย่างโต๊ะน้ำชาบามบ่ายที่จัดตามแบบยุควิกตอเรีย (Image: Pendray Inn & Tea House)
อ้างอิง:

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา