Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
รู้เรื่องสัตว์ๆ
•
ติดตาม
25 เม.ย. 2022 เวลา 01:08 • การศึกษา
รู้เรื่องสัตว์ ๆ ตอนที่ 28 | สัตว์อินดี้ ไม่ได้แปลกแต่แค่แตกต่าง
หากได้ยินว่าโลกนี้มี...ปลาที่ชอบอยู่บนบก นกที่บินไม่ได้ งูที่ออกลูกเป็นตัว สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่ออกลูกเป็นไข่ ก็คงต้องมีคนแปลกใจอยู่บ้างไม่มากก็น้อย
พฤติกรรมและการใช้ชีวิตที่อินดี้แหวกแนวไม่เหมือนสัตว์กลุ่มเดียวกันของสัตว์เหล่านี้ไม่แปลกแต่แค่แตกต่าง
🐟ปลาที่ชอบอยู่บนบก
ดูแค่นี้มีใครสงสัยมั้ยว่านี่มันตัวอะไรหนอ?
ตัวอะไรหนอ? ลองทายกันดู
หัวใหญ่ ตาโตโปนแอบคล้ายปลาหมึกหน่อย ๆ ปากโค้งและเฉียงลงเล็กน้อย ยกคอได้เพราะมีอกอันบึกบึน แล้วข้างลำตัวนั่นคือขาหรือครีบกันนะ นี่ใช่ปลาจริง ๆ น่ะหรือ
มาดูภาพเต็มของสัตว์อินดี้ชนิดแรกกัน ซึ่งคิดว่าหลายคนคงพอจะรู้จัก
เพราะหากพูดถึงปลาที่สามารถอยู่บนบกได้เชื่อว่าคงมีหลายคนนึกถึง ‘ปลาตีน’ ที่เป็นเหมือนสัญลักษณ์ของป่าชายเลนนั่นเอง
https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%9B%E0%B8%A5%E0%B8%B2%E0%B8%95%E0%B8%B5%E0%B8%99
ปลาตีน (Mudskipper) ส่วนใหญ่มักอาศัยอยู่บนพื้นเลน โดยออกมาทำกิจกรรมต่างๆ ในช่วงน้ำลง เช่น การหาอาหาร การผสมพันธุ์ การสร้างที่อยู่อาศัย การต่อสู้ เป็นต้น
ปลาตีนเป็นสัตว์น้ำที่มีพัฒนาการแตกต่างจากสัตว์น้ำชนิดอื่น เช่น สามารถทนต่อความเค็มที่มีช่วงกว้างได้ (Eury haline) มีการปรับตัวและปรับโครงสร้างของร่างกายเพื่อให้สามารถดำรงชีวิตบนเลนได้
เช่น ครีบที่แข็งแรงเสมือนเป็นขาหน้า สามารถใช้ในการขุดรู ยึดเกาะ ปีนป่ายต้นไม้และไถลตัวไปบนพื้นเลนได้เป็นอย่างดี
ดวงตามีขนาดใหญ่ทำให้มองเห็นได้ชัดเจนและมีถุงใต้ตาซึ่งสามารถขับน้ำมาหล่อเลี้ยงให้ดวงตาชุ่มชื้นเมื่อขึ้นมาอยู่บนบกเป็นเวลานานได้
มีกลไกการหายใจที่พิเศษกว่าปลาชนิดอื่น ไม่ว่าจะเป็นการมีกระพุ้งแก้มที่โป่งพองเพื่อใช้ในการเก็บกักน้ำเพื่อทำให้เหงือกมีความชื้นและสามารถดึงออกซิเจนไปใช้ได้เช่นเดียวกับการแลกเปลี่ยนออกซิเจนในน้ำ หรือการมีผิวหนังที่สามารถดูดซับออกซิเจนจากอากาศได้อีกด้วย
รูปแบบการเคลื่อนไหวของปลาตีนก็หลากหลายโดยจากการศึกษาในปลาตีนจุดฟ้าพบว่าพฤติกรรมการเคลื่อนที่ (Locomotion Behavior) ของปลาตีนสามารถแบ่งออกเป็น 6 รูปแบบ
1
ได้แก่ การยกตัว (Crutching) การคืบคลาน (Rowing) การพลิกตัว (Reversing) การไถลตัว พุ่งตัว (Skating) การกระโดด (Jumping) และการว่ายน้ำ (Swimming)
ซึ่งการเคลื่อนที่บนบกหรือดินเลนแต่ละแบบก็มีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตของปลาตีนอย่างมากไม่ว่าจะเป็น การพลิกตัวเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นและทำความสะอาดฃปรสิตตามลำตัว
การกระโดดเพื่อการหลบหลีกศัตรูหรือใช้เพื่อเกี้ยวพาราสีหรือล่อตัวเมีย ในช่วงฤดูผสมพันธุ์ การไถลตัวเพื่อขับไล่หรือหนีผู้บุกรุก เป็นต้น
และนอกจากปลาตีนแล้วก็ยังมีปลาที่ปรับตัวเพื่ออยู่บนบกได้ในบางช่วงเวลาอย่างปลาปอด (lungfish) ซึ่งได้เคยพูดถึงไปแล้วใน
https://www.blockdit.com/posts/6224d2963e098f7b3f48b412
ลองไปอ่านกันได้ค่ะ
🐦นกที่บินไม่ได้
แม้นกส่วนใหญ่จะบินได้ แต่ในโลกนี้ก็มีนกที่บินไม่ได้เช่นกัน และหลายชนิดเป็นนกที่ใกล้สูญพันธุ์
ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มนกขนาดใหญ่ เช่น นกกระจอกเทศ และนกคาสโซวารี่ นกขนาดเล็กอย่าง นกกีวี นก weka กลุ่มเป็ดอย่าง Steamer Ducks และ Campbell Teal หรือแม้แต่นกที่โดดเด่นในขั้วโลกใต้อย่างนกเพนกวิน🐧 ล้วนแต่เป็นนกที่บินไม่ได้
หลังจากหาข้อมูลแอดว่าเรื่องนกที่บินไม่ได้นี่สามารถแยกเป็นอีกตอนได้เลยดังนั้นวันนี้ขอมาแนะนำคร่าว ๆ ก่อนแล้วกันค่ะ
โดยก่อนจะพูดถึงนกที่บินไม่ได้ เรามาพูดถึงว่าทำไมนกส่วนใหญ่ถึงบินได้กันก่อนดีกว่า
องค์ประกอบสำคัญที่ทำให้นกบินได้มี 4 ประการสำคัญดังนี้
★
นกมีกระดูกที่กลวง ทำให้ตัวเบา มีรูปร่างเพรียวลมจึงเคลื่อนตัวไปในอากาศได้ดี
★
นกมีกล้ามเนื้อที่ใช้ในการขยับปีกที่แข็งแรงโดยกล้ามเนื้อนี้จะยึดอยู่ระหว่างโคนปีกกับกระดูกอก (keel or sternum)
★
นกมีกล้ามเนื้อที่ใช้ในการขยับปีกที่แข็งแรงโดยกล้ามเนื้อนี้จะยึดอยู่ระหว่างโคนปีกกับกระดูกอก (keel or sternum)นกมีถุงลม (air sac) ที่เจริญดีมากและอยู่ติดกับปอด นอกจากนี้ยังแทรกเข้าไปในโครงกระดูกด้วย การมีถุงลมช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการถ่ายเทอากาศให้แก่ปอดของนก แต่ถุงลมไม่ได้ทำหน้าที่ในการแลกเปลี่ยนแก๊ส ดังนั้น ในการบินของนกจึงใช้พลังงานจำนวนมาก นกจึงมีเมแทบอลิซึมสูงมาก
★
นกมีขน (feather) ที่บางและเบาช่วยในการอุ้มอากาศ ขนที่ปีกจะช่วยในการดันอากาศขณะหุบปีกลง ทำให้ตัวนกพุ่งไปข้างหน้า การเคลื่อนที่ของนกในอากาศจะเร็วหรือช้าขึ้นอยู่กับน้ำหนักตัวนก ขนาดของปีก ความเร็วของการขยับปีกและกระแสลม
เหตุผลที่ทำให้นกบางชนิดไม่บินหรือบินไม่ได้ มีทั้งที่บินไม่ได้เพราะขาดโครงสร้างที่กล้ามเนื้อปีกติดกับกระดูกที่เรียกว่ากระดูกงู ดังที่เห็นได้ในกลุ่มนก Raties ซึ่งเป็นตระกูลนกที่บินไม่ได้ เช่น นกกระจอกเทศ นกอีมู (emus) นกกีวี เป็นต้น
ส่วนนกอย่างนกเพนกวิน ตามทฤษฎีแล้วเพนกวินควรจะบินได้เพราะมีกล้ามเนื้อที่ติดกับกระดูกงู
แต่เพนกวินก็ไม่ยอมบินอยู่ดี เพราะร่างกายถูกวิวัฒนาการให้เหมาะกับการอยู่ในน้ำมากกว่าอยู่ในอากาศ จึงมีลำตัวที่ไม่ค่อยสมส่วนกับขนาดปีกซักเท่าไหร่ ถึงเพนกวินจะไม่บินเพนกวินแต่ก็ได้ใช้กระดูกอกในการช่วยพุ่งตัวใต้น้ำ
หากลองมองเพนกวินจากพื้นทะเล จะเห็นเหมือนเพนกวินบินได้ แม้จะเป็นการแหวกว่ายในน้ำแทนการแหวกว่ายในอากาศก็ตาม credits: Christian Musat via. https://www.insidescience.org/news/how-do-flapping-wings-work-water-penguins-and-puffins-show-way
🐍งูที่ออกลูกเป็นตัว
ถ้าจะพูดถึงเรื่องการออกลูกเป็นตัวหรือเป็นไข่นี่ก็คงต้องพูดถึงรูปแบบการพัฒนาของตัวอ่อนซักหน่อย ซึ่งมีอยู่ด้วยกัน 3 แบบ ได้แก่
Oviparous คือการที่ไข่ซึ่งผสมแล้วจะถูกวางและฟักด้านนอกร่างกายของตัวเมีย ตัวอ่อนประเภทนี้จะใช้สารอาหารจากไข่แดง พบได้ใน สัตว์ปีก และสัตว์เลื้อยคลาน สำหรับในงูพบงูที่วางไข่มากถึง 70% เลยทีเดียว
ส่วนงูที่ออกลูกเป็นตัวนั้นมีการพัฒนาตัวอ่อนแบบ Ovoviviparous และ Viviparous
Ovoviviparous คือไข่จะถูกฟักเป็นตัวภายในตัวแม่ ตัวอ่อนใช้สารอาหารจากไข่แดง และมีพัฒนาการเป็นตัวเต็มวัยด้านนอก เช่น งูทะเล ปลาฉลาม เป็นต้น
ส่วน Viviparous คือการที่ตัวอ่อนมีพัฒนาการสมบูรณ์ตั้งแต่อยู่ในท้องแม่ได้รับสารอาหารผ่านทางรก
งูส่วนใหญ่ที่ออกลูกเป็นตัวจะเป็นงูพิษ โดยลูกงูออกมาปั้บก็ต้องสตรองเกิดมาพร้อมเขี้ยวและพิษ พร้อมดูแลตัวเองกันตั้งแต่บัดนั้นเลย
โดยตัวอย่างงูพิษในไทย ที่ออกลูกเป็นตัว เช่น งูแมวเซา งูเขียวหางไหม้ท้องเหลือง งูเขียวหางไหม้ตาโต เป็นต้น
นอกจากกลุ่มงูพิษและงูหางกระดิ่ง งูทะเลส่วนใหญ่ก็ออกลูกเป็นตัวเช่นกัน เพราะไข่งูไม่สามารถฟักและพัฒนาใต้น้ำได้ ดังนั้น งูทะเลจึงฟักไข่อยู่ภายในร่างกาย
หรือแม้แต่งูอนาคอนด้าก็ออกลูกเป็นตัวเช่นกัน ส่วนหนึ่งเพราะสภาพแวดล้อมที่มีการแข่งขันสูง เพื่อไม่ให้แม่งูอนาคอนด้าต้องเสียเวลาหวงไข่ก็ออกลูกมาเป็นตัวไปเลยจ้า
https://snakesarelong.blogspot.com/2015/11/snakes-that-are-good-parents.html
สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่ออกลูกเป็นไข่🥚
เราสามารถแบ่งสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม (mammal) ตามลักษณะของการออกลูกได้ 3 กลุ่มคือ mammal ที่ออกลูกเป็นตัว (Placental Mammals) mammal ที่มีกระเป๋าหน้าท้อง (Marsupials) และ mammal ที่ออกลูกเป็นไข่ (Monotremes)
Monotremes แปลว่า รูเดียว ซึ่งหมายถึงการที่สัตว์กลุ่มนี้มีช่องขับถ่ายและออกลูกเป็นช่องทางเดียวกัน monotreme จะวางไข่เหมือนกับนกและสัตว์เลื้อยคลาน ตัวอ่อนจะมีเปลือกไข่หุ้ม ลูกอ่อนจะอาศัยและเจริญเติบโตภายใต้เปลือกไข่ โดยได้รับการดูแลจนกว่าจะฟักออกมา
สัตว์กลุ่มนี้มีเพียง 2 ชนิดเท่านั้น ได้แก่ ตุ่นปากเป็ด (Platypus) และตัวกินมดหนาม (Echidna) หรือที่เรียกว่าเม่นกินมดโดยทั้งสองชนิดมีแหล่งอาศัยเฉพาะในออสเตรเลียและนิวกินีเท่านั้น
โดยเมื่อตัวอ่อนฟักออกมาจากไข่ ก็จะเติบโตและใช้ชีวิตเหมือนสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอื่น ๆ คือ ดูดน้ำนมจากแม่ จนกว่าพวกมันจะโตพอที่กินอาหารได้ด้วยตัวเอง
Via. https://petmaya.com/mammals-eggs
เรียกว่าตอนนี้เคาะสนิมความรู้เก่าๆ เยอะมาก ก็หวังว่าจะได้ประโยชน์จากบทความนี้กันนะคะ ^^
●
ธนภูมิ วิชัยดิษฐ์ จรวย สุขแสงจันทร์ และ เยาวลักษณ์ มั่นธรรม. 2560. พฤติกรรมการดำรงชีวิตของปลาตีนจุดฟ้า (Boleophthalmus boddarti Pallas, 1770) บริเวณศูนย์ศึกษาธรรมชาติป่าชายเลน จังหวัดสมุทรสงคราม. สืบค้นเมื่อ 23 เมษายน 2565
●
http://newjume.blogspot.com/2012/10/blog-post_8742.html
●
https://opticsmag.com/birds-that-cant-fly/
●
https://petkeen.com/snakes-that-give-live-birth-like-mamma
●
https://petmaya.com/mammals-eggs
●
https://phuketaquarium.org/knowleadge/%E0%B8%9B%E0%B8%A5%E0%B8%B2%E0%B8%95%E0%B8%B5%E0%B8%99-periophthalmodon-schlosseri-mudskipper/
●
http://www.reptileknowledge.com/articles/article28.php
●
https://saovabha.org/service_saovabha/Snake-Classification
●
https://songsaad.com/2021/07/14/%E0%B8%9B%E0%B8%A5%E0%B8%B2%E0%B8%95%E0%B8%B5%E0%B8%99-mudskipper/
●
https://www.trueplookpanya.com/blog/content/67250/-scibio-sci-
●
https://www.netinbag.com/th/science/what-are-ratites.html
การศึกษา
วิทยาศาสตร์
สิ่งแวดล้อม
1 บันทึก
1
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
Zoology นอกห้องเรียน
1
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย